ปัจจัยสี่

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี

ปัจจัยสี่ เป็นสิ่งที่มนุษย์จำเป็นต่อการดำรงชีวิต โดยไม่ต้องพึ่งสิ่งอำนวยความสะดวกอื่น ๆ (อย่างคอมพิวเตอร์ รถยนต์ และโทรศัพท์เป็นต้น) โดยมนุษย์ไม่สามารถขาดปัจจัยทั้งสี่ได้ เพราะเมื่อขาดแล้วอาจส่งผลต่อการดำเนินชีวิต

ปัจจัยสี่ประกอบไปด้วย 4 ปัจจัยดังต่อไปนี้

อาหาร[แก้]

อาหาร หมายถึง สสารใด ๆ ซึ่งบริโภคเพื่อเสริมโภชนาการให้แก่ร่างกาย อาหารมักมาจากพืชหรือสัตว์ และมีสารอาหารสำคัญ ได้แก่ คาร์โบไฮเดรต ไขมัน โปรตีน วิตามิน แร่ธาตุ สิ่งมีชีวิตย่อยและดูดซึมสสารที่เป็นอาหารเข้าสู่เซลล์เพื่อนำไปสร้างพลังงาน คงชีวิต และ/หรือ กระตุ้นการเจริญเติบโต

อาหารเกือบทั้งหมดมาจากพืชหรือสัตว์ เมล็ดธัญพืชเป็นอาหารหลักซึ่งให้พลังงานอาหารทั่วโลกมากกว่าพืชผลประเภทอื่น ข้าวโพด ข้าวสาลี และข้าว ในทุกแบบ คิดเป็น 87% ของปริมาณผลผลิตเมล็ดพืชทั่วโลก[1] แต่ก็ยังมีฟังไจที่รับประทานได้ แบคทีเรียที่ใช้ในการเตรียมอาหารหมักหรือดอง เช่น ขนมปัง เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เนยแข็ง อาหารดอง และโยเกิร์ต

ที่อยู่อาศัย[แก้]

มนุษย์จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องมีที่อยู่อาศัย เพื่อปกป้องร่างกายจากฝน ลม หรือสัตว์ร้ายต่างๆที่จะมาทำอันตรายต่อมนุษย์เอง ดังนั้นมนุษย์จึงต้องอาศัยในพื้นที่ที่เหมาะสมต่อการดำรงชีวิต

มนุษย์ในยุคแรกๆ นิยมอาศัยอยู่ในถ้ำหรือตามโตรกผาต่างๆ เพื่อกันลมและฝน รวมไปถึงสายฟ้าผ่า ฟ้าแลบ ฟ้าร้องอีกด้วย เนื่องจากมนุษย์ในอดีตยังไม่เข้าใจหลักเหตุผลทางวิทยาศาสตร์หรือเกษตรกรรม จึงไม่รู้จักการสร้างบ้าน (มนุษย์ยุคหลังจากนั้นนิยมสร้างบ้านเพื่อใช้เป็นที่อยู่อาศัยที่สะอาดและสะดวกสบายกว่าถ้ำ และมักสร้างริมแม่น้ำเพื่อสะดวกในการเพาะปลูก) หรือการปลูกพืช เพียงแค่ล่าสัตว์และเก็บพืชผักสะสมอาหารเพื่อเอาชีวิตรอดเท่านั้น แต่ในช่วงยุคหลังๆมนุษย์เริมเข้าใจในหลักวิทยาศาสตร์ เลิกกลัวลมฟ้าอากาศ และเริ่มเข้าใจเรื่องระบบนิเวศ การเกษตรและการปศุสัตว์ จึงเริ่มหันมาปลูกบ้านเป็นที่อยู่ถาวร เลิกเร่ร่อนล่าสัตว์หรือเก็บของป่า แล้วมาเพาะปลูกพืชต่างๆแทน รวมไปถึงเริ่มรู้จักประโยชน์ของแม่น้ำ และสร้างบ้านใกล้แหล่งน้ำเพื่อเพาะปลูกและใช้อาบกิน

