ภาษาตุรกี

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี

แม่แบบ:ภาษา-ไม่มีภูมิภาค

ประเทศที่ใช้ภาษาตุรกีเป็นภาษาราชการ

ภาษาตุรกี (Türkçe ตืร์กเช หรือ Türk dili ตืร์ก ดิลิ) เป็นภาษากลุ่มเตอร์กิก เป็นภาษาที่มีผู้พูด 65 – 73 ล้านคนทั่วโลกซึ่งถือเป็นภาษากลุ่มเตอร์กิกที่มีผู้พูดมากที่สุด ผู้พูดส่วนใหญ่อยู่ในตุรกี และมีกระจายอยู่ในไซปรัส บัลแกเรีย กรีซ และยุโรปตะวันออก และมีผู้พูดอีกหลายสิบล้านคนที่อพยพไปอยู่ในยุโรปตะวันตกโดยเฉพาะเยอรมัน ต้นกำเนิดของภาษาพบในเอเชียกลางซึ่งมีการเขียนครั้งแรกเมื่อประมาณ 1,200 ปีมาแล้ว ภาษาตุรกีออตโตมันได้แพร่ขยายไปทางตะวันตกซึ่งเป็นผลมาจากการขยายตัวของจักรวรรดิออตโตมัน พ.ศ. 2471 หลังการปฏิรูปของอตาเตริ์กซึ่งเป็นปีแรกๆของยุคสาธารณรัฐใหม่ มีการปรับปรุงภาษาโดยแทนที่อักษรอาหรับในยุคออตโตมันด้วยอักษรละตินที่เพิ่มเครื่องหมายการออกเสียง มีการตั้งสมาคมภาษาตุรกีเพื่อลดการใช้คำยืมจากภาษาเปอร์เซียกับภาษาอาหรับ หันมาใช้คำดั้งเดิมของภาษากลุ่มเตอร์กิกแทน

ลักษณะเด่นของภาษาตุรกีคือมีการเปลี่ยนเสียงสระและการเชื่อมคำแบบรูปคำติดต่อ การเรียงคำโดยทั่วไปเป็นแบบประธาน-กรรม-กริยา ไม่มีการแบ่งเพศของคำนาม

การจัดจำแนก

ภาษาตุรกีอยู่ในกลุ่มตะวันตกของภาษากลุ่มโอคุซซึ่งรวมภาษากากาอุซและภาษาอาเซอรีอยู่ด้วย ภาษากลุ่มโอคุซนี้อยู่ในกลุ่มย่อยตะวันตกเฉียงใต้ของภาษากลุ่มเตอร์กิกซึ่งเป็นกลุ่มของภาษาที่ยังใช้พูดในปัจจุบันราว 30 ภาษา กระจายอยู่ในบริเวณจากยุโรปตะวันออก เอเชียกลางและไซบีเรีย นักภาษาศาสตร์บางกลุ่มจัดให้ภาษานี้อยู่ในตระกูลอัลไตอิก [1] ผู้พูดภาษาตุรกีคิดเป็น 40% ของผู้พูดภาษากลุ่มเตอร์กิกทั้งหมด ลักษณะเด่นของภาษาตุรกี เช่น การเปลี่ยนเสียงสระและการเชื่อมคำแบบรูปคำติดต่อ และไม่มีเพศทางไวยากรณ์เป็นลักษณะทั่วไปของภาษากลุ่มเตอร์กิกและภาษากลุ่มอัลไตอิก [2] ผู้พูดภาษาตุรกีและผู้พูดภาษากลุ่มโอคุซซอื่นๆ เช่น ภาษาอาเซอรี ภาษาเติร์กเมน ภาษาควาซไคว และภาษากากาอุซจะเข้าใจกันได้ดี [3]

