ธรรมเนียมเตอร์กิก-มองโกล

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
ทวีปเอเชียในปี ค.ศ. 1335

ธรรมเนียมเตอร์กิก-มองโกล (อังกฤษ: Turco-Mongol tradition; บางครั้งสะกด Turko-Mongol) เป็นการสังเคราะห์ทางวัฒนธรรมชาติพันธุ์ที่เกิดขึ้นในเอเชียช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 14 ในหมู่ชนชั้นปกครองของโกลเดนฮอร์ดและจักรวรรดิข่านชากาทาย ภายหลังชนชั้นนำเหล่านี้กลืนกลายเข้ากับกลุ่มชนเตอร์กิกที่พวกเขาพิชิตและปกครองจนกลายเป็นกลุ่มชนเตอร์กิก-มองโกล ชนชั้นนำยังค่อย ๆ เปลี่ยนมานับถือศาสนาอิสลาม (จากเดิมที่นับถือศาสนาเท็งกรี) และใช้กลุ่มภาษาเตอร์กิก แต่ยังคงรักษาสถาบันการเมืองและกฎหมายแบบมองโกล[1]

กลุ่มชนเตอร์กิก-มองโกลก่อตั้งรัฐสืบทอดอิสลามหลายแห่งหลังการล่มสลายของรัฐข่านมองโกล เช่น รัฐข่านคาซัคและตาตาร์ที่เกิดขึ้นหลังโกลเดนฮอร์ด (เช่น รัฐข่านไครเมีย รัฐข่านอัสตราฮันและรัฐข่านคาซัน) และจักรวรรดิเตมือร์ที่สืบทอดจักรวรรดิข่านชากาทายในเอเชียกลาง จักรพรรดิบาบูร์ เจ้าชายชาวเตอร์กิก-มองโกลและลืบของเตมือร์ก่อตั้งจักรวรรดิโมกุล ซึ่งครอบครองเกือบทั่วอนุทวีปอินเดีย[2][3] นอกจากนี้ชาวเตอร์กิกและตาตาร์ยังมีอำนาจการเมืองและทหารนำในอียิปต์สมัยรัฐสุลต่านมัมลูก[4][5][6][7][8][9]

ชนชั้นนำเตอร์กิก-มองโกลกลายเป็นผู้อุปถัมภ์ธรรมเนียมเตอร์กิก-เปอร์เซีย อันเป็นวัฒนธรรมเด่นในหมู่มุสลิมเอเชียกลางขณะนั้น วัฒนธรรมเตอร์กิก-เปอร์เซียแพร่ไปพร้อมการขยายอำนาจของชาวเตอร์กิก-มองโกลในภูมิภาคใกล้เคียงในศตวรรษต่อมา จนกลายเป็นวัฒนธรรมเด่นของชนชั้นปกครองในเอเชียใต้ (อนุทวีปอินเดีย) โดยเฉพาะอินเดียเหนือ (จักรวรรดิโมกุล) เอเชียกลาง แอ่งทาริม (ตะวันตกเฉียงเหนือของจีน) และส่วนใหญ่ในเอเชียตะวันตก (ตะวันออกกลาง)[10]

เบื้องหลัง[แก้]

ชาวเตอร์กิกและชาวมองโกลมีการแลกเปลี่ยนทางภาษามาตั้งแต่ก่อนสมัยเจงกิส ข่าน มีการพบหลักฐานการยืมคำจากภาษาเตอร์กิกดั้งเดิมในภาษามองโกลดั้งเดิมอย่างน้อยช่วงสหัสวรรษที่ 1 ก่อนคริสตกาล กลุ่มภาษาเตอร์กิกและกลุ่มภาษามองโกลมีความคล้ายคลึงในแง่บุรุษสรรพนาม สัทสัมผัส ไวยากรณ์และแบบลักษณ์ (เช่น ความสอดคล้องกลมกลืนของสระเฉพาะสมัย การขาดลิงค์ ภาษารูปคำติดต่ออย่างแพร่หลาย กฎทางสัทสัมผัสและสัทวิทยาที่คล้ายกันมาก)[11]

ในอดีต ความคล้ายคลึงนี้เชื่อว่าเกิดจากความสัมพันธ์ทางเชื้อสายของสองภาษาและนำไปสู่สมมติฐานตระกูลภาษาอัลไต แต่ในปัจจุบัน การขาดหลักฐานด้านความสัมพันธ์ทางเชื้อสายภาษาส่งผลให้เกิดสมมติฐานเขตภาษาเอเชียตะวันออกเฉียงเหนือ (Northeast Asian sprachbund) แทน ซึ่งสมมติฐานนี้อธิบายว่าภาษามีความคล้ายคลึงเนื่องจากความใกล้เคียงทางภูมิศาสตร์และการสัมผัสภาษา โดยอาจไม่จำเป็นต้องมีความสัมพันธ์ทางเชื้อสายกัน ทั้งนี้ภาษาที่พบทั่วไปในกลุ่มคำศัพท์ของภาษามองโกลที่รับมาจากภาษาอื่นคือภาษาเตอร์กิก[12]

