ข้ามไปเนื้อหา

ฉบับร่าง:สำนักงานคณะกรรมการการแข่งขันทางการค้า

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี

สำนักงานคณะกรรมการการแข่งขันทางการค้า[1] หรือ สำนักงาน กขค. Trade Competition Commission of Thailand (TCCT)[2]เป็นหน่วยธุรการของ คณะกรรมการการแข่งขันทางการค้า (กขค.) เป็นหน่วยงานของรัฐที่ไม่เป็นส่วนราชการและไม่เป็นรัฐวิสาหกิจและมีฐานะเป็นนิติบุคคล และไม่มีวัตถุประสงค์ในการแสวงหากำไร

สำนักงานคณะกรรมการการแข่งขันทางการค้า
Trade Competition Commission of Thailand
TCCT LOGO
ภาพรวมหน่วยงาน
ก่อตั้ง5 ตุลาคม 2560
สำนักงานใหญ่อาคารจอดรถ 5 ชั้น (BC) ชั้น 5 ศูนย์ราชการเฉลิมพระเกียรติ 80 พรรษา เลขที่ 120 ถนนแจ้งวัฒนะ แขวงทุ่งสองห้อง เขตหลักสี่ กรุงเทพมหานคร 10210
ฝ่ายบริหารหน่วยงาน
  • ผศ.ดร.วิษณุ วงศ์สินศิริกุล, เลขาธิการฯ
  • นายมนยศ วรรธนะภูติ, รองเลขาธิการฯ
  • นายมนตรี กนกวารี, รองเลขาธิการฯ
เว็บไซต์www.tcct.or.th

ประวัติ[แก้]

สำนักงานคณะกรรมการแข่งขันทางการค้า แรกเริ่มจัดตั้งขึ้นตามพระราชบัญญัติการแข่งขันทางการค้า พ.ศ.2542 เป็นหน่วยงานที่ตั้งขึ้นในกรมการค้าภายในกระทรวงพาณิชย์ โดยมีอธิบดีกรมการค้าภายใน กรรมการในคณะกรรมการการแข่งขันทางการค้าเป็นเลขาธิการ      

กฎหมายการแข่งขันทางการค้าในแต่ละประเทศมีความเป็นมาที่แตกต่างกัน หลายประเทศมีกฎหมายฉบับนี้เพราะถูกบังคับให้มีตัวอย่างในทวีปเอเซีย เช่น ญี่ปุ่นภายหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 สหรัฐอเมริกาได้บังคับให้ญี่ปุ่นต้องมีกฎหมายที่เรียกว่า กฎหมายป้องกันการผูกขาด (Anti-Monopoly Act) โดยมุ่งหวังให้เปิดตลาดโดยปราศจากการครอบงำของกลุ่มธุรกิจขนาดใหญ่ โดยพระราชบัญญัติการแข่งขันทางการค้าฉบับนี้พัฒนาจาก พระราชบัญญัติป้องกันการค้ากำไรเกินควร พ.ศ. 2490 ซึ่งมีการปรับปรุงแก้ไขมาเป็นลำดับสมัยก่อนการดูแลราคาสินค้าจะดูแลราคาที่ปลายทางคือราคาขายปลีก และขยับมาดูแลราคาขายส่ง ต่อมาระบบการค้าเปลี่ยนแปลง โดยโครงสร้างตลาดซึ่งมีทั้งตลาดผู้ขายน้อยราย (Oligopoly) กับตลาดผูกขาด (Monopoly) ผู้ค้าปลีกจะจำหน่ายสินค้าโดยพิจารณาตามราคาที่ต้นทางกำหนด ทำให้ผู้บริโภคต้องซื้อสินค้าในราคาแพงโดยตลอด การแก้ปัญหาราคาสินค้าจึงไม่ประสบผลสำเร็จทำให้มีการพัฒนาพระราชบัญญัติป้องกันการค้ากำไรเกินควร พ.ศ. 2490 มาเป็นพระราชบัญญัติการกำหนดราคาสินค้าและป้องกันการผูกขาด พ.ศ.2522 เพื่อป้องกันมิให้ผู้ประกอบการสร้างอำนาจผูกขาด เช่น การจำกัดปริมาณสินค้า จนทำให้สินค้าขาดแคลนแล้วกำหนดราคาให้สูงขึ้น