ประวัติศาสตร์

จารึกของภาษากลุ่มเตอร์กิกเก่าสุดพบในบริเวณที่เป็นประเทศมองโกเลียปัจจุบัน จารึกบูคุตเขียนด้วยอักษรซอกเดียมีอายุราวพุทธศตวรรษที่ 11 .[4][5]จารึกอักษรออร์คอนมีอายุย้อนหลังไปได้ราว พ.ศ. 1275 – 1278 จารึกที่พบบริเวณหุบเขาออร์คอนจำนวนมากจัดเป็นภาษาเตอร์กิกโบราณเขียนด้วยอักษรออร์คอนที่มีลักษณะคล้ายอักษรรูนส์ในยุโรป [6]

ผู้คนที่พูดภาษากลุ่มเตอร์กิกได้แพร่กระจายออกจากเอเชียกลางในยุคกลางตอนต้น (ราวพุทธศตวรรษที่ 11-16) โดยกระจายอยู่ตั้งแต่ยุโรปตะวันออก ทะเลเมดิเตอร์เรเนียนไปจนถึงไซบีเรีย กลุ่มโอคุซเติร์กได้นำภาษาของตนคือภาษาเตอร์กิกแบบโอคุซเข้าสู่อนาโตเลียเมื่อราวพุทธศตวรรษที่ 16 .[7] ในช่วงนี้ได้มีนักภาษาศาสตร์ Kaşqarli Mahmud เขียนพจนานุกรมของภาษาเตอร์กิก

ภาษาตุรกีออตโตมัน

เมื่อศาสนาอิสลามแพร่มาถึงบริเวณนี้ เมื่อราว พ.ศ. 1393 ชาวเซลจุกเติร์กซึ่งเป็นต้นกำเนิดของอารยธรรมออตโตมันได้ปรับการใช้ภาษาโดยมีคำยืมจากภาษาอาหรับและภาษาเปอร์เซียเข้ามามาก วรรณคดีในยุคนี้ได้รับอิทธิพลจากภาษาเปอร์เซียมาก ภาษาในการเขียนและภาษาราชการในยุคจักรวรรดิออตโตมันเป็นภาษาผสมระหว่างภาษาตุรกี ภาษาอาหรับ และภาษาเปอร์เซีย ซึ่งต่างจากภาษาตุรกีที่ใช้ในประเทศตุรกีปัจจุบันและมักเรียกว่าภาษาตุรกีออตโตมัน

การปรับรูปแบบของภาษาและภาษาตุรกีสมัยใหม่

ลักษณะเด่นของภาษาตุรกี คือใช้ตัว I ทั้งสองแบบเป็นอักษรคนละตัวกัน ได้แก่แบบมีจุด ออกเสียง อี และแบบไม่มีจุด ออกเสียง อือ หรือ เออ

อัตราการรู้หนังสือก่อนการปรับรูปแบบภาษาในตุรกี (พ.ศ. 2470) ในผู้ชายคิดเป็น 48.4% และผู้หญิงเป็น 20.7% [8] หลังจากก่อตั้งสาธารณรัฐตุรกีและเปลี่ยนระบบการเขียน มีการตั้งสมาคมภาษาตุรกีเมื่อ พ.ศ. 2475 สมาคมได้ปรับรูปแบบของภาษาโดยแทนที่คำยืมจากภาษาอาหรับและภาษาเปอร์เซียด้วยคำดั้งเดิมของภาษาตุรกี [9] มีการสร้างคำใหม่โดยใช้รากศัพท์จากภาษาตุรกีโบราณที่เลิกใช้ไปนาน

ผลจากการเปลี่ยนแปลงภาษาโดยกะทันหันนี้ทำให้คนรุ่นเก่าและคนรุ่นใหม่ในตุรกีใช้คำศัพท์ที่แตกต่างกัน คนรุ่นที่กิดก่อน พ.ศ. 2483 ใช้ศัพท์ที่มาจากภาษาอาหรับและภาษาเปอร์เซีย ส่วนคนที่เกิดหลังจากนั้นใช้คำศัพท์ที่ปรับปรุงขึ้นใหม่ การปราศัยของอตาเติร์กในการเปิดประชุมสภาครั้งใหม่เมื่อ พ.ศ. 2470 ใช้ภาษาแบบออตโตมันซึ่งเป็นสิ่งที่แปลกไปจากภาษาในปัจจุบันจนต้องมีการแปลเป็นภาษาตุรกีสมัยใหม่ถึงสามครั้งคือเมื่อ พ.ศ. 2506, 2529 และ 2538 [10]

