แบกเตรีย

พิกัด: 36°45′29″N 66°53′56″E / 36.7581°N 66.8989°E / 36.7581; 66.8989
จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
เมืองโบราณในแบกเตรีย

แบกเตรีย (อังกฤษ: Bactria) เป็นภูมิภาคในประวัติศาสตร์ ครอบคลุมพื้นที่ในเอเชียกลางตั้งแต่ทางใต้ของแม่น้ำอามูดาร์ยาจรดตอนเหนือของเทือกเขาฮินดูกูช[1] หรือบริเวณประเทศอัฟกานิสถาน ทาจิกิสถาน และอุซเบกิสถานในปัจจุบัน บางครั้งแบกเตรียในความหมายกว้าง ๆ คือพื้นที่ที่อยู่ทางเหนือของเทือกเขาฮินดูกูช ทางตะวันตกของเทือกเขาปามีร์ และทางใต้ของเทือกเขาเทียนชาน โดยมีแม่น้ำอามูดาร์ยาไหลผ่านตรงกลาง ชื่อแบกเตรียมาจากคำภาษากรีกโบราณ Βακτριανή (Baktriani)[2]

แบกเตรียเป็นภูมิภาคหนึ่งที่มีผู้คนอาศัยอยู่อย่างยาวนานเนื่องจากอยู่ในเส้นทางการค้าและการทหาร จากการขุดสำรวจแหล่งโบราณคดีแบกเตรีย-มาร์เกียนาพบโบราณวัตถุที่บ่งชี้ถึงยุคสัมฤทธิ์ราว 2400–1600 ปีก่อนคริสตกาลและพบความเจริญทางอารยธรรมต่าง ๆ เช่น จารึก การชลประทาน การประดิษฐ์เกวียน และเครื่องโลหะที่ทำขึ้นอย่างวิจิตร[3] แหล่งโบราณคดีดังกล่าวมักถูกเชื่อมโยงกับการย้ายถิ่นอินโด-อารยันที่ชนชาวอินโด-อารยันอพยพจากแถบทะเลแคสเปียนมาที่อินเดียตอนเหนือเมื่อราว 2000 ปีก่อนคริสตกาล[4] ราวศตวรรษที่ 6 ก่อนคริสตกาล พระเจ้าไซรัสมหาราชผนวกแบกเตรียเข้ากับจักรวรรดิอะคีเมนิดของพระองค์ ก่อนจะเสียให้แก่อเล็กซานเดอร์มหาราชในรัชสมัยพระเจ้าดาไรอัสที่ 3 หลังอเล็กซานเดอร์สวรรคตใน 323 ปีก่อนคริสตกาล แบกเตรียตกอยู่ใต้อำนาจของซิลูคัสที่ 1 ไนเคเตอร์แห่งจักรวรรดิซิลูซิด ราว 245 ปีก่อนคริสตกาล แบกเตรียเป็นอิสระจากจักรวรรดิซิลูซิดเมื่อไดโอโดตัสที่ 1 เซแทร็ปแห่งแบกเตรียประกาศเอกราชจากจักรวรรดิซิลูซิดและสถาปนาอาณาจักรกรีก-แบกเตรีย[5][6] จากนั้นแบกเตรียถูกครอบครองโดยหลายอาณาจักร เช่น จักรวรรดิกุษาณะ จักรวรรดิแซสซานิด รัฐเคาะลีฟะฮ์อับบาซียะฮ์ จักรวรรดิมองโกล และราชวงศ์ตีมูร์ ก่อนจะเป็นส่วนหนึ่งของจักรวรรดิรัสเซียในคริสต์ศตวรรษที่ 18[7]

ภาษาที่ใช้ในภูมิภาคแบกเตรียคือภาษาแบกเตรีย ซึ่งเป็นภาษาหนึ่งในตระกูลภาษาอินโด-ยูโรเปียน ใช้อักษรกรีกและอักษรมาณีกีในการเขียน ในอดีตภาษาแบกเตรียเคยใช้เป็นภาษาราชการของจักรวรรดิกุษาณะและเฮฟทาไลต์ ก่อนจะค่อย ๆ สูญหายเมื่อจักรวรรดิแซสซานิดยึดครองแบกเตรียและถูกแทนที่ด้วยภาษาเปอร์เซียกลางที่ใช้ในราชสำนักแซสซานิด[8]

อ้างอิง[แก้]

  1. Chisholm 1911.
  2. Holt, Frank L. (2012). Lost World of the Golden King: In Search of Ancient Afghanistan. Berkeley, California, United States: University of California Press. p. 221. ISBN 9780520273429.
  3. Lawler, Andrew (November 30, 2006). "Central Asia's Lost Civilization". DiscoverMagazine.com. สืบค้นเมื่อ November 14, 2019.
  4. "Indo-Aryan migration". New World Encyclopedia. March 2, 2018. สืบค้นเมื่อ November 14, 2019.
  5. van der Crabben, Jan (April 28, 2011). "Bactria". Ancient History Encyclopedia. สืบค้นเมื่อ November 14, 2019.
  6. "Bactria". Britannica.com. สืบค้นเมื่อ November 14, 2019.
  7. Szczepanski, Kallie (April 19, 2019). "Where Is Bactria and What Is Its History?". ThoughtCo. สืบค้นเมื่อ November 14, 2019.
  8. Daryaee 2008, pp. 99–100.

แหล่งข้อมูลอื่น[แก้]

36°45′29″N 66°53′56″E / 36.7581°N 66.8989°E / 36.7581; 66.8989