ต่อมาในปี พ.ศ. 2534 สมัยนายอานันท์ ปันยารชุน เป็นนายกรัฐมนตรี มีกระแสที่เกี่ยวข้องกับเรื่องกฎหมายการแข่งขันทางการค้าออกมาหลายเรื่อง เช่น ผู้ประกอบการจำหน่ายรถยนต์รายใหญ่บางราย กีดกันผู้ประกอบการรายอื่นไม่ให้มีการนำเข้ารถยนต์ยี่ห้อที่ตนเองจำหน่าย จึงเกิดปัญหาว่าการกระทำเช่นนี้เป็นการใช้อำนาจผูกขาด ทำให้มีการเสวนาถกเถียงถึงเรื่องการแข่งขันเสรีมากขึ้น

โดยที่กฎหมายการแข่งขันทางการค้า เป็นกฎหมายเศรษฐกิจที่มีความสำคัญต่อระบบเศรษฐกิจการค้าในประเทศอย่างมาก ทั้งในด้านของการสร้างความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจได้อย่างยั่งยืน การพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรมใหม่ๆเกิดขึ้นในตลาด รวมทั้งผู้บริโภคที่จะได้ประโยชน์จากการแข่งขัน สามารถเลือกซื้อสินค้าได้หลากหลาย มีคุณภาพ และราคาถูกลง เป็นต้น ในประเทศที่พัฒนาแล้วจะให้ความสำคัญในการบังคับใช้กฎหมายฉบับนี้อย่างเข้มข้น ถึงกับมีการเทียบเคียงสถานะเปรียบเทียบดังเช่นธรรมนูญทางเศรษฐกิจ ที่ผู้ประกอบธุรกิจทุกรายไม่ว่าจะเป็นขนาดใหญ่ กลาง เล็ก จะต้องปฏิบัติตามอย่างเท่าเทียมกัน โดยข้อเท็จจริงแล้วกฎหมายการแข่งขันทางการค้า มีพื้นฐานที่มาจากทฤษฎีทางเศรษฐศาสตร์ ที่เชื่อว่าภายใต้ปรัชญาการค้าเสรีที่อาศัยกลไกตลาด การแข่งขันที่เสรีย่อมนำไปสู่การจัดสรรทรัพยากรที่มีประสิทธิภาพสูงสุด ผู้ที่มีต้นทุนต่ำกว่าเท่านั้นจึงจะสามารถดำรงความเป็นผู้ชนะในการแข่งขันได้ สำหรับผู้แพ้ที่มีต้นทุนการผลิตที่สูงกว่าก็จำเป็นต้องออกจากตลาดไป ซึ่งเป็นปรัชญาความเชื่อในทางทฤษฎีแต่ในโลกแห่งความเป็นจริงอาจจะไม่เป็นเช่นนั้นทั้งนี้เพราะในระบบตลาดสินค้าและบริการที่เป็นอยู่ในประเทศไทย โครงสร้างตลาดส่วนใหญ่จะเป็นตลาดกึ่งแข่งขันกึ่งผูกขาด (Monopolistic Competition) และตลาดผู้ขายน้อยราย (Oligopoly) ซึ่งโดยโครงสร้างตลาดในลักษณะดังกล่าว มีส่วนทำให้ผู้ประกอบการธุรกิจขนาดใหญ่มีความได้เปรียบและใช้อำนาจตลาดที่มีอยู่กลั่นแกล้งหรือจำกัดโอกาสในการดำเนินธุรกิจของคู่แข่งขันที่มีขนาดเล็กกว่าได้ง่าย ดังนั้นจึงจำเป็นต้องมีกฎหมายเฉพาะที่มุ่งปกป้องตลาดให้มีการแข่งขันไม่ให้เกิดการผูกขาดและมีพฤติกรรมการค้าที่ไม่เป็นธรรม ซึ่งเป็นหลักการสำคัญของกฎหมายที่เรียกกันว่า “ กฎหมายการแข่งขันทางการค้า” หรือบางประเทศใช้คำว่า “ กฎหมายป้องกันการผูกขาด”