นอกจากนี้ สมาคมภาษาตุรกียังมีการเพิ่มศัพท์เทคนิคทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีซึ่งโดยมากมาจากภาษาอังกฤษ แต่ก็มีคำศัพท์ที่ถูกบัญญัติขึ้นมาแล้วแต่ไม่เป็นที่นิยม เช่น bölem (พรรคการเมือง) ถูกกำหนดให้ใช้แทนคำเดิมคือ firka แต่คำที่ใช้โดยทั่วไปเป็น parti จากภาษาฝรั่งเศส หรือบางคำใช้ในความหมายที่ต่างไปจากที่กำหนด เช่น betik (หนังสือ) ปัจจุบันใช้ในความหมายของระบบการเขียนในคอมพิวเตอร์ คำบางคำที่ถูกบัญญัติขึ้นใหม่ยังใช้ควบคู่กับศัพท์เดิมโดยคำศัพท์เดิมเปลี่ยนความหมายไปเล็กน้อย เช่น dert (มาจากภาษาเปอร์เซีย dard หมายถึงเจ็บปวด) ใช้หมายถึงปัญหาหรือความยุ่งยาก ส่วนความเจ็บปวดทางร่างการยใช้ ağrı ที่มาจากภาษาตุรกี ในบางกรณี คำยืมมีความหมายต่างไปจากคำในภาษาตุรกีเล็กน้อยแบบเดียวกับคำยืมจากภาษากลุ่มเยอรมันและภาษากลุ่มโรมานซ์ในภาษาอังกฤษ

การแพร่กระจายทางภูมิศาสตร์

นอกจากในประเทศตุรกีแล้วยังมีผู้พูดภาษาตุรกีแพร่กระจายอยู่ในประเทศอื่นอีกกว่า 30 ประเทศ โดยมากเป็นประเทศที่เคยอยู่ภายใต้การแกครองของจักรวรรดิออตโตมัน เช่น บัลแกเรีย ไซปรัส กรีซ มาซิโดเนีย โรมาเนีย และเซอร์เบีย [11]</ref> มีผู้พูดภาษาตุรกีมากกว่า 2 ล้านคนในเยอรมัน และมีชุมชนชาวตุรกีในฝรั่งเศส เนเธอร์แลนด์ ออสเตรีย เบลเยียม สวิตเซอร์แลนด์และสหราชอาณาจักร [12]

จำนวนผู้พูดภาษาตุรกีเป็นภาษาแม่ในตุรกีมีประมาณ 60 -67 ล้านคน คิดเป็น 90 – 93% ของประชากรทั้งหมด และมีผู้พูดเป็นภาษาแม่ทั่วโลกราว 65 – 73 ล้านคน .[2][13]

สถานะทางราชการ

ภาษาตุรกีเป็นภาษาราชการของประเทศตุรกีและเป็นภาษาราชการร่วมในไซปรัสและมีสถานะเป็นภาษาราชการในตำบลปริซเรนในคอซอวอและในหลายบริเวณของมาซีโดเนียขึ้นกับจำนวนผู้พูดภาษาตุรกีในบริเวณนั้น ในตุรกีสมาคมภาษาตุรกีเป็นอง์กรควบคุมภาษาก่อตั้งเมื่อ พ.ศ. 2475 ซึ่งมีอิทธิพลในการแทนที่คำยืมภาษาอื่นด้วยศัพท์ดั้งเดิมของภาษาตุรกีและพัฒนาระบบการเขียนปัจจุบันของภาษาตุรกี (พ.ศ. 2471) สมาคมเป็นองค์กรอิสระตั้งแต่ พ.ศ. 2494 – 2526 จากนั้นจึงกลายเป็นส่วนหนึ่งของรัฐบาล

สำเนียง

สำเนียงที่ใช้ในอิสตันบูลเป็นสำเนียงมาตรฐานของประเทศตุรกี สำเนียงอื่นๆมีหลายสำเนียง เช่น สำเนียง Rumelice ใช้ในหมู่ผู้อพยพจากรูเมเลียซึ่งได้รับอิทธิพลจากภาษาในแหลมบอลข่าน ภาษาตุรกีในไซปรัสเรียกว่าสำเนียง Kibris สำเนียง Karadeniz ใช้พูดทางตะวันออกของทะเลดำ ได้รับอิทธิพลทางสัทวิทยาและการเรียงประโยคจากภาษากรีก[14] เป็นต้น

เสียง

ภาษาตุรกีมีแต่สระเดี่ยว ไม่มีสระผสม เมื่อสระสองตัวอยู่ใกล้กันซึ่งมักพบในคำยืมจะออกเสียงแยกกัน การเปลี่ยนเสียงสระเป็นเอกลักษณ์ของภาษาตุรกีโดยเสียงสระของปัจจัยจะเปลี่ยนไปตามสระของคำหลักเช่นปัจจัย –dir4 (มันเป็น, อยู่, คือ) เมื่อนำมาต่อท้ายศัพท์จะเป็น tükiyedir (มันเป็นไก่งวง) kapidır (มันเป็นประตู) gündür (มันเป็นวัน) paltodur (มันเป็นเสื้อคลุม) เป็นต้น

ระบบการเขียน

ภาษาตุรกีปัจจุบันใช้อักษรละตินที่ดัดแปลงเป็นแบบของตนเอง โดยอักษรรูปแบบดังกล่าวได้เริ่มใช้เป็นครั้งแรกในปีพ.ศ. 2471 ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของการปฏิรูปวัฒนธรรมของอตาเติร์ก เดิมภาษาตุรกีเขียนด้วยอักษรอาหรับแบบตุรกี แต่อักษรแบบดังกล่าวมีรูปเขียนสำหรับเสียงสระยาวเพียงแค่สามรูป ทั้ง ๆ ที่ภาษาตุรกีมีเสียงสระถึงแปดเสียง และยังมีอักษรบางตัวที่แทนเสียงที่ซ้ำกันในภาษาตุรกี (แต่ไม่ซ้ำกันในภาษาอาหรับ คล้ายกับอักษรไทยที่มีทั้ง ศ ษ และ ส ซึ่งมาจากอักษรที่แทนเสียงที่แตกต่างกันในภาษาสันสกฤต) การปฏิรูปดังกล่าวจึงทำให้ได้ตัวเขียนที่เหมาะสมกับภาษาตุรกีมากกว่าอักษรแบบเดิม

การปฏิรูประบบเขียนจึงเป็นก้าวสำคัญในช่วงการปฏิรูปวัฒนธรรม การจัดเตรียมตัวอักษรแบบใหม่รวมทั้งการเลือกอักษรที่พิ่มเติมจากอักษรละตินแบบมาตรฐานนั้นเป็นหน้าที่ของคณะกรรมาธิการภาษา ซึ่งประกอบด้วยนักภาษาศาสตร์ นักวิชาการ และนักเขียน ระบบการเขียนแบบใหม่ได้รับการสนับสนุนจากศูนย์การศึกษาของรัฐตามภูมิภาคต่าง ๆ และยังได้รับความร่วมมือจากสำนักพิมพ์ต่าง ๆ รวมทั้งความพยายามของอตาเติร์กเอง ที่ได้เดินทางไปยังที่ต่าง ๆ เพื่อสอนระบบการเขียนแบบใหม่นี้[15] ซึ่งทำให้อตราการรู้หนังสือของตุรกีเพิ่มสูงขึ้นเป็นอย่างมาก[16]

