ข้ามไปเนื้อหา

พัก ย็อน-มี

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
พัก ย็อน-มี
พัก ย็อน-มี ใน ค.ศ. 2014
เกิด (1993-10-04) 4 ตุลาคม ค.ศ. 1993 (30 ปี)
ฮเยซัน จังหวัดรยังกัง
 เกาหลีเหนือ
พลเมือง เกาหลีใต้
 สหรัฐ
อาชีพนักเคลื่อนไหวเพื่อสิทธิมนุษยชน
นักเขียน
นักพูด
ชื่อเกาหลี
ฮันกึล
박연미
ฮันจา
朴延美
อาร์อาร์Bak Yeon-mi
เอ็มอาร์Pak Yŏn-mi

พัก ย็อน-มี (เกาหลี: 박연미; อังกฤษ: Park Yeon-mi) เป็นผู้แปรพักตร์ชาวเกาหลีเหนือและนักเคลื่อนไหวเพื่อสิทธิมนุษยชนซึ่งหลบหนีออกจากประเทศเกาหลีเหนือเข้าสู่ประเทศจีนใน ค.ศ. 2007 และตั้งถิ่นฐานในประเทศเกาหลีใต้ใน ค.ศ. 2009 ครอบครัวของเธอเคยทำงานเกี่ยวข้องกับรัฐบาลและกองทัพ แต่ระหว่างทุพภิกขภัยในเกาหลีเหนือช่วงกลางทศวรรษ 1990 ครอบครัวของเธอหันไปค้าขายในตลาดมืด[1] พ่อของพักถูกจับกุมส่งค่ายกักกันผู้ใช้แรงงานในข้อหาลักลอบขนของผิดกฎหมาย ทำให้ครอบครัวของเธอประสบภาวะอดอยากและอพยพเข้าสู่ประเทศจีนและประเทศมองโกเลียในเวลาต่อมา[2] ปัจจุบันเธอเป็นนักเคลื่อนไหวเพื่อช่วยเหลือเหยื่อการค้ามนุษย์ในประเทศจีนและส่งเสริมสิทธิมนุษยชนทั้งในและนอกประเทศเกาหลีเหนือ

พักเป็นที่รู้จักทั่วโลกหลังจากสุนทรพจน์ที่งานประชุมเยาวชน One Young World ค.ศ. 2014 ที่กรุงดับลิน ประเทศไอร์แลนด์[3] สุนทรพจน์ของเธอที่บอกเล่าเรื่องราวการลี้ภัยจากประเทศเกาหลีเหนือมีผู้เข้าชมกว่า 50 ล้านครั้งทั้งทางยูทูบและเครือข่ายสังคมออนไลน์[4] หนังสือบันทึก In Order to Live: A North Korean Girl's Journey to Freedom ของเธอตีพิมพ์เมื่อเดือนกันยายน ค.ศ. 2015 โดยสำนักพิมพ์เพนกวิน[5]

วัยเด็ก

[แก้]

พักเกิดเมื่อวันที่ 4 ตุลาคม ค.ศ. 1993 ที่เมืองฮเยซัน เมืองหลวงของจังหวัดรยังกัง ประเทศเกาหลีเหนือ พ่อของเธอรับราชการที่ศาลาว่าการเมืองฮเยซันในฐานะสมาชิกพรรคแรงงานเกาหลีเหนือ ส่วนแม่ของเธอเป็นพยาบาลสังกัดกองทัพเกาหลีเหนือ ต่อมาพ่อของเธอได้แอบตั้งกลุ่มลักลอบค้าโลหะในกรุงเปียงยาง ซึ่งเป็นที่ที่เขาใช้เวลาส่วนใหญ่อาศัยอยู่ ในขณะที่ครอบครัวอาศัยอยู่ที่ฮเยซัน ครอบครัวของเธอถือว่ามีฐานะดีตามมาตรฐานของเกาหลีเหนือ แต่ต่อมาเมื่อพ่อของเธอถูกจับกุม ครอบครัวของเธอก็เริ่มประสบปัญหา[6] เธอมีพี่สาวหนึ่งคนชื่ออึน-มี[7]

