ข้ามไปเนื้อหา

ปลาทู (สกุล)

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี

ปลาทู
ปลาทู (R. brachysoma)
การจำแนกชั้นทางวิทยาศาสตร์ แก้ไขการจำแนกนี้
โดเมน: ยูแคริโอตา
Eukaryota
อาณาจักร: สัตว์
ไฟลัม: สัตว์มีแกนสันหลัง
ชั้น: ปลาที่มีก้านครีบ
อันดับ: Scombriformes
วงศ์: วงศ์ปลาอินทรี
เผ่า: Scombrini
สกุล: ปลาทู (สกุล)

Jordan and Starks in Jordan and Dickerson, 1908
ชนิดต้นแบบ
Scomber brachysoma
Bleeker, 1851
ชนิด

ดูในเนื้อหา

สกุลปลาทู (Rastrelliger) เป็นสกุลปลาทะเลสกุลหนึ่งในวงศ์ปลาอินทรี (Scombridae) ซึ่งเป็นวงศ์เดียวกับปลาอินทรี, ปลาโอ และปลาทูน่า มีพฤติกรรมมักอาศัยอยู่รวมกันเป็นฝูงบริเวณกลางน้ำถึงผิวน้ำ ตั้งแต่บริเวณชายฝั่งจนถึงระดับความลึก 200 เมตร ในน่านน้ำไทยพบทั้งหมด 3 ชนิด ปลาในสกุลนี้เป็นปลาที่ผูกพันกับวิถีชีวิตคนไทยเป็นอย่างมาก เนื่องจากเป็นอาหารทะเลหลักของคนไทยมาช้านาน[1]

การจำแนก

[แก้]

สกุลปลาทูมี 3 ชนิด ได้แก่:[2]

ประวัติ

[แก้]

ในสมัยรัชกาลที่ 6 ได้จ้าง ดร.ฮิว แมคคอร์มิค สมิธ นักมีนวิทยาชาวอเมริกันมาเป็นที่ปรึกษากรมรักษาสัตว์น้ำ (กรมประมงในปัจจุบัน) เพื่อสำรวจพันธุ์ปลาต่าง ๆ ในประเทศไทย มีหลวงมัศยจิตรการ (ประสพ ตีระนันทน์) เป็นผู้ช่วยและวาดภาพปลา ท่านผู้นี้เป็นผู้วาดภาพปลาทูภาพแรกในประเทศไทย [3] ใน พ.ศ. 2468 ไทยนำเรืออวนตังเกจากจีนมาใช้ทำให้จับปลาทูได้มาก ปลาทูที่เหลือทำเป็นปลาทูเค็มส่งไปขายต่างประเทศ เช่น อินโดนีเซีย สิงคโปร์ ฮ่องกง จนในภาษาอินโดนีเซียเรียกปลาทูเค็มว่า "Ikan siam"[3]

พ.ศ. 2503 รัฐบาลไทยนำเครื่องมืออวนลากจากเยอรมนีตะวันตกมาใช้และเมื่อมีการประกาศใช้แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับแรกทำให้การประมงขยายตัวมากขึ้น จนกระทั่งจำนวนปลาทูในอ่าวไทยลดจำนวนลงในที่สุด

ที่อยู่และการแพร่พันธุ์

[แก้]

ในอดีตเชื่อว่าปลาทูที่จับได้ในอ่าวไทยมาจากเกาะไหหลำ แต่ปัจจุบันพบว่าปลาทูเกิดในอ่าวไทยเป็นปลาผิวน้ำ รวมกันเป็นฝูงบริเวณใกล้ฝั่ง พบเฉพาะบริเวณอุณหภูมิผิวน้ำไม่ต่ำกว่า 17 องศาเซลเซียส ความเค็มของน้ำไม่เกิน 32.5 ‰ แต่ทนความเค็มต่ำได้ถึง 20.4 ‰ จึงพบในบริเวณน้ำกร่อยได้[3] ปลาทูวางไข่แบบไข่ลอยน้ำ ไข่ที่ได้รับการผสมจะลอยน้ำอยู่ได้ ช่วงที่วางไข่คือกุมภาพันธ์ถึงมีนาคม

