ทาร์เซียร์

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
(เปลี่ยนทางจาก Tarsiidae)

ทาร์เซียร์
ช่วงเวลาที่มีชีวิตอยู่: 45–0Ma สมัยอีโอซีน ตอนกลาง ถึง ปัจจุบัน
ทาร์เซียร์ฟิลิปปิน (Carlito syrichta)
การจำแนกชั้นทางวิทยาศาสตร์ แก้ไขการจำแนกนี้
โดเมน: ยูแคริโอต
อาณาจักร: สัตว์
ไฟลัม: สัตว์มีแกนสันหลัง
ชั้น: สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม
อันดับ: อันดับวานร
อันดับย่อย: ฉบับร่าง:Haplorhini
อันดับฐาน: Tarsiiformes
วงศ์: Tarsiidae
Gray, 1825
สกุลต้นแบบ
Tarsius
Storr, 1780
สกุล

ทาร์เซียร์ (อังกฤษ: tarsier) เป็นสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมขนาดเล็กในอันดับวานรที่วิวัฒนาการมาจากยุคไอโอซีนจนมาถึงยุคปัจจุบัน ที่มีรูปร่างลักษณะไม่เปลี่ยนแปลงจากเดิมมากนัก

มีเพียงวงศ์เดียว คือ Tarsiidae และแบ่งออกเป็น 3 สกุลคือ Tarsius, Carlito และ Cephalopachus

ถิ่นที่พบ[แก้]

ทาร์เซียร์จัดเป็นไพรเมตที่มีจมูกแห้ง เป็นสัตว์เฉพาะถิ่น ที่ปัจจุบันเหลืออยู่จำนวนน้อยพบกระจายอยู่เฉพาะที่เกาะบอร์เนียว, สุมาตรา, ซูลาเวซี ในประเทศอินโดนีเซีย และหมู่เกาะฟิลิปปิน

ลักษณะ[แก้]

ทาร์เซียร์มีลักษณะพิเศษที่แตกต่างจากไพรเมตจำพวกอื่นคือมีขนาดเล็กมากโดยมีน้ำหนักตัวเพียง 80-150 กรัม ขนาดความยาวลำตัวไม่นับหางราว 5 นิ้วเท่านั้น นับเป็นสัตว์ในอันดับไพรเมตที่มีขนาดเล็กที่สุดในโลกจำพวกหนึ่ง แต่มีหางที่เรียวยาวเป็น 2 เท่าของความยาวลำตัว มีเบ้าตาขนาดใหญ่มาก มีกระดูกข้อเท้าหลังที่ยาวใช้ในการกระโดดและกระโดดได้ไกลและว่องไวเหมือนกบ[1] มีนิ้วมือเรียวยาวมาก และมีเล็บแบน เว้นแต่นิ้วที่ 2-3 จะมีกรงเล็บ และสามารถหมุนคอได้ 180 องศา คล้ายกับนกเค้าแมว อันเป็นการวิวัฒนาการแบบเข้าหากัน มีพฤติกรรมอาศัยโดยเกาะอยู่ตามต้นไม้ กินแมลงเป็นอาหาร และหากินในเวลากลางคืน[2]

ทาร์เซียร์หากินในเวลากลางคืน ในเวลากลางวันจะเซื่องซึม จะอาศัยหลับนอนตามโพรงหรือรอยแตกแยกของต้นไม้ใหญ่ เช่น กร่าง ที่ขึ้นเป็นกาฝากของต้นไม้ใหญ่ ทาร์เซียร์จะปล่อยกลิ่นที่ฉุนเพื่อประกาศอาณาเขตตามโคนต้นไม้ที่อาศัยอยู่ ซึ่งชาวพื้นเมืองของเกาะซูลาเวซีที่รับประทานทาร์เซียร์เป็นอาหาร เนื่องจากอาหารที่หายากบนเกาะ จะตามรอยทาร์เซียร์ได้จากการดมกลิ่นนี้ตามต้นไม้ ทาร์เซียร์เมื่อแรกเกิดมีขนาดใหญ่กว่าสัตว์ในอันดับไพรเมตทั่วไป เทียบเท่ากับมนุษย์คลอดลูกที่มีความสูงถึง 80 เซนติเมตร แม้ลูกทาร์เซียร์จะเกาะหลังแม่เหมือนไพรเมตทั่วไป แต่ลูกทาร์เซียร์จะอาศัยพึ่งพิงแม่ในระยะเวลาเพียง 1 เดือนเท่านั้น [1]

ความคล้ายคลึง[แก้]

