ข้ามไปเนื้อหา

มันเสา

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
มันเสา
การจำแนกชั้นทางวิทยาศาสตร์
อาณาจักร: Plantae
ไม่ได้จัดลำดับ: Angiosperms
ไม่ได้จัดลำดับ: Monocots
อันดับ: Dioscoreales
วงศ์: Dioscoreaceae
สกุล: Dioscorea
สปีชีส์: D.  alata
ชื่อทวินาม
Dioscorea alata
L.[1]
ชื่อพ้อง

Dioscorea rubella Roxb.[2]

มันเสา ชื่อวิทยาศาสตร์: Dioscorea alata ภาคเหนือเรียกมันเสียม ภาคใต้เรียกมันทู่ ภาคกลางเรียก มันเลือดนก[3] เป็นพืชมีหัวในวงศ์กลอย หัวสีม่วง ทำให้บางครั้งสับสนกับเผือกและมันเทศพันธุ์ Ayamurasaki เป็นพืชพื้นเมืองในเขตร้อนของเอเชีย เป็นพืชที่มีถิ่นกำเนิดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ มีปลูกในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ทะเลแคริบเบียน และแอฟริกา เป็นอาหารของมนุษย์ตั้งแต่สมัยโบราณ[2]

ลักษณะทางพฤกษศาสตร์

[แก้]
หัวของมันเสา

มันเสาเป็นไม้เลื้อย รากสีชมพู เถาเป็นสันเหลี่ยม มีครีบ ลำต้นเลื้อยพันไปทางขวา ไม่มีหนามแต่บางครั้งเป็นปุ่มปมหรือเป็นรอยหยาบที่โคน มีหัวขนาดเล็กตามซอกใบ และมีหัวใต้ดิน หัวมีขนาดใหญ่ ด้านนอกสีน้ำตาล เนื้อสีขาวสีครีม จนถึงสีม่วง หัวใต้ดินขนาดใหญ่ มีรูปทรงหลายแบบ เช่น ยาวตรง กลม แตกเป็นนิ้วมือ รูปตัวยู ทรงกระบอก รูปกลม ทรงลูกแพร์ [3] ใบเดี่ยว ใบเป็นรูปหัวใจ สีเขียวหรือสีเหลือบม่วง ดอกช่อ แยกเพศแยกต้น ดอกตัวผู้ขนาดเล็ก แกนช่อดอกบางครั้งหงิกงอไปมา ดอกตัวเมียสีเหลือง ไม่มีก้านดอก ผลเดี่ยว มีปีกสามแฉก ผิวเรียบ แก่แล้วเป็นสีน้ำตาล[4] เมล็ดกลม มีปีกโดยรอบ

มันเสามีความหลากหลายด้านสายพันธุ์มากกว่า 200 พันธุ์ และแบ่งเป็นกลุ่มพันธุ์ถึง 15 กลุ่ม กลุ่มพันธุ์ที่มีความสำคัญในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ได้แก่ กลุ่ม Purple compact มีแอนโทไซยานินสูง โดยเฉพาะก้านใบ มีปีกเห็นชัดเจน พบในฟิลิปปินส์ กลุ่ม Primitive purple มีแอนโทไซยานินมากในใบ ใบและก้านใบสั้น หัวไม่แตกแขนง แกนกลางหัวสีแดง เนื้อมักมีสีม่วง พบมากที่เกาะนิวกินี กลุ่ม Primitive green ใบสีเขียวอ่อน แทบจะไม่มีแอนโทไซยานิน หัวยาวเป็นคอคอด เนื้อหัวสีขาว ไม่เหมาะในการทำอาหาร พบในนิวกินีและอินโดนีเซีย กลุ่ม Compact ใบสีเหลือบม่วง หัวสั้นกว้าง เหมาะสำหรับปรุงอาหาร พบในฟิลิปปินส์ กลุ่ม Poor white หัวเดี่ยว เนื้อสีขาว พบในอินเดียและนิวกินี

การใช้ประโยชน์

[แก้]
เค้กทำจากมันเสา

หัวและหัวย่อยใช้ปรุงอาหาร นำไปแปรรูปเป็นแป้ง ชนิดที่มีหัวสีม่วงนำไปทำไอศกรีมและขนมหวาน ในปาปัวนิวกินีใช้ในพิธีกรรม เนื้อหัวค่อนข้างร่วน สารสีม่วงในหัวคือเป็นสารไซยานิดีนกลูโคไซด์หัวใต้ดินเป็นยาขับพยาธิ แก้โรคเรื้อนและริดสีดวงทวาร[4] มีแอนโทไซยานินสูง บางประเทศใช้ทำไอศกรีมหรือขนม ใช้มันเสานึ่งผสมในกุนเชียงแทนมันหมูได้[3]

อ้างอิง

[แก้]
  • พีรศักดิ์ วรสุนทโรสถ และคณะ. ทรัพยากรพืชในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ 9: พืชให้คาร์โบไฮเดรตที่ไม่ใช่เมล็ด. กทม. สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย. 2544. หน้า 120 - 123
  1.  Dioscorea alata was first described and published in Species Plantarum 2: 1033. 1753. "Name - Dioscorea alata L." Tropicos. Saint Louis, Missouri: Missouri Botanical Garden. สืบค้นเมื่อ May 26, 2011.
  2. 2.0 2.1  GRIN (May 9, 2011). "Dioscorea alata information from NPGS/GRIN". Taxonomy for Plants. National Germplasm Resources Laboratory, Beltsville, Maryland: USDA, ARS, National Genetic Resources Program. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2011-11-21. สืบค้นเมื่อ May 26, 2011.
  3. 3.0 3.1 3.2 "หัวมันหัวกลอย" (PDF). คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (PDF)เมื่อ 2014-09-27. สืบค้นเมื่อ 2013-09-07.
  4. 4.0 4.1 มัณฑนา นวลเจริญ. พรรณไม้ป่าชายหาด. ปทุมธานี. สำนักพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ 2552

แหล่งข้อมูลอื่น

[แก้]