มิเกล อังเฆล อัสตูเรียส

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
มิเกล อังเฆล อัสตูเรียส
เกิดมิเกล อังเฆล อัสตูเรียส โรซาเลส
19 ตุลาคม ค.ศ. 1899(1899-10-19)
กัวเตมาลาซิตี กัวเตมาลา
เสียชีวิต9 มิถุนายน ค.ศ. 1974(1974-06-09) (74 ปี)
มาดริด สเปน
อาชีพกวี-นักการทูต นักเขียน นักวารสารศาสตร์
แนวสัจนิยมมหัศจรรย์ นิยายผู้เผด็จการ
ผลงานที่สำคัญ
  • El Señor Presidente (ค.ศ. 1946)
  • Hombres de maíz (ค.ศ. 1949)
รางวัลสำคัญ

มิเกล อังเฆล อัสตูเรียส โรซาเลส (สเปน: Miguel Ángel Asturias Rosales, 19 ตุลาคม ค.ศ. 1899 – 9 มิถุนายน ค.ศ. 1974) เป็นกวี-นักการทูต นักเขียนนวนิยาย นักเขียนบทละครและนักวารสารศาสตร์ชาวกัวเตมาลา อัสตูเรียสได้รับรางวัลโนเบลสาขาวรรณกรรมในปี ค.ศ. 1967 จากผลงานที่ตระหนักถึงวัฒนธรรมพื้นเมืองกัวเตมาลา

อัสตูเรียสเกิดและเติบโตในกัวเตมาลา แม้ว่าส่วนใหญ่เขาจะใช้ชีวิตวัยผู้ใหญ่ในต่างแดน หลังเรียนจบด้านกฎหมายจากมหาวิทยาลัยซานการ์โลสแห่งกัวเตมาลา[1] เขาย้ายไปอยู่ที่ปารีสช่วงคริสต์ทศวรรษ 1920 เพื่อศึกษาชาติพันธุ์วิทยาที่มหาวิทยาลัยปารีส นักวิชาการบางคนมองว่าอัสตูเรียสเป็นนักเขียนชาวลาตินอเมริกาคนแรกที่แสดงให้เห็นว่าการศึกษามานุษยวิทยาและภาษาศาสตร์ส่งผลอย่างไรต่อวรรณกรรม[2] อัสตูเรียสยังข้องเกี่ยวกับขบวนการลัทธิเหนือจริงขณะอยู่ที่ปารีส[3] และได้รับการยกย่องว่ามีส่วนในการแนะนำองค์ประกอบทางนวยุคนิยมเข้าสู่งานเขียนลาตินอเมริกา ด้วยเหตุนี้ เขาจึงผู้นำหน้าละตินอเมริกันบูม (Latin American Boom) หรือยุคเฟื่องฟูของวรรณกรรมละตินอเมริกาช่วงคริสต์ทศวรรษ 1960–1970

เอลซินญอร์เปรซิเดนเต (El Señor Presidente, แปลไทยชื่อ "เดอะ เพรสซิเดนท์") เป็นหนึ่งในผลงานที่มีชื่อเสียงที่สุดของอัสตูเรียสที่ตีพิมพ์ในปี ค.ศ. 1946 บอกเล่าถึงชีวิตภายใต้ผู้เผด็จการ นวนิยายเล่มนี้ส่งอิทธิพลต่อนักเขียนชาวลาตินอเมริกันยุคหลังในแง่การผสานสัจนิยมเข้ากับจินตนิมิต[4] หรือต่อมาเรียกว่าสัจนิยมมหัศจรรย์[5] การวิพากษ์วิจารณ์ระบอบเผด็จการอย่างเปิดเผยส่งผลให้อัสตูเรียสต้องใช้ชีวิตบั้นปลายอย่างระหกระเหิน โอมเบรเดไมซ (Hombres de maíz) ที่ตีพิมพ์ในปี ค.ศ. 1949 เป็นอีกหนึ่งผลงานชิ้นเอกที่อัสตูเรียสใช้ปกป้องธรรมเนียมและวัฒนธรรมมายา นวนิยายเล่มนี้บรรยายถึงกลุ่มคนพื้นเมืองที่กำลังเผชิญกับสังคมยุคใหม่ด้วยกลวิธีสัจนิยมมหัศจรรย์[6] โอมเบรเดไมซ ฉบับแปลภาษาอังกฤษเป็นส่วนหนึ่งของชุดผลงานตัวแทนของยูเนสโก (UNESCO Collection of Representative Works)[7]

ด้านชีวิตส่วนตัว อัสตูเรียสแต่งงานกับเคลเมนเซีย อามาโดในปี ค.ศ. 1939 ทั้งคู่มีบุตรด้วยกันสองคนคือ มิเกลและโรดริโก อังเฆล ก่อนจะหย่าร้างในปี ค.ศ. 1947 ต่อมาเขาแต่งงานกับบลังกา โมรา อี อาราอูโฆในปี ค.ศ. 1950[8] อัสตูเรียสได้รับการยกย่องจากต่างประเทศในช่วงคริสต์ทศวรรษ 1960 หลังถูกเนรเทศและกลายเป็นคนชายขอบมานานหลายทศวรรษ ปี ค.ศ. 1966 เขาได้รับรางวัลสันติภาพเลนินจากสหภาพโซเวียต ปีต่อมาอัสตูเรียสได้รับรางวัลโนเบลสาขาวรรณกรรม ถือเป็นชาวลาตินอเมริกันคนที่สองที่ได้รับรางวัลนี้ (กาบริเอลา มิสตรัลเป็นคนแรกที่ได้รับรางวัลในปี ค.ศ. 1945) อัสตูเรียสใช้ชีวิตบั้นปลายที่มาดริดก่อนจะเสียชีวิตในปี ค.ศ. 1974 ร่างของเขาถูกฝังที่สุสานแปร์ลาแชสในปารีส

อ้างอิง[แก้]

  1. Westlake 2005, p. 65
  2. Royano Gutiérrez, 1993
  3. McHenry 1993, p. 657
  4. Oxford illustrated encyclopedia. Judge, Harry George., Toyne, Anthony. Oxford [England]: Oxford University Press. 1985–1993. p. 25. ISBN 0-19-869129-7. OCLC 11814265.{{cite book}}: CS1 maint: others (ลิงก์)
  5. Lorenz, 163
  6. Franco 1989, p. 869
  7. Men of Maize. UNESCO.
  8. Leal 1968, p. 238

แหล่งข้อมูลอื่น[แก้]