วัฒนธรรมลาแตน

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
(เปลี่ยนทางจาก วัฒนธรรมลาเทเนอ)
สมัยวัฒนธรรม
วัฒนธรรมลาแตน
La Tène culture

แผนที่แสดงบริเวณวัฒนธรรมฮัลล์ชตัทท์และวัฒนธรรมลาแตน ศูนย์กลางของดินแดนฮัลล์ชตัทท์ (ปี 800 ก่อนคริสต์ศักราช) สีเหลือเข้ม, ดินแดนที่ได้รับอิทธิพลในปี 500 ก่อนคริสต์ศักราช สีเหลืองอ่อน ศูนย์กลางของวัฒนธรรมลาแตน (ปี 450 ก่อนคริสต์ศักราช) สีเขียวเข้ม และดินแดนที่วัฒนธรรมลาแตนมามีอิทธิพลต่อเมื่อมาถึง ปี 50 ก่อนคริสต์ศักราชสีเขียวอ่อน ดินแดนของกลุ่มชนเคลต์ที่สำคัญมีชื่อระบุ

ยุคเหล็ก

ยุคสมัยในประวัติศาสตร์

วัฒนธรรมลาแตน (อังกฤษ: La Tène culture) เป็นวัฒนธรรมยุคเหล็กของยุโรปที่ตั้งชื่อตามแหล่งโบราณคดีที่ลาแตนบนฝั่งเหนือของทะเลสาบเนอชาแตลในสวิตเซอร์แลนด์ที่เป็นที่พบสิ่งของมีค่าทางโบราณคดีจำนวนมากมายโดยฮันสลี ค็อพพ์ ในปี ค.ศ. 1857 วัฒนธรรมลาแตนเคลตสเครุ่งเรืองระหว่างปลายยุคเหล็ก (ตั้งแต่ปี 450 ก่อนคริสต์ศักราชมาจนถึงการพิชิตของโรมันใน ศตวรรษที่ 1 ก่อนคริสต์ศักราช) ในบริเวณตะวันออกของฝรั่งเศส สวิตเซอร์แลนด์ ออสเตรีย ตะวันตกเฉียงใต้ของเยอรมนี สาธารณรัฐเช็ก สโลวาเกีย และฮังการี ทางตอนเหนือไปจรดกับวัฒนธรรมยาสตอร์ฟของเยอรมนีตอนเหนือ[1] วัฒนธรรมลาแตนเจริญขึ้นมาจากวัฒนธรรมฮัลล์ชตัทท์ของยุคเหล็กตอนต้น โดยไม่มีการแบ่งแยกทางวัฒนธรรมที่เห็นได้ชัด และเป็นวัฒนธรรมที่มีอิทธิพลพอประมาณจากเมดิเตอร์เรเนียนจากกรีกในภูมิภาคกอลก่อนสมัยโรมันและต่อมาอารยธรรมอีทรัสคัน[2] การโยกย้ายศูนย์กลางของที่ตั้งถิ่นฐานเริ่มขึ้นในคริสต์ศตวรรษที่ 4

โบราณวัตถุทางวัฒนธรรมของวัฒนธรรมลาแตนพบในบริเวณอันกว้างไกลที่รวมไปถึงบางส่วนของไอร์แลนด์และบริเตนใหญ่ (หมู่บ้านริมทะเลสาบกลาสตันบรีในอังกฤษเป็นสถานที่ที่มีชื่อเสียงเกี่ยวกับวัฒนธรรมลาแตน), ทางตอนเหนือของสเปน ภูมิภาคเบอร์กันดี และ ออสเตรีย สถานที่ฝังศพอันหรูหราก็เป็นเครื่องแสดงเครือข่ายของการค้าอันกว้างไกล เช่นเนินบรรจุศพวีซ์ในฝรั่งเศสซึ่งเป็นที่ฝังศพของสตรีสูงศักดิ์จากศตวรรษที่ 6 ก่อนคริสต์ศักราชที่ถูกฝังพร้อมด้วยไหคอลดรอนสำริดที่ทำในกรีซ สินค้าออกของจากบริเวณวัฒนธรรมลาแตนไปยังบริเวณวัฒนธรรมเมดิเตอร์เรเนียนก็จะมีเกลือ ดีบุก ทองแดง อำพัน ขนแกะ หนัง ขนสัตว์ และทองคำ


ข้อขัดแย้งเรื่องที่ตั้งของแหล่งวัฒนธรรมลาแตน[แก้]

กระจกจากศตวรรษที่ 1 ก่อนคริสต์ศักราชที่พบที่เดสบะระ, นอร์ทแทมป์ตันเชอร์ที่เป็นลวดลายขมวดก้นหอยและทรัมเป็ต