การลี้ภัย

[แก้]

มุมมองของพักต่อตระกูลคิมที่ปกครองประเทศเกาหลีเหนือเปลี่ยนไปเมื่อเธอแอบดูดีวีดีภาพยนตร์ ไททานิค ที่ถูกลักลอบนำเข้าประเทศ ซึ่งทำให้เธอเข้าใจว่ารัฐบาลของเกาหลีเหนือนั้นแท้ที่จริงแล้วกดขี่ประชาชน เธอกล่าวว่าภาพยนตร์เรื่องนั้นทำให้เธอเข้าใจความหมายของความรักที่แท้จริงและให้เธอได้ลิ้มลอง "รสชาติแห่งเสรีภาพ"[8]

หลังจากพ่อของพักพ้นโทษกลับมาพบกับครอบครัว เขาก็รบเร้าให้ทุกคนหนีออกไปประเทศจีน อย่างไรก็ตาม พัก อึน-มี พี่สาวของพัก ย็อน-มีได้หลบหนีล่วงหน้าไปก่อนแล้ว[1] พักและครอบครัวของเธอหวาดกลัวว่าพวกเขาจะถูกลงโทษเนื่องจากอึน-มีหลบหนีออกไป พักและครอบครัวจึงเดินทางสู่พรมแดนจีนในวันที่ 30 มีนาคม ค.ศ. 2007 โดยมีนายหน้าค้ามนุษย์ช่วยเหลือ อย่างไรก็ตาม พ่อของพักล้มป่วยและตัดสินใจอยู่ที่ประเทศเกาหลีเหนือเพราะกลัวว่าอาการป่วยจะทำให้พวกเธอเดินทางช้าลง [1][9] พักและแม่ของเธอซึ่งยังคงเดินทางต่อไปข้ามพรมแดนเกาหลีเหนือ-จีนเข้าสู่มณฑลจี๋หลิน พวกเธอพยายามสอบถามว่าอึน-มีพักอยู่ที่ไหน แต่ไม่มีใครทราบ ย็อน-มีและแม่คาดเดาว่าอึน-มีน่าจะเสียชีวิตแล้ว[1] หนึ่งในกลุ่มนายหน้าค้ามนุษย์ข่มขู่ย็อน-มีให้มีเพศสัมพันธ์ด้วย มิฉะนั้นจะแจ้งความไปยังทางการของเกาหลีเหนือ แม่ของเธอเข้าขวางและเสนอตัวแทน

ในเดือนตุลาคมปีเดียวกัน พักส่งข้อความถึงพ่อและพยายามช่วยให้เขาหลบหนีข้ามมายังประเทศจีน อย่างไรก็ตาม เมื่อพ่อของพักเดินทางถึงประเทศจีนแล้วเขาพบว่าเขาป่วยเป็นโรคมะเร็งลำไส้ใหญ่ระยะสุดท้าย เขาเสียชีวิตลงในเดือนมกราคมปีถัดมา โดยครอบครัวของเขาที่พักอาศัยในประเทศจีนอย่างหลบซ่อนไม่สามารถจัดงานศพอย่างเป็นทางการได้เพราะกลัวว่าจะถูกทางการจีนพบเข้า พวกเธอจำใจต้องฝังร่างของเขาไว้ที่เชิงเขาใกล้เคียง

