ซาวลา

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
ซาวลา
Pseudoryx nghetinhensis.PNG
ซาวลา
สถานะการอนุรักษ์
การจำแนกชั้นทางวิทยาศาสตร์
อาณาจักร: Animalia
ไฟลัม: Chordata
ชั้น: Mammalia
อันดับ: Artiodactyla
วงศ์: Bovidae
วงศ์ย่อย: Bovinae
สกุล: Pseudoryx
Dung et al., 1993
สปีชีส์: P.  nghetinhensis
ชื่อทวินาม
Pseudoryx nghetinhensis
Dung, Giao, Chinh, Tuoc, Arctander, MacKinnon, 1993
Pseudoryx nghetinhensis distribution.png
แผนที่แสดงการกระจายพันธุ์ของซาวลา

ซาวลา (เวียดนาม: sao la; ลาว: ເສົາຫຼາ, ເສົາຫລາ) หรือ วัวหวูกวาง (อังกฤษ: Vu Quang ox) เป็นสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมในอันดับสัตว์กีบคู่ชนิดใหม่ที่เพิ่งค้นพบในปี ค.ศ. 1992 มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Pseudoryx nghetinhensis มีรูปร่างคล้ายแพะผสมกับเลียงผา จัดอยู่ในวงศ์เดียวกับวัว (Bovidae)

จัดเป็นสิ่งมีชีวิตเพียงชนิดเดียวเท่านั้นที่อยู่ในสกุล Pseudoryx[2] โดยที่ชื่อนี้ (รวมถึงชื่อวิทยาศาสตร์ทั้งหมด) มาจากภาษากรีกแปลว่า "ออริกซ์ปลอมแห่งเหงะติ๋ง" เนื่องจากมีเขาที่ดูคล้ายออริกซ์ แอนทิโลปเขาตรงที่พบในทวีปแอฟริกา[3] โดย "ซาวลา" ซึ่งเป็นชื่อสามัญในภาษาเวียดนาม มาจากภาษากลุ่มไท แปลว่า "เขาบิดเกลียว"[4] อีกทั้งยังแฝงความหมายว่า "ล้ำค่าดุจเดือนและดาว" และยังได้สมญาว่าเป็น "ยูนิคอร์นแห่งเอเชีย" [5]

การค้นพบ[แก้]

ถูกค้นพบครั้งแรกในปี ค.ศ. 1992 โดย จอห์น แมกกินคอน นักวิทยาศาสตร์และนักธรรมชาติวิทยาผู้ทำงานให้กับกองทุนสัตว์ป่าโลก (WWF) และสหภาพนานาชาติเพื่อการอนุรักษ์ธรรมชาติและทรัพยากรธรรมชาติ (IUCN) แห่งสหประชาชาติ ได้รับมอบหมายหน้าที่ให้ทำงานร่วมกับเจ้าหน้าที่ของรัฐบาลเวียดนามในการขยายระบบการสงวนผืนป่าและจัดตั้งเขตอนุรักษ์ โดยในระหว่างการปฏิบัติงาน แมกกินนอนได้เข้าไปสำรวจป่าหวูกว่าง บริเวณชายแดนเวียดนามและลาว วันหนึ่งขณะที่คณะสำรวจแวะพักที่หมู่บ้านชาวพื้นเมือง แมกกินนอนได้พบเห็นเขาของชนิดหนึ่งซึ่งมีลักษณะคล้ายสัตว์จำพวกเลียงผาหรือแอนทิโลป ทว่าเขานี้ยาวกว่าเขาของเลียงผามาก หลังกลับออกมาจากป่า แมกกินนอนได้นำตัวอย่างที่ได้มาพิจารณา จนแน่ใจว่าสัตว์ที่พบต้องเป็นสัตว์ชนิดใหม่อย่างแน่นอน จึงได้นำคณะกลับไปยังป่าหวู่กว่างอีกครั้งและได้รวบรวมเขาของสัตว์ดังกล่าวได้เพิ่มอีก 20 คู่ อีกทั้งยังได้แผ่นหนังเพิ่มมาอีก 3 ผืน แมกกินนอนได้นำหนังผืนหนึ่งมาสตัฟฟ์จากนั้นได้ส่งหนังและเขาที่รวบรวมมาได้ไปให้ผู้เชี่ยวชาญด้านสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมทำการศึกษาและตรวจสอบ ซึ่งจากการตรวจดีเอ็นเอ ก็ได้ข้อสรุปว่าสัตว์ชนิดนี้เป็นสัตว์ชนิดใหม่ที่ไม่เคยมีใครพบมาก่อน ทั้งยังเป็นสัตว์ที่ต่างจากสัตว์อื่น ๆ ที่เคยรู้จักกันมาจนต้องตั้งสกุลใหม่ขึ้นมาใหม่ จนกระทั่งในปี ค.ศ. 1993 จึงได้ข้อมูลมากพอและได้นำเสนอรายงานนำไปสู่การอนุกรมวิธานในทางวิชาการจนเป็นที่ยอมรับ [6]โดยมีความซับซ้อนในการจัดลำดับพอสมควรเนื่องจากเป็นสัตว์สกุลใหม่ ได้รับการจำแนกว่ามีความแตกต่างจากวงศ์ย่อย Caprinae จนในที่สุดได้จัดให้อยู่ในวงศ์ย่อย Bovinae ในเผ่า Bovini[7] โดยถือเป็นสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมขนาดใหญ่ที่ถูกค้นพบเป็นครั้งแรกในรอบ 50 ปี[4]

