ช่องสามหมอ
ช่องสามหมอ | |
---|---|
จุดสูงสุด | |
ยอด | 945 เมตร |
พิกัด | 16°04′24.7″N 102°16′47.0″E / 16.073528°N 102.279722°Eพิกัดภูมิศาสตร์: 16°04′24.7″N 102°16′47.0″E / 16.073528°N 102.279722°E |
ข้อมูลทางภูมิศาสตร์ | |
ที่ตั้ง | จังหวัดชัยภูมิ (อำเภอแก้งคร้อ, อำเภอคอนสวรรค์), จังหวัดขอนแก่น (อำเภอโคกโพธิ์ไชย) |
เทือกเขา | ภูโค้ง, ภูผาแดง |
ช่องสามหมอ เป็นช่องเขาขาดที่เกิดจากทางน้ำไหลตัดผ่านแนวเขาสองลูก ฝั่งตะวันตกคือภูโค้งที่ต่อมาจากภูแลนคา ฝั่งตะวันออกคือภูผาแดงที่เป็นแนวต่อขึ้นไปหาภูเม็ง ถือเป็นเขตแดนระหว่างจังหวัดชัยภูมิกับจังหวัดขอนแก่น
ที่มาของชื่อ[แก้]
ช่องสามหมอ ตั้งชื่อตามลำห้วยสามหมอ ซึ่งเป็นลำห้วยสาขาหนึ่งของลำน้ำชี คำว่า “สามหมอ” หมอในที่นี้หมายถึง หมอปราบจระเข้ ตามตำนานที่เล่าต่อกันมามีอยู่ว่า เดิมในลำห้วยมีจระเข้ดุร้ายอาศัยอยู่ และได้กัดทำร้ายชาวบ้านที่มาอาศัยแหล่งน้ำ จึงต้องหาหมอจระเข้มาปราบ ซึ่งต้องใช้หมอจระเข้ถึง 3 คนจึงจะปราบจระเข้ดุร้ายดังกล่าวลงได้ จึงเป็นที่มาของชื่อห้วยสามหมอ และนำมาใช้เรียกช่องสามหมอตั้งแต่นั้น[1]
ปัจจุบันยังได้มีการนำชื่อช่องสามหมอไปตั้งเป็นชื่อตำบลถึงสองแห่งที่อยู่ระหว่างช่องเขา ทั้งในเขตอำเภอแก้งคร้อแห่งหนึ่ง และในเขตอำเภอคอนสวรรค์อีกแห่ง ควรสังเกตให้ดี เพื่อป้องกันความสับสน
ความสำคัญทางประวัติศาสตร์[แก้]
ในสมัยโบราณ ชุมชนในเขตลุ่มแม่น้ำชี หากต้องการติดต่อแลกเปลี่ยน กับชุมชนโบราณในเขตลุ่มแม่น้ำพรมและแม่น้ำเซินทางตอนเหนือ ช่องสามหมอดูจะเป็นช่องทางที่สะดวกสะบายและรวดเร็วที่สุด และน่าจะมีการใช้งานมาช้านานแล้วตั้งแต่สมัยทวารวดี เห็นได้จากความใกล้ชิดทางวัฒนธรรมการสร้างใบเสมาหิน ที่พบกระจายอยู่ตามชุมชนโบราณในเขตลุ่มแม่น้ำชี เช่น เมืองกาหลงที่บ้านคอนสวรรค์ เมืองไชวานที่บ้านโพธิ์ไชย เมืองโบราณที่บ้านกุดโง้ง บ้านสระไข่น้ำ ในเขตอำเภอเมืองชัยภูมิ ขณะที่ลุ่มน้ำพรมน้ำเซิน ก็พบอยู่มากมายไม่แพ้กันที่ ชุมชนโบราณที่บ้านพันลำ บ้านโนนฆ้อง บ้านหินตั้ง อำเภอเกษตรสมบูรณ์ ไปจนถึงโนนเมืองโบราณเขตอำเภอชุมแพ
เมื่อเข้าสู่ยุคที่รับอารยธรรมเขมร ในราวพุทธศตวรรษที่ 16-17 ดูเหมือนช่องสามหมอจะมีความพิเศษมากขึ้น เมื่อพบการสร้างศิวลึงค์ประดิษฐานไว้บนยอดภูโค้ง เปรียบเสมือนการจําลองเขาไกรลาส (ลึงคบรรพต) อันเป็นที่ประทับของพระศิวะผู้เป็นเทพเจ้าสูงสุดขึ้นบนพื้นมนุษย์โลก[2] ชุมชนที่อยู่อาศัยรอบภูเขาแห่งนี้ รวมทั้งผู้ที่สัญจรผ่านทางช่องสามหมอ เสมือนได้รับการอำอวยพรให้อยู่เย็นเป็นสุข และแคล้วคลาดปลอดภัย
ในสมัยธนบุรี ถึงรัตนโกสินทร์ตอนต้น ช่องสามหมอมีบทบาทที่เด่นชัดขึ้นในด้านการศึกสงคราม โดยเฉพาะในช่วงเหตุการณ์วุ่นวายที่เจ้าอนุวงศ์แห่งเวียงจันทร์ต้องการรวบรวมหัวเมืองลาวในเขตภาคอีสานและประกาศตัวเป็นอิสระจากสยาม ทำให้พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวแห่งกรุงเทพฯ ต้องส่งทัพหลวงขึ้นมาปราบปราม โดยช่องสามหมอเป็นช่องทางหนึ่งที่ต้องยกทัพผ่าน เพื่อขึ้นไปกำราบเวียงจันทร์
เหตุการณ์ครั้งนี้ทำให้ ช่องสามหมอ ได้ปรากฏชื่อในบทกวีเป็นครั้งแรก ในนิราศทัพเวียงจันทร์ ของหม่อมเจ้าทับ พระโอรสในกรมหลวงเสนีบริรักษ์ ซึ่งรำพันเอาไว้ว่า
อันนามนั้นจึงได้เรียกว่าสามหมอ | เขารู้ต่อมาแสดงแจ้งนุสนธิ์ | |
อนุตั้งสำนักไว้พักพล | เมื่อจรดลมาเฝ้าอยู่อัตรา | |
ในเวิ้งเขาเป็นห้วยละหานหิน | กระแสสินธุ์ไหลรบกระทบผา | |
เป็นน้ำพุดุดันชนศิลา | ออกฉานฉ่าซึมซาบลงอาบเย็น | |
เมื่อยามร้อนก็ค่อยผ่อนบรรเทาทุกข์ | วิเศษสุขกายาประสาเข็ญ | |
ด้วยคงคาไหลโลดโดดกระเด็น | พี่แลเห็นคิดถึงคะนึงนวล | |
— นิราศทัพเวียงจันทร์ |
ปัจจุบันการเดินทางผ่านช่องสามหมอมีความสะดวกสะบายกว่าอดีตมากนัก เมื่อมีการตัดขยายเส้นทางเป็นสี่ช่องถนน
อ้างอิง[แก้]
- ↑ ประวัติและความเป็นมา องค์การบริหารส่วนตำบลช่องสามหมอ อำเภอคอนสวรรค์ จังหวัดชัยภูมิ[http://chongsammor.go.th/data.php?content_id=4.
- ↑ วีระชาติ พงค์ชนะ นักโบราณคดีชำนาญการ: องค์ความรู้เรื่อง ลึงคบรรพตแห่งภูโค้ง ศาสนบรรพตที่สาปสูญ: สำนักศิลปากรที่ 10 นครราชสีมา.