มนุษย์ยุคปัจจุบันไม่ได้สร้างบ้านติดแม่น้ำเพื่อการเกษตรอีกต่อไป แต่ใช้เพื่อเป็นที่อยู่อาศัยในครอบครัว เป็นแหล่งที่ประกอบอาชีพหรือพักผ่อนหย่อนใจ และในปัจจุบันการสร้างบ้านหรือที่อยู่อาศัยต่างๆ เพื่อจุดประสงค์เดียวกับในอดีตนั้นหายากขึ้น และแทบไม่ปรากฏในบริเวณตัวเมืองหรือเขตประชากรหนาแน่นเลย

เครื่องนุ่งห่ม[แก้]

มนุษย์มีเครื่องนุ่งห่มไว้เพื่อป้องกันอากาศหนาวเย็นหรือแสงแดด ป้องกันการกระแทกกระทบวัตถุอื่น และเพราะเหตุต่างๆนั้นมนุษย์จึงเริ่มสวมใส่เสื้อผ้า

ในอดีต มนุษย์ยุคโบราณไม่รู้จักใส่เสื้อผ้าปิดกาย เพราะมีขนและผิวหนังที่หนา แต่เมื่ออากาศโลกอุ่นขึ้น มนุษย์ก็เริ่มปรับตัวโดยการลดความยาวขนและความหนาของผิวหนัง ทำให้มนุษย์ต้องเริ่มรู้จักปกปิดร่างกาย ในช่วงแรกๆมนุษย์ใช้ใบไม้ เปลือกไม้มาร้อยเป็นเครื่องนุ่งห่ม แล้วเริ่มรู้จักการใช้หนังสัตว์ และเริ่มทอผ้าด้วยใยพืชตามลำดับ

ใยพืชที่นิยมนั้นแบ่งตามยุคสมัยและพื้นที่ โดยในอดีตมีใยผ้าลินิน (ทอจากต้นแฟลกซ์) ผ้าไหม (ได้จากใยของตัวหนอนไหม) เป็นต้น จนกระทั่งเมื่อชาวยุโรปนำต้นฝ้ายมาจากอเมริกาใต้ แล้วเพาะพันธ์ไปทั่วโลก ใยฝ้ายจึงถูกใช้ทำเสื้อผ้าที่เป็นที่นิยมจนถึงปัจจุบัน เรียกว่าผ้าฝ้าย

ในปัจจุบัน เสื้อผ้าไม่ได้ใช้เพื่อป้องกันสภาพอากาศ และอันตรายอย่างอื่นเท่านั้น แต่ยังใส่เพื่อบ่งบอกวัฒนธรรมประเพณี ความเจริญก้าวหน้าของผู้ผลิตและสวมใส่ ไว้บ่งบอกชื่อสถานที่ทำงาน โรงเรียนหรือสถานศึกษาต่างๆ ไว้ใส่เพื่อให้เข้ากับงาน กิจกรรมและสภาพแวดล้อม เช่น ใส่ชุดกันผึ้งเพราะทำอาชีพเลี้ยงผึ้ง ใส่ชุดว่ายน้ำเพื่อว่ายน้ำหรือสอนว่ายน้ำ รวมไปถึงการใส่เพื่อความสวยงาม เพื่อโอ้อวดฐานะกันในปัจจุบัน เสื้อผ้าที่ถูกออกแบบเพื่อการณ์นั้นเรียกว่า เสื้อผ้าแบบสมัยนิยม

ยารักษาโรค[แก้]

มนุษย์เป็นสิ่งมีชีวิตที่มีโรคภัยไข้เจ็บเช่นสัตว์หรือสิ่งมีชีวิตอื่นๆ ดังนั้นมนุษย์จึงจำเป็นต้องใช้ยา เพื่อบรรเทาอาการเมื่อเจ็บป่วยหรือเพื่อให้หายขาดจากโรคที่ตนเจ็บป่วยอยู่ หรือเพื่อเสริมสร้างและซ่อมแซมสิ่งที่เสียหาย ผุพังไป และนำกลับมาใช้ได้เหมือนปกติ

อ้างอิง[แก้]

  1. "ProdSTAT". FAOSTAT. สืบค้นเมื่อ 2008. {{cite web}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= (help)