อักษรละตินสำหรับภาษาตุรกีประกอบด้วยอักษรทั้งหมด 29 ตัว โดยอักษรที่เพิ่มขึ้นมาได้แก่ Ç Ğ I İ Ö Ş และ Ü และไม่มี Q W และ X โดยอักษร I จะมีสองแบบ คือแบบมีจุด (İ,i) และแบบไม่มีจุด (I,ı) ซึ่งต่างจากอักษรละตินมาตรฐาน ที่ตัวพิมพ์เล็กจะมีจุด แต่ตัวพิมพ์ใหญ่จะไม่มีจุด

การเน้นหนัก

มักเน้นหนักในพยางค์สุดท้าย ยกเว้นคำยืมจากภาษากรีกและภาษาอิตาลีบางกลุ่ม

ไวยากรณ์

ภาษาตุรกีเป็นภาษารูปคำติดต่อ นิยมใช้การเติมปัจจัยข้างท้ายคำ [17] คำคำหนึ่งอาจเติมปัจจัยได้เป็นจำนวนมากเพื่อสร้างคำใหม่ เช่นการสร้างคำกริยาจากคำนาม การสร้างคำนามจากรากศัพท์คำกริยาเป็นต้น ปัจจัยส่วนใหญ่จะบอกหน้าที่ทางไวยากรณ์ของคำนั้นๆ [18] สามารถสร้างคำที่มีความยาวมากๆจนมีความหมายเท่ากับประโยคในภาษาอื่นๆได้

คำนามไม่มีคำนำหน้าชี้เฉพาะ แต่มีการชี้เฉพาะวัตถุในคำลงท้ายแบบกรรมตรง ภาษาตุรกีมีคำนาม 6 การก คือ ประธาน ความเป็นเจ้าของ กรรมรอง กรรมตรง มาจาก ตำแหน่ง ซึ่งเปลี่ยนการลงท้ายด้วยการเปลี่ยนเสียงสระ คำคุณศัพท์มาก่อนคำนามที่ขยายคำคุณศัพท์ส่วนใหญ่เป็นคำนามได้ด้วย

คำกริยาในภาษาตุรกีจะแสดงบุคคลและสามารถแสดงความปฏิเสธ ความสามารถหรือไม่สามารถและแสดงกาล มาลา แลละความคาดหวังด้วย การปฏิเสธแสดงด้วยปัจจัย –me2 ที่มาก่อนปัจจัยอื่นๆของคำกริยา คำกริยาในภาษาตุรกีอาจรวมเป็นคำประกอบได้เพื่อให้ประโยคสั้นเข้า

การเรียงลำดับคำในภาษาตุรกีเป็นแบบประธาน-กรรม-กริยาแบบเดียวกับภาษาญี่ปุ่นและภาษาละติน คำขยายมาก่อนคำที่ถูกขยาย สิ่งที่เน้นมาก่อนสิ่งที่ไม่เน้นคำที่มาก่อนกริยาต้องออกเสียงเน้นหนักในประโยคโดยไม่มีข้อยกเว้น

คำศัพท์

คำศัพท์ส่วนใหญ่เป็นศัพท์ดั้งเดิมของภาษาตุรกี มีคำยืมเพียง 14% ส่วนใหญ่มาจากภาษาอาหรับ ภาษาฝรั่งเศส ภาษาเปอร์เซีย ภาษาอิตาลี ภาษาอังกฤษ และภาษากรีก การสร้างคำใหม่ใช้การสร้างคำแบบรูปคำติดต่อโดยเติมปัจจัยเข้ากับรากศัพท์ของนามหรือกริยา คำส่วนใหญ่ในภาษาตุรกีมาจากการสร้างคำด้วยวิธีนี้

