นกอีแจว

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
นกอีแจว
ชุดขนในฤดูผสมพันธุ์ของนกอีแจว มีขนหางคู่กลางยาว หน้าและปีกสีขาว ขนต้นคอสีทองเรียบ
สถานะการอนุรักษ์
การจำแนกชั้นทางวิทยาศาสตร์
อาณาจักร: Animalia
ไฟลัม: Chordata
ชั้น: Aves
อันดับ: Charadriiformes
วงศ์: Jacanidae
สกุล: Hydrophasianus
สปีชีส์: H.  chirurgus
ชื่อทวินาม
Hydrophasianus chirurgus
(Scopoli, 1786)
แหล่งกระจายพันธุ์ของนกอีแจว (H. chirurgus)
ชื่อพ้อง

Parra chinensis
Parra luzonensis
Tringa chirurgus[2]

นกอีแจว (ชื่อวิทยาศาสตร์: Hydrophasianus chirurgus;อังกฤษ: pheasant-tailed jacana) เป็นนกชนิดเดียวในสกุลนกอีแจว (Hydrophasianus) ลักษณะเด่นเช่นเดียวกับนกในวงศ์นกพริกและนกอีแจว (jacana) คือ มีนิ้วตีนและเล็บตีนยาวเพื่อช่วยพยุงตัวขณะเดินบนใบพืชลอยน้ำในถิ่นอาศัยหนองน้ำตื้น บางครั้งอาจว่ายน้ำหรือลุยน้ำที่ลึกถึงต้นขาขณะหาอาหาร นกอีแจวกินสัตว์ไม่มีกระดูกสันหลังเป็นหลัก พบได้ตามแหล่งน้ำจืดในเอเชียเขตร้อน ตั้งแต่เยเมนทางตะวันตกไปจนถึงฟิลิปปินส์ทางตะวันออกและอาจอพยพในบางช่วงตามฤดูกาล

เป็นชนิดเดียวในวงศ์ที่อพยพเป็นระยะทางไกล และมีชุดขนนอกฤดูและในฤดูผสมพันธุ์แตกต่างกัน

ตัวเมียมีขนาดใหญ่กว่าตัวผู้ ตัวเมียหนึ่งตัวจะจับคู่ผสมพันธุ์กับเพศผู้หลายตัวและทำรังหลายรังในบริเวณเดียวกันในแบบฮาเร็ม ลูกหลายครอกถูกเลี้ยงโดยตัวผู้หลายตัว

อนุกรมวิธาน

 
 

Jacana



Hydrophasianus



 
 
 

Microparra



Irediparra




Metopidius




Actophilornis




แผนผังวิวัฒนาการชาติพันธุ์อย่างย่อ
แสดงความสัมพันธ์ในวงศ์ Jacanidae ของสกุลต่าง ๆ
อ้างอิงการศึกษาลำดับยีนจากไมโตคอนเดรีย
[3]

นกอีแจว (Hydrophasianus chirurgus) ได้ถูกอธิบายโดยนักสำรวจชาวฝรั่งเศสปิแอร์ ซอนเนอร์ (Pierre Sonnerat) ในปีค.ศ.1776 ในหนังสือการเดินทางสู่นิวกินี (Voyage à la Nouvelle Guinée) ซึ่งได้รวมภาพประกอบของนกที่เขาเรียกว่า "ศัลยแพทย์แห่งเกาะลูซอน" (Le Chirurgien de l'Isle de Luzon) อธิบายถึงนกที่มีนิ้วเท้ายาว มีส่วนขยายของขนหางยาวคล้ายกับมีดที่ใช้ในการถ่ายเลือดโดยศัลยแพทย์ในยุคนั้น[4][5] จากคำอธิบายนี้นกอีแจวได้รับทวินามโดยจิโอวานนี สโคโปลี (Giovanni Scopoli) ในปีค.ศ.1787 ในหนังสือ การอธิบายพืชและสัตว์อย่างละเอียดเล่มที่ 2 (Deliciae florae et faunae Insubricae, Pars II) ซึ่งนกอีแจวถูกจัดในสกุล Tringa และยังคงชื่อ chirurgus สำหรับชื่อเฉพาะ (Tringa chirurgus)[6] ต่อมานกอีแจวถูกจัดในสกุล Parra (และชื่อพ้อง Parra luzonensis) ร่วมกับนกอีแจวชนิดอื่น ๆ และต่อมาสกุลในวงศ์นกอีแจวและนกพริก (ต่อมาเรียกว่า Parridae) ก็แยกจากกัน[7]

ชื่อสกุล Hydrophasianus หมายถึง "ไก่ฟ้าน้ำ" หรือ "ไก่น้ำ" ถูกสร้างขึ้นโดยโยฮันน์ เกออก วากเลอร์ (Johann Georg Wagler) ในปีค.ศ. 1832 เนื่องจากนกอีแจวมีความโดดเด่น คือ จะงอยปากแหลมเรียวยาว ไม่มีกระดูกอกด้านหน้า นิ้วตีนหลังที่สั้นกว่านกสกุล Metopidius ขนปลายปีกนอกสุดสองเส้นรูปใบหอกและเส้นที่สี่ชี้แหลม และขนสองชุดนอกฤดูและในฤดูผสมพันธุ์แตกต่างกัน[8][9]

ลักษณะทางสรีรวิทยา

ชุดขนนอกฤดูผสมพันธุ์ ขณะบิน สังเกตปลายปีกขนปีกนอกสุดเส้นที่ 4 ที่ชี้แหลม
โครงกระดูกของนกอีแจวตัวเมีย แสดงเดือยที่ข้อพับปีก
ชุดขนนอกฤดูผสมพันธุ์ของนกอีแจว หน้าผากถึงท้ายทอยน้ำตาลเข้ม หน้าและคอขาวมีแถบตาต่อเนื่องถึงแถบอกสีดำ

เป็นนกขนาดเล็ก ปลายปากถึงโคนหางยาว 30 เซนติเมตร จะงอยปากแหลมตรง ปีกแต่ละข้างมีเดือยออกมา[10] ตัวเมียจะมีขนาดโตกว่าตัวผู้เล็กน้อย สีของปาก ขา และนิ้วเป็นสีเทาอมฟ้า หน้าผาก รอบตาและคอด้านล่างสีขาว กระหม่อมสีน้ำตาล คอด้านบนสีเหลือง สลับแถบสีดำขั้นกลางระหว่างคอสองด้าน ปีกสีขาวตัดกับสีของลำตัวด้านบนน้ำตาลดำ[11] และลำตัวด้านล่างซึ่งมีสีดำเป็นมันชัดเจน[10] ขณะบินปีกขาวปลายปีกดำ[11]

นิ้วตีนที่ยาวมากและเล็บตีนยาวช่วยในการกระจายน้ำหนักตัว ทำให้สามารถเดินบนกอพืชลอยน้ำ ใบพืชลอยน้ำหรือใบบัวที่ลอยอยู่เหนือน้ำเพื่อหาอาหารได้ นิ้วตีน 4 นิ้ว ด้านหน้า 3 นิ้ว และด้านหลัง 1 นิ้ว[12]

นกอีแจวมีลักษณะโดดเด่นมากที่สีขนและขนหางที่ยาว ซึ่งยาวที่สุดในวงศ์นกพริกและนกอีแจว และเป็นชนิดเดียวในวงศ์มีชุดขนนอกฤดูผสมพันธุ์และในฤดูผสมพันธุ์ที่แตกต่างกัน

ชุดขนนอกฤดูผสมพันธุ์ หน้าผากถึงท้ายทอยน้ำตาลเข้ม หน้าและคอขาวมีแถบตาต่อเนื่องถึงแถบอกสีดำ ข้างคอเหลือง ลำตัวด้านบนน้ำตาล ลำตัวด้านล่างขาว คล้ายนกพริกไม่เต็มวัย แต่ขณะบินปีกขาวปลายปีกดำ