ภาษา[แก้]

หลังการพิชิตของมองโกล ชนชั้นนำของรัฐสืบทอดจักรวรรดิมองโกลเริ่มกระบวนการกลืนกลายเข้ากับกลุ่มชนที่พวกตนปกครอง ประชากรของโกลเดนฮอร์ดส่วนใหญ่ประกอบด้วยเชื้อสายผสมเติร์ก-มองโกลซึ่งภายหลังเข้ารับศาสนาอิสลาม รวมถึงกลุ่มชนฟินนิก ซามาร์โต-ซิเทีย ชาวสลาฟและกลุ่มชนจากคอเคซัสจำนวนเล็กน้อย (ซึ่งอาจนับถือ/ไม่นับถือศาสนาอิสลาม)[13]

ประชากรโกลเดนฮอร์ดส่วนใหญ่ที่เป็นชาวเติร์กสามารถจำแนกเป็นคิปชาก คูมันส์ บัลการ์วอลกาและฆวอแรซม์ โกลเดนฮอร์ดค่อย ๆ รับเอาวัฒนธรรมเตอร์กิกและสูญเสียอัตลักษณ์แบบมองโกลในช่วงคริสต์ทศวรรษ 1350 หรือก่อนหน้านั้น หนึ่งในตัวอย่างการกลายเป็นเตอร์กิกคือเปลี่ยนจากภาษามองโกลสมัยกลางมาใช้ภาษาเตอร์กิกคิปชาก แม้จะยังคงใช้ภาษามองโกลในทางกฎหมายก็ตาม[14][15] โกลเดนฮอร์ดใช้กลุ่มภาษาคิปชากต่อไปจนกระทั่งเกรตฮอร์ด หรือรัฐหลงเหลือของโกลเดนฮอร์ดถูกรัฐข่านไครเมียตีแตกในปี ค.ศ. 1502[16][17]

ในจักรวรรดิข่านชากาทาย ภาษาเตอร์กิกที่ชนชั้นปกครองชาวมองโกลรับมาใช้เรียกว่า ภาษาชากาทาย ภาษานี้เป็นภาษาแม่ของราชวงศ์เตมือร์ ราชวงศ์เชื้อสายผสมเตอร์กิก-มองโกลที่เรืองอำนาจในเอเชียกลางหลังจักรวรรดิข่านชากาทายเสื่อมถอย ภาษาชากาทายเป็นภาษาก่อนหน้ากลุ่มภาษาโอคุซ ซึ่งรวมถึงภาษาอุซเบกและภาษาอุยกูร์ปัจจุบัน[18]

ศาสนา[แก้]

ชาวมองโกลส่วนใหญ่ในช่วงการพิชิตของเจงกิส ข่านนับถือศาสนาเท็งกรี ต่อมารัฐสืบทอดจักรวรรดิมองโกลอย่างจักรวรรดิข่านอิล โกลเดนฮอร์ดและจักรวรรดิข่านชากาทายเปลี่ยนมานับถือศาสนาอิสลาม ซึ่งเป็นศาสนาหลักในอิหร่านและเอเชียกลาง

อืซเบ็ก ข่านแห่งโกลเดนฮอร์ดขึ้นครองราชย์ในปี ค.ศ. 1313 และประกาศให้ศาสนาอิสลามเป็นศาสนาประจำชาติ พระองค์สั่งห้ามศาสนาพุทธและลัทธิเชมันในหมู่ชาวมองโกลในรัสเซีย ในปี ค.ศ. 1315 อืซเบ็กประสบความสำเร็จในการเปลี่ยนโกลเดนฮอร์ดเป็นอิสลาม สังหารบรรดาเจ้าชายและลามะที่คัดค้านนโยบายทางศาสนา และเป็นพันธมิตรกับพวกมัมลูกซึ่งเริ่มมาตั้งแต่สมัยบะเราะกะฮฺ ทำให้อิสลามภายใต้การปกครองของอืซเบ็กและญานี เบ็กได้รับการยอมรับทั่วไป