กรมการค้าภายในขณะนั้น จึงได้มีคำสั่งมอบหมาย นายศิริพล ยอดเมืองเจริญ ผู้อำนวยการกองวิชาการ (ตำแหน่งในขณะนั้น) เป็นคณะทำงานและเลขานุการยกร่างกฎหมายการแข่งขันทางการค้าโดยได้เชิญคณาจารย์ ผู้มีความรู้และเชี่ยวชาญด้านกฎหมายจากทั้งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์และจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยมาร่วมเป็นคณะทำงานร่างกฎหมายด้วย ซึ่งใช้เวลามากพอสมควร และร่างกฎหมายการแข่งขันทางการค้า ได้เข้าสู่การพิจารณาของคณะรัฐมนตรีหลายครั้งจนผ่านความเห็นชอบและถูกเสนอเข้าสู่การพิจารณาของสภานิติบัญญัติ แต่ได้มีการยุบสภาฯ ก่อน ทำให้ยังไม่ผ่านการพิจารณา และในปี 2540 สมัยพลเอกชวลิต ยงใจยุทธ เป็นนายกฯ

ก็ถูกเสนอเข้าสู่การพิจารณาของสภาผู้แทนราษฎรอีก แต่สภาฯก็ถูกยุบอีก

ในที่สุดร่างกฎหมายฉบับนี้ก็มาเริ่มกระบวนการใหม่ในปี 2541 สมัยนายชวน หลีกภัย เป็นนายกฯ โดยผ่านมติความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรี เข้าสู่คณะกรรมการกฤษฎีกา และเสนอเข้าสู่สภาผู้แทนราษฎรพิจารณาจนผ่านออกมาเป็น “พระราชบัญญัติการแข่งขันทางการค้า พ.ศ. 2542 “ และประกาศบังคับใช้เมื่อวันที่ 30 เมษายน 2542

กระทรวงพาณิชย์ โดยกรมการค้าภายใน ในฐานสำนักงานคณะกรรมการการแข่งขันทางการค้าได้ดำเนินการเกี่ยวกับการปรับปรุงพระราชบัญญัติการแข่งขันทางการค้า พ.ศ. 2542 ได้ศึกษาประเด็นปัญหา ข้อจำกัดในการบังคับใช้ พ.ร.บ.การแข่งขันทางการค้า พ.ศ.2542 ตามนโยบายของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ที่ให้ปรับปรุงแก้ไขกฎหมายให้มีความเหมาะสม สอดคล้องกับสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไป ซึ่งภายหลังจากการศึกษาได้จัดทำประเด็นการแก้ไขปรับปรุง พระราชบัญญัติการแข่งขันทางการค้า พ.ศ. 2542 และนำไปรับฟังความคิดเห็นจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งภาครัฐ เอกชน รัฐวิสาหกิจ และนักวิชาการเกี่ยวกับการบังคับใช้พระราชบัญญัติดังกล่าว ผลจากการรับฟังความคิดเห็นทุกภาคส่วนเห็นด้วยกับแนวทางการปรับปรุง โดยได้นำผลการรับฟังความคิดเห็นมาพิจารณายกร่างปรับปรุงพระราชบัญญัติการแข่งขันทางการค้า พ.ศ. …. โดยมีหลักการปรับแก้ไขประกอบด้วย 1) ความครอบคลุม 2) ความเป็นอิสระของคณะกรรมการและหน่วยงานกำกับดูแลด้านการแข่งขันทางการค้า 3) การเพิ่มประสิทธิภาพการบังคับใช้ และได้นำเสนอ พ.ร.บ.การแข่งขันทางการค้า พ.ศ. …. ต่อคณะรัฐมนตรีพิจารณาด้วยเหตุผลความจำเป็น

• คณะรักษาความสงบแห่งชาติ(คสช.) มีนโยบายให้ปรับปรุงแก้ไข กฎระเบียบ ข้อบังคับต่างๆ ให้มีความเหมาะสมสอดคล้องกับสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไป ซึ่งพระราชบัญญัติการแข่งขันทางการค้า พ.ศ.2542