ชุดขนในฤดูผสมพันธุ์ ขนหางคู่กลางจะยื่นยาวออกไปอีก 25 เซนติเมตร ยาวมากกว่าปกติถึง 10 เท่า[10] เป็นที่มาของชื่อนกอีแจวในภาษาอังกฤษ นกอีแจวหางไก่ฟ้า (pheasant-tailed jacana)

การวัดขนาด

การวัดขนาดนกตามมาตรฐานจากการศึกษาตัวอย่างมีชีวิตในช่วงฤดูผสมพันธุ์ในประเทศไทย โดยเฉลี่ยจากตัวผู้ 17 ตัว และตัวเมีย 4 ตัว ร่วมกับข้อมูลบางส่วนของการวัดส่วนหัวจาก Rasmussen and Anderton (2005)[13] (จากปลายจะงอยปากถึงด้านหลังของกะโหลกหัว)

ขนาดนกในช่วงฤดูผสมพันธุ์
ตัวผู้ ตัวเมีย
น้ำหนัก (กรัม) 129.2 140.7
จะงอยปาก (เซนติเมตร) 2.89 3.12
ปีก (เซนติเมตร) 24.76 25.83
กระดูกข้อเท้า (เซนติเมตร) 5.72 6.33
หาง (เซนติเมตร) 25.75 28.34
หัว (เซนติเมตร) 5.3-5.5 5.8-6.3
ความยาว (เซนติเมตร) 45.91 50.27

พฤติกรรม

การผสมพันธุ์ นกตัวผู้โผลงบนหลังของตัวเมีย
นกอีแจวตัวผู้ขณะเลี้ยงลูกนกที่ยังเล็ก
นกอีแจวรุ่น

มักอาศัยตามแหล่งน้ำ เพื่อหากินอาหารที่จับและจิกกินได้ตามผิวน้ำ อาหารได้แก่สัตว์น้ำเล็กๆ รวมทั้งแมลงต่างๆ และพืชน้ำบางชนิดบางส่วน[10]เช่น เมล็ดพืช สามารถว่ายน้ำได้คล่อง[12] และบินได้ไกลในการอพยพ แต่ในแหล่งน้ำมักบินไม่นานเพื่อหลบหนี

เสียงร้อง : "มี-อู่ย" หรือ "แจว-แจว"[11][14]

การผสมพันธุ์และทำรัง

ผสมในช่วงเดือนพฤษภาคม–สิงหาคม นกอีแจวตัวเมียเป็นฝ่ายเกี้ยวพาราสี[10] โดยเมื่อเลือกคู่แล้ว นกตัวเมียเดินหาจุดที่เหมาะสมในการรับน้ำหนักนกสองตัว โดยยืนก้มหัวและยกก้นขึ้น นกตัวผู้จะร่อนลงบนหลังของตัวเมียและกระพือปีกในการทรงตัวขณะผสมพันธุ์

นกอีแจวตัวเมียหลังจากเลือกคู่และผสมพันธุ์แล้วจะหาที่วางไข่ ตัวเมียเป็นฝ่ายทำรังแบบง่าย ๆ ส่วนมากใช้จอกหูหนูและพืชจำพวกสาหร่ายมากองรวมกันอย่างลวก ๆ บนแพของจอกหูหนู หรือพืชลอยน้ำ วางไข่ ครอกละประมาณ 3–4 ฟอง[10] ไข่สีเขียวแกมน้ำตาล ระยะเวลาฟักไข่ 22–28 วัน จากนั้นปล่อยให้นกอีแจวตัวผู้ซึ่งมีรูปร่างขนาดที่เล็กกว่ารับภาระฟักไข่และเลี้ยงลูกตามลำพัง ส่วนตัวเมียจะไปจับคู่ใหม่ ซึ่งอาจมีการจับคู่ถึง 4 คู่ในช่วงเวลาฤดูผสมพันธุ์หนึ่ง ๆ [10] (เรียก polyandry)