อ้างอิง

  1. Gordon, Raymond G., Jr. (ed.)Ethnologue Ethnologue: Languages of the World, Fifteenth edition. Language Family Trees - Altaicaccessdate=2007-03-18 date=2005
  2. 2.0 2.1 Katzner
  3. UCLA International Institute, Center for World Languages Language Materials Project: Turkishaccessdate=2007-04-26 February 2007
  4. Bazin,Louis. Turcs et Sogdiens: Les Enseignements de L'Inscription de Bugut (Mongolie), Mélanges Linguistiques Offerts à Émile Benveniste.Collection Linguistique, publiée par la Société de Linguistique de Paris LXX1975 pages=37–45(ฝรั่งเศส)
  5. Alyılmaz, Cengiz. editor=Matteo, C., Paola, R., Gianroberto, S.Eran ud Aneran. Studies presented to Boris Il'ic Marsak on the occasion of his 70/th birthday|chapter=On the Bugut Inscription and Mausoleum Complexisbn=8875431051 http://www.transoxiana.org/Eran/Articles/alyilmaz.htmlaccessdate=2007-06-28 year=2006 Cafoscarina Venice
  6. Ishjatms
  7. Findley
  8. Taeuber,Irene B.1958April Population and Modernization in Turkey. Population Index 24(2)110id=OCLC|41483131accessdate=2007-04-27 http://links.jstor.org/sici?sici=0032-4701%28195804%2924%3A2%3C101%3APAMIT%3E2.0.CO%3B2-Z laysummary=http://www.jstor.org/journals/00324701.html%7Claysource=JSTOR
  9. Lewis (2002)
  10. Lewis (2002)
  11. Gordon, Raymond G., Jr. (ed.)Ethnologue http://www.ethnologue.com/show_language.asp?code=tur Ethnologue: Languages of the World, Fifteenth edition. Report for language code:tur (Turkish)accessdate=2007-03-18date=2005
  12. Center for Studies on Turkey, University of Essen Turkish Industrialists' and Businessmen's Association http://www.tusiad.org/haberler/basin/ab/9.pdf The European Turks: Gross Domestic Product, Working Population, Entrepreneurs and Household Data accessdate=2007-01-06date=2003
  13. TNS Opinion & SocialEuropean Commission Directorate of General Press and Communication http://ec.europa.eu/public_opinion/archives/ebs/ebs_243_en.pdf Special Eurobarometer 243 / Wave 64.3: Europeans and their Languagesaccessdate=2007-03-28date=February 2006
  14. Brendemoen, B. (1996), "Phonological Aspects of Greek-Turkish Language Contact in Trabzon", Conference on Turkish in Contact, Netherlands Institute for Advanced Study (NIAS) in the Humanities and Social Sciences, Wassenaar, 5–6 February, 1996
  15. Dilaçar, Agop (1977). "Atatürk ve Yazım". Türk Dili. 35 (307). ISSN 1301-465X. สืบค้นเมื่อ 2007-03-19.(ตุรกี)
  16. Coulmas, pp. 243–244
  17. Lewis (2001) และ Lewis (1953)
  18. Lewis (2001) Ch XIV
  • Findley, Carter V. (October 2004). The Turks in World History. Oxford University Press. ISBN 0-19-517726-6.
  • Ishjatms, N. (1996), "Nomads In Eastern Central Asia", History of civilizations of Central Asia, vol. 2, UNESCO Publishing, ISBN 92-3-102846-4
  • Katzner, Kenneth (March 2002). Languages of the World, Third Edition. Routledge, an imprint of Taylor & Francis Books Ltd.. ISBN 978-0-415-25004-7.
  • Lewis, Geoffrey (1953). Teach Yourself Turkish. English Universities Press. (2nd edition 1989
  • Lewis, Geoffrey (2001). Turkish Grammar. Oxford University Press. ISBN 0-19-870036-9
  • Lewis, Geoffrey (2002). The Turkish Language Reform: A Catastrophic Success. Oxford University Press. ISBN 0-19-925669-1.
  • Soucek, Svat (March 2000). A History of Inner Asia. Cambridge University Press. ISBN 978-0-521-65169-1.