ไดโจกัง

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี

ไดโจกัง หรือ ดาโจกัง (ญี่ปุ่น: 太政官 Daijō-kan/Dajō-kan; "สภาบริหารใหญ่") เป็นหน่วยงานสูงสุดในการปกครองญี่ปุ่นก่อนยุคปัจจุบัน ตามระบบกฎหมายริตสึเรียวในยุคนาระและหลังยุคนาระ แล้วสิ้นอำนาจไปช่วงหนึ่ง ก่อนจะรื้อฟื้นขึ้นมาในช่วงสั้น ๆ หลังจากการฟื้นฟูเมจิ ต่อมา ก็ยุบเลิกไปโดยตั้งคณะรัฐมนตรีขึ้นมาแทน

ไดโจกังปรากฏครั้งแรกในประมวลกฎหมายอาซูกะคิโยมิฮาระ ฉบับ ค.ศ. 689 ในฐานะหน่วยงานราชการส่วนกลางซึ่งประกอบด้วยเสนาบดีสามคน คือ ไดโจไดจิง (อัครมหาเสนาบดี), ซาไดจิง (มหาเสนาบดีฝ่ายซ้าย), และอูไดจิง (มหาเสนาบดีฝ่ายขวา) ต่อมา นำไปรวมอยู่ในประมวลกฎหมายไทโฮ ฉบับ ค.ศ. 702[1]

ไดโจกังเป็นหน่วยงานสูงสุดในโครงสร้างราชการญี่ปุ่น ไดโจกังและกรมต่าง ๆ ในสังกัดรับผิดชอบราชการฝ่ายอาณาจักร ส่วนจิงงิกังรับผิดชอบกิจการฝ่ายศาสนจักร โครงสร้างเช่นนี้ค่อย ๆ ลดอำนาจหน้าที่ลงในช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 10–11 เนื่องจากตระกูลฟูจิวาระเข้ามาควบคุมการเมืองเรื่อย ๆ ในฐานะผู้สำเร็จราชการแทนจักรพรรดิ จนกลายเป็นธรรมเนียมปรกติที่ผู้สำเร็จราชการจะดำรงตำแหน่งไดโจไดจิง (อัครมหาเสนาบดี) เสียเอง ทั้งยังควบตำแหน่งอื่นด้วยก็ได้ กระทั่งปลายคริสต์ศตวรรษที่ 12 ไดโจกังก็สิ้นอำนาจโดยสิ้นเชิง แต่ก็ไม่ชัดเจนว่า ระบบไดโจกังนั้นถูกยุบเลิกอย่างเป็นทางการไปก่อนยุคเมจิหรือไม่[2][3]

อ้างอิง[แก้]