ข้ามไปเนื้อหา

ความเชื่อเรื่องการสร้างโลกของจีน

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี

ความเชื่อเรื่องการสร้างโลกของจีน (จีน: 开天辟地) เป็นนิทานปรัมปราที่เล่าสืบกันมาแต่โบราณ ว่า โลกเดิมทีเป็นฟองไข่ทรงกลม ที่ภายในมียักษ์ตนหนึ่งที่มีผมเผ้าและหนวดเครายาว มีร่างกายยาวถึง 90,000 ลี้ (ประมาณ 45,000 กิโลเมตร) ชื่อ ผานกู่ (盤古) วันหนึ่งป้านกูตื่นขึ้นมาและได้ฟักตัวออกจากไข่ ด้วยเรี่ยวแรงมหาศาลของผานกู่ ผานกู่จึงดันส่วนบนของไข่ให้กลายเป็นสวรรค์และด้านล่างกลายเป็นโลก แต่สวรรค์และโลกกลับดูดตัวเข้าหากัน ผานกู่จึงให้พละกำลังดันทั้ง 2 ส่วนอยู่อย่างนั้นเป็นเวลานับหมื่น ๆ ปี จนในที่สุดทั้งสวรรค์และโลกไม่อาจรวมตัวกันได้ ผานกู่จึงล้มลงและเสียชีวิต

ภายหลังเสียชีวิตแล้ว ตาข้างซ้ายของผานกู่กลายเป็นพระอาทิตย์ ตาข้างขวากลายมาเป็นพระจันทร์ ร่างกลายกลายเป็นภูเขา เลือดกลายเป็นแม่น้ำ ผมและหนวดเคราที่ยาวสลวยกลายเป็นผักและหญ้า

ผ่านไปหลังจากนั้นอีกเนิ่นนาน เจ้าแม่หนี่วา (女媧) ได้ลงมาท่องเที่ยวชมพื้นโลก และชื่นชมว่าโลกเป็นสถานที่ ๆ น่าอยู่ยิ่งนัก เมื่อนางได้ใช้นิ้วจิ้มดินและเศษดินตกลงสู่น้ำก็กลายเป็นลูกอ๊อด องค์เจ้าแม่หนี่วา ทรงดีพระทัยยิ่งนัก จึงใช้ดินปั้นเป็นรูปสัตว์ต่าง ๆ จึงกำเนิดขึ้นเป็นสัตว์ชนิดต่าง ๆ แต่นางรู้สึกว่าขาดอะไรบางอย่างไป ในวันที่ 7 พระนางจึงเริ่มปั้นรูปเหมือนตัวพระนางขึ้น เกิดเป็นมนุษย์ผู้หญิงขึ้น และพระนางเกรงว่ามนุษย์ผู้หญิงนี้จะเหงา จึงปั้นรูปใหม่ขึ้นมาให้คล้ายเคียงกันเป็นมนุษย์ผู้ชาย และให้มนุษย์ทั้ง 2 เพศนี้อยู่คู่กันและออกลูกหลานสืบต่อกันมา

ต่อมา ฟูซี (伏羲) ซึ่งเป็นผู้ปกครองชนเผ่าของมนุษย์ได้สังเกตปรากฏการณ์ต่าง ๆ ของธรรมชาติ จนสามารถพึ่งตัวเองได้และเกิดเป็นองค์ความรู้ วันหนึ่งมีกิเลนตัวหนึ่งกระโดดขึ้นมาจากแม่น้ำฮวงโห บนหลังกิเลนมีสัญลักษณ์ปรากฏที่ถูกเรียกในภายหลังว่า "แผนภูมิเหอถู" