ข้ามไปเนื้อหา

ประมวลกฎหมายไทโฮ

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี

ประมวลกฎหมายไทโฮ (ญี่ปุ่น: 大宝律令 Taihō-ritsuryō) เป็นประมวลกฎหมายญี่ปุ่นเพื่อปรับปรุงโครงสร้างราชการ ตราขึ้นในปีไทโฮที่ 2 (ค.ศ. 702) ปลายยุคอาซูกะ

ประมวลกฎหมายไทโฮตราขึ้นตามรับสั่งของจักรพรรดิมมมุ โดยประยุกต์จากระบบกฎหมายจีนแห่งราชวงศ์ถัง[1] เชื่อกันว่า เอกสารหลักอันเป็นที่มาของประมวลกฎหมายไทโฮ คือ ประมวลกฎหมายหย่งฮุย (永徽律令) ที่จักรพรรดิถังเกาจงทรงตราขึ้นใน ค.ศ. 651 ส่วนการยกร่างประมวลกฎหมายไทโฮนั้น มีผู้ควบคุม คือ เจ้าชายโอซากาเบะ, ฟูจิวาระ โนะ ฟูฮิโตะ, และอาวาตะ โนะ มาฮิโตะ[1]

การตราประมวลกฎหมายไทโฮถือเป็นหนึ่งในเหตุการณ์แรก ๆ ที่ทำให้แนวคิดของลัทธิขงจื๊อมาหลอมรวมอยู่ในจริยศาสตร์ญี่ปุ่น ต่อมาในยุคนาระ มีการชำระประมวลกฎหมายไทโฮให้สอดรับกับประเพณีญี่ปุ่นและความจำเป็นบางประการในทางราชการ ฉบับที่ชำระใหม่นี้เรียกว่า "ประมวลกฎหมายโยริ" ซึ่งยกร่างสำเร็จใน ค.ศ. 718[1]

ประมวลกฎหมายไทโฮมีลักษณะสำคัญสองประการที่แตกต่างจากระบบจีน ประการแรก กำหนดให้ตำแหน่งและสถานะทางราชการมาจากการสืบตระกูล ขณะที่ระบบจีนมาจากการสอบขุนนาง อีกประการหนึ่ง ยึดถือแนวคิดว่า พระราชอำนาจมาจากการสืบเชื้อสายกษัตริย์ มิได้มาจากอาณัติสวรรค์เหมือนจีน

การจัดโครงสร้างราชการ

[แก้]

ประมวลกฎหมายไทโฮให้แบ่งราชการออกเป็นสองฝ่าย คือ ฝ่ายอาณาจักร มีไดโจกังเป็นหน่วยงานรับผิดชอบสูงสุด กับฝ่ายศาสนจักร มีจิงงิกังเป็นหน่วยงานรับผิดชอบสูงสุด แต่จิงงิกังมีสถานะสูงกว่าไดโจกัง รับผิดชอบกิจการต่าง ๆ ศาสนาของศาสนาชินโต ซึ่งรวมถึงราชพิธี รัฐพิธี เทศกาล การดูแลศาสนสถาน และการจัดทำและบันทึกการพยากรณ์ต่าง ๆ แต่ไม่รวมถึงศาสนาพุทธและศาสนาอื่น ๆ ส่วนไดโจกังรับผิดชอบราชการทั้งปวงของฝ่ายอาณาจักร มีประธาน คือ ไดโจไดจิง (อัครมหาเสนาบดี) และกรรมการประกอบด้วยซาไดจิง (มหาเสนาบดีฝ่ายซ้าย), อูไดจิง (มหาเสนาบดีฝ่ายขวา), ซาไดเบ็ง (มหาอำมาตย์ฝ่ายซ้าย), อูไดเบ็ง (มหาอำมาตย์ฝ่ายขวา), ไดนากง (มหามนตรี) สี่คน, และโชนากง (อนุมนตรี) สามคน

การจัดโครงสร้างการปกครอง

[แก้]

ประมวลกฎหมายไทโฮให้แบ่งพื้นที่ปกครองออกเป็น "กูนิ" แต่ละกูนิมีผู้ปกครองเรียกว่า "โกกูชิ" มากจากการแต่งตั้งของส่วนกลาง นอกจากนี้ แต่ละกูนิยังแบ่งพื้นที่ออกเป็นเขตที่เรียกว่า "กุง" หรือ "โกริ" ซึ่งมีผู้ปกครองเรียกว่า "กุงจิ" มาจากการแต่งตั้งส่วนท้องถิ่น เขตกุงและโกริยังแบ่งพื้นที่ย่อยลงไปอีก และมีผู้ปกครองตามลำดับ

จำนวนกูนินั้นไม่ตายตัว แต่ ณ เวลาที่ตราประมวลกฎหมายนี้ มีกูนิทั้งสิ้น 66 แห่ง และมีเขตกุงและโกริรวม 592 แห่ง

อ้างอิง

[แก้]