พักระหว่างหนีไปอียิปต์ (คาราวัจโจ)

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
พักระหว่างหนีไปอียิปต์
ศิลปินคาราวัจโจ
ปีค.ศ. 1597
ประเภทจิตรกรรมสีน้ำมันบนผ้าใบ
สถานที่หอศิลป์แปมฟิลจ์, โรม
การวางท่าของไวซ์ “การตัดสินของเฮอร์คิวลีส” โดยอันนิบาเล คารัคชี ในปี ค.ศ. 1596 ดูเหมือนจะมีอิทธิพลโดยตรงแก่ท่าของเทวดาของคาราวัจโจ

พักระหว่างหนีไปอียิปต์ (อังกฤษ: Rest on the Flight into Egypt) เป็นภาพเขียนสีน้ำมันที่เขียนโดยคาราวัจโจจิตรกรสมัยบาโรกคนสำคัญชาวอิตาลีที่ปัจจุบันตั้งแสดงอยู่ที่หอศิลป์แปมฟิลจ์ในกรุงโรมในประเทศอิตาลี

เนื้อหาของภาพมิได้มีรากฐานมาจากพระคัมภีร์ไบเบิลโดยตรงแต่เป็นเรื่องที่มาขยายความและเพิ่มเติมรายละเอียดกันขึ้นจากพระคัมภีร์ไบเบิลในสมัยต้นยุคกลางที่มีรากฐานมาจากเรื่องการเดินทางของครอบครัวพระเยซูขณะที่เสด็จหนีไปอียิปต์เพื่อลี้ภัยเมื่อได้ข่าวว่าพระเจ้าแฮรอด อันทิพาส์ทรงสั่งให้ฆ่าเด็กเกิดใหม่ในกรุงเยรุซาเล็ม ตามตำนานเมื่อแล้วโจเซฟและพระแม่มารีหยุดพักที่หมู่ไม้ระหว่างการเดินทาง พระทารกก็ทรงสั่งให้กิ่งไม้โน้มลงมาเพื่อให้โจเซฟเก็บผลได้ จากนั้นก็ทรงสั่งให้น้ำพุไหลเป็นสายออกมาเพื่อให้พระบิดา/มารดาได้ดื่มแก้กระหาย รายละเอียดของตำนานก็เพิ่มเติมกันไปต่างๆ ในชั่วเวลาหลายร้อยปีที่แพร่หลาย คาราวัจโจแสดงภาพของพระแม่มารีบรรทมหลับพระศอพับกับพระทารกในพระกร ขณะที่โจเซฟถือโน้ตเพลงให้เทวดาเล่นไวโอลิน ส่วนลาที่เป็นการบอกล่วงหน้าถึงการที่พระเยซูจจะทรงขี่เข้ากรุงเยรุซาเล็มยืนมองอยู่ข้างหลังโจเซฟ

ปีที่วาดยังไม่สามารถตกลงกันได้ ถ้าว่ากันตามจุยเลียโน มันชินิ (Giulio Mancini) ผู้ร่วมสมัยแล้วภาพเขียนนี้และภาพ “แมรี แม็กดาเลนเศร้า” กับภาพนักบุญจอห์นแบ็พทิสต์ก็เขียนเมื่อคาราวัจโจพักอยู่กับฟันติโน เปตริยานิไม่นานหลังจากออกจากห้องเขียนภาพของจุยเซปเป เซซาริ ราวเดือนมกราคม ค.ศ. 1594 แต่การยอมรับเวลาที่ว่านี้ก็เป็นปัญหา เพราะไม่มีภาพเขียนดังกล่าวอยู่ในรายการสำรวจของเปตริยานิที่ทำกันในปี ค.ศ. 1600 แต่ก็อาจจะเป็นไปได้ว่าเป็นภาพที่คาราวัจโจเขียนให้ผู้อุปถัมภ์คนอื่นที่ไม่ใช่เปตริยานิ นอกจากนั้นถ้าพิจารณาถึงที่มาของลักษณะการวางองค์ประกอบของภาพแล้วก็จะเห็นว่ามีความสัมพันธ์โดยตรงกับงาน “การตัดสินของเฮอร์คิวลีส” โดยอันนิบาเล คารัคชี ที่เขียนเสร็จเมื่อต้นปี ค.ศ. 1596 ซึ่งเป็นภาพที่มีชื่อเสียงและนิยมกันอย่างกว้างขวาง การวางท่าของเทวดาของคาราวัจโจใกล้เคียงกับการวางที่ของไวซ์ในภาพของคารัคชี ขณะที่จอห์น แกชในปี ค.ศ. 2003 ยอมรับคำอ้างของมันชินิ นักประวัติศาสตร์ศิลปะผู้อื่นที่รวมทั้งรอบบ์และแลงดอนในปี ค.ศ. 1998 ตั้งข้อเสนอว่าเป็นภาพที่เขียนให้คาร์ดินัลฟรานเชสโค มาเรีย เดล มอนเตผู้อุปถัมภ์คาราวัจโจไว้ในวังระหว่างปี ค.ศ. 1595 ถึงปี ค.ศ. 1596 นอกจากนั้นแล้วรายละเอียดของภาพก็ยังแสดงให้เห็นถึงความเหมาะสมกับการวาดสำหรับวงการปัญญาชนของเดล มอนเต เช่นชิ้นดนตรีที่โจเซฟถือให้เทวดาเล่นเป็นโมเต็ตที่เป็นงานที่เขียนโดยคีตกวีเฟล็มมิช โนเอล บอลเดเว็ยน (Noel Bauldeweyn) เป็นเนื้อเพลง “Quam pulchra es” (ความงดงามอันหาที่เปรียบมิได้) ที่อุทิศให้พระแม่มารีจาก “เพลงโซโลมอน” (Song of Songs หรือ Song of Solomon) ประการสุดท้ายงานนี้เป็นงานเขียนที่ยากที่จะเป็นงานเขียนที่เขียนเองโดยไม่ได้รับการจ้าง