พักและแม่เดินทางเข้าสู่เมืองชิงเต่า มณฑลชานตง และพบกลุ่มมิชชันนารีคริสเตียนชาวจีนและเกาหลีที่เปิดศูนย์อพยพ กลุ่มมิชชันนารีตั้งเงื่อนไขว่าจะยอมช่วยเหลือก็ต่อเมื่อเธอเปลี่ยนมานับถือศาสนาคริสต์ก่อน[10]ซึ่งเธอยินยอม เนื่องจากชิงเต่ามีประชากรเชื้อสายเกาหลีจำนวนมาก ทำให้ไม่ดูผิดสังเกต กลุ่มมิชชันนารีช่วยเหลือให้พวกเธอเดินทางสู่เกาหลีใต้ผ่านทางมองโกเลีย[1] พวกเธอเดินทางข้ามทะเลทรายโกบีในเดือนกุมภาพันธ์ ค.ศ. 2009 เข้าสู่ประเทศมองโกเลีย[1] เมื่อพวกเธอถึงชายแดน เจ้าหน้าที่ตรวจคนเข้าเมืองข่มขู่ว่าจะส่งพวกเธอกลับประเทศจีน พักและแม่ของเธอจึงขู่ว่าถ้าไม่ยอมให้ข้ามพรมแดนจะฆ่าตัวตายโดยใช้มีดที่นำติดตัวมา เจ้าหน้าที่จึงใจอ่อนและยอมให้ผ่านเข้าไป โดยตั้งเงื่อนไขให้พวกเธอต้องถูกกักบริเวณภายในสถานกักกันในกรุงอูลานบาตาร์ ก่อนที่พวกเธอจะถูกนำไปยังท่าอากาศยานนานาชาติเจงกีส ข่านเพื่อเดินทางต่อไปยังกรุงโซลในวันที่ 1 เมษายน ค.ศ. 2009[1]

พัก ย็อน-มี ใน ค.ศ. 2014

พักและแม่ประสบปัญหาในการปรับตัวเข้ากับชีวิตใหม่ในเกาหลีใต้ แต่พวกเธอก็หางานทำเลี้ยงตัวในเกาหลีใต้ได้ในเวลาต่อมา ที่กรุงโซล พักตัดสินใจศึกษาต่อที่มหาวิทยาลัยทงกุก[1][11] เดือนเมษายน ค.ศ. 2014 เจ้าหน้าที่ข่าวกรองของประเทศเกาหลีใต้ได้แจ้งข่าวต่อพักว่าอึน-มีอพยพเข้าสู่เกาหลีใต้ โดยเดินทางผ่านประเทศจีนและประเทศไทย พัก ย็อน-มีและแม่ของเธอได้พบกับพัก อึน-มีอีกครั้ง[1]

พักเดินทางไปศึกษาต่อในนครนิวยอร์กเมื่อ ค.ศ. 2014 โดยเธอเข้าเรียนที่วิทยาลัยสตรีบาร์นาร์ด ก่อนจะเข้าเรียนต่อที่วิทยาลัยศึกษาทั่วไป มหาวิทยาลัยโคลัมเบีย[12]

มุมมอง

[แก้]

พักเชื่อว่าชาวเกาหลีเป็นหนึ่งเดียวกันไม่ว่าจะอาศัยอยู่ในตอนเหนือหรือตอนใต้ของคาบสมุทรเกาหลีก็ตาม[3] เธอเชื่อว่าการเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นได้ในเกาหลีเหนือถ้าบรรดาผู้แปรพักตร์ชาวเกาหลีเหนือยังคงต่อสู้เรียกร้องเพื่อสิทธิมนุษยชนในประเทศเกาหลีเหนือ และถ้ารัฐบาลเกาหลีเหนือปรับตัวเหมือนกับที่รัฐบาลคอมมิวนิสต์ของจีนและเวียดนามทำก็จะทำให้รัฐบาลของเกาหลีเหนือมั่นคงและยั่งยืน ซึ่งจะทำให้ตระกูลคิมหันมาสนใจประชาชนมากขึ้น และยอมรับประเทศอื่น ๆ มากขึ้น พักยังเห็นว่าชังมาดังหรือตลาดมืดในเกาหลีเหนือจะทำให้สังคมเกาหลีเหนือพัฒนาขึ้น เพราะชังมาดังทำให้ประชาชนชาวเกาหลีเหนือรับรู้ข้อมูลข่าวสารจากภายนอกประเทศ[13]

