ปัญหาสองจักรพรรดิ

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
ปัญหาสองจักรพรรดิเป็นข้อพิพาทสมัยกลางระหว่างประมุขจักรวรรดิโรมันอันศักดิ์สิทธิ์ (สีเหลือง) กับจักรวรรดิไบแซนไทน์ (สีม่วง) ว่าฝ่ายใดเป็นจักรพรรดิโรมันที่ชอบธรรม พรมแดนในภาพคือปี ค.ศ. 1190

ปัญหาสองจักรพรรดิ (เยอรมัน: Zweikaiserproblem[1]) เป็นศัพท์ประวัติศาสตร์นิพนธ์ที่บรรยายถึงข้อขัดแย้งเชิงประวัติศาสตร์ระหว่างแนวคิดจักรวรรดิสากลที่มีจักรพรรดิแท้จริงเพียงองค์เดียว กับความเป็นจริงที่มักมีจักรพรรดิ 2 องค์ (หรือบางครั้งมีมากกว่า 2 องค์) อ้างสิทธิ์ในตำแหน่งเดียวกัน ปัญหาสองจักรพรรดิเป็นศัพท์ที่นิยมใช้ในสมัยกลาง โดยเฉพาะอย่างยิ่งข้อพิพาทระหว่างจักรพรรดิไบแซนไทน์แห่งคอนสแตนติโนเปิล กับจักรพรรดิโรมันอันศักดิ์สิทธิ์ในดินแดนประเทศเยอรมนีและออสเตรียปัจจุบัน ที่ถกเถียงว่าฝ่ายใดเป็นตัวแทนที่ชอบธรรมของจักรพรรดิโรมัน[2]

ในมุมมองคริสตชนสมัยกลาง จักรวรรดิโรมันแบ่งแยกไม่ได้และจักรพรรดิอยู่ในตำแหน่งที่มีอำนาจครอบคลุมไปถึงคริสตชนที่ไม่ได้อาศัยอยู่ในจักรวรรดิ เมื่อจักรวรรดิโรมันตะวันตกล่มสลายปลายสมัยโบราณ จักรวรรดิไบแซนไทน์ที่เป็นดินแดนทางตะวันออกที่ยังหลงเหลือของจักรวรรดิโรมันได้รับการยอมรับเป็นจักรวรรดิโรมันที่แท้จริงจากตนเอง พระสันตะปาปา และอาณาจักรคริสตชนที่เกิดขึ้นใหม่หลายแห่งทั่วยุโรป ปี ค.ศ. 797 สถานการณ์เปลี่ยนไปเมื่อจักรพรรดิคอนสแตนตินที่ 6 ถูกขับออกจากตำแหน่งและถูกทำให้พระเนตรบอด ก่อนจักรพรรดินีไอรีน พระราชมารดาขึ้นครองราชย์แทน ซึ่งการครองราชย์นี้ไม่ได้รับการยอมรับในยุโรปตะวันตกด้วยเหตุผลหลักคือพระองค์เป็นสตรี[3] เช่นเดียวกับสมเด็จพระสันตะปาปาลีโอที่ 3 ซึ่งเห็นว่าตำแหน่งจักรพรรดิโรมันว่างลงเนื่องจากสตรีไม่สามารถเป็นจักรพรรดิด้วยพระองค์เอง ในปี ค.ศ. 800 สมเด็จพระสันตะปาปาลีโอที่ 3 จึงประกอบพิธีราชาภิเษกให้ชาร์เลอมาญ กษัตริย์แห่งราชอาณาจักรแฟรงก์ที่กำลังเรืองอำนาจเป็นจักรพรรดิแห่งชาวโรมัน[4] ภายใต้แนวคิดการถ่ายโอนอำนาจ (translatio imperii) จากชาวกรีกในตะวันออกสู่ชาวแฟรงก์ในตะวันตก[5]

