นานา (เทพี)

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
เทวนารีองค์หนึ่ง คาดว่าคือเทพีนานาประทับเหนือราชสีห์ ศิลปะแฮฟทาไลต์หรือเติร์ก คริสต์ศตวรรษที่ 5-6 พบที่ประเทศอัฟกานิสถาน[1]

นานา (กรีกกุษาณ: Νανα, Ναναια, Ναναϸαο; ซอกเดีย: nny) เป็นเทพสตรีศักดิ์สิทธิ์ในคติชนแบกเตรีย เกิดขึ้นจากการประสมความเชื่อระหว่างเทพีอินันนาของชาวซูเมอร์-บาบิโลน กับเทพีอานาฮีตาของศาสนาโซโรอัสเตอร์ ซึ่งเป็นความเชื่อท้องถิ่นของจักรวรรดิกุษาณ

เทพีนานาปรากฏนามครั้งแรกในเหรียญกษาปณ์ของกษัตริย์แบกเตรียเมื่อ 100 ปีก่อนคริสต์ศักราช เป็นภาพราชสีห์ สองศตวรรษถัดมาเทพีนานาก็ปรากฏอีกครั้งในเหรียญกษาปณ์และตราประทับของกษัตริย์กุษาณ โดยเฉพาะกลางคริสต์ศตวรรษที่ 2 ซึ่งตรงกับรัชสมัยพระเจ้ากนิษกะ โดยปรากฏภาพเทวีองค์นี้ในลักษณะต่อสู้ โดยมีราชสีห์คุ้มกัน[2] ใกล้เคียงกับเทพีทุรคาในศาสนาฮินดู เพราะเป็นเทพีแห่งสงครามและมีสิงโตคุ้มกันเช่นกัน

พื้นที่จักรวรรดิกุษาณในอดีตครอบคลุมพื้นที่ของชาวอิหร่าน ได้แก่ ซอกเดีย เฟอร์กอนา แบกเตรีย และแอราโคเซีย เรื่อยไปจนถึงคันธาระ และมถุรา ปัจจุบันดินแดนส่วนใหญ่เหล่านี้ขึ้นกับประเทศอัฟกานิสถาน ประเทศปากีสถาน ประเทศทาจิกิสถาน ประเทศอุซเบกิสถาน และทางตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศอินเดีย ในประเทศปากีสถานและอัฟกานิสถานมีคำว่า นาวี เป็นคำในภาษาปาทาน แปลว่า เจ้าสาว[2]

ระเบียงภาพ[แก้]

อ้างอิง[แก้]

  1. "Metropolitan Museum of Art". www.metmuseum.org.
  2. 2.0 2.1 Bremmer, Jan N. (2007). The strange world of human sacrifice. p. 176. ISBN 9789042918436. สืบค้นเมื่อ 2013-02-09.
  3. British Museum Collection

อ่านเพิ่มเติม[แก้]