วัดจันทน์กะพ้อ

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
วัดจันทน์กะพ้อ
แผนที่
ชื่อสามัญวัดจันทน์กะพ้อ, วัดโกว๊ะ
ที่ตั้งเลขที่ 41 หมู่ที่ 3 ทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 3111 ตำบลบางเตย อำเภอสามโคก จังหวัดปทุมธานี 12160
ประเภทพระอารามหลวงชั้นตรีชนิดสามัญ
นิกายธรรมยุติกนิกาย
พระพุทธศาสนา ส่วนหนึ่งของสารานุกรมพระพุทธศาสนา

วัดจันทน์กะพ้อ เป็นพระอารามหลวงชั้นตรีชนิดสามัญสังกัดคณะสงฆ์ฝ่ายธรรมยุติกนิกาย ตั้งอยู่ทางฝั่งตะวันตกของแม่น้ำเจ้าพระยา ในหมู่ที่ 3 บ้านตากแดด ตำบลบางเตย อำเภอสามโคก จังหวัดปทุมธานี

วัดจันทน์กะพ้อสร้างเมื่อ พ.ศ. 2358 โดยชาวมอญที่อพยพจากเมืองเมาะตะมะในสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย โดยให้ชื่อว่า วัดโกว๊ะ ซึ่งแปลว่า "จันทน์กะพ้อ" ซึ่งชาวมอญถือว่าเป็นไม้มงคลเหมือนราชพฤกษ์ ต่อมาปี พ.ศ. 2495 พระราชสุทธิโสภณขอเปลี่ยนนามวัดใหม่เป็น "วัดจันทน์กะพ้อ"[1]

ภายในวัดมีหอวัฒนธรรมซึ่งเก็บรวบรวมศิลปวัตถุมอญ แสดงวัตถุโบราณ เช่น เครื่องปั้นดินเผา เครื่องลายคราม เครื่องใช้โลหะ เครื่องแก้ว เครื่องไม้ รวมทั้งหนังสือโบราณ ใบลาน สมุดข่อย ทั้งภาษาบาลี ภาษามอญ และภาษาไทย และยังมีโครงการอนุรักษ์พันธุ์ปลาหน้าวัด วัดเป็นที่ประกอบพิธีสำคัญของชาวปทุมธานี เช่น พิธีออกฮ้อยปะจุ๊ แห่ธงตะขาบ เป็นต้น

วัดมีสถาปัตยกรรมแบบไทยมอญ โบสถ์สร้างด้วยหินอ่อนทั้งหลัง หน้าบันพระอุโบสถด้านล่างเจาะเป็นช่องเพื่อประดิษฐานพระพุทธรูปปางต่าง ๆ ส่วนด้านบนประดิษฐานตราสัญลักษณ์ฉลองการครองสิริราชย์สมบัติครบ 50 ปี ซุ้มประตูหน้าต่างเป็นปูนปั้นประดับกระจก บานประตูเป็นไม้แกะสลักรูปทวารบาล บานหน้าต่างเป็นไม้แกะสลักเช่นกันแต่เป็นเรื่องพุทธประวัติ ด้านหน้าพระอุโบสถประดิษฐานหอระฆังและเจดีย์ย่อมุมไม้สิบสองสีทอง ภายในโบสถ์ประดิษฐานพระประธานปางมารวิชัย ศิลปะอยุธยา จิตรกรรมฝาผนังด้านหลังพระประธานเขียนในราวปี พ.ศ. 2536 เป็นภาพสวรรค์โดยมีเทวดาสององค์ยืนประนมหัตถ์ หันหน้าเข้าหาพระประธาน และภาพซุ้มเรือนแก้วครอบองค์พระประธาน[2]

วัดยังเป็นสถานที่ปฏิบัติธรรมที่มีชื่อเสียงในจังหวัดปทุมธานี และเป็นโรงเรียนเปรียญธรรม[3]

อ้างอิง[แก้]

  1. "พจนานุกรมวิสามานยนามไทย" (PDF). p. 38.
  2. "วัดจันทน์กะพ้อ". มหาวิทยาลัยกรุงเทพ.
  3. "วัดจันทน์กะพ้อ". กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา.[ลิงก์เสีย]