พระครูจ้อย จนฺทสุวณฺโณ

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
พระครูจ้อย จนฺทสุวณฺโณ

(จ้อย จนฺทสุวณฺโณ {{{ฉายา}}})
ชื่ออื่นหลวงพ่อจ้อย
ส่วนบุคคล
เกิด8 เมษายน พ.ศ. 2456 (94 ปี ปี)
มรณภาพ16 เมษายน พ.ศ. 2550
นิกายมหานิกาย
ตำแหน่งชั้นสูง
ที่อยู่วัดศรีอุทุมพร นครสวรรค์
อุปสมบท7 พฤษภาคม พ.ศ. 2476
ตำแหน่งเจ้าอาวาสวัดศรีอุทุมพร

หลวงพ่อจ้อย จนฺทสุวณฺโณ (8 เมษายน พ.ศ. 245616 เมษายน พ.ศ. 2550) เทพเจ้าแห่งเมืองปากน้ำโพ อดีตเจ้าอาวาส วัดศรีอุทุมพร เป็นพระผู้เปี่ยมไปด้วยเมตตากรุณา เป็นพระนักพัฒนา ที่ชาวจังหวัดนครสวรรค์ และเขตติดต่อ ให้ความเคารพนับถือ

ผู้บุกเบิกสร้างวัดและหมู่บ้าน

แต่เดิมโยมท่านและตัวท่านมีภูมิลำเนาถิ่นฐานอยู่บ้านดอนหวาย ตำบลพรวงสองนาง อำเภอทัพทัน จังหวัดอุทัยธานี โยมชายหญิงของท่านเห็นว่าที่ทำกินมันชักจะแคบเข้าทุกที ทำนาไม่เพียงพอลูกที่มีเพิ่มขึ้นชีวิตในโลกนี้คือการดิ้นรน คนส่วนมากของประเทศโดยเฉพาะชาวไร่ชาวนาดิ้นรนเพียงเพื่อมีชีวิตอยู่ทุ่มเทชีวิตเรี่ยวแรงหยาดเหงื่อทุกหยด เพื่อความมีชีวิตของตน สมัยนั้นมีดินป่าไม้ยังรกร้างว่างเปล่า ไม่ต้องยื้อแย่งกรรมสิทธิ์อะไรกัน ผู้คนพลเมืองยังมีน้อย “ดินดีเพราะป่าปก ป่ารกเพราะเสือยัง” มีอยู่มากมายใครมีกำลังเรี่ยวแรงเท่าไรก็มาหักล้างถางพงให้เป็นไร่เป็นนาเอาตามความสามารถของตน พอทำกินเลี้ยงลูกเมียแล้วก็พอใจ มิได้กำเริบใจจะเป็นนายทุนเจ้าของที่ดินเป็นหมื่นเป็นพันไร่อย่างในปัจจุบันนี้เมื่อทราบว่าทางบ้านวังเดื่อ ตำบลหนองกรด จังหวัดนครสวรรค์ ยังมีที่ดินว่างเปล่าอยู่มาก จึงไปปรึกษาชักชวนกันอพยพจากถิ่นเดิม เอาพริก เอาเกลือ เอาข้าวใส่โคเทียมเกวียนมา จอบเสียมเครื่องมือทำกินก็เอามาพร้อมเดินทางรอนแรม ค่ำไหนนอนนั่นมาหลายวันหลายคืนผ่านมาทางหนองขุย ห้วยอีด่าง ลักเข้าหนองกล้ำเข้าดอนเพชร โนนแดง ข้ามแม่น้ำแควตากแดด ขึ้นบ้านวังหินดาร หนองกระทุ่ม เรื่อยมา ทางรถเรียบรถยนต์วิ่งได้สบายบรื๋อ อย่างเดียวนี้หามีไม่ เกวียนมีสิทธิ์ที่จะใช้ทางเกวียนอย่างเต็มที่ ก็ทางเกวียนนี่แหละ ที่เป็นเครื่องวัดนิสัยใจคอของคนไทยแต่ไรมา เมืองไทยอากาศมันร้อน จะเดินทางไปไหนก็ลดเลี้ยวเลี่ยงไปเดินตามร่มเงา หรือที่ไหนรกทึบด้วยแมกไม้ ยากเกินไปที่จะบุกป่าฝ่าหนาม ก็เลี่ยงเดินเสียที่มันเตียนไม่ต้องออกแรง ทางที่เริ่มขึ้นเป็นทางเดินเท้าต่อมาก็ขยายกว้างเป็นทางเกวียน โคกระบือเทียมเกวียนจึงพาเกวียนเลี้ยวลดไปตามทางที่มีอยู่ ที่จะลัดตัดตรงนั้นไม่มี โบราณว่าเกวียนหนีทางไม่ได้ กว่าจะพาครอบครัวอพยพถึงวังเดื่อได้ก็หลายวันเต็มที

