พระยาสุนทรบุรี (อี้ กรรณสูต)
พระยาสุนทรบุรี | |
---|---|
เกิด | 21 พฤษภาคม พ.ศ. 2414 |
ถึงแก่กรรม | 19 กรกฎาคม พ.ศ. 2474 (60 ปี) |
สาเหตุเสียชีวิต | อัมพาต |
ตำแหน่ง | ผู้ว่าราชการจังหวัดสุพรรณบุรี |
พระยาสุนทรบุรี (อี้ กรรณสูต) (21 พฤษภาคม 2414 – 19 กรกฎาคม 2474)[1] เป็นอดีตองคมนตรีในรัชกาลที่ 6 อดีตผู้ว่าราชการจังหวัดสุพรรณบุรี อดีตนายอำเภอสามพราน จังหวัดนครปฐม[2] อดีตสมุหเทศาภิบาลสำเร็จราชการมณฑลนครชัยศรี ผู้ก่อตั้งโรงเรียนกรรณสูตศึกษาลัย[3] และเป็นต้นตระกูลกรรณสูต[4]
ประวัติ
[แก้]พระยาสุนทรบุรี มีนามเดิมว่า อี้ หรือ ฮะอี้ กรรณสูต เกิดเมื่อวันที่ 21 พฤษภาคม 2414 เป็นบุตรชายของ พระทวีประชาชน (โป๋ กรรณสูต) ด้านชีวิตครอบครัวสมรสกับ คุณหญิงสอิ้ง กรรณสูต มีบุตรธิดาคือนายปรีดา กรรณสูต อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และนางอาภรณ์ สุนทรสนาน สมรสกับครูเอื้อ สุนทรสนาน นักร้อง นักแต่งเพลง และหัวหน้าวงดนตรีสุนทราภรณ์[5]
พระยาสุนทรบุรีถึงแก่อนิจกรรมเมื่อวันที่ 19 กรกฎาคม 2474 ขณะมีอายุได้ 60 ปีเนื่องจากเป็นอัมพาต ในการนี้ได้โปรดเกล้าฯ พระราชทานหีบทองลายสลัก ฉัตรเบญจาตั้ง 4 คัน กลองชนะเขียว 8 จ๋าปี่ 1 ประโคมเวลาพระราชทานน้ำหลวงอาบศพ เป็นเกียรติยศ
รับราชการ
[แก้]พระยาสุนทรบุรีเริ่มต้นรับราชการในตำแหน่งนายอำเภอตลาดใหม่ (ปัจจุบันคืออำเภอสามพราน จังหวัดนครปฐม) เมื่อปี 2439 พร้อมกับบรรดาศักดิ์ที่ หลวงบำรุงจีนประชา ต่อมาในวันที่ 5 พฤษภาคม 2442 ได้เปลี่ยนบรรดาศักดิ์เป็น หลวงบรรหารนิกรกิจ ถือศักดินา 400[6] จากนั้นในวันที่ 23 เมษายน 2451 จึงได้เข้าเฝ้ารับพระราชทานสัญญาบัตรเลื่อนบรรดาศักดิ์เป็น พระทวีประชาชน ถือศักดินา 800 ที่พระที่นั่งอภิเศกดุสิต[7] โดยบรรดาศักดิ์นี้เป็นบรรดาศักดิ์เดียวกับของผู้เป็นบิดา ต่อมาในวันที่ 20 สิงหาคม 2454 ได้มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ พระราชทานยศให้ท่านเป็น รองอำมาตย์เอก พระทวีประชาชน[8]
ในวันที่ 7 สิงหาคม 2455 ได้มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ เลื่อนยศให้ท่านเป็น อำมาตย์ตรี พระทวีประชาชน[9] จากนั้นในวันที่ 17 ธันวาคม 2455 ท่านได้รับโปรดเกล้าฯ ให้ขึ้นมาเป็นผู้ว่าราชการเมืองสุพรรณบุรีแทนที่ พระยาสุนทรสงคราม ที่ย้ายไปรับตำแหน่งเป็นผู้ว่าราชการเมืองลพบุรี[10] ต่อมาในวันที่ 5 กันยายน 2456 ท่านได้รับพระราชทานเปลี่ยนบรรดาศักดิ์เป็น พระยาสุนทรสงคราม ถือศักดินา 3000[11] ในวันที่ 14 ตุลาคม ศกเดียวกัน ท่านได้เลื่อนยศเป็น อำมาตย์โท พระยาสุนทรสงคราม[12] โดยได้เข้ารับพระราชทานสัญญาบัตรบรรดาศักดิ์ที่พระที่นั่งอภิเศกดุสิตเมื่อวันที่ 24 พฤษภาคม 2458[13]