แม้จักรวรรดิไบแซนไทน์กับจักรวรรดิโรมันอันศักดิ์สิทธิ์จะมีไมตรีต่อกันและยอมรับอีกฝ่ายเป็นจักรพรรดิ แต่ทั้งสองจักรวรรดิไม่เคยยอมรับอีกฝ่ายเป็น "โรมัน" อย่างชัดเจน พระอิสริยยศที่จักรวรรดิไบแซนไทน์ใช้เรียกจักรพรรดิโรมันอันศักดิ์สิทธิ์คือ "จักรพรรดิ (หรือกษัตริย์) แห่งชาวแฟรงก์" และต่อมา "กษัตริย์แห่งเยอรมนี"[6] ขณะที่หลักฐานทางตะวันตกมักกล่าวถึงจักรพรรดิไบแซนไทน์ว่า "จักรพรรดิแห่งชาวกรีก" หรือ "จักรพรรดิแห่งคอนสแตนติโนเปิล"[7] ตลอดระยะเวลาหลายศตวรรษหลังพิธีราชาภิเษกของชาร์เลอมาญ ปัญหาสองจักรพรรดิเป็นปัญหาหนึ่งที่มีการโต้แย้งไปมาระหว่างสองจักรวรรดิมากที่สุด แม้จักรวรรดิไบแซนไทน์กับจักรวรรดิโรมันอันศักดิ์สิทธิ์ไม่ได้เผชิญหน้าทางการทหารด้วยปัญหานี้เนื่องจากที่ตั้งอยู่ไกลกัน แต่ปัญหานี้บั่นทอนความสัมพันธ์ทางการทูตของทั้งสองอย่างมาก อนึ่ง ตำแหน่งจักรพรรดิโรมันถูกอ้างสิทธิ์โดยดินแดนเพื่อนบ้านจักรวรรดิไบแซนไทน์เป็นบางคราว เช่น จักรวรรดิบัลแกเรียที่หนึ่งและจักรวรรดิเซอร์เบีย

หลังจักรวรรดิไบแซนไทน์ถูกทำลายลงชั่วคราวโดยนักรบครูเสดที่นับถือนิกายโรมันคาทอลิกในสงครามครูเสดครั้งที่สี่เมื่อ ค.ศ. 1204 และแทนที่ด้วยจักรวรรดิละติน ปัญหานี้ดำเนินต่อไปแม้จักรพรรดิโรมันอันศักดิ์สิทธิ์กับจักรพรรดิละตินจะนับถือนิกายโรมันคาทอลิกเหมือนกัน จักรพรรดิละตินนั้นยอมรับจักรพรรดิโรมันอันศักดิ์สิทธิ์เป็นจักรพรรดิโรมันที่ถูกต้อง แต่ขณะเดียวกันก็อ้างสิทธิ์ในตำแหน่งนี้เช่นกัน[8] ในทางตรงข้ามจักรพรรดิโรมันอันศักดิ์สิทธิ์ไม่ยอมรับการอ้างสิทธิ์ดังกล่าวของจักรพรรดิละติน ที่สุดแล้วสมเด็จพระสันตะปาปาอินโนเซนต์ที่ 3 ยอมรับแนวคิดการแยกจักรวรรดิ (divisio imperii) ทำให้อำนาจจักรพรรดิแบ่งเป็นตะวันตก (จักรวรรดิโรมันอันศักดิ์สิทธิ์) กับตะวันออก (จักรวรรดิละติน)[9] ต่อมาจักรวรรดิละตินล่มสลายหลังราชวงศ์พาลาโอโลกอสยึดคอนสแตนติโนเปิลและสถาปนาจักรวรรดิไบแซนไทน์ขึ้นใหม่ในปี ค.ศ. 1261 จักรพรรดิไบแซนไทน์เพิกเฉยต่อปัญหานี้เพราะต้องการสานสัมพันธ์กับตะวันตกเพื่อความช่วยเหลือด้านการทหาร