พฤติกรรมของนกตัวเมียที่จับคู่กับตัวผู้หลายตัวนี้ยังพบได้ในญาติร่วมวงศ์อย่างนกพริก วงศ์นกคุ่มอืด รวมไปถึงนกในเครือญาติของนกชายเลนที่ตัวเมียมีสีสันสวยงามกว่าตัวผู้อย่าง นกโป่งวิด และนกลอยทะเล

ลูกนกมีขนสีเหลืองอ่อนคล้ายลูกไก่ แต่มีขาและตีนที่ใหญ่โต เมื่อภัยมา ตัวพ่อจะส่งเสียงร้อง แจ๊วๆ แจวๆ เพื่อให้ลูกดำน้ำแล้วใช้ปลายปากโผล่สำหรับหายใจได้ยาวนาน

ถิ่นอาศัยและนิเวศวิทยา

นกอีแจว (H. chirurgus) มีถิ่นอาศัยตามแหล่งน้ำจืดขนาดใหญ่[10] เช่น บึง หนอง ทะเลสาบที่มีพืชน้ำลอยตัวมากพอ[11] ในปากีสถาน เนปาล อินเดียเขตร้อน ศรีลังกา ไปถึงเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ พม่า ไทย คาบสมุทรมลายู บอร์เนียวใต้ หมู่เกาะฟิลิปปินส์ จีนตอนใต้ และเกาะไต้หวัน[15][12][14]

นกอีแจวมีถิ่นอาศัยส่วนใหญ่ทับซ้อนกับนกพริก ยกเว้นในศรีลังกาที่พบเฉพาะนกอีแจว

นกอีแจวที่อพยพส่วนมากเป็นประชากรในทางใต้ของจีนและแถบเทือกเขาหิมาลัย และมักอพยพไปยังแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และอินเดียตอนใต้ตามลำดับ ในหนานจิงนกอีแจวเริ่มอพยพในเดือนพฤศจิกายนและกลับมาในฤดูร้อนประมาณสัปดาห์ที่สามของเดือนเมษายน นกบางตัวเมื่อมาถึงมีขนชุดนอกฤดูผสมพันธุ์[16] ประชากรนกอีแจวที่อาศัยบนเกาะไต้หวันถูกระบุว่าใกล้สูญพันธุ์ บางครั้งประชากรนกในฤดูร้อนอาจแยกย้ายกันไปหลายทิศทางและมีบันทึกว่าเป็นนกนกพลัดหลงในโซโคตรา[17] กาตาร์ [18] ออสเตรเลียและทางตอนใต้ของญี่ปุ่น นกอีแจวมีแนวโน้มที่จะพบได้ทั่วไปในที่ราบระดับความสูงที่ไม่มาก แต่บางครั้งมีบันทึกว่าพบบนเทือกเขาหิมาลัยในฤดูร้อนที่ความสูง 3650 เมตร ในแคชเมียร์ (Vishansar Lake) และ 3800 เมตร ใน Lahul[19][20][21]

ในประเทศไทย

นกอีแจวเป็นทั้งนกประจำถิ่นและนกอพยพนอกฤดูผสมพันธุ์[10][22][23] และตามพระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า ปี 2535 นกอีแจวเป็นสัตว์คุ้มครอง[10] บัญชีรายชื่อ ปี 2546 ในลำดับที่ 838[24][25]

