เด็กถูกจิ้งเหลนกัด (คาราวัจโจ)

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
เด็กถูกจิ้งเหลนกัด
ศิลปินคาราวัจโจ
ปีค.ศ. 1594 - ค.ศ. 1596
ประเภทจิตรกรรมสีน้ำมันบนผ้าใบ
สถานที่หอศิลป์แห่งชาติ (ลอนดอน)

เด็กถูกจิ้งเหลนกัด (อังกฤษ: Boy Bitten by a Lizard) เป็นภาพเขียนสีน้ำมันที่เขียนโดยคาราวัจโจจิตรกรสมัยบาโรกคนสำคัญชาวอิตาลีที่ปัจจุบันตั้งแสดงอยู่ที่หอศิลป์แห่งชาติ (ลอนดอน)ในอังกฤษ

ภาพ “เด็กถูกจิ้งเหลนกัด” มีด้วยกันสองฉบับและทั้งสองฉบับเชื่อว่าเขียนโดยคาราวัจโจ ฉบับหนึ่งอยู่ที่มูลนิธิโรเบอร์โต ลอนกีห์ ในฟลอเรนซ์ ภาพที่สองอยู่ที่หอศิลป์แห่งชาติ (ลอนดอน) ทั้งสองภาพเขียนราวระหว่างปี ค.ศ. 1594 - ค.ศ. 1596 การบ่งเวลาเขียนทำได้จากการเปรียบเทียบลักษณะการเขียนภาพนี้กับลักษณะการเขียนของงานที่เขียนในระยะแรกๆ ขณะที่พำนักอยู่กับคาร์ดินัลฟรานเชสโค มาเรีย เดล มอนเตผู้เป็นผู้อุปถัมภ์ และเมื่อคาราวัจโจมิได้เข้าพำนักที่พาลัซโซของคาร์ดินัลจนกระะทั่งล่วงเข้าไปในปี ค.ศ. 1595 แล้วก็ทำให้สันนิษฐานได้ว่าคงจะเขียนในตอนปลายของช่วงเวลาที่สันนิษฐาน เมื่อเปรียบเทียบภาพทั้งสอง ก็เกือบจะไม่แตกต่างกันเลย[1]

ภาพเขียนเป็นภาพของเด็กชายในที่ผงะด้วยความตกใจจากความเจ็บปวดจากที่ถูกจิ้งเหลนที่ซ่อนชามผลไม้กัดนิ้วโดยไม่รู้ตัว ใบหน้าของเด็กผู้ชายเป็นการศึกษาอารมณ์ ส่วนผลไม้และแจกันที่ล้มอยู่ใกล้ๆ เป็นการเรียนรู้เกี่ยวกับการเขียนจิตรกรรมภาพนิ่ง นอกจากนั้นก็เป็นภาพที่ใช้เท็คนิคการวาดที่ใช้แสงเงาที่คมชัด (ค่าต่างแสง) และความเหมือนจริงซึ่งเป็นสัญลักษณ์ประจำตัวสองอย่างที่เด่นชัดของคาราวัจโจ ที่เห็นได้จากสิ่งเล็กๆ น้อยๆ เช่นเล็บมือที่สกปรก

นอกจากนั้นแล้วก็ยังเป็นภาพเขียนที่เต็มไปด้วยสัญลักษณ์เกี่ยวกับเพศที่ซับซ้อนหลายอย่างซึ่งเป็นสัญลักษณ์ที่ชัดเจนสำหรับผู้มีการศึกษาในสมัยเดียวกับคาราวัจโจ เช่นหัวไหล่ที่เปลือยและดอกกุหลาบที่ทัดหูที่แสดงถึงความ “สำอาง” (vanity) และความต้องการที่จะเป็นที่ต้องตาต้องใจแก่ผู้เห็น; ลูกเชอร์รีเป็นสัญลักษณ์ของความต้องการทางเพศ; ลักษณะนิ้วที่สามมีความหมายเดียวกันในปัจจุบันเช่นในคริสต์ศตวรรษที่ 17 และจิ้งเหลนเป็นอุปมาถึงองคชาต เด็กผู้ชายในภาพแสดงท่าประหวั่นจากการช็อคจากความเจ็บปวดที่ได้รับจากความรักทางร่างกาย

งานนี้ก็เช่นเดียวกับงานอื่นของคาราวัจโจ ที่ความเห็นต่างๆ เป็นเพียงการสันนิษฐาน ผู้ที่เป็นแบบอาจจะเป็นมาริโอ มินนิติ เพื่อนที่เป็นแบบให้คาราวัจโจหลายภาพในช่วงเดียวกันนี้เช่นในภาพ “เด็กชายกับตะกร้าผลไม้” และ “หมอดู” ที่มาริโอไม่ได้ดูเหมือนสตรีเท่าใดนัก การวางท่าของแบบในภาพอาจจะเป็นผลจากการทดลองของคาราวัจโจ ที่เป็นการสังเกตอารมณ์ต่างๆ เช่น ความประหลาดใจและความขยะแขยงที่ในสถานะการณ์จริงแล้วยากที่จะทำได้ และผู้เป็นแบบต้องตั้งท่าเป็นเวลานาน

ผู้ที่เคยวิจารณ์วิธีเขียนภาพของคาราวัจโจที่เขียนโดยตรงจากแบบโดยไม่ร่าง ต่อมาก็มาเลียนแบบการเขียนของคาราวัจโจกันตามๆ กัน การเขียนของคาราวัจโจเป็นการเขียนที่แสดงความเหมือนจริงและเพิ่มความเป็นนาฏกรรมให้แก่ภาพที่เหมาะกับการจับภาพที่นิ่งแต่ยังไม่เหมาะกับภาพที่เกี่ยวกับการเคลื่อนไหวและความรุนแรง จนต่อมาเท่านั้นที่คาราวัจโจสามารถแก้ปัญหานี้ได้ แต่จะอย่างไรก็ตามภาพนี้ก็นับว่าเป็นงานชิ้นสำคัญชิ้นหนึ่งที่เริ่มแสดงความเคลื่อนไหวภาพในภาพมากกว่าภาพที่เชื่อกันว่าเขียนก่อนหน้านั้นเช่น “เด็กชายปอกผลไม้” และ “บาคคัสไม่สบาย” และแม้แต่ภาพที่มีนัยยะว่าจะมีเค้าความขัดแย้งที่จะเกิดขึ้นแต่ก็ยังเป็นภาพวางท่าเช่นภาพ “คนโกงไพ่

อ้างอิง[แก้]

  1. Roberto Longhi (1998), Caravaggio. Ediz. inglese, ISBN 8809214455

ดูเพิ่ม[แก้]