วัดช้างเผือก (จังหวัดสมุทรสงคราม)

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
วัดช้างเผือก
แผนที่
ที่ตั้งตำบลบางช้าง อำเภออัมพวา จังหวัดสมุทรสงคราม
ประเภทวัดราษฎร์
นิกายมหานิกาย
เจ้าอาวาสพระปลัด เชาวลิต กิตฺติโสภโณ
พระพุทธศาสนา ส่วนหนึ่งของสารานุกรมพระพุทธศาสนา

วัดช้างเผือก เป็นวัดราษฎร์สังกัดคณะสงฆ์ฝ่ายมหานิกาย ตั้งอยู่ในตำบลบางช้าง อำเภออัมพวา จังหวัดสมุทรสงคราม

ประวัติ[แก้]

วัดช้างเผือกเป็นวัดโบราณไม่ทราบว่าใครเป็นผู้สร้าง เริ่มประกาศตั้งวัดเมื่อ พ.ศ. 2235 เรียกชื่อว่า "วัดช้างเผือก" มาแต่เดิม ได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมาเมื่อวันที่ 12 กรกฎาคม พ.ศ. 2531 แต่เดิมบริเวณตำบลบางช้างเป็นป่าทึบเป็นที่อาศัยของโขลงช้างจำนวนมาก มีเรื่องเล่ากันว่า บริเวณที่ตั้งวัดนี้เป็นที่หลบซ่อนอาศัยของช้างเผือกและช้างธรรมดาในสมัยโบราณที่ทำสงครามต้องอาศัยช้างด้วย ปรากฏหลักฐาน คือ บริเวณที่ตั้งอุโบสถเดิม (ทรงไทยไม้สัก) มีเสาตะลุงช้างสำหรับผูกช้าง ปัจจุบันดินได้ทับถมจมอยู่แถวหน้าอุโบสถ มีคลองช้าง มีทางเดินช้างที่มาอาบน้ำและดื่มน้ำในลำแม่น้ำ มีความยาวประมาณ 600 เมตร (15 เส้น) ตั้งแต่หน้าอุโบสถเก่า ปัจจุบันได้ถูกถมไปหมดแล้ว เป็นบ้านเรือน ถนนปลายคลองช้างจรดคลองบางพรหม[1]

อาคารเสนาสนะและวัตถุมงคล[แก้]

หอไตรกลางน้ำอาคารไม้ทรงสี่เหลี่ยมผืนผ้า หลังคาจัตุรมุขเครื่องไม้มุงกระเบื้องลดชั้น 2 ชั้น วิหารไม้สักเดิมคือพระอุโบสถหลังเก่า ลักษณะเป็นอาคารไม้รูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า หลังคาเครื่องไม้มุงกระเบื้อง

ปูชนียวัตถุ ได้แก่ พระประธานในอุโบสถของเก่าเป็นพระปูนปั้นปางมารวิชัยและพระพุทธรูปหล่อปางอุ้มบาตรหุ้มด้วยทองขาว (อุโบสถหลังเก่ายังอนุรักษ์ไว้) ตู้พระธรรมขาสิงห์ตู้พระธรรมไม้มีลายรดน้ำจำนวน 2 ใบ ใบแรกมีลายรดน้ำแสดงการอัญเชิญพระบรมสารีริกธาตุโดยเรือสำเภา ใบที่สองเป็นภาพเรื่อง รามเกียรติ์ ศิลปะรัตนโกสินทร์ตอนต้น ใบเสมาหินทรายแดง ลักษณะส่วนบนโค้งแหลมและเรียวเล็กลงด้านบนมีลายประจำยามด้านล่างเป็นลายประจำยามครึ่งดอก ธรรมาสน์ไม้ด้านล่างเป็นฐานสี่เหลี่ยมทึบ มีภาพจิตรกรรมรูปนักดนตรีและวิถีชีวิตชาวบ้าน เรือนธาตุสูงโปร่ง[2]

เกจิอาจารย์[แก้]

วัดช้างเผือกมีความเจริญรุ่งเรืองมากสมัยพระอธิการคุณ เป็นเจ้าอาวาส ท่านเป็นอาจารย์ที่เชี่ยวชาญในทางวิปัสสนากรรมฐาน อาจารย์ธุดงค์ และราชมูล เล่ากันว่าท่านรักษาเด็กเจ็บไข้ด้วยการเสกด้านผูกข้อมือเด็กและเสกข้าวปั้นให้หญิงมีครรภ์รับประทาน เพื่อคลอดง่ายเป็นที่เสื่อมใสและนิยม บรรดาสานุศิษย์ และผู้เคารพนับถือได้ปั้นรูปของท่านไว้เป็นอนุสรณ์ วัดยังมีวัตถุมงคลสร้างโดยหลวงพ่อรุณ ที่โด่งดัง คือ พระปิดตาสูญญัง[3]

อ้างอิง[แก้]

  1. "วัดช้างเผือก". ศูนย์ข้อมูลกลางทางวัฒนธรรม.
  2. "วัดช้างเผือก". ระบบภูมิสารสนเทศ แหล่งมรดกทางศิลปวัฒนธรรม.
  3. แทน ท่าพระจันทร์. "หลวงพ่อรุณ วัดช้างเผือก". ข่าวสด.