ลักษณะ[แก้]

จัดเป็นแอนทิโลปชนิดหนึ่ง มีขนตามลำตัวสั้นมีสีน้ำตาลเข้ม มีลักษณะเด่นคือ มีลายสีขาวบริเวณใบหน้า เขาโค้งยาวและแหลมคม อาจมีเขายาวมากกว่า 50 เซนติเมตรได้ ต่อมใต้ตามีขนาดใหญ่ใช้หลั่งสารเคมีที่สื่อสารกับตัวเมีย มีความยาวหาง 30 เซนติเมตร ความสูงจากพื้นดินถึงหัวไหล่ 84 เซนติเมตร น้ำหนัก 80–100 กิโลกรัม

จัดเป็นสัตว์เฉพาะถิ่นที่พบได้เฉพาะป่าทึบชายแดนลาวกับเวียดนามเท่านั้น เช่น เทือกเขาอันนัม, อุทยานแห่งชาติหวูกว่าง เป็นสัตว์ที่หายากมากและมีข้อมูลทางวิชาการน้อยมาก ด้วยพบปรากฏตัวเพียงไม่กี่ครั้งเท่านั้นในรอบนับสิบปี[5][8]

พฤติกรรม[แก้]

มีพฤติกรรมออกหากินตามลำพังในช่วงเช้าตรู่ถึงตอนบ่าย แต่บางครั้งอาจพบเห็นหากินในเวลากลางคืน มักอาศัยอยู่ในป่าดิบชื้น มีฤดูผสมพันธุ์ในช่วงเดือนกันยายนถึงพฤศจิกายน ตั้งท้องนานประมาณ 8 เดือน ออกลูกครั้งละ 1 ตัว[8]

อ้างอิง[แก้]

  1. ["จาก [[IUCN]] (อังกฤษ)". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2011-09-21. สืบค้นเมื่อ 2012-03-08. จาก IUCN (อังกฤษ)]
  2. "Pseudoryx (Genus)". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2010-02-01. สืบค้นเมื่อ 2010-11-24.
  3. Mammal Species of the World, A Taxonomic and Geographic Reference, 3rd edition, 2005 ISBN 0801882214
  4. 4.0 4.1 Cox, S.; Dao, N.T.; Johns, A.G.; Seward, K. (2004). Hardcastle, J. (บ.ก.). Proceedings of the "Rediscovering the saola – a status review and conservation planning workshop", Pu Mat National Park, Con Cuong District, Nghe An Province Vietnam, 27-28 February 2004 (PDF) (Report). Hanoi, Vietnam: WWF Indochina Programme, SFNC Project, Pu Mat National Park. pp. 1–115.
  5. 5.0 5.1 ""ม้ายูนิคอร์น" แห่งเวียดนามกลับมาให้เห็นอีกครั้งหลังจากหายหน้า 15 ปี". ผู้จัดการออนไลน์. November 16, 2013. สืบค้นเมื่อ July 2, 2016.[ลิงก์เสีย]
  6. "Saola still a mystery 20 years after its spectacular debut". World Wildlife Fund. 21 May 2012. สืบค้นเมื่อ 12 April 2016.
  7. Hassanin, A.; Douzery, E. J. P. (1999). "Evolutionary affinities of the enigmatic saola (Pseudoryx nghetinhensis) in the context of the molecular phylogeny of Bovidae". Proceedings of the Royal Society B: Biological Sciences. 266 (1422): 893–900. doi:10.1098/rspb.1999.0720.
  8. 8.0 8.1 กองทุนสัตว์ป่าโลก. สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมในประเทศไทยและภูมิภาคอินโดจีน. กรุงเทพฯ : ไซรัสการพิมพ์, 2543. 256 หน้า. ISBN 974-87081-5-2

แหล่งข้อมูลอื่น[แก้]