อ้างอิง

  1. BirdLife International (2012). "Hydrophasianus chirurgus". IUCN Red List of Threatened Species. 2012. สืบค้นเมื่อ 26 November 2013.
  2. Viscount Walden, Arthur (1877). "A list of the bird known to inhabit the Philippine Archipelago". Transactions of the Zoological Society of London. 9 (2): 125–252. doi:10.1111/j.1096-3642.1875.tb00238.x.
  3. Whittingham, L.A.; Sheldon, F.H.; Emlen, S.T. (2000). "Molecular phylogeny of jacanas and its implications for morphologic and biogeographic evolution" (PDF). The Auk. 117 (1): 22–32. doi:10.1642/0004-8038(2000)117[0022:MPOJAI]2.0.CO;2.
  4. Hoffmann, Alfred (1950). "Zur Brutbiologie des polyandrischen Wasserfasans Hydrophasianus chirurgus". Scop. Ornithol. Ber. (in German). 2: 119–126.
  5. Sonnerat, Pierre (1776). Voyage à la Nouvelle Guinée : dans lequel on trouve la description des lieux, des observations physiques & morales, & des détails relatifs à l'histoire naturelle dans le regne animal & le regne végétal. Paris: Chez Ruault. pp. 82–84.
  6. Scopoli, Giovanni Antonio (1787). Deliciae florae et faunae Insubricae. Pars II (PDF). p. 92.
  7. Blanford, W.T. (1898). The Fauna of British India. Birds. Volume IV. Calcutta: Taylor and Francis. pp. 219–221.
  8. Baker, E.C. Stuart (1929). The Fauna of British India. Birds. Volume VI (2 ed.). London: Taylor and Francis. pp. 42–43.
  9. Mitchell, P. Chalmers (1905). "On the anatomy of Limicoline birds; with special reference to the correlation of modification". Proceedings of the Zoological Society of London. 2: 155–169.
  10. 10.00 10.01 10.02 10.03 10.04 10.05 10.06 10.07 10.08 10.09 "ข้อมูลนกบึงบอระเพ็ด". 123.242.166.5.
  11. 11.0 11.1 11.2 11.3 "นกอีแจว Pheasant-tailed Jacana ( Hydrophasianus chirurgus (Scopoli, 1786) )". www.lowernorthernbird.com.
  12. 12.0 12.1 12.2 ""อีแจว"ราชินีแห่งนกน้ำ ไอดอล"เรยา"บึงบอระเพ็ด". www.thairath.co.th. 2011-09-13.
  13. Rasmussen, P.C.; Anderton, J. (2005). Birds of South Asia. The Ripley guide. Volume 2. Smithsonian Institution and Lynx edicions. p. 150.
  14. 14.0 14.1 "นกอีแจว - eBird". ebird.org.
  15. "Hydrophasianus chirurgus (Pheasant-tailed Jacana) - Avibase". avibase.bsc-eoc.org.
  16. Hoffmann, Alfred (1949). "Über die Brutpflege des polyandrischen Wasserfasans, Hydrophasianus chirurgus (Scop.)". Zoologische Jahrbücher (in German). 78: 367–403.
  17. Demey, Ron, ed. (2005). "Recent report". Bulletin of the African Bird Club. 12 (1): 71.
  18. Balmer, D.; Betton, K., eds. (2006). "Around the region". Sandgrouse. 28 (2): 184–192.
  19. Betterton, F.A. (1947). "The altitudinal limit of the Pheasant-tailed Jacana [Hydrophasianus chirurgus (Scopoli)]". J. Bombay Nat. Hist. Soc. 47 (2): 384.
  20. Ali, Salim; Ripley, S. Dillon (1980). Handbook of the Birds of India and Pakistan. Volume 2. Megapodes to Crab Plover (2 ed.). Oxford University Press. pp. 199–200.
  21. Whistler, Hugh (2008-04-03). "VIII.-The Birds of Lahul, N.W. Himalaya". Ibis (ภาษาอังกฤษ). 67 (1): 152–208. doi:10.1111/j.1474-919X.1925.tb02913.x.
  22. "นกอีแจว Pheasant-tailed Jacana". Birds of Thailand: Siam Avifauna.
  23. "นกอีแจว Pheasant-tailed Jacana – ภาพถ่ายนกทุกชนิดที่พบในประเทศไทย".
  24. "สัตว์ป่าคุ้มครอง - โลกสีเขียว". www.verdantplanet.org.
  25. ราชกิจจานุเบกษา เล่มที่ 109 ตอนที่ 15.