พักมองว่าการให้นักท่องเที่ยวโค้งคำนับอนุสาวรีย์ของคิม จ็อง-อิลและคิม อิล-ซ็องเป็นการส่งเสริมการโฆษณาชวนเชื่อของรัฐบาล เพื่อทำให้ประชาชนเห็นว่านักท่องเที่ยวก็ยังรักและเชื่อฟังผู้นำทั้งสองเช่นกัน[14] พักวิจารณ์ประธานาธิบดีคิม จ็อง-อึนว่าเป็นผู้นำที่อำมหิตเนื่องจากเขาละเมิดสิทธิของประชาชนของเขา เธอกล่าวว่า "เขาคืออาชญากร เขาฆ่าผู้คนที่นั่น หลังจากเขาขึ้นสู่อำนาจ เขาก็สั่งฆ่าคน 80 คนในวันเดียวในข้อหาชมภาพยนตร์หรืออ่านคัมภีร์ไบเบิล ชายหนุ่มคนนี้อำมหิตมาก เขาสั่งการว่าใครก็ตามที่พยายามหลบหนีควรจะถูกยิง"[15]

อ้างอิง

[แก้]
  1. 1.0 1.1 1.2 1.3 1.4 1.5 1.6 1.7 1.8 Phillips, Tom (October 10, 2014). "Escape from North Korea: 'How I escaped horrors of life under Kim Jong-il'". The Daily Telegraph. สืบค้นเมื่อ 2015-09-18.
  2. ""Kim Jong Un doesn't like me at all," says 21-year-old defector from North Korea". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2017-12-26. สืบค้นเมื่อ 2015-09-18.
  3. 3.0 3.1 Gupta, Priyanka. "Escaping North Korea: one refugee's story". www.aljazeera.com. สืบค้นเมื่อ 2015-09-25.
  4. "Video by Higher Perspective". Higher Perspective (facebook). 12 March 2017. สืบค้นเมื่อ 2017-03-13.
  5. Park, Yeonmi; Vollers, Maryanne (29 September 2015). In Order to Live: A North Korean Girl's Journey to Freedom. New York: Penguin Press. ISBN 978-0-698-40936-1. OCLC 921419691.
  6. "Summit Speaker — Yeonmi Park - Liberty in North Korea". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2018-06-12. สืบค้นเมื่อ 2015-09-25.
  7. Engel, Richard; Werner, Kennett (February 26, 2018). "Yeonmi Park's long journey from North Korea to Chicago" NBC News.
  8. Hakim, Danny (2014-10-25). "The World's Dissidents Have Their Say". The New York Times. ISSN 0362-4331. สืบค้นเมื่อ 2015-09-25.
  9. Vollers, Maryanne. "The woman who faces the wrath of North Korea". the Guardian. สืบค้นเมื่อ 2015-09-25.
  10. https://www.youtube.com/watch?v=qa_ZwL7ZvLg
  11. Nordlinger, Jay (November 17, 2015). "Witness from Hell". National Review. สืบค้นเมื่อ 2015-09-25.
  12. "One Student's Journey from North Korea to Columbia University". gs.columbia.edu. November 15, 2016.
  13. "North Korea's best hope". post-gazette.com. สืบค้นเมื่อ 13 May 2017.
  14. Thompson, Nathan A. "The Ethics of Taking a Trip to North Korea as a Tourist". NBC News. สืบค้นเมื่อ 3 November 2014.
  15. Gupta, Priyanka (15 October 2014). "Escaping North Korea: one refugee's story". Al Jazeera. สืบค้นเมื่อ 13 May 2017.

แหล่งข้อมูลอื่น

[แก้]