นาร์ซิสซัสหลงเงา

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
นาร์ซิสซัสหลงเงา
ศิลปินคาราวัจโจ
ปีค.ศ. 1597 - ค.ศ. 1599
ประเภทจิตรกรรมสีน้ำมันบนผ้าใบ
สถานที่หอศิลป์โบราณแห่งชาติ, โรม

นาร์ซิสซัสหลงเงา (อังกฤษ: Narcissus) เป็นภาพเขียนสีน้ำมันที่เขียนโดยคาราวัจโจจิตรกรสมัยเรอเนซองส์คนสำคัญชาวอิตาลีที่ปัจจุบันตั้งแสดงอยู่ที่หอศิลป์โบราณแห่งชาติในกรุงโรม ประเทศอิตาลี เขียนระหว่างปี ค.ศ. 1597 ถึงปี ค.ศ. 1599

การระบุว่าเป็นภาพที่เขียนโดยคาราวัจโจจริงหรือไม่เป็นเรื่องที่ถกเถียงกันอย่างยืดยาวจนกระทั่งบัดนี้และยังคงมีคำถามที่ยังหาคำตอบไม่ได้จากนักวิชาการอีกหลายประการ หลักฐานว่าใครเป็นผู้เขียนไม่มีปรากฏในด้านเอกสารร่วมสมัยฉะนั้นการสันนิษฐานผู้เขียนจึงต้องสรุปเอาจากลักษณะงานเขียน ทฤษฎีที่ว่าคาราวัจโจเป็นผู้เขียนภาพอาจจะได้รับการสนับสนุนจากใบทะเบียนการส่งออกจากปี ค.ศ. 1645 ที่กล่าวถึง “นาร์ซิสซัส” โดยคาราวัจโจที่ขนาดสัดส่วนคล้ายคลึงกับภาพนี้ แม้ว่าจะไม่ทราบแน่นอนจากเอกสารว่าเป็นภาพนี้จริง แต่ผู้เชี่ยวชาญหลายคนต่างก็ยอมรับความเกี่ยวข้องระหว่างเอกสารและภาพเขียนภาพนี้ และยอมรับคุณภาพของภาพ การวิจัยลักษณะการเขียนซึ่งทำระหว่างการบูรณะภาพเมื่อไม่นานมานี้เปรียบเทียบกับลักษณะการเขียนภาพเขียนอื่นๆ ของคาราวัจโจ ประกอบกับการใช้เท็คนิคในการตีความหมายใหม่ของหัวเรื่องในการเขียนภาพของคาราวัจโจทำให้เป็นที่ยอมรับกันว่าเป็นภาพที่วาดโดยคาราวัจโจ

ในเรื่องการวาดแบบใหม่ควรจะกล่าวถึงการวางรูปซ้อนจากกึ่งกลางซึ่ง—คล้ายกับไพ่ที่แบ่งเป็นสองตอนจากกลางใบไพ่—โดยมีขอบสระแบ่งกลางภาพ งานที่เขียนระหว่างปี ค.ศ. 1597 ถึงปี ค.ศ. 1599 ของคาราวัจโจยังเป็นงานในสมัยที่ยังวิวัฒนาการเท็คนิคการเขียนของตนเองซึ่งยังไม่ลงตัว และยังเป็นระยะที่คาราวัจโจพยายามหาคำตอบในสิ่งที่ยังไม่เข้าใจดี เป็นระยะเวลาที่ยังแสวงหาความมีมนต์ขลังของบรรยากาศ, ความความระทึกใจ และการพินิจภายใน (introspection) ของภาพ นอกจากนี้ภาพนี้ก็ยังแสดงอิทธิพลจากการเขียนแบบลอมบาร์ดของโมเร็ตโต ดา เบรสเชีย (Moretto da Brescia)และจิโอวานนิ จิโรลาโม ซาโวลโด (Giovanni Girolamo Savoldo) นอกจากนั้นคาราวัจโจก็ยังทดลองการใช้แสงและเงาด้วยวิธีต่างๆ ภาพเขียนจากสมัยเดียวกันนี้ก็ได้แก่ “คนเล่นลูท”, “แมรี แม็กดาเลนเศร้า” และที่สำคัญที่สุดคือ “นักบุญแคทเธอรินแห่งอเล็กซานเดรีย” และ “มาร์ธาและแมรี แม็กดาเลน” ซึ่งสะท้อนให้เห็นความละม้ายคล้ายคลึงกันในลักษณะการเขียนของกันและกัน [1]

ภาพนี้เป็นหนึ่งในสองภาพเท่านั้นที่คาราวัจโจเขียนเกี่ยวกับเทพจากปรัมปราวิทยา เรื่องของนาร์ซิสซัสเป็นเรื่องที่เล่าโดยกวีโอวิดในหนังสือ “มหากาพย์เมตะมอร์ฟอร์ซิส” ว่าเป็นชายหนุ่มที่หน้าตาสะสวยผู้หลงรักเงาของตนเอง ซึ่งเป็นเรื่องที่เป็นที่รู้จักกันดีในบรรดาผู้สะสมเช่นคาร์ดินัลฟรานเชสโค มาเรีย เดล มอนเตและนายธนาคารวินเช็นโซ จุสติเนียนิ (Vincenzo Giustiniani) ซึ่งเป็นกลุ่มสังคมในแวดวงของคาราวัจโจ นอกจากนั้นเรื่องนาร์ซิสซัสก็คงจะเป็นที่ต้องใจของคาราวัจโจเองหรืออาจจะเป็นหัวเรื่องที่เหมาะกับผู้อุปถัมภ์ผู้มีการศึกษาเช่นเดล มอนเตหรือจุสติเนียนิตามเหตุผลที่อธิบายโดยนักปรัชญาเรอเนซองส์ลีออน บาตติสตา อัลเบอร์ติ: “the inventor of painting...was Narcissus...What is painting but the act of embracing by means of art the surface of the pool?”[2] เก็บถาวร 2012-02-25 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน

ภาพเขียนสื่อบรรยากาศทางอารมณ์ที่หดหู่ (brooding melancholy) โดยนาร์ซิสซัสล็อกตัวเป็นวงกลมกับเงาของตนเองในน้ำล้อมกลางภาพ รอบตัวเป็นเงามืดรอบข้างที่ทำให้เน้นว่าความเป็นจริงภายในภาพมีแต่เพียงการจ้องดูเงาของตัวเองของนาร์ซิสซัสเท่านั้น ในคริสต์ศตวรรษที่ 16 นักวิจารณ์วรรณกรรมโทมมัสโซ สติเกลียนิ (Tommaso Stigliani) อธิบายความมีมนต์ขลังของนาร์ซิสซัสว่าเป็นการ “แสดงอย่างเห็นได้ชัดถึงความไม่มีความสุขของผู้ที่รักสิ่งของของตัวเองมากเกินไป”[3]

ดูเพิ่ม[แก้]