ครอบครัวของหลวงพ่อจ้อย นับว่าเป็นผู้บุกเบิกดินแดนถิ่นนี้เป็นครั้งแรก ตั้งหน้าหักร้างถางป่า อีกหลายปีจึงมีที่ดินทำไร่ไถนาได้พอเลี้ยงกัน จากนั้นก็ไปชักชวนเพื่อนพวกพี่น้องในถิ่นเดิม ให้มาบุกเบิกทำกินกันตามกำลัง “ดินดีเพราะป่าปก ป่ารกเพราะเสือยัง” เหลืออยู่อีกมากมาย ไม่หวงแหนกีดกันเอาเป็นของตนแต่ผู้เดียวเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่กันตามประสาไทย ใครมีแรงมากเอาให้มาก มีแรงน้อยก็เอาแต่พอแรงของตน บ้านวังเดื่อที่เคยเป็นป่า บักนี้ก็ค่อยๆกลายเป็นแหล่งชุมชนของหมู่บ้านและที่เราเรียกกันว่า “บ้านวังเดื่อ” เพราะว่าได้มีต้นมะเดื่อขนาดสูงใหญ่ขึ้นอยู่ที่ริมคลองหลังวัด และในปัจจุบันนี้ก็ยังคงเหลือเพียงแต่ตอของต้นมะเดื่อที่จมอยู่ในคลองของด้านหลังวัด และเราจะสามารถเห็นตอนี้ได้ก็ต่อเมื่อน้ำในคลองได้ลดลง ต่อมาโยมพ่อโยมแม่และญาติโยมชาวบ้านวังเดื่อได้พร้อมใจกันยกที่ให้หลวงพ่อได้ทำการสร้างเป็นที่พักสงค์ เพื่อจะเอาไว้เป็น ที่สาธารณประโยชน์ในการบำเพ็ญกุศล แล้วจึงได้นิมนต์พระภิกษุสงค์มาจำพรรษาอยู่ที่สำนักสงค์แห่งนี้ ต่อมาทางคณะสงค์ได้จัด ตั้งวัดขึ้นให้เป็นวัดที่สมบูรณ์แบบถูกต้องตามกฎหมาย ชื่อว่า “วัดศรีอุทุมพร” เพราะว่าตามหลักภาษาบาลี “ไม้มะเดื่อ” นั้นแปลว่า “ไม้อุทุมพร” พอเติมคำว่า “ศรี” เข้าไปก็เป็น “วัดศรีอุทุมพร” คือวัดที่เป็นสิริงดงาม จึงเป็นมงคลนาม

ชาติภูมิ[แก้]

หลวงพ่อจ้อย เกิดเมื่อวันพฤหัสบดีที่ 8 เมษายน พ.ศ. 2456 ตรงกับวันขึ้น 3 ค่ำ เดือน 5 ปีฉลู เป็นบุตรคนที่สองของ นายแหยม นางบุญ ปานสีทา ตำบลพรวงสองนาง อำเภอทัพทัน จังหวัดอุทัยธานี นามเดิม : จ้อย (ภาษาลาวกะลา แปลว่า ผอม) นามสกุล : ปานสีเทา มีพี่น้อง ด้วยกัน 6 คน เป็นชาย 3 คน หญิง 3 คน คือ

  1. นางทองดี
  2. พระครูจ้อย หรือ หลวงพ่อจ้อย จนฺทสุวณฺโณ
  3. พระภิกษุสิงห์
  4. นางแต๋ว
  5. นางหนู
  6. พระภิกษุสุเทพ

อุปสมบท[แก้]

