ปูโตบุมโบง

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
ปูโตบุมโบง
ชื่ออื่นปูโตโบมโบง
มื้อของหวาน
แหล่งกำเนิด ฟิลิปปินส์
อุณหภูมิเสิร์ฟอุณหภูมิห้องหรือร้อน
ส่วนผสมหลักข้าวเหนียวดำพันธุ์ปีรูรูโตง ข้าวเหนียวขาว น้ำตาลมัสโควาโด มะพร้าวขูด เนยหรือเนยเทียม และเมล็ดงา
รูปแบบอื่นปูโต
จานอื่นที่คล้ายกันปูโตงซูโลต กูเวอปูตู ปูตูบัมบู และปุฏฏุ

ปูโตบุมโบง (ตากาล็อก: puto bumbong) หรือ ปูโตโบมโบง (ตากาล็อก: puto bombong) เป็นขนมฟิลิปปินส์ประเภทปูโตชนิดหนึ่ง ปูโตบุมโบงมีสีม่วง ทำจากข้าวเหนียวนึ่งในกระบอกไม้ไผ่ นิยมวางจำหน่ายในช่วงเทศกาลคริสต์มาสในประเทศฟิลิปปินส์

ที่มาของชื่อ[แก้]

ชื่อ "ปูโตบุมโบง" หรือ "ปูโตโบมโบง" มาจากคำในภาษาตากาล็อกสองคำได้แก่ ปูโต ซึ่งหมายถึงขนมแป้งข้าวนึ่ง และ บุมโบง หรือ โบมโบง ซึ่งหมายถึงกระบอกไม้ไผ่ ชื่อขนมนี้บางครั้งมักสะกดผิดเป็น "ปูโตบุงโบง" หรือ "ปูโตโบงโบง"[1]

วิธีการทำ[แก้]

ปูโตบุมโบง

ปูโตบุมโบงทำจากข้าวเหนียวพันธุ์เฉพาะที่เรียกว่า ปีรูรูโตง (pirurutong) ในภาษาตากาล็อกหรือ tapol ในภาษากลุ่มวิซายัน ซึ่งมีสีม่วงเข้มจัดจนเกือบดำ[2] ข้าวปีรูรูโตงจะนำไปผสมกับข้าวเหนียวขาวโดยใช้ข้าวปีรูรูโตงปริมาณน้อยกว่าข้าวเหนียวขาวมาก[3] บางครั้งอาจใช้ข้าวเจ้าขาวแทนข้าวเหนียวขาวได้ถ้าต้องการให้เนื้อเหนียวน้อยลง[4]

เมล็ดข้าวที่นำมาใช้จะนำไปแช่น้ำ (หรือตามธรรมเนียมดั้งเดิมจะใช้น้ำเกลือ) ข้ามคืนเพื่อให้มีรสชาติออกเปรี้ยวเล็กน้อย เมล็ดข้าวที่แช่น้ำเรียบร้อยแล้วจะถูกอัดลงไปในกระบอกไม้ไผ่เพื่อนำไปนึ่ง ภายในกระบอกไม้ไผ่จะเคลือบด้วยน้ำมันมะพร้าวตามธรรมเนียมดั้งเดิม หรืออาจใช้เนยหรือเนยเทียมแทนได้ บางครั้งผู้ปรุงจะบดเมล็ดข้าวก่อนอัดลงไปในกระบอก แต่บางครั้งก็จะบรรจุลงไปโดยไม่บด[4][5][6][7]

ปูโตบุมโบงที่นึ่งเสร็จแล้วจะมีรูปร่างเป็นทรงกระบอกตามกระบอกไม้ไผ่ที่ใช้ ซึ่งจะเสิร์ฟบนใบตอง เคลือบเนยหรือเนยเทียมเพิ่ม และโรยหน้าด้วยน้ำตาลมัสโควาโด (หรืออาจใช้น้ำตาลทรายแดงหรือน้ำตาลทรายขาวได้) เมล็ดงาซึ่งจะใส่หรือไม่ก็ได้ และมะพร้าวขูด บางคนนิยมเพิ่มเครื่องอย่างอื่นลงไปด้วยเช่นใช้นมข้นแทนน้ำตาลหรือเพิ่มเนยแข็งขูดเป็นต้น[3][8]

อาหารคริสต์มาส[แก้]

ปูโตบุมโบง (ล่าง) และบีบีงคา (บน) ซึ่งเป็นอาหารสองชนิดที่นิยมรับประทานในช่วงเทศกาลคริสต์มาสในประเทศฟิลิปปินส์
ผู้ค้าปูโตบุมโบงกำลังบรรจุข้าวลงในกระบอกไม้ไผ่เพื่อนึ่ง

ในประเทศฟิลิปปินส์ซึ่งประชากรส่วนใหญ่นับถือศาสนาคริสต์นิกายโรมันคาทอลิก ชาวฟิลิปปินส์จะรับประทานปูโตบุมโบงเป็นของว่างหรืออาหารเช้าในช่วงเทศกาลคริสต์มาส ปูโตบุมโบงมักจะเชื่อมโยงกับพิธีซิมบังกาบีซึ่งดำเนินเป็นระยะเวลาเก้าวัน โดยผู้ค้าจะตั้งแผงจำหน่ายปูโตบุมโบงด้านนอกโบสถ์[5][9]

การดัดแปลง[แก้]

