ตรัสเรียกนักบุญมัทธิว (การาวัจโจ)

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
ตรัสเรียกนักบุญมัทธิว
อิตาลี: Vocazione di San Matteo
ศิลปินการาวัจโจ
ปีค.ศ. 1599 - 1600
ประเภทสีน้ำมันบนผ้าใบ
สถานที่ชาเปลคอนทราเรลลิ, วัดซานลุยจิเดอิฟรานเชซิ, โรม

ตรัสเรียกนักบุญมัทธิว (อิตาลี: Vocazione di San Matteo) เป็นภาพเขียนสีน้ำมันที่เขียนโดยการาวัจโจจิตรกรชาวอิตาลีสมัยบาโรกคนสำคัญชาวอิตาลี จิตรกรรม “ตรัสเรียกนักบุญมัทธิว” เขียนเสร็จระหว่างปี ค.ศ. 1599 ถึงปี ค.ศ. 1600 สำหรับชาเปลคอนทราเรลลิ (Contarelli Chapel) ภายในวัดซานลุยจิเดอิฟรานเชซิในกรุงโรม ในทศวรรษก่อนหน้านั้น หลังจากเสียชีวิตไปแล้วคาร์ดินัลชาวฝรั่งเศสขื่อแม็ทธิว ควงแทรล (Matthieu Cointrel) หรือ “มัตเตโอ คอนทราเรลลิ” ในภาษาอิตาลีก็ทิ้งมรดกไว้โดยระบุว่าให้ใช้ในการตกแต่งชาเปลในหัวเรื่องของชื่อของท่าน (มัตเตโอ=แม็ทธิว) การตกแต่งโดมเริ่มด้วยจิตรกรรมฝาผนังโดยคาวาลิเยร์ ดาร์ปิโน จิตรกรแมนเนอริสต์ผู้เป็นที่นิยมที่สุดคนหนึ่งในกรุงโรมและเดิมเป็นนายจ้างของการาวัจโจ แต่คาวาลิเยร์มัวแต่ยุ่งอยู่กับงานของพระสันตะปาปาจนไม่มีเวลาทำงานตกแต่งชาเปล คาร์ดินัลฟรานเชสโค มาเรีย เดล มอนเตผู้อุปถัมภ์ของการาวัจโจและมีหน้าที่เป็นเจ้าหน้าที่อาวุโสของสำนักงานทรัพย์สินของนครรัฐวาติกันจึงเข้าช่วยหาสัญญางานจ้างชิ้นใหญ่ชิ้นแรกให้การาวัจโจ ที่เป็นภาพเขียนภาพแรกที่มีคนในภาพมากกว่าสองสามคนที่การาวัจโจเคยเขียนมา

งานเขียนสามชิ้นของการาวัจโจภายในชาเปลคอนทาเรลลิเป็นงานเขียนที่แสดงให้เห็นการแยกตัวอย่างเด็ดขาดจากการเขียนแบบแมนเนอริสต์ที่คาวาลิเยร์เป็นศิลปินผู้มีชื่อเสียงคนสุดท้ายของลักษณะนั้นใช้ และมาแทนด้วยงานที่เป็นธรรมชาติเพิ่มขึ้นและเป็นงานหัวเรื่องมากกว่าของการาวัจโจและอันนิบาเล คารัคชี: ทั้งสองคนเป็นผู้มีอิทธิพลมากในสมัยนั้น ภาพ “ตรัสเรียกนักบุญมัทธิว” แขวนตรงกันข้ามกับ “การพลีชีพของนักบุญแม็ทธิว” ระหว่างสองภาพนี้ที่แท่นบูชาเป็นภาพ “แรงบันดาลใจของนักบุญแม็ทธิว” (ค.ศ. 1602) “การพลีชีพ” อาจจะเป็นภาพแรกที่เริ่มเขียนแต่ภาพ “พระเยซูเรียก” เป็นภาพแรกที่เขียนเสร็จ ค่าจ้างเขียนสำสองภาพนี้ลงวันที่ในเดือนกรกฎาคม ค.ศ. 1599 และเงินค่าจ้างงวดสุดท้ายจ่ายเมื่อเดือนกรกฎาคม ค.ศ. 1600