ทาร์เซียร์แม้ดูจากรูปลักษณ์ภายนอกจะคล้ายกับลีเมอร์และกาลาโกหรือลิงลมมากกว่าลิงทั่วไป แต่จากการศึกษาทางสัณฐานวิทยาพบว่า ทาร์เซียร์มีความใกล้เคียงกับลิงและเอปมากกว่า เนื่องจากกระดูกเบ้าตาของทาร์เซียร์เหมือนกับลิงและเอปมากกว่า เพราะเป็นกระดูกเบ้าตาทั้งหมด ไม่เหมือนกับของลีเมอร์และกาลาโก รวมทั้งมีฟันที่เหมือนกับลิงและเอป มีฟันที่แหลมคม โดยเฉพาะฟันหน้า ซึ่งสามารถเขียนเป็นสูตรได้ว่า [1]

ตา[แก้]

ตาของทาร์เซียร์มีขนาดใหญ่ อันเป็นการวิวัฒนาการเพื่อสำหรับการหากินในเวลากลางคืน แต่ทาร์เซียร์สูญเสียทาพีตัม ลูซิเดี่ยมในดวงตาที่สำหรับใช้เก็บแสงได้เป็นอย่างดี ซึ่งจำเป็นในการหากินในเวลากลางคืน อันเป็นข้อสันนิษฐานว่าทาร์เซียร์ดั้งเดิมเคยเป็นสัตว์ที่หากินในเวลากลางวัน และเมื่อทาร์เซียร์ต้องปรับตัวมาหากินในเวลากลางคืน เลยชดเชยด้วยการวิวัฒนการดวงตาให้มีขนาดใหญ่ แต่ทาร์เซียร์ไม่สามารถกลอกลูกตาไปมาได้ ซึ่งขนาดตาของทาร์เซียร์นั้นใหญ่กว่าสมองเสียอีก มีเส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 2 เซนติเมตร และนับว่าเป็นตาของสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในโลก เทียบเท่ากับมนุษย์มีตาขนาดเท่าลูกมะพร้าว [1]

หู[แก้]

ใบหูของทาร์เซียร์มีขนาดใหญ่ ใช้สำหรับการฟังเสียง เนื่องจากทาร์เซียร์ติดต่อสื่อสารกันด้วยเสียงร้องที่มีความถี่ 70 เฮิรตซ์ และสามารถรับฟังเสียงที่มีความถี่สูง 90 เฮิร์ตซ์ ซึ่งทาร์เซียร์แต่ละชนิดจะส่งเสียงร้องที่แตกต่างกัน และเสียงร้องของทาร์เซียร์แต่ละชนิดที่แตกต่างกัน จะไม่ได้รับการตอบสนองจากทาร์เซียร์ต่างชนิดกัน[3]

อาหาร[แก้]

ทาร์เซียร์กินแมลงเป็นอาหารหลัก สามารถกระโดดได้ไกลถึง 290 เซนติเมตร ในแนวราบ เทียบกับมนุษย์ที่มีความสูง 175 เซนติเมตร กระโดดได้ไกลถึง 19 เมตร ในวัน ๆ หนึ่งทาร์เซียร์จะกินอาหารได้มากถึงร้อยละ 10 ของน้ำหนักตัว เมื่อจะหากินทาร์เซียร์จะขยับใบหูไปมาเพื่อรับฟังเสียง ก่อนที่สายตาจะมองหา และกระโดดเข้าไปจับกินด้วยการกัดก่อนอย่างรวดเร็ว[1]


ชาวพื้นเมืองของเกาะซูลาเวซีเรียกทาร์เซียร์ว่า "แฮม" หมายถึง "วิญญาณบรรพบุรุษ" หรือ "ผี"[1]

การจำแนก[แก้]

มีทั้งหมด 3 สกุล 16 สปีชีส์

อ้างอิง[แก้]

  1. 1.0 1.1 1.2 1.3 1.4 1.5 The Real Gremlin, "Nick Baker's Weird Creatures". สารคดีทางอนิมอลพลาเน็ต ทางทรูวิชั่นส์: ศุกร์ที่ 25 มกราคม 2556
  2. [ลิงก์เสีย] พบฟอสซิล ลิง“ทาร์เซียร์ สิรินธร” 13 ล้านปี จากกรุงเทพธุรกิจ
  3. Ramsier, Marissa A.; Cunningham A.J.; Moritz G.L.; Finneran J.J.; Williams C.V.; Ong P.S.; Gursky-Doyen S.L.; Dominy N.J. (2012). "Primate communication in the pure ultrasound". Biology Letters. doi:10.1098/rsbl.2011.1149.
  4. Tarsius lariang จากIUCN
  5. "Tarsius pumilus จาก IUCN". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2011-10-28. สืบค้นเมื่อ 2011-07-13.
  6. Chiamanee, Y., Lebrun, R., Yamee, C., and Jaeger, J.-J. (2010). "A new Middle Miocene tarsier from Thailand and the reconstruction of its orbital morphology using a geometric–morphometric method". Proceedings of the Royal Society B: Biological Sciences: –. doi:10.1098/rspb.2010.2062.{{cite journal}}: CS1 maint: multiple names: authors list (ลิงก์)

แหล่งข้อมูลอื่น[แก้]