ได้ถูกบรรจุในแผนการปฏิรูปกฎหมายตามนโยบายดังกล่าว ซึ่งกำหนดให้กระทรวงพาณิชย์ปรับปรุงแก้ไขพระราชบัญญัติฯ โดยคำนึงถึงความทันสมัย และเอื้อต่อศักยภาพในการแข่งขันกับต่างประเทศ ทั้งนี้ให้นำเสนอคณะรัฐมนตรีเพื่อพิจารณาตามขั้นตอนต่อไป

• คณะรัฐมนตรีมีมติให้ร่างพระราชบัญญัติการแข่งขันทางการค้า พ.ศ. ….[3] เป็นร่างกฎหมายที่มีความสำคัญเร่งด่วน(เร่งด่วน 1) และคณะอนุกรรมการพิจารณาเร่งรัด ติดตามร่างกฎหมายในกระบวนการนิติบัญญัติ ขอให้กระทรวงพาณิชย์เร่งรัดเสนอร่างกฎหมายดังกล่าวต่อคณะรัฐมนตรีโดยด่วน

• มาตรา 35 แห่งพระราชกฤษฎีกาว่าด้วยหลักเกณฑ์และวิธีการบริหารกิจการบ้านเมืองที่ดี พ.ศ. 2546[4] กำหนดให้ส่วนราชการสำรวจ ตรวจสอบ และทบทวนกฎหมาย กฎ ระเบียบ ข้อบังคับ และประกาศ ที่อยู่ในความรับผิดชอบให้ทันสมัยและเหมาะสมกับสถานการณ์ ความจำเป็นทางเศรษฐกิจ สังคม และความมั่นคงของประเทศ โดยคำนึงถึงความสะดวก รวดเร็ว และลดภาระของประชาชนเป็นสำคัญ

• โดยที่พระราชบัญญัติการแข่งขันทางการค้า พ.ศ. 2542 ใช้บังคับมาเป็นเวลานาน ทำให้บทบัญญัติในกฎหมายไม่สอดคล้องและครอบคลุมรูปแบบ โครงสร้าง และพฤติกรรมการประกอบธุรกิจที่เปลี่ยนแปลงไป และยังขาดเครื่องมือที่จำเป็นในการดูแลให้เกิดการแข่งขันทางการค้าอย่างเสรีและเป็นธรรม ตามแนวทางที่เป็นสากล โดยเฉพาะอย่างยิ่งในส่วนคณะกรรมการการแข่งขันทางการค้า และสำนักงานคณะกรรมการการแข่งขันทางการค้าขาดความเป็นอิสระ และถูกแทรกแซงการทำงาน ซึ่งเป็นสาเหตุสำคัญที่ส่งผลกระทบต่อประสิทธิภาพในการการบังคับใช้กฎหมาย

ซึ่งคณะรัฐมนตรีได้พิจารณาและมีมติเห็นชอบประกาศใช้บังคับพระราชบัญญัติการแข่งขันทางการค้า พ.ศ. 2560[5] เมื่อวันที่ 5 ตุลาคม 2560 โดยให้ยกเลิกพระราชบัญญัติการแข่งขันทางการค้า พ.ศ. 2542

และให้จัดตั้งสำนักงานคณะกรรมการการแข่งขันทางการค้าขึ้นเป็นหน่วยงานของรัฐที่ไม่เป็นส่วนราชการและไม่เป็นรัฐวิสาหกิจ และให้มีฐานะเป็นนิติบุคคล [6]มีคณะกรรมการการแข่งขันทางการค้า 7 คน และให้เลขาธิการเป็นเลขานุการคณะกรรมการ[7] การฟ้องคดีอาญาและการฟ้องคดีเรียกค่าเสียหาย ให้อยู่ในเขตอำนาจของศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ

อำนาจหน้าที่[แก้]

สำนักงาน กขค. เป็นหน่วยงานของรัฐที่จัดตั้งขึ้นตามพระราชบัญญัติการแข่งขันทางการค้า พ.ศ. 2560  มีอำนาจหน้าที่ ดังต่อไปนี้

1. รับผิดชอบงานธุรการของคณะกรรมการและอนุคณะกรรมการ

2. ติดตามพฤติกรรมของผู้ประกอบธุรกิจที่อาจก่อให้เกิดการฝ่าฝืนพระราชบัญญัตินี้และรายงานต่อคณะกรรมการ

3. ศึกษา ค้นคว้า วิเคราะห์ วิจิยเกี่ยวกับสินค้าการบริการ และพฤติกรรมในการประกอบธุรกิจ รวมทั้งเสนอแนะแนวทางและให้ความเห็นในการส่งเสริม พัฒนา และกำกับดูแลการประกอบธุรกิจ

4. จัดทำฐานข้อมูลขนาดตลาดสินค้าหรือบริการที่มีแนวโน้มจะก่อให้เกิดการผูกขาดตลาดตามที่คณะกรรมการกำหนด และเผยแพร่ต่อสาธารณชน

5. รับเรื่องร้องเรียนที่บุคคลใดอ้างว่าได้มีการฝ่าฝืนพระราชบัญญัตินี้ และดำเนินการแสวงหาข้อเท็จจริงและรวบรวมพยานหลักฐานในเรื่องที่ร้องเรียนให้ได้ข้อเท็จจริงเพียงพอ เพื่อนำเสนอคณะกรรมการพิจารณา ทั้งนี้ ตามระเบียบที่คณะกรรมการกำหนด[8]

6. ถือกรรมสิทธิ์ มีสิทธิครอบครอง และมีทรัพยสิทธิใด ๆ

7. ก่อตั้งสิทธิหรือทำนิติกรรมใด ๆ เกี่ยวกับทรัพย์สิน

8. แลกเปลี่ยนข้อมูล ร่วมดำเนินการในการเจรจา ทำความตกลงและร่วมมือกับองค์กรหรือหน่วยงานในประเทศและต่างประเทศในกิจการที่เกี่ยวกับการดำเนินงานของสำนักงาน

9. จัดให้มีหรือให้ความร่วมมือกับองค์กรอื่นในการศึกษาอบรมและพัฒนาความรู้เกี่ยวกับการแข่งขันทางการค้า

10. ประสานงานและให้ความร่วมมือกับส่วนราชการและหน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้องในการปฏิบัติหน้าที่ตามพระราชบัญญัตินี้

11. รับค่าธรรมเนียมตามที่กำหนดในกฎหมาย และค่าตอบแทน ค่าบริการ หรือรายได้จากการดำเนินงาน[9]

12. เผยแพร่ผลคำวินิจฉัยของคณะกรรมการต่อสาธารณชน[10][11]

13. จัดทำรายงานประจำปีแสดงผลงานและอุปสรรคในการดำเนินงานของคณะกรรมการและสำนักงานเสนอต่อคณะรัฐมนตรี และเผยแพร่ต่อสาธารณชน

14. ปฏิบัติการตามประกาศ [12]ระเบียบ [13]มติคณะกรรมการ และปฏิบัติการตามที่คณะกรรมการหรือคณะอนุกรรมการมอบหมาย

15. ปฏิบัติการอื่นใดที่กฎหมายกำหนดให้เป็นอำนาจหน้าที่ของสำนักงาน

สำนักงานมีเลขาธิการเป็นผู้รับผิดชอบการปฏิบัติงานของสำนักงานขึ้นตรงต่อประธานกรรมการ และเป็นผู้บังคับบัญชาพนักงานและลูกจ้างของสำนักงาน

ในกิจการของสำนักงานที่เกี่ยวกับบุคคลภายนอกให้เลขาธิการเป็นผู้แทนสำนักงาน เพื่อการนี้เลขาธิการจะมอบอำนาจให้บุคคลใดปฏิบัติงานเฉพาะอย่างแทนก็ได้ ทั้งนี้ ตามระเบียบที่คณะกรรมการกำหนด

ผู้บริหารสำนักงาน กขค. ชุดปัจจุบัน[แก้]