ในวันที่ 13 ตุลาคม 2464 ได้มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ พระราชทานเลื่อนยศให้ท่านเป็น อำมาตย์เอก พระยาสุนทรสงคราม[14] ต่อมาในวันที่ 2 กันยายน 2465 ท่านได้รับพระราชทานยศเป็น จ่า[15] ต่อมาในวันที่ 24 กันยายน 2466 ท่านได้เข้าเฝ้ารับพระราชทานสัญญาบัตรเลื่อนบรรดาศักดิ์เป็น พระยาสุนทรบุรี ศรีพิชัยสงคราม รามภักดี พิริยพาหะ ว่าที่สมุหเทศาภิบาลสำเร็จราชการมณฑลนครชัยศรี ถือศักดินา 10000[16] ก่อนจะมีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งท่านให้เป็น สมุหเทศาภิบาลสำเร็จราชการมณฑลนครชัยศรี ในวันรุ่งขึ้น[17] จากนั้นท่านได้รับพระราชทานยศ จางวางตรี เมื่อวันที่ 15 ตุลาคม ศกเดียวกัน[18]
วันที่ 4 เมษายน 2467 ท่านได้รับพระราชทานสัญญาบัตรให้เป็นองคมนตรี ต่อมาในวันที่ 31 มีนาคม 2468 (นับแบบปัจจุบัน 2469) ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้ท่านพร้อมกับสมุหเทศาภิบาลอีก 6 ท่านได้แก่ มหาเสวกโท พระยาเดชานุชิต สมุหเทศาภิบาลสำเร็จราชการมณฑลมหาราษฎร์, มหาเสวกโท พระยารณชัยชาญยุทธ สมุหเทศาภิบาลสำเร็จราชการมณฑลร้อยเอ็ด, มหาเสวกโท พระยาศรีธรรมศกราช สมุหเทศาภิบาลสำเร็จราชการมณฑลอุบลราชธานี, มหาเสวกโท พระยาคงคาธราธิบดี สมุหเทศาภิบาลสำเร็จราชการมณฑลสุราษฎร์, มหาเสวกโท พระยาศรีสุริยราชวรานุวัตร สมุหเทศาภิบาลสำเร็จราชการมณฑลพิษณุโลก, และจางวางโท พระยาคทาธรบดีสีหราชบาลเมือง สมุหเทศาภิบาลสำเร็จราชการมณฑลราชบุรี ออกจากราชการรับเบี้ยบำนาญ โดยมีจางวางโทหม่อมเจ้าธำรงสิริ ศรีธวัช สมุหเทศาภิบาลสำเร็จราชการมณฑลปราจิณบุรี มารับตำแหน่งแทน[19]
ยศและตำแหน่ง
[แก้]ยศเสือป่า
[แก้]- 19 กุมภาพันธ์ 2455 – นายหมู่ตรี[20]
- 21 กุมภาพันธ์ 2456 – นายหมู่โท[21]
- 26 ตุลาคม 2458 – นายหมวดโท[22]
- 8 ธันวาคม 2460 – นายหมวดเอก[23]
- 18 พฤศจิกายน 2462 – นายกองตรี[24]
- – นายกองโท
- 29 พฤศจิกายน 2466 – นายกองเอก[25]
ตำแหน่ง
[แก้]- 1 ตุลาคม 2463 – ผู้บังคับกองพันเสือป่าที่ 3[26]
- 4 เมษายน 2467 – องคมนตรี[27]
- 12 พฤษภาคม 2468 – ผู้บัญชาการกองเสนาน้อยรักษาดินแดนนครไชยศรี[28]
เครื่องราชอิสริยาภรณ์
[แก้]- พ.ศ. 2466 – เครื่องราชอิสริยาภรณ์จุลจอมเกล้า ชั้นที่ 2 ทุติยจุลจอมเกล้า (ท.จ.) (ฝ่ายหน้า)[29]
- พ.ศ. 2456 – เครื่องราชอิสริยาภรณ์อันมีเกียรติยศยิ่งมงกุฎไทย ชั้นที่ 3 ตริตาภรณ์มงกุฎไทย (ต.ม.)[30]
- พ.ศ. 2453 – เครื่องราชอิสริยาภรณ์อันเป็นที่เชิดชูยิ่งช้างเผือก ชั้นที่ 5 เบญจมาภรณ์ช้างเผือก (บ.ช.)[31]
- พ.ศ. 2465 – เหรียญจักรพรรดิมาลา (ร.จ.พ.)[32]
- พ.ศ. 2468 – เหรียญศารทูลมาลา (ร.ศ.ท.)[33]
- พ.ศ. 2453 – เหรียญรัตนาภรณ์ รัชกาลที่ 6 ชั้นที่ 4 (ว.ป.ร.4)[34]
อ้างอิง
[แก้]- ↑ ข่าวตาย