“พักระหว่างหนีไปอียิปต์” (รายละเอียด)
“พักระหว่างหนีไปอียิปต์” (รายละเอียด)

งานนี้เป็นงานชิ้นใหญ่และการวางองค์ประกอบก็ซับซ้อนกว่าภาพ “นักดนตรี” ที่เขียนก่อนหน้านั้นราวปี ค.ศ. 1595 และยังเป็นภาพที่มีภูมิทัศน์ซึ่งหาดูได้ยากมากในงานของคาราวัจโจ ผู้ดูเหมือนจะชอบเขียนภายในสิ่งก่อสร้างเช่นในห้องหรือในทาเวิร์น หรือตอนกลางคืนที่ไม่ค่อยจะมีฉากหลังให้เห็นเท่าใดนักหรือมิได้ให้ความสำคัญกับฉากหลัง นักวิจารณ์คนหนึ่งค่อนว่าถ้าเอาท้องฟ้าจากภาพ 80 กว่าภาพที่คาราวัจโจเขียนมารวมกันแล้วก็คงจะได้เพียงไม่กี่ตารางเซนติเมตร

ภาพเขียนถูกขายให้แก่หอศิลป์แปมฟิลจ์ในกรุงโรมเมื่อต้นคริสต์ทศวรรษ 1600 ลักษณะการเขียนของลอมบาร์ดและเวนิสของคาราวัจโจยังคงเห็นได้ในภาพนี้จากการเขียนภูมิทัศน์และในการใช้โทนสีที่เรือง ฉากนี้ก็เช่นเดียวกับภาพเขียนอื่นในหัวเรื่องเดียวกันที่ดูแล้วทำให้เกิดความรู้สึกสงบ ผู้ดูมีความเพลิดเพลินกับรายละเอียดของภูมิทัศน์และสวนภายในภาพโดยมีเทวดาที่เรืองรองมีเสน่ห์ดึงดูดเป็นศูนย์กลางของภาพ ภาพกลุ่มแม่และลูกในภาพหนึ่งที่คาราวัจโจเขียนต่อมาอีกหลายครั้งเป็นลักษณะที่มีฝีมือดี

สิ่งที่ผู้เชี่ยวชาญในงานเขียนของคาราวัจโจนิยมทำกันคือการพยายามระบุว่านาย/นางแบบในภาพคือใคร แต่ส่วนมากแล้วก็เป็นเพียงการสันนิษฐานเพราะคาราวัจโจมิได้ทิ้งหลักฐานไว้ให้มากนัก พระแม่มารีในภาพนี้ดูเหมือนจะเป็นสตรีคนเดียวกับผู้ปรากฏในภาพ “แมรี แม็กดาเลนเศร้า” ที่เขียนราวปี ค.ศ. 1597 (หอศิลป์แปมฟิลจ์, กรุงโรม) ส่วนโจเซฟผู้สูงอายุดูคล้ายนักบุญแม็ทธิวในภาพ “แรงบันดาลใจของนักบุญแม็ทธิว” ที่เขียนราวปี ค.ศ. 1602 และอาจจะในภาพ “นักบุญเจอโรมวิปัสสนา” แต่ไม่ค่อยชัดนักที่เขียนราวปี ค.ศ. 1605 นักวิจารณ์บางคนกล่าวว่าเทวดาหนุ่มในรูปเป็นเด็กหนุ่มที่ถูกหลอกทางซ้ายในภาพ “คนโกงไพ่” ที่เขียนราวปี ค.ศ. 1594 แต่นักวิจารณ์คนอื่นเห็นว่าน่าจะเป็นคนคนเดียวกับเด็กผู้ชายที่หลอกทางขวา

อ้างอิง[แก้]

  • Gash, John (2003). Caravaggio. ISBN 1-904449-22-0.
  • Hibbard, Howard (1983). Caravaggio. Harper & Row. ISBN 0-06-430128-1.
  • Langdon, Helen (1998). Caravaggio: A Life. ISBN 0-374-11894-9.
  • Robb, Peter (1998). M. ISBN 0-312-27474-2, ISBN 0-7475-4858-7. {{cite book}}: ตรวจสอบค่า |isbn=: ตัวอักษรไม่ถูกต้อง (help)

ดูเพิ่ม[แก้]