ชื่อ ตำแหน่ง
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. วิษณุ วงศ์สินศิริกุล เลขาธิการคณะกรรมการการแข่งขันทางการค้า[14]
นายมนยศ วรรธนะภูติ รองเลขาธิการฯ ภารกิจด้านส่งเสริม วิจัย และตรวจสอบด้านการแข่งขัน
นายมนตรี กนกวารี รองเลขาธิการฯ ภารกิจด้านกฎหมาย

คณะกรรมการการแข่งขันทางการค้า (กขค.)[แก้]

คณะกรรมการการแข่งขันทางการค้า (กขค.) มีอำนาจหน้าในการกำกับดูแลการประกอบธุรกิจและกำหนดแนวทางปฏิบัติเพื่อให้มีการแข่งขันทางการค้าอย่างเสรีและเป็นธรรม โดยพระราชบัญญัติการแข่งขันทางการค้า พ.ศ. 2560 กำหนดให้ กขค. มีอำนาจหน้าที่ ดังต่อไปนี้

1. เสนอแนะต่อรัฐมนตรีในการออกกฎหมายกระทรวงตามพระราชบัญญัตินี้

2. ออกระเบียบหรือประกาศเพื่อปฏิบัติการตามพระราชบัญญัตินี้

3. กำกับดูแลการประกอบธุรกิจและกำหนดแนวทางปฏิบัติเพื่อให้มีการแข่งขันทางการค้าอย่างเสรีและเป็นธรรม

4. พิจารณาเรื่องร้องเรียนและสอบสวนการกระทำความผิดตามพระราชบัญญัตินี้

5. พิจารณาวินิจฉัยคำร้องขอตามมาตรา 59

6. วางระเบียบการสืบสวนและสอบสวนของคณะอนุกรรมการสอบสวน

7. ประกาศแต่งตั้งพนักงานเจ้าหน้าที่เพื่อปฏิบัติการตามพระราชบัญญัตินี้

8. ดำเนินคดีอาญาตามที่ผู้เสียหายร้องทุกข์ตามมาตรา 78

9. พิจารณากำหนดโทษปรับทางปกครองตามมาตรา 80 มาตรา 81 มาตรา 82 และมาตรา 83 รวมทั้งฟ้องคดีต่อศาลปกครอง

10. เชิญบุคคลหนึ่งบุคคลใดมาให้ข้อเท็จจริง คำอธิบาย คำแนะนำหรือความเห็น

11. เสนอความเห็นและเสนอแนะต่อรัฐมนตรีและคณะรัฐมนตรีเกี่ยวกับนโยบายของรัฐด้านการแข่งขันทางการค้า

12. ให้คำแนะนำแก่หน่วยงานของรัฐเกี่ยวกับกฎ ระเบียบ หรือคำสั่งที่เป็นอุปสรรคต่อการแข่งขันทางการค้า ทำให้เกิดการกีดกัน จำกัดการแข่งขัน หรือลดการแข่งขันทางการค้าอันก่อให้เกิดความไม่เป็นธรรมระหว่างผู้ประกอบธุรกิจ

13. กำหนดแผน กลยุทธ์ และแนวทางการบริหารงานของสำนักงาน

14. ออกระเบียบหรือข้อบังคับเกี่ยวกับโครงสร้างองค์กร การบริหารงานบุคคล การงบประมาณ การเงินและทรัพย์สิน และการดำเนินงานอื่นของสำนักงาน

15. ปฏิบัติการอื่นใดตามที่กฎหมายกำหนดให้อำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการ

คณะกรรมการการแข่งขันทางการค้า ประกอบด้วย ประธานกรรมการ รองประธานกรรมการหนึ่งคน และกรรมการอื่นอีกห้าคน ซึ่งนายกรัฐมนตรีแต่งตั้งจากบุคคลที่ผ่านการคัดเลือกโดยความเห็นชอบของคณะรัฐมนตรีให้เลขาธิการเป็นเลขานุการคณะกรรมการ

รายชื่อคณะกรรมการการแข่งขันทางการค้า ชุดปัจจุบัน[แก้]