ปัญหาสองจักรพรรดิปรากฏขึ้นอีกครั้งหลังการเสียกรุงคอนสแตนติโนเปิลในปี ค.ศ. 1453 สุลต่านเมห์เหม็ดผู้พิชิตอ้างสิทธิ์ในตำแหน่ง Kayser-i Rûm (ซีซาร์แห่งจักรวรรดิโรมัน) ด้วยมองว่าจักรวรรดิออตโตมันของพระองค์เป็น "ผู้สืบทอด" จักรวรรดิไบแซนไทน์[10] จักรวรรดิโรมันอันศักดิ์สิทธิ์ยอมรับสุลต่านออตโตมันเป็นจักรพรรดิตามสนธิสัญญาคอนสแตนติโนเปิลในปี ค.ศ. 1533[11] แต่ในทางกลับกันออตโตมันไม่ยอมรับตำแหน่งจักรพรรดิของจักรวรรดิโรมันอันศักดิ์สิทธิ์ โดยใช้พระอิสริยยศเพียง "กษัตริย์" กระทั่งในปี ค.ศ. 1606 สุลต่านอาห์เหม็ดที่ 1 ยอมรับจักรพรรดิรูด็อล์ฟที่ 2 เป็นจักรพรรดิตามสนธิสัญญาสันติภาพซิตวาตอร็อก[12] เป็นการยอมรับแนวคิดการแยกจักรวรรดิและยุติข้อพิพาทอันยาวนานระหว่างคอนสแตนติโนเปิลกับยุโรปตะวันตก นอกจากออตโตมัน อาณาจักรซาร์รัสเซียและต่อมาจักรวรรดิรัสเซียอ้างตนเป็นผู้สืบสิทธิ์ของจักรวรรดิไบแซนไทน์และเรียกผู้ปกครองว่า "ซาร์" ด้านจักรพรรดิโรมันอันศักดิ์สิทธิ์ปฏิเสธการอ้างสิทธิ์นี้จนถึงปี ค.ศ. 1726 เมื่อจักรพรรดิคาร์ลที่ 6 แห่งจักรวรรดิโรมันอันศักดิ์สิทธิ์ยอมรับการอ้างสิทธิ์ เนื่องจากเป็นส่วนหนึ่งในการสร้างพันธมิตรกับรัสเซีย แต่พระองค์ยังยืนกรานไม่ยอมรับว่าจักรพรรดิทั้งสององค์มีสถานะเท่าเทียมกัน

อ้างอิง[แก้]

  1. The term was introduced in the first major treatise on the issue, by W. Ohnsorge, cf. Ohnsorge 1947.
  2. Wilson, Peter H. (2016). The Holy Roman Empire: A Thousand Years of Europe's History. London, England: Penguin UK. ISBN 9780141956916.
  3. Frassetto 2003, p. 212.
  4. Lewis, Jone Johnson (January 27, 2019). "Irene of Athens: Controversial Byzantine Empress". ThoughtCo. สืบค้นเมื่อ May 11, 2021.
  5. Lamers 2015, p. 65.
  6. Muldoon 1999, p. 51.
  7. Loud 2010, p. 79.
  8. Van Tricht 2011, p. 76.
  9. Van Tricht, Filip (2011). The Latin Renovatio of Byzantium: The Empire of Constantinople (1204-1228). Leiden, Netherlands: BRILL. p. 77. ISBN 9789004203235.
  10. Michalis N. Michael; Matthias Kappler; Eftihios Gavriel (2009). Archivum Ottomanicum. Mouton. p. 10.
  11. "Treaty of Constantinople (1533)". Project Gutenberg Self-Publishing. สืบค้นเมื่อ May 11, 2021.
  12. "Peace of Zsitva-Torok". Project Gutenberg Self-Publishing. สืบค้นเมื่อ May 11, 2021.