ข้ามไปเนื้อหา

ปลาหมูอารีย์

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
ปลาหมูอารีย์
สถานะการอนุรักษ์
การจำแนกชั้นทางวิทยาศาสตร์
อาณาจักร: Animalia
ไฟลัม: Chordata
ชั้น: Actinopterygii
อันดับ: Cypriniformes
วงศ์: Botiidae
สกุล: Ambastaia
สปีชีส์: A.  sidthimunki
ชื่อทวินาม
Ambastaia sidthimunki
(Klausewitz, 1959)
ชื่อพ้อง
  • Botia sidthimunki Klausewitz, 1959
  • Yasuhikotakia sidthimunki (Klausewitz, 1959)

ปลาหมูอารีย์ (ชื่อวิทยาศาสตร์: Ambastaia sidthimunki) ปลาน้ำจืดขนาดเล็กชนิดหนึ่ง ในวงศ์ปลาหมู (Botiidae) มีรูปร่างแบนข้าง ลำตัวเรียวยาวเล็กน้อย ลำตัวมีสีเหลืองสด หลังและกลางลำตัวมีแถบสีดำพาด และมีบั้งสีดำพาดลงมาจากสันหลังถึงด้านท้อง ปากค่อนข้างเรียว มีหนวด 3 คู่ ใต้ตามีกระดูกแข็งอยู่ข้างละคู่ซึ่งสามารถพับเก็บได้ ครีบมีแถบสีดำบนพื้นสีจาง ๆ

เป็นปลาขนาดเล็ก มีความยาวเต็มที่ไม่เกิน 10 เซนติเมตร โดยเฉลี่ยจะพบแค่ 2-3 เซนติเมตรเท่านั้น

เป็นปลาที่ถูกค้นพบเมื่อปี พ.ศ. 2502 โดยนายดำริ สุขอร่าม ที่ลุ่มแม่น้ำแม่กลอง ในเขตจังหวัดราชบุรีติดต่อกับเขตจังหวัดกาญจนบุรี โดยปะปนมากับปลาทรงเครื่อง (Epalzeorhynchos bicolor) ต่อมา นายสมพงษ์ เล็กอารีย์ (ผู้ค้นพบปลาปักเป้าสมพงษ์ (Carinotetraodon lorteti), ปลาซิวสมพงษ์ (Trigonostigma somphongsi) และปลาตะเพียนสมพงษ์ (Poropuntius melanogrammus)) ได้ส่งตัวอย่างปลาให้แก่ ดร.ฟอน โวล์ฟกัง เคลาเซวิตซ์ ซึ่งเป็นนักมีนวิทยาชาวเยอรมัน ได้ศึกษาถึงลักษณะทางด้านอนุกรมวิธาน พบว่าเป็นปลาหมูชนิดใหม่ จึงได้ให้ชื่อชนิดว่า sidthimunki เพื่อเป็นเกียรติแก่ นายอารีย์ สิทธิมังค์ รองอธิบดีกรมประมงในขณะนั้น และได้เรียกชื่อสามัญว่า "ปลาหมูอารีย์"

ปลาหมูอารีย์เป็นปลาที่ได้รับการยอมรับว่าเป็นปลาหมูชนิดที่มีสีสันสวยงามมากที่สุด และสถานภาพใกล้สูญพันธุ์อย่างเต็มที่แล้ว ทั้งนี้เนื่องจากถิ่นที่อยู่ไม่กว้างขวาง โดยพบเฉพาะลุ่มแม่น้ำแม่กลองแถบจังหวัดราชบุรีและลุ่มแม่น้ำสาละวินในจังหวัดกาญจนบุรี ในต่างประเทศพบที่แม่น้ำสาขาของแม่น้ำโขงบริเวณเมืองปากเซ ประเทศลาวเท่านั้น แม้ว่าจะมีรายงานเพิ่มต่อมาในปี พ.ศ. 2532 ว่าพบในลำน้ำว้า จังหวัดน่านด้วยก็ตาม แต่ปรากฏว่าไม่ใช่ปลาหมูอารีย์ หากแต่เป็นปลาหมูน่าน (A. nigrolineata) ซึ่งเป็นปลาหมูในสกุลเดียวกัน และมีลักษณะและสีสันคล้ายคลึงกัน สำหรับปลาหมูอารีย์ที่พบในลุ่มแม่น้ำน่านจะพบในเขตจังหวัดพิษณุโลกและบึงบอระเพ็ดด้วย

ดังนั้น ทางกรมประมงจึงได้ออกกฎหมายคุ้มครองการสูญพันธุ์ของปลาหมูอารีย์ในปี พ.ศ. 2535 โดยถือเป็นปลาน้ำจืดสงวนทั้งหมด 4 ชนิด ที่ห้ามซื้อขายและห้ามเลี้ยงนอกจากได้รับอนุญาตก่อน (ที่เหลืออีก 3 ชนิดได้แก่ ปลาตะพัด (Scleropages formosus), ปลาเสือตอลายใหญ่ (Datnioides pulcher) และปลาค้างคาวดอยอินทนนท์ (Oreoglanis siamensis))

แต่ปัจจุบัน มีเอกชนที่สามารถเพาะขยายพันธุ์ได้แล้ว และต่อมาทางกรมประมงก็สามารถขยายพันธุ์ได้อีกด้วยเช่นกัน [2]

ดูเพิ่ม

[แก้]

อ้างอิง

[แก้]
  1. Kottelat, Maurice (1996). Botia sidthimunki. 2006 IUCN Red List of Threatened Species. IUCN 2006. Retrieved on 21 March 2007.
  2. นิตยสารfishzone vol. 3 no. 24 (พ.ศ. 2545)

แหล่งข้อมูลอื่น

[แก้]

ข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับ Ambastaia sidthimunki ที่วิกิสปีชีส์