ประตูจีน (กรุงปักกิ่ง)

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
ขบวนแห่ของจักรพรรดิเข้าสู่นครจักรพรรดิผ่านประตูต้าชิง (ต่อมาเปลี่ยนชื่อเป็น "จงหฺวา") ในปี 1902

ประตูจงหฺวา หรือ จงหฺวาเหมิน (จีนตัวเต็ม: 中華門; จีนตัวย่อ: 中华门; พินอิน: Zhōnghuámén) แปลตรงตัว "ประตูจีน" เป็นอดีตประตูในพิธีการทางประวัติศาสตร์ในกรุงปักกิ่ง ประเทศจีน ตั้งอยู่ใกล้ใจกลางจัตุรัสเทียนอันเหมินในปัจจุบัน ต่อมาได้ถูกรื้อออกในปี ค.ศ. 1954 ประตูนี้เป็นประตูทางด้านใต้ของนครจักรพรรดิ ในสมัยราชวงศ์หมิง และชิง ตั้งอยู่บนแนวแกนกลางของกรุงปักกิ่ง อยู่ทางด้านเหนือของประตูเจิ้งหยาง และอยู่ทางด้านใต้ของประตูเทียนอัน ประตูนี้มีความแตกต่างจากประตูป้องกันทั้งสอง ประตูจีนเป็นประตูที่ใช้สำหรับในพิธีการเท่านั้น ไม่มีเชิงเทิน แต่เป็นโครงสร้างอิฐและหินที่มีสามประตู

ประวัติ[แก้]

ประตูจงหฺวามองจากประตูเจิ้งหยาง. ด้านหลังประตูที่มองเห็น (ทางทิศเหนือ) คือประตูเทียนอันและพระราชวังต้องห้าม

ประตูสร้างขึ้นครั้งแรกในรัชสมัยของจักรพรรดิหย่งเล่อ แห่งราชวงศ์หมิง เนื่องจากเป็นประตูทางใต้ของนครจักรพรรดิ และในสมัยโบราณของจีน "ทิศใต้" ถือเป็นทิศที่โดดเด่นที่สุด ประตูนี้จึงมีสถานะเป็น "ประตูของชาติ" ในสมัยราชวงศ์หมิงเรียกประตูนี้ว่า "ประตูหมิงอันยิ่งใหญ่" (Great Ming gate) และมีชุดสลักโคลงกลอนว่า “พระอาทิตย์ และพระจันทร์ส่องความประเสริฐของสวรรค์ ภูเขา และแม่น้ำทำให้ที่ประทับของพระจักรพรรดิงดงาม" (「日月光天德, 山河壯帝居」) เมื่อราชวงศ์ชิง เข้าแทนที่ราชวงศ์หมิง ชื่อของประตูจึงเปลี่ยนเป็น "ประตูชิงอันยิ่งใหญ่" (จีน: Dàqīngmén, 大清門; แมนจู: Daicing dukaᡩᠠᡳ᠌ᠴᡳᠩ
ᡩᡠᡴᠠ
) ในปี ค.ศ. 1644

หลังจากการล่มสลายของราชวงศ์ชิงในปี 1912 ได้เปลี่ยนชื่อประตูเป็น "ประตูจีน", ในปี 1952 มีโครงการขยายจัตุรัสเทียนอันเหมิน ที่ปรึกษาจากสหภาพโซเวียต ได้แนะนำให้ทำการรื้อประตู, ต่อมาในปี 1954 ประตูได้ถูกรื้อออก, และในปี 1976 หลังจากการอสัญกรรมของประธานเหมา เจ๋อตง ได้มีการสร้างอนุสรณ์สถานสำหรับเขาบนที่ตั้งของประตูเดิม

สถาปัตยกรรม[แก้]

ประตูจงหฺวาในทศวรรษที่ 1900 มองจากประตูเจิ้งหยาง (ประตูเฉียนเหมิน) โดยมีประตูเทียนอันเหมินและพระราชวังต้องห้ามเป็นฉากหลัง

ในฐานะที่เป็นจุดแบ่งเขตระหว่างนครจักรพรรดิและเมืองของสามัญชน ประตูจงหฺวาสร้างขึ้นให้ดูเป็นทางการและโอ่อ่า จากบันทึกของราชวงศ์ชิง ได้เขียนไว้ว่า "ประตูต้าชิง มีประตูสามช่อง, ชายคาโค้งขึ้น, จัตุรัสสี่เหลี่ยมที่สมบูรณ์แบบข้างหน้า, สิงโตสองตัวในแต่ละด้านและป้ายหินลงจากหลังม้าในแต่ละด้าน" (「大清門,三闕上爲飛簷崇脊,門前地正方,繞以石欄,左右獅各一,下馬石碑各一」) ประตูนี้มีลักษณะคล้ายคลึงกับ"ประตูต้าหง" (大红门) ที่สุสานหลวงราชวงศ์หมิงและสุสานจักรพรรดิแห่งราชวงศ์ชิง

ในสมัยราชวงศ์ชิง พื้นที่ระหว่างประตูต้าชิง และประตูเจิ้งหยางเป็นลานกว้างล้อมรอบด้วยรั้วหิน ในสมัยราชวงศ์หมิง พื้นที่แห่งนี้เคยเป็นตลาดที่มีผู้คนพลุกพล่าน เรียกว่า "ถนนตารางหมากรุก" เนื่องจากมีตรอกซอกซอยแคบๆ ระหว่างแผงลอย

"ป้ายหินลงจากหลังม้า" (下马碑) ที่ด้านนอกของประตูเป็นป้ายที่บอกว่าขุนนางต้องลงจากเสลี่ยงหรือจากหลังม้า

มีเพียงจักรพรรดิ จักรพรรดินี และพระพันปีเท่านั้นที่ได้รับอนุญาตให้นั่งเกี้ยวผ่านประตู ในสมัยราชวงศ์ชิง จักรพรรดินีจะเสด็จเข้าพระราชวังต้องห้ามผ่านทางประตูต้าชิงได้เฉพาะในโอกาสที่จะอภิเษกสมรสเท่านั้น นางสนมและมเหสีอื่น ๆ ทั้งหมดต้องเข้าทางประตูเฉินอู่ ทางด้านเหนือของพระราชวัง