แม้ว่ายังไม่อาจจะตกลงกันได้ถึงจุดเริ่มต้นที่แน่นอนของแหล่งวัฒนธรรมลาแตน แต่โดยทั่วไปแล้วก็เห็นพ้องกันว่าศูนย์กลางของวัฒนธรรมตั้งอยู่บริเวณตะวันตกเฉียงเหนือสุดของดินแดนของวัฒนธรรมฮัลล์ชตัทท์, ทางตอนเหนือของเทือกเขาแอลป์, ภายในบริเวณภูมิภาคระหว่างลุ่มแม่น้ำมาร์นและมอแซลทางตะวันตก และในบริเวณที่ปัจจุบันคือบาวาเรียและออสเตรียทางตะวันออก แต่ในปี ค.ศ. 1994 ก็ได้มีการพบที่ฝังศพของชนชั้นสูงของต้นศตวรรษที่ 5 ก่อนคริสต์ศักราชที่เกลาแบร์กในรัฐเฮ็สเซิน ทางตะวันออกเฉียงเหนือของแฟรงก์เฟิร์ต ในบริเวณที่เดิมเห็นกันว่าบริเวณที่เป็นปริมณฑลของอิทธิพลของวัฒนธรรมลาแตน[3]

ในศตวรรษที่ 4 ก่อนคริสต์ศักราชลาแตนขยายตัวจากบริเวณที่ตั้งถิ่นฐานออกไปยังฮิสปาเนีย, ลุ่มแม่น้ำโป, คาบสมุทรบอลข่าน และออกไปไกลถึงอานาโตเลีย ในช่วงเวลาที่มีการโยกย้ายถิ่นฐานครั้งใหญ่เป็นระยะ ๆ ในศตวรรษที่ 4 ก่อนคริสต์ศักราชกองทัพกอลที่นำโดยเบรนนัสก็รุกรานเข้าไปยังกรุงโรมและยึดตัวเมือง กลุ่มทหารกอลรณรงค์ไปจนถึงกรีซและมีท่าทีที่จะเป็นอันตรายต่อประกาศกแห่งเดลฟี ขณะกลุ่มอื่นขยายอำนาจและเข้าไปยังตั้งถิ่นฐานในกาเลเชียในอานาโตเลีย

บริบทของสมัยวัฒนธรรม[แก้]

ความสัมพันธ์กับบริเวณอื่นของวัฒนธรรมลาแตนจะเห็นได้จากโบราณวัตถุจากต่างแดนที่ฝังไว้ในหลุมศพของชนชั้นสูง อิทธิพลที่มีต่อลักษณะของงานศิลปะของวัฒนธรรมลาแตนก็ได้แก่จากอารยธรรมอีทรัสคัน, กลุ่มชนอิตาลิคโบราณ, ศิลปะยุคกรีก และซิทเธีย เครื่องปั้นดินเผาของกรีกที่สามารถบ่งเวลาที่สร้างได้ที่พบในแหล่งโบราณคดีลาแตน และการวิจัยด้วยการฉายความร้อน (thermoluminescence) และ กาลานุกรมต้นไม้ ทำให้ทราบถึงช่วงเวลาของลำดับงานของแหล่งโบราณคดีลาแตนบางแหล่ง

ประวัติของวัฒนธรรม ลาแตนเดิมแบ่งออกเป็น “ตอนต้น” (ศตวรรษที่ 6 ก่อนคริสต์ศักราช), “ตอนกลาง” (ราว 450-100 ปีก่อนคริสต์ศักราช) และ “ตอนปลาย” (ศตวรรษที่ 1 ก่อนคริสต์ศักราช) จนเมื่อมาถูกรุกรานโดยโรมันที่เป็นการสิ้นสุดของวัฒนธรรม แต่ความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันของวัฒนธรรมมิได้สะท้อนออกมาในรูปของโครงสร้างทางสังคม-การเมือง และความเกี่ยวโยงของโบราณวัตถุทางวัฒนธรรมทางด้านภาษาศาสตร์ก็ยังคงเป็นเรื่องที่ถกเถียงกันอยู่

ชาติพันธุ์[แก้]

