วัดกลางบางแก้ว

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
วัดกลางบางแก้ว
แผนที่
ชื่อสามัญวัดกลางบางแก้ว, วัดคงคาราม, วัดกลาง
ที่ตั้งเลขที่ 113 หมู่ที่ 2 ทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 3235 ตำบลนครชัยศรี อำเภอนครชัยศรี จังหวัดนครปฐม 73120
ประเภทวัดราษฎร์
นิกายมหานิกาย
พระประธานหลวงพ่อโต
พระพุทธศาสนา ส่วนหนึ่งของสารานุกรมพระพุทธศาสนา

วัดกลางบางแก้ว เป็นวัดราษฎร์สังกัดคณะสงฆ์มหานิกาย ตั้งอยู่ริมแม่น้ำนครชัยศรี ในหมู่ที่ 2 บ้านปากคลองบางแก้ว ตำบลนครชัยศรี อำเภอนครชัยศรี จังหวัดนครปฐม

ประวัติ[แก้]

วัดกลางบางแก้วเดิมมีชื่อว่า วัดคงคาราม คนทั่วไปแถบนครชัยศรีมักเรียกว่า วัดกลาง จากหลักฐานที่พบ สันนิษฐานว่าสร้างขึ้นสมัยตั้งแต่สมัยอยุธยาตอนปลายและเจริญรุ่งเรืองในยุครัตนโกสินทร์ตราบจนปัจจุบัน ในอดีต อุโบสถหลังเก่ามีภาพจิตรกรรมฝาผนังเรื่องพุทธประวัติที่งดงามมาก โดยเฉพาะตอนมารผจญ แต่เกิดเพลิงไหม้เมื่อเดือนกรกฎาคม พ.ศ. 2541 ทำให้อุโบสถเสียหายหมดทั้งหลัง[1] จากสภาพโบราณวัตถุภายในวัด เป็นต้นว่าอุโบสถ ใบเสมา และวิหาร ตลอดจนพระพุทธรูปหินทรายแดงซึ่งเป็นพระประธานในอุโบสถ คือ หลวงพ่อโต ทำให้ทราบว่าวัดกลางบางแก้วนี้ไดรับการปฏิสังขรณ์ซ่อมสร้างสืบต่อกันเรื่อยมา

อาคารเสนาสนะและพิพิธภัณฑ์พระพุทธวิถีนายก[แก้]

สิ่งที่น่าสนใจภายในวัด คือ หอไตร ลักษณะเป็นแบบอาคารทรงไทย ส่วนบนสอบเล็กน้อยเข้าหาแนวกึ่งกลาง ในแนวยาวของผนังด้านทิศใต้สระน้ำ มีขนาดกว้าง 10.4 เมตร ยาว 14 เมตร เห็นได้ชัดว่าเป็นสระที่ขุดขึ้นสำหรับหอไตรโดยเฉพาะผนังทั้งสี่ด้าน ก่ออิฐกรุแน่นหนาโดยรอบ ไม่เหมือนกับบางแห่งที่มีสระน้ำใหญ่แล้วมีหอไตรตั้งอยู่เป็นส่วนหนึ่งของสระ แต่สระนี้มีขนาดรับกันพอดีกับหอไตร ภายในหอไตรแต่เดิมเป็นที่เก็บคัมภีร์และสมุดข่อย ตู้ลายรดน้ำจำนวน 5 ตู้ และของเก่าบางอย่างเอาไว้ค่อนข้างหนาแน่นและไม่เป็นระเบียบ ปัจจุบันทางวัดได้นำคัมภีร์สมุดข่อยและข้าวของต่าง ๆ ไปจัดแสดงไว้อย่างเป็นระเบียบในพิพิธภัณฑ์พระพุทธวิถีนายกซึ่งเป็นอาคารใหญ่ทางด้านหน้าของหอไตร

ภายในมีพิพิธภัณฑ์พระพุทธวิถีนายก เก็บรักษาโบราณวัตถุและศิลปวัตถุล้ำค่าต่าง ๆ รวมทั้งข้าวของเครื่องใช้ของอดีตเจ้าอาวาส 2 รูป คือ หลวงปู่บุญหรือท่านเจ้าคุณพุทธวิถีนายก (บุญ ขันธโชติ) ซึ่งปกครองวัดตั้งแต่ปี พ.ศ. 2429–2478 และหลวงปู่เพิ่ม พระพุทธวิถีนายก (เพิ่ม ปุญญวสโน) ภายในแบ่งเป็น 3 ชั้น ชั้นล่างจัดแสดงประวัติและข้าวของเครื่องใช้ของหลวงปู่บุญและหลวงปู่เพิ่ม เครื่องราง วัตถุมงคล และพระบูชาของหลวงปู่ อีกส่วนหนึ่งจัดเป็นเรื่องตัวยาไทย สมุนไพร ยารักษาโรค ปฏิทินโหราศาสตร์เขียนด้วยลายมือหลวงปู่ นอกจากนี้ มีคัมภีร์ใบลาน สมุดข่อย ตำราโหราศาสตร์ ตำรายาไทย สมุดภาพพระมาลัย ชั้นที่สองจัดแสดงเครื่องถ้วยชามของใช้ แก้วเจียระไน เครื่องทองเหลือง ธรรมาสน์มุกของหลวงปู่บุญ ชั้นที่สามจัดแสดงพระบุเงิน ธรรมาสน์บุษบกเก่าสลักไม้ลงรักปิดทองและกุฏิเก่าของหลวงปู่ที่นำมาประกอบในลักษณะเดิม เพื่อประดิษฐานหุ่นขี้ผึ้งของหลวงปู่เหมือนสมัยที่ท่านยังมีชีวิตอยู่[2]

อุโบสถหันสู่แม่น้ำ ทำให้อาคารหันไม่ตรงทิศเท่าใดนัก[3]

วัตถุมงคล[แก้]

วัดมีวัตถุมงคลสร้างโดยหลวงปู่เจือ เช่น เหรียญเสมาหลวงปู่เจือ รุ่น 1 พ.ศ. 2534 เนื้อเงิน เนื้อกะไหล่ทอง รูปหล่อลอยองค์ รูปเหมือนบูชา พระพิฆเนศวรบูชา พระกริ่งนเรศวรตรึงไตรภพ พระพิมพ์ปรกโพธิ์เนื้อผง พระนางพญาสะดุ้งกลับเนื้อผงขมิ้นเสก และเนื้อดินเผา พระพิมพ์เศียรโล้น พระพิมพ์ซุ้มแหลม พระขุนแผนเคลือบ เหรียญหล่อหลวงปู่เจือ พระปิดตา เนื้อผง ผ้ายันต์ และยาจินดามณี[4]

อ้างอิง[แก้]

  1. ปกิณกศิลปวัฒนธรรม เล่ม 15 จังหวัดนครปฐม. กรมศิลปากร. 2552. p. 97.
  2. "วัดกลางบางแก้ว". การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.).
  3. "วัดกลางบางแก้ว".
  4. "หลวงพ่อเจือ วัดกลางบางแก้ว". องค์การบริหารส่วนจังหวัดนครปฐม.