พระอัฎฐารส

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี

พระอัฎฐารส เป็นพระนามของพระพุทธปฏิมา มีลักษณะเป็นพระพุทธรูปประทับยืนขนาดใหญ่ที่นิยมสร้างกันในสมัยสุโขทัย ปัจจุบันมีอยู่ 6 องค์ คือที่วัดมหาธาตุจำนวน 2 องค์ และที่วัดตะพานหิน จังหวัดสุโขทัย ที่วัดพระศรีรัตนมหาธาตุและวัดวิหารทอง จังหวัดพิษณุโลก และที่วัดเจดีย์หลวง จังหวัดเชียงใหม่

คติ[แก้]

พระอัฎฐารสตีความตามนามได้ว่า "อัฎฐะ" แปลว่า แปดรวมกับ "รส" ซึ่งเข้าใจว่าเพี้ยนมาจากคำว่า "ทศ" แปลว่า สิบ รวมความแล้วหมายถึง พระยืนสูงถึงสิบแปดศอก[1]

ชื่อเรียกพระปฏิมานี้ปรากฏหลักฐานในศิลาจารึกหลักที่ 1 ว่า "....กลางเมืองสุโขทัยนี้ มีพิหาร มีพระพุทธรูปทอง มีพระอัฏฐารศ" และ "...ในกลางอรัญญิก มีพิหารอันณึ่งมนใหญ่ สูงงามแก่กม มีพระอัฏฐารศอันณึ่ง ลุกยืน...." ในตำนานมูลศาสนาได้กล่าวถึงการสร้างพระพุทธรูปสูง 18 ศอกในสมัยหริภุญชัย

ความหมายของพระอัฎฐารสตีความได้เป็น 2 แนวคิด ได้แก่ "พระสูง 18 ศอก" และ "พระผู้เปี่ยมด้วยพุทธคุณ 18" แนวคิดแรกปรากฏอยู่ในคัมภีร์อรรถกถา พุทธวงศ์ ที่กล่าวถึงความสูงของพระโคตมพุทธเจ้า โดยพระพุทธปฏิมาที่มีความสูง 18 ศอกมี 2 องค์ที่วัดมหาธาตุ ส่วนที่วัดตะพานหินมีขนาดใกล้เคียง ส่วนความเชื่อเรื่องพุทธคุณอันประเสริฐ ปรากฏในอาฏานาฏิยปริตรว่า "อุเปตา พุทฺธธมฺเมหิ อฏฺฐารสหิ นายกา … พระพุทธเจ้าทั้งหลายผู้เป็นนายกคือผู้นำ ทรงประกอบด้วยพุทธธรรม 18 ประการ"[2]

คติความเชื่อในการสร้างงานปฏิมากรรมพระอัฎฐารสเกิดขึ้นเมื่อใดไม่สามารถบอกได้ชัด ปรากฏปฏิมากรรมอิริยาบถยืนขนาดสูงใหญ่ ที่ประเทศศรีลังกาและถูกเรียกว่า "มีขนาดเท่าพระพุทธเจ้าขณะมีพระชนม์ชีพ" สันนิษฐานว่าสร้างในสมัยพระเจ้าปรักกรมพาหุที่ 1 (Parakramabahu I) ซึ่งครองราชย์ พ.ศ. 1696–1729

นอกจากนี้ยังมีคติพระอัฎฐารสในความหมาย "พระสี่อิริยาบถ" ได้แก่ วัดพระพายหลวง วัดเชตุพน อำเภอเมืองสุโขทัย จังหวัดสุโขทัย และวัดพระสี่อิริยาบถ จังหวัดกำแพงเพชร กล่าวคือไม่ได้ว่าอยู่ในอิริยาบถใด ปางใด ในความสูง 18 ศอก ก็จัดอยู่ในกรอบพระอัฎฐารส[3]

ระเบียงภาพ[แก้]

อ้างอิง[แก้]

  1. "พระอัฎฐารส". สยามรัฐ.
  2. "ประวัติความเป็นมาที่หลายคนอาจไม่เคยทราบของ 'พระอัฏฐารส' วัดเจดีย์หลวงวรวิหาร". มติชนสุดสัปดาห์.
  3. ""อฏฐารส" คติความเชื่อ และการสร้างสรรค์งานพุทธปฏิมา". หน้าจั่ว.