ความรู้ที่เราทราบเกี่ยวกับบริเวณวัฒนธรรมลาแตนมาจากแหล่งข้อมูลสามแหล่ง: จากหลักฐานทางโบราณคดี, จากวรรณกรรมกรีกและละติน และ จากหลักฐานที่ออกจะเป็นเรื่องที่โต้แย้งกันนั่นคือหลักฐานจากการศึกษาเรื่องชาติพันธุ์ ที่กล่าวว่าลักษณะของศิลปะและวัฒนธรรมของลาแตนปรากฏในบริเวณที่ตามปกติแล้วเป็นที่ตั้งถิ่นฐานของบริเวณของเคลต์ของทางตะวันตกสุดของยุโรป ประชาคมที่ระบุทางโบราณคดีว่าเป็นของโบราณวัตถุทางโบราณคดีของลาแตน ก็ได้รับการกล่าวถึงโดยนักเขียนกรีกและโรมันตั้งแต่ศตวรรษที่ 5 เป็นต้นมาว่าเป็น “keltoi” (เคลต์) และ “galli” (กอล) นักประวัติศาสตร์เฮโรโดทัสบันทึกว่า “keltoi” อยู่ในบริเวณลุ่มแม่น้ำดานูบที่เป็นใจกลางของโบราณวัตถุทางโบราณคดีของลาแตน แต่ที่ว่าวัฒนธรรมลาแตนทั้งหมดอาจจะระบุว่าเป็นอารยธรรมของกลุ่มชนเคลต์ก็เป็นเรื่องที่ทำได้ยาก นักโบราณคดีพยายามครั้งแล้วครั้งเล่าที่จะสรุปว่าภาษา, โบราณวัตถุทางโบราณคดี, วัฒนธรรม และ ความสัมพันธ์ทางการเมืองไม่จำเป็นที่จะต้องเกิดขึ้นด้วยกันในเวลาเดียวกัน เฟรย์ (เฟรย์ ค.ศ. 2004) ตั้งข้อสังเกตว่าในคริสต์ศตวรรษที่ 5 “ประเพณีการฝังศพของกลุ่มเคลต์ไม่มีความเป็นแบบแผนเดียวกันในแต่ละภูมิภาค แต่จะเป็นธรรมเนียมนิยมของท้องถิ่นที่มีความเชื่อของตนเองที่ต่างจากกลุ่มอื่น ซึ่งเป็นผลทำให้การแสดงออกในงานศิลปะมีลักษณะที่แตกต่างกันไป” และในบางกรณีแหล่งโบราณคดีของลาแตนก็ผสมผสานกับวัฒนธรรมสลาฟ

โบราณวัตถุทางโบราณคดี[แก้]

งานโลหะของลาแตนที่ทำด้วยสำริด, เหล็ก และ ทองคำวิวัฒนาการมาจากวัฒนธรรมฮัลล์ชตัทท์ ลักษณะงานจะเป็นงานสลักและฝังประดับอย่างละเอียดเป็นก้นหอยและลายสอดประสาน บนภาชนะสำริด, หมวกเกราะและโล่ และ เครื่องประดับอัญมณี โดยเฉพาะสร้อยคอที่เรียกว่า แหวนคอ (torc) และเข็มกลัดประดับที่เรียกว่า “เข็มกลัดตรึง” ที่มีทรงที่มีรูปแบบเป็นสัตว์ที่โก่งตัวหรือพืช ที่สัมพันธ์กับธรรมนิยมในการสร้างลวดลายเรขาคณิตของวัฒนธรรมฮัลล์ชตัทท์ ลักษณะงานสมัยแรกของศิลปะลาแตนส่วนใหญ่จะเป็นสิ่งของที่มีลักษณะแบบสถิตย์และมีลวดลายเรขาคณิต แต่ต่อมางานก็วิวัฒนาการไปเป็นแบบที่ประกอบด้วยลักษณะที่ดูเหมือนจะเคลื่อนไหวได้ ลักษณะย่อยบางอย่างก็เป็นลักษณะที่มาสร้างซ้ำแล้วซ้ำเล่าเช่นลายงูยักษ์แห่งวอลดาลเจสไฮม์[4]

อ้างอิง[แก้]

  1. The Jastorf culture is the southern part of the Pre-Roman Iron Age of the north.
  2. European prehistory: a survey Sarunas Milisauskas p.354
  3. Mystery of the Celts.
  4. Harding, D.W. The Archaeology of Celtic Art. New York: Routledge, 2007. Print.

อ่านเพิ่ม[แก้]

  • Cunliffe, Barry. The Ancient Celts. Oxford: Oxford University Press. 1997
  • Collis, John. The Celts: Origins, Myths, Invention. London: Tempus, 2003.
  • James, Simon. The Atlantic Celts. London: British Museum Press, 1999.
  • James, Simon, and Valery Rigby. Britain and the Celtic Iron Age. London: British Museum Press, 1997.

ดูเพิ่ม[แก้]

แหล่งข้อมูลอื่น[แก้]

วิกิมีเดียคอมมอนส์มีสื่อเกี่ยวกับ วัฒนธรรมลาแตน