- ↑ อนุสาวรีย์พระยาสุนทรบุรีศรีพิชัยสงคราม
- ↑ โรงเรียนกรรณสูตศึกษาลัย จังหวัดสุพรรณบุรี จัดงานวาระเกียรติยศครบรอบ 124 ปี "สร้างคนดี มีความรู้ สู่สังคม"
- ↑ ประกาศพระราชทานนามสกุล ครั้งที่ 9
- ↑ ตำนานสุนทราภรณ์ (4)
- ↑ พระราชทานสัญญาบัตร
- ↑ พระราชทานสัญญาบัตรขุนนาง
- ↑ พระราชทานยศ กระทรวงมหาดไทย (หน้า 979)
- ↑ พระราชทานยศ
- ↑ แจ้งความกระทรวงมหาดไทย เรื่อง กราบถวายบังคมลาออกจากหน้าที่ราชการกับย้ายและเปลี่ยนตำแหน่งข้าราชการ
- ↑ ตั้งและเลื่อนบรรดาศักดิ์
- ↑ พระราชทานยศเลื่อนยศ (หน้า 1603)
- ↑ รายวันพระราชทานสัญญาบัตรบรรดาศักดิ์
- ↑ พระราชทานยศ
- ↑ พระราชทานยศ
- ↑ พระราชทานสัญญาบัตรบรรดาศักดิ์
- ↑ พระบรมราชโองการ ประกาศตั้งสมุหเทศาภิบาล
- ↑ พระราชทานยศ
- ↑ ประกาศ ตั้งสมุหเทศาภิบาลมณฑลต่าง ๆ
- ↑ ส่งสัญญาบัตรเสือป่าไปพระราชทาน
- ↑ ตั้งตำแหน่งยศเสือป่า
- ↑ พระราชทานยศเสือป่า
- ↑ พระราชทานยศเสือป่า
- ↑ พระราชทานยศเสือป่า
- ↑ "พระราชทานยศเสือป่า" (PDF). ราชกิจจานุเบกษา: 3027. 23 ธันวาคม 1923. สืบค้นเมื่อ 17 กันยายน 2024.
- ↑ ประกาศกรมบัญชาการคณะเสือป่า
- ↑ "การพระราชพิธีตั้งองคมนตรี พระพุทธศักราช 2467" (PDF). ราชกิจจานุเบกษา: 69. 5 มิถุนายน 1923.
- ↑ "ประกาศกรมบัญชาการคณะเสือป่า เรื่อง เลื่อนตำแหน่งสมาชิกเสือป่ารับราชการ" (PDF). ราชกิจจานุเบกษา. 24 พฤษภาคม 1925.
- ↑ ราชกิจจานุเบกษา, พระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์จุลจอมเกล้าฝ่ายหน้า, เล่ม ๔๐ ตอนที่ ๐ ง หน้า ๒๖๒๙, ๒๕ พฤศจิกายน ๒๔๖๖
- ↑ ราชกิจจานุเบกษา, พระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์, เล่ม ๓๐ ตอนที่ ๐ ง หน้า ๒๖๗๓, ๑๕ กุมภาพันธ์ ๒๔๕๖
- ↑ ราชกิจจานุเบกษา, พระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์, เล่ม ๒๗ ตอนที่ ๐ ง หน้า ๑๖๐๐, ๙ ตุลาคม ๑๒๙
- ↑ ราชกิจจานุเบกษา, ส่งเหรียญจักรพรรดิมาลาไปพระราชทาน, เล่ม ๓๙ ตอนที่ ๐ ง หน้า ๓๐๑, ๗ พฤษภาคม ๒๔๖๕
- ↑ ราชกิจจานุเบกษา, ส่งเครื่องราชอิสริยาภรณ์ไปพระราชทาน, เล่ม ๔๓ ตอนที่ ๐ ง หน้า ๔๙๑, ๒ พฤษภาคม ๒๔๖๙
- ↑ ราชกิจจานุเบกษา, พระราชทานเหรียญรัตนาภรณ์รัชกาลปัตยุบัน, เล่ม ๒๗ ตอนที่ ๐ ง หน้า ๒๖๔๕, ๒๙ มกราคม ๑๒๙
- บุคคลที่เกิดในปี พ.ศ. 2414
- บุคคลที่เสียชีวิตในปี พ.ศ. 2474
- ขุนนางไทย
- องคมนตรีในรัชกาลที่ 6
- ผู้ว่าราชการจังหวัดสุพรรณบุรี
- บุคคลจากโรงเรียนกรรณสูตศึกษาลัย
- สกุลกรรณสูต
- บรรดาศักดิ์ชั้นพระยา
- ผู้ได้รับเครื่องราชอิสริยาภรณ์ ท.จ. (ฝ่ายหน้า)
- ผู้ได้รับเครื่องราชอิสริยาภรณ์ ต.ม.
- ผู้ได้รับเครื่องราชอิสริยาภรณ์ บ.ช.
- ผู้ได้รับเหรียญจักรพรรดิมาลา
- ผู้ได้รับเหรียญศารทูลมาลา
- ผู้ได้รับเหรียญรัตนาภรณ์ ว.ป.ร.4