มุบาร็อก ชาห์แห่งจักรวรรดิข่านชากาทายเข้ารับศาสนาอิสลาม หลังจากนั้นชนชั้นนำของชากาทายเปลี่ยนมานับถือศาสนาอิสลามเช่นกัน ต่อมาจักรวรรดิข่านชากาทายล่มสลายและจักรวรรดิเตมือร์ของเตมือร์ขึ้นมามีอำนาจแทน จอห์น โจเซฟ ซอนเดอส์ นักประวัติศาสตร์ชาวบริติชกล่าวว่าเตมือร์เป็น "ผลผลิตของสังคมแบบอิสลามและอิหร่าน" ไม่ใช่ชนร่อนเร่ในทุ่งหญ้าสเตปป์[19] เตมือร์ใช้สัญลักษณ์และภาษาอิสลาม เรียกตนเองว่า "ดาบแห่งอิสลาม" และอุปถัมภ์สถานศึกษาและศาสนาเพื่อสร้างความชอบธรรมให้แก่ตน หลังเอาชนะคณะอัศวินบริบาลในการล้อมสเมอร์นาในปี ค.ศ. 1402 เตมือร์เรียกตนเองว่า ฆาซี หรือนักรบผู้กำชัยเหนือศัตรูของศาสนาอิสลาม[20]

อ้างอิง[แก้]

  1. Beatrice Forbes Manz (1989). The Rise and Rule of Tamerlane. Cambridge University Press. pp. 6–9. ISBN 978-0-521-34595-8.
  2. "Timur". Encyclopædia Britannica (Online Academic ed.). 2007.
  3. Beatrice F. Manz (2000). "Tīmūr Lang". Encyclopaedia of Islam. Vol. 10 (2nd ed.). Brill. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2015-02-07. สืบค้นเมื่อ 24 April 2014.
  4. "The Cambridge History of Egypt", Volume 1, (1998) P. 250
  5. "Mamluk | Islamic dynasty". Encyclopædia Britannica.
  6. "Egypt – The Mamluks, 1250–1517". countrystudies.us. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 8 April 2016. สืบค้นเมื่อ 13 November 2015.
  7. Kenneth M. Setton (1969). The Later Crusades, 1189–1311. Wisconsin: Univ of Wisconsin Press. p. 757. ISBN 978-0-299-04844-0.
  8. Amalia Levanoni (1995). A Turning Point in Mamluk History: The Third Reign of Al-Nāṣir Muḥammad Ibn Qalāwūn (1310-1341) (ภาษาอังกฤษ). BRILL. p. 17. ISBN 9004101829. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 26 July 2023. สืบค้นเมื่อ 3 October 2020.
  9. Carole Hillenbrand (2007). Turkish Myth and Muslim Symbol: The Battle of Manzikert. Edimburgo: Edinburgh University Press. pp. 164–165. ISBN 9780748625727.
  10. Canfield, Robert L. (1991). Turko-Persia in Historical Perspective. Cambridge, United Kingdom: Cambridge University Press. p. 1 ("Origins"). ISBN 0-521-52291-9.
  11. Janhunen, Juha (2013). "Personal pronouns in Core Altaic". ใน Martine Irma Robbeets; Hubert Cuyckens (บ.ก.). Shared Grammaticalization: With Special Focus on the Transeurasian Languages. John Benjamins. p. 221. ISBN 9789027205995. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 26 July 2023. สืบค้นเมื่อ 29 April 2017.
  12. Nakashima, Y. (n.d.). 語彙借用に見るモンゴル語とチュルク語の言語接触: 特にカザフ語及びトゥヴァ語との比較を中心として(Rep.). Retrieved from https://ir.library.osaka-u.ac.jp/repo/ouka/all/51188/gk00068_論文.pdf เก็บถาวร 5 กุมภาพันธ์ 2021 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน
  13. Halperin, Charles J. (1987). Russia and the Golden Horde: The Mongol Impact on Medieval Russian History. Indiana University Press. p. 111. ISBN 978-0-253-20445-5.
  14. Kołodziejczyk (2011), p. 4.
  15. Mustafayeva, A.A.; Aubakirova, K.K.. "The language situation and status of the Turkic language in the Egyptian Mamluk state and Golden Horde". Journal of Oriental Studies, [S.l.], v. 97, n. 2, pp. 17–25, June 2021. ISSN 2617-1864. Available at: <https://bulletin-orientalism.kaznu.kz/index.php/1-vostok/article/view/1689>. Date accessed: 01 sep. 2021. doi: https://doi.org/10.26577/JOS.2021.v97.i2.02.
  16. Kimberly Kagan (2010). The Imperial Moment. p. 114.
  17. Bruce Alan Masters (2010). Encyclopedia of the Ottoman Empire. p. 159.
  18. L.A. Grenoble (2006). Language Policy in the Soviet Union. Springer Science & Business Media. pp. 149–. ISBN 978-0-306-48083-6.
  19. Saunders, J. J. (2001). The History of the Mongol Conquests. University of Pennsylvania Press. pp. 173–. ISBN 978-0-8122-1766-7. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 26 July 2023. สืบค้นเมื่อ 3 October 2020.
  20. Marozzi, Justin (2004). Tamerlane: Sword of Islam, conqueror of the world. HarperCollins.แม่แบบ:ISBN?