ปูโตบุมโบงในปัจจุบันอาจจะนึ่งในกระบอกโลหะหรืออาจจะปั้นเป็นก้อนกลมหรือก้อนยาวแล้วนึ่งในลังถึง[9] บางครั้งเนื่องจากข้าวปีรูรูโตงนั้นหาได้ยาก ทำให้บางคนเปลี่ยนไปใช้ข้าวขาวอย่างเดียวผสมกับสีผสมอาหารสีม่วงหรือแป้งมันเสาซึ่งมีสีม่วงแทน อย่างไรก็ตาม ปูโตบุมโบงที่ใช้อย่างอื่นแทนข้าวปีรูรูโตงมักจะถูกมองว่าไม่ใช่ของแท้[4][5][6][10]

ร้านอาหารบางแห่งดัดแปลงปูโตบุมโบงไปเป็นเมนูต่าง ๆ เช่นไอศกรีม แพนเค้ก เค้ก และเอมปานาดา เป็นต้น[11]

อาหารอื่น ๆ ที่มีลักษณะคล้ายกัน[แก้]

ในจังหวัดบาตังกัสและจังหวัดปัมปังกาจะมีขนมอีกชนิดหนึ่งที่คล้ายกันชื่อว่า ปูโตงซูโลต (ตากาล็อก: putong sulot) ซึ่งใช้ข้าวเหนียวขาวและสามารถหารับประทานได้ตลอดปีไม่เฉพาะแค่เทศกาลคริสต์มาส[12] ส่วนในอินโดนีเซีย มาเลเซีย และประเทศอื่น ๆ ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ภาคพื้นสมุทรจะมีขนมที่เรียกว่า "กูเวอปูตู" (อินโดนีเซีย: kue putu) หรือ "ปูตูบัมบู" (มลายู: putu bambu) แต่ขนมดังกล่าวจะมีสีเขียวจากใบเตยที่ใช้ย้อมสี[13] ขณะที่ในรัฐเกรละ รัฐทมิฬนาฑู และรัฐกรนาฏกะของอินเดียและในศรีลังกาจะมีขนมอีกชนิดหนึ่งที่เรียกว่า "ปุฏฏุ" (มลยาฬัม: പുട്ട്; ทมิฬ: புட்டு; สิงหล: පිට්ටු) หรือ "ปิฏฏุ" (ทมิฬ: பிட்டு) แต่มักจะเสิร์ฟเป็นของคาวมากกว่าของหวาน[14] ทั้งกูเวอปูตูและปุฏฏุจะใช้ข้าวเจ้าแทนข้าวเหนียว แต่ก็จะนึ่งในกระบอกไม้ไผ่เช่นเดียวกับปูโตบุมโบง[13][14]

อ้างอิง[แก้]

  1. "Bumbong". Tagalog Lang. สืบค้นเมื่อ 5 ธันวาคม 2018.
  2. "Puto Bumbong". The Freeman. 53 (152): 18. 16 ธันวาคม 2017.
  3. 3.0 3.1 Angelita M. del Mundo (1995). "Emerging Versions of Some Traditional Philippine Rice Food Products". ใน Harlan Walker (บ.ก.). Disappearing Foods: Studies in Food and Dishes at Risk. Proceedings of the Oxford Symposium on Food and Cookery 1994. Prospect Books. p. 64. ISBN 978-0-907325-62-8.
  4. 4.0 4.1 4.2 "Puto Bumbong a la Marketman". Market Manila. 16 ธันวาคม 2007. สืบค้นเมื่อ 5 ธันวาคม 2018.
  5. 5.0 5.1 5.2 "Puto Bumbong". Gastro Obscura. Atlas Obscura. สืบค้นเมื่อ 5 ธันวาคม 2018.
  6. 6.0 6.1 Amy Besa; Romy Dorotan (2014). Memories of Philippine Kitchens. Abrams. ISBN 978-1-61312-808-4.
  7. "How to Make Puto Bumbong (steamed glutinous rice)". Business Diary Philippines. 11 สิงหาคม 2017. สืบค้นเมื่อ 5 ธันวาคม 2018.
  8. "Puto Bumbong". Filipino Chow. 23 ธันวาคม 2017. สืบค้นเมื่อ 5 ธันวาคม 2018.
  9. 9.0 9.1 Sastrillo, Berna (29 พฤศจิกายน 2017). "The Search for the Best Puto Bumbong in Manila". ModernFilipina. สืบค้นเมื่อ 5 ธันวาคม 2018.
  10. Paguio, Renz Lyndon (2 ธันวาคม 2014). "Home-based business idea: How to make puto-bumbong". Entrepreneur Philippines. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 28 มีนาคม 2019. สืบค้นเมื่อ 5 ธันวาคม 2018.
  11. Comsti, Angelo (2 ธันวาคม 2014). "3 new delicious ways to enjoy Puto Bumbong". Coconuts Manila. สืบค้นเมื่อ 5 ธันวาคม 2018.
  12. Edgie Polistico (15 พฤศจิกายน 2017). Philippine Food, Cooking, & Dining Dictionary. Anvil Publishing, Incorporated. ISBN 978-621-420-087-0.
  13. 13.0 13.1 Anggara Mahendra (13 มิถุนายน 2013). "'Kue Putu' Steamed Green Cake". Baily Daily. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 15 มิถุนายน 2015. สืบค้นเมื่อ 12 มิถุนายน 2015.
  14. 14.0 14.1 "BBC Indian Food Made Easy: Recipe for puttu", BBC, คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 24 ธันวาคม 2008, สืบค้นเมื่อ 13 สิงหาคม 2010