เนื้อหาของภาพมาจากพระวรสารนักบุญแม็ทธิว (แม็ทธิว 9:9) : “พระเยซูเห็นชายชื่อแม็ทธิวนั่งอยู่ที่ด่านภาษี จึงตรัสว่า “จงตามข้ามาเถิด” แม็ทธิวจึงลุกขึ้นและเดินตามพระองค์ไป”

บุคคลในภาพที่นั่งอยู่รอบโต๊ะในด่านภาษีท่าทางเป็นคนชั้นต่ำที่น่าจะเคยเป็นแบบในภาพเขียนอื่นๆ ของการาวัจโจมาก่อนรวมทั้งภาพเขียนที่เป็นภาพเขียนชีวิตประจำวันเช่นภาพ “คนโกงไพ่” ที่เขียนในปี ค.ศ. 1595

ในภาพนี้บรรยากาศที่ทึมและหน้าต่างทำให้เข้าใจว่าโต๊ะตั้งอยู่ภายในที่อยู่อาศัย เป็นนัยยะว่าพระเยซูทรงเป็นผู้นำแสงสว่างมาสู่ความมืดของผู้เก็บภาษีที่นั่งอยู่ในเงา ซึ่งเป็นการแสดงความขัดแย้งระหว่างโลกสองโลก — อำนาจของความศรัทธาและอำนาจของโลก พระเยซูทรงชี้ไปยังแม็ทธิวด้วยลำแสงเหมือนไม่ทรงต้องใช้กำลังแต่อย่างใด การไม่ทรงรองพระบาทเป็นการแสดงความสมถะที่ตรงกันข้ามกับบรรดาผู้เก็บภาษีที่แต่งตัวกันเต็มยศ การที่ไม่ทรงรองพระบาทอาจจะเป็นสัญลักษณ์ของการที่ทรงยืนบนผืนดินที่ศักดิ์สิทธิ์ ซึ่งคล้ายกับภาพ “มโนทัศน์ของนักบุญพอลบนถนนสู่ดามาสคัส ภาพของการาวัจโจเป็นภาพที่แสดงวินาทีที่เหตุการณ์ปกติถูกขัดจังหวะด้วยปาฏิหาริย์ ส่วนผู้นั่งรอบข้างของแม็ทธิวดูเหมือนจะไม่รู้ซึ้งถึงสิ่งที่เกิดขึ้นเท่าใดนัก หรือเป็นเพียงแต่ผู้เห็นเหตุการณ์ที่ไม่มีความสนใจต่อสิ่งที่เกิดขึ้นรอบตัว

“พระเจ้าสร้างอาดัม” โดย ไมเคิล แอนเจโลบนเพดานของชาเปลซิสติน

ผู้ชมงานของการาวัจโจคงจะเห็นความละม้ายคล้ายคลึงของการที่พระเยซูทรงชี้ไปยังแม็ทธิวกับภาพพระเป็นเจ้าสร้างอาดัมในภาพที่เขียนโดยไมเคิล แอนเจโลบนเพดานของชาเปลซิสติน เมื่อมองตามพระกรของพระเยซูไปยังแม็ทธิวก็ราวจะเป็นการเชิญชวนของพระองค์ไปสู่โลกภายนอกซึ่งเป็นการสื่อความหมายที่ต่างจากศิลปะแมนเนอริสม์ที่ทำให้งานนี้เป็นที่นิยมกันมาก

ภาพเขียนนี้จึงเป็นภาพเขียนแรกที่การาวัจโจแสดงแนวเขียนใหม่ของศิลปะอย่างชัดเจนในการเน้นความเป็นธรรมชาติและการแสดงเหตุการณ์ในชั่วขณะที่เกิดขึ้น

อ้างอิง[แก้]

ดูเพิ่ม[แก้]

แหล่งข้อมูลอื่น[แก้]

วิกิมีเดียคอมมอนส์มีสื่อเกี่ยวกับ ตรัสเรียกนักบุญมัทธิว