หลวงพ่อจ้อย อุปสมบทเมื่อวันที่ 7 พฤษภาคม พ.ศ. 2476 ที่วัดดอนหวาย ตำบลพรวงสองนาง อำเภอทัพทัน จังหวัดอุทัยธานี โดยมีพระปลัดตุ้ยเป็นพระอุปัชฌาย์ พระอาจารย์บุญธรรมเป็น พระกรรมวาจาจารย์ และพระอาจารย์บุญตา เป็นพระอนุสาวนาจารย์ ฉายา จนฺทสุวณฺโณ ซึ่งแปลว่า ผู้มีผิวพรรณงามดั่งพระจันทร์

วิทยฐานะ[แก้]

ในขณะที่หลวงพ่อได้ไปตั้งต้นเดินธุดงค์ที่ทางภาคเหนือลงมาตั้งแต่จังหวัดเชียงใหม่ลงมาจนถึงจังหวัดนครปฐมระหว่างนั้นได้มีการศึกษาวิชาอาคมต่างๆ กับพระอาจารย์ หลายรูป เช่น หลวงพ่อจง วัดหน้าต่างนอก อำเภอบางไพร จังหวัดพระนครศรีอยุธยา โดยได้ทำการเรียนวิชาการทำตะกรุดโทน ผ้าประเจียด การทำน้ำมนต์ เกี่ยวกับยันต์มหาอำนาจ

หลังจากนั้นหลวงพ่อได้เดินทางไปเรียนวิชาต่อกับหลวงพ่อฉาบ วัดคลองจัน อำเภอหันคา จังหวัดชัยนาท โดยได้ทำการเรียนวิชาการเขียนลบผงอิทธิเจ ปถมัง พุทธคุณ และมหาราช ต่อจากนั้นได้เดินทางไปหาหลวงพ่อเงิน วัดดอนยายหอม อำเภอเมืองนครปฐม จังหวัดนครปฐม ได้แลกเปลี่ยนวิชาความรู้ต่างๆแก่กัน โดยหลวงพ่อได้เรียนวิชา พระคาถานะ 108 หัวใจ ธาตุทั้ง 4 และหัวใจพระคาถาต่าง ๆ และหลวงพ่อยังได้มีโอกาสเดินทางไปศึกษาวิชาอาคมกับ หลวงพ่อเดิม วัดหนองโพ อำเภอตาคลี จังหวัดนครสวรรค์ โดยได้ศึกษาวิชาการทำ มีดหมอเทพศัสตราวุธ สักกัสสะวชิราวุธทัง ปลายันติ

ซึ่งถือได้ว่าหลวงพ่อเดิมนั้นเป็นเกจิชื่อดังในสมัยนั้นหลังจากเรียนอาคมเสร็จแล้วก็ไปศึกษาต่อกับหลวงพ่ออินทร์ วัดเกาะหงษ์ อำเภอเมืองนครสวรรค์ จังหวัดนครสวรรค์ ได้ศึกษาวิชาการหุงน้ำมัน และวิชาการประสานกระดูกต่างๆ ตลอดจนกระทั่งได้ไปศึกษาภาษาขอมลาว หรือตัวธรรมกับอาจารย์คำภา ทางภาคอีสานซึ่งอาจารย์คนนี้ได้มีโอกาสเดินทางผ่านมายังจังหวัดนครสวรรค์หลวงพ่อจึงได้ถือโอกาสศึกษาเล่าเรียนวิชาอาคมต่างๆ

ซึ่งภายหลังตำราหรือวิชาอันนี้หลวงพ่อจ้อยได้มอบตำราและถ่ายทอดวิชา การทำน้ำมนต์ให้กับ พระครูนิทัศน์ประชานุกูล รองเจ้าอาวาสได้เก็บดูแลและรักษาไว้

หนังสืออ่านเพิ่มเติม[แก้]

  • ตรีธรรม . หลวงพ่อจ้อย จนฺทสุวณฺโณ เทพเจ้าแห่งเมืองสี่แคว. ปราชญ์, สนพ. ISBN 9786167042619.

อ้างอิง[แก้]

แหล่งข้อมูลอื่น[แก้]


ก่อนหน้า พระครูจ้อย จนฺทสุวณฺโณ ถัดไป
ไม่ปรากฏชื่อเจ้าอาวาส อยู่ในตำแหน่ง
เจ้าอาวาสวัดศรีอุทุมพร

(ประมาณปีพ.ศ. 2485 - พ.ศ. 2550)
พระครูนิทัศน์ประชานุกูล