ชื่อ ตำแหน่ง
นายไมตรี สุเทพากุล ประธานกรรมการการแข่งขันทางการค้า
นายสมศักดิ์ เกียรติชัยลักษณ์ รองประธานกรรมการการแข่งขันทางการค้า
นายสมชาติ สร้อยทอง กรรมการการแข่งขันทางการค้า
ดร.ปัทมา เธียรวิศิษฎ์สกุล กรรมการการแข่งขันทางการค้า
ดร.รักษเกชา แฉ่ฉาย กรรมการการแข่งขันทางการค้า
พ.ต.อ. ทรงศักดิ์ รักศักดิ์สกุล กรรมการการแข่งขันทางการค้า
นายทองชัย ชวลิตพิเชฐ กรรมการการแข่งขันทางการค้า

การแบ่งฝ่ายงาน[แก้]

1. ฝ่ายตรวจสอบภายใน

2. สายงานบริหารองค์กร

·        ฝ่ายเลขานุการสำนักงาน

·        ฝ่ายการประชุมคณะกรรมการ

·        ฝ่ายการคลัง

·        ฝ่ายบริหารทรัพย์สินและพัสดุ

·        ฝ่ายทรัพยากรบุคคลและองค์กร

3. สายงานยุทธศาสตร์องค์กร

·        ฝ่ายพัฒนาระบบงานด้านการแข่งขันทางการค้า

·        ฝ่ายยุทธศาสตร์องค์กร

·        ฝ่ายสื่อสารองค์กร

·        ฝ่ายกิจการต่างประเทศ

4. สายงานส่งเสริมสภาพแวดล้อมการแข่งขัน

·        ฝ่ายเผยแพร่ความรู้และส่งเสริมการมีส่วนร่วม

·        ฝ่ายนโยบายและความสัมพันธ์ภาครัฐ

5. สายงานวิจัยระบบเศรษฐกิจและโครงสร้างตลาด

·        ฝ่ายโครงสร้างและระบบธุรกิจสินค้าบริโภค

·        ฝ่ายโครงสร้างและระบบธุรกิจสินค้าอุปโภค

·        ฝ่ายกำกับดูแลการรวมธุรกิจ

·        ฝ่ายโครงสร้างและระบบธุรกิจบริการ

6.สายงานตรวจสอบปฏิบัติการ

·        ฝ่ายแสวงหาข้อเท็จจริงทั่วไป

·        ฝ่ายพัฒนาและประเมินงานสืบสวนสอบสวน

·        ฝ่ายแสวงหาข้อเท็จจริงทางเทคโนโลยีสารสนเทศ

7. สายงานกฎหมาย

·      ฝ่ายมาตรการและนิติกรรมสัญญา

·      ฝ่ายบริหารงานคดี

อ้างอิง[แก้]

  1. สำนักงานคณะกรรมการการแข่งขันทางการค้า
  2. Trade Competition Commission of Thailand (TCCT)
  3. ร่างพระราชบัญญัติการแข่งขันทางการค้า พ.ศ. ....
  4. พระราชกฤษฎีกาว่าด้วยหลักเกณฑ์และวิธีการบริหารกิจการบ้านเมืองที่ดี พ.ศ. 2546
  5. พระราชบัญญัติการแข่งขันทางการค้า พ.ศ. 2560
  6. การจำแนกประเภทหน่วยงานของรัฐในกำกับของฝ่ายบริหาร
  7. นโยบายการกำกับดูแลการแข่งขันทางการค้าของไทย
  8. การร้องเรียนและการแสวงหาข้อเท็จจริงและการดำเนินคดี
  9. ระเบียบสำนักงานคณะกรรมการการแข่งขันทางการค้า ว่าด้วยเงินค่าปรับ พ.ศ. 2567
  10. ผลคำวินิจฉัยเรื่องพฤติกรรมการแข่งขันทางการค้าที่ไม่เป็นธรรม
  11. ผลคำวินิจฉัยเรื่องการรวมธุรกิจ
  12. ประกาศ
  13. ระเบียบ / ข้อบังคับ
  14. ข้อบังคับคณะกรรมการการแข่งขันทางการค้า ว่าด้วยเลขาธิการคณะกรรมการการแข่งขันทางการค้า พ.ศ. 2562

แหล่งข้อมูลอื่น[แก้]