ต่อมาในต้นปี พ.ศ. 2555 ได้มีการเปิดเผยว่าทางกรมประมงเพาะขยายพันธุ์ปลาทูในระบบปิดได้สำเร็จครั้งแรกของโลก[4] อันเนื่องจากความต้องการบริโภคเพิ่มมากขึ้นในแต่ละปีเป็นที่หวั่นเกรงกันว่าปลาทูอาจจะสูญพันธุ์ลงได้ การนำปลาทูพ่อพันธุ์แม่พันธุ์ที่มีความสมบูรณ์แข็งแรงที่ได้มาจากทะเลในกระชังที่ขึงไว้ในบ่อดินนาน 6 เดือน ที่ศูนย์วิจัยและพัฒนาชายฝั่งสมุทรสาคร จนปลาเติบโตถึงวัยเจริญพันธุ์ จึงย้ายปลาขึ้นมาเลี้ยงในถังเลี้ยงพ่อแม่พันธุ์ในโรงเพาะฟัก โดยให้อาหารสูตรเฉพาะ และเลี้ยงในระบบกรองน้ำแบบชีวภาพด้วยเครื่องโปรตีนสกิมเมอร์ เพื่อให้ได้คุณภาพน้ำที่เหมาะสมปราศจากเมือกโปรตีนที่ตกค้าง มีการควบคุมความเค็มที่ระดับ 27-30 ส่วนใน 1,000 และควบคุมอุณหภูมิให้มีค่าคงที่อยู่ระหว่าง 29-32 องศาเซลเซียส

โดยใช้ความพยายามกว่า 2 ปี จนในวันที่ 11 กันยายน พ.ศ. 2554 แม่พันธุ์ปลาทูก็วางไข่และสามารถอนุบาลได้ในระบบปิด โดยวางไข่ครั้งละประมาณ 15,000-30,000 ฟอง และมีพฤติกรรมวางไข่แบบรวมฝูง แม่ปลาทั้งฝูงจะวางไข่เป็นระยะ ๆ ต่อเนื่องกันหลายวันไปจนหมดฤดูผสมพันธุ์

ไข่ของปลาทูเป็นแบบไข่ครึ่งจมครึ่งลอยน้ำ มีหยดน้ำมันและถุงไข่แดงเพื่อใช้เป็นแหล่งพลังงานให้กับระบบร่างกาย ไข่มีขนาดประมาณ 0.80-0.96 มิลลิเมตร ใช้ระยะเวลาในการฟักประมาณ 16-17 ชั่วโมง ถุงไข่แดงของลูกปลาเริ่มยุบและหมดไปภายใน 3 วัน ลูกปลาตั้งแต่วันแรกที่ฟักออกจากไข่ถึงอายุ 7 วัน จะกินอาหารประเภท แพลงก์ตอนที่ประกอบไปด้วยทั้งสาหร่ายสีเขียวและสีน้ำตาล ร่วมกับโรติเฟอร์และโคพีพอด จากนั้นลูกปลาจะสามารถกินอาร์ทีเมียแรกฟักและอาหารเม็ดได้[5]

การบริโภค

[แก้]

ปลาทูนำมาเป็นอาหารไทยมีจำหน่ายในรูปแบบปลาทูสดและปลาทูนึ่งซึ่งมีลักษณะการขายเป็นใส่ภาชนะที่เรียกว่า "เข่งปลาทู" นิยมนำมาทอดรับประทานคู่กับน้ำพริกกะปิ หรือ ทำเป็นน้ำพริกปลาทู ส่วนปลาทูสดนิยมนำมาทำเป็นต้มยำปลาทู

เนื้อปลาทูมีกรดไขมันโอเมกา-3 ค่อนข้างมาก ในเนื้อปลาทู 100 กรัมมีกรดไขมันโอเมกา-3 ราว 2-3 กรัม ช่วยลดอัตราการตายจากโรคหัวใจและโรคหลอดเลือดตีบ และยังลดคอเลสเตอรอล ไตรกลีเซอไรด์ รวมทั้งลดความหนืดของเลือด ลดการอักเสบ ทำให้ความข้นในเลือดอยู่ในเกณฑ์ปกติ[6]

ดูเพิ่ม

[แก้]

อ้างอิง

[แก้]
  1. "ปลาทู". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2009-04-30. สืบค้นเมื่อ 2009-11-09.
  2. Froese, Rainer, and Daniel Pauly, eds. (2018). Species of Rastrelliger in FishBase. February 2018 version.
  3. 3.0 3.1 3.2 เรื่องจากปก: วิกฤตอาหารโลก ระเบิดสงครามชิงน่านน้ำ ตามรอยปลาทูสู่โครงการฟื้นฟูทะเลไทย. ศิลปวัฒนธรรม. ปีที่ 17 เล่มที่ 5 มีนาคม 2539 หน้า 85-115
  4. "ข่าวกรมประมง ตะลึง! นักวิจัยกรมประมง เพาะพันธุ์ปลาทู...สำเร็จครั้งแรกของโลก". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2016-03-04. สืบค้นเมื่อ 2015-07-02.
  5. ประมงสุดเจ๋งเพาะปลาทูครั้งแรกโลก จากกระปุกดอตคอม
  6. http://hilight.kapook.com/view/8191

แหล่งข้อมูลอื่น

[แก้]

วิกิมีเดียคอมมอนส์มีสื่อเกี่ยวกับ Rastrelliger