บาคคัสไม่สบาย

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
บัคคัสไม่สบาย
ศิลปินคาราวัจโจ
ปีค.ศ. 1593
ประเภทจิตรกรรมสีน้ำมันบนผ้าใบ
สถานที่หอศิลป์บอร์เกเซ, โรม

บัคคัสไม่สบาย (ภาษาอังกฤษ: Young Sick Bacchus หรือ Self-portrait as Bacchus หรือ Bacchino Malato) เป็นภาพเขียนสีน้ำมันที่เขียนโดยคาราวัจโจจิตรกรสมัยบาโรกคนสำคัญชาวอิตาลีที่ปัจจุบันตั้งแสดงอยู่ที่หอศิลป์บอร์เกเซในกรุงโรมในประเทศอิตาลี

ภาพ “บัคคัสไม่สบาย” เขียนราวระหว่างปี ค.ศ. 1593 ถึงปี ค.ศ. 1594 เป็นภาพเหมือนตนเอง ตามคำอธิบายของผู้เขียนชีวประวัติของคาราวัจโจจิโอวานนิ บากลิโอเนกล่าวว่าเป็นภาพที่วาดโดยใช้กระจกส่องให้เห็นตัวเอง

ภาพ “บัคคัสไม่สบาย” เป็นภาพที่เขียนในปีแรกที่คาราวัจโจมาถึงกรุงโรมจากมิลานในราวกลางปี ค.ศ. 1592 และเชื่อกันว่าในช่วงนี้คาราวัจโจล้มเจ็บหนักเป็นเวลาราวหกเดือนในโรงพยาบาลซานตามาเรียเดลลาคอนโซลาซิโอเน และยังมีเรื่องเล่าว่าคาราวัจโจเขียนภาพหลายภาพให้แก่โรงพยาบาลเพื่อเป็นการตอบแทนในการที่ได้ช่วยชีวิตแต่ไม่มีภาพที่ว่าหลงเหลืออยู่ให้เห็น แต่ภาพนี้เขียนราวในช่วงระยะเวลานั้น และตกไปเป็นส่วนหนึ่งของงานสะสมของจุยเซ็ปปิ เซซารินายจ้างคนแรก แต่ต่อมาถูกยึดจากเซซาริโดยนักสะสมศิลปะคาร์ดินัลสคิปิโอเน บอร์เกเซ ในปี ค.ศ. 1607 พร้อมกับภาพ “เด็กชายปอกผลไม้” และ “เด็กชายกับตะกร้าผลไม้

นอกจากจะเป็นภาพเหมือนตนเองแล้วภาพเขียนนี้อาจจะเป็นภาพที่เขียนขึ้นเพื่อเป็นการเผยแพร่งานเขียนของตนเอง เพื่อแสดงให้เห็นความสามารถในการเขียนภาพประเภทต่างๆ เช่นจิตรกรรมภาพนิ่ง หรือภาพเหมือน และเป็นนัยยะว่าสามารถเขียนภาพของบุคคลจากสมัยคลาสสิกได้ การวางหน้าสามส่วนในภาพเหมือนเป็นที่นิยมกันในปลายสมัยเรอเนสซองซ์ แต่ที่น่าสนใจคือใบหน้าที่หมองและเอียงคอเล็กน้อยที่ทำให้ดูเหมือนไม่สบายจริงๆ

ภาพนิ่งในภาพนี้อาจจะเปรียบได้กับภาพ “เด็กชายกับตะกร้าผลไม้” ที่เขียนต่อมาที่ผลไม้อยู่ในสภาพที่ดีกว่ามากที่สะท้อนให้เห็นว่าคุณภาพของงานดีขึ้นทั้งทางร่างกายและจิตใจ และภาพหลังที่เขียนหลังจากนั้นในภาพ “เด็กถูกจิ้งเหลนกัด” ภาพเขียนนี้ยังแสดงให้เห็นอิทธิพลของครูซิโมเน เพเทอร์ซาโนตรงการเน้นการเขียนกล้ามเนื้อที่ตึงแน่นและการเขียนแบบที่ออกไปทางแข็งของตระกูลการเขียนแบบลอมบาร์ดและเน้นรายละเอียดของความเป็นจริง แต่สิ่งที่เป็นเอกลักษณ์ของคาราวัจโจเองคือการใช้แสงเย็นที่ส่องลงมาบนตัวแบบที่ทำให้ตัวแบบแยกเด่นออกมาจากฉากหลังอย่างโดดเดี่ยว ซึ่งเป็นการสร้างบรรยากาศที่เป็นของคาราวัจโจเองโดยเฉพาะ

อ้างอิง[แก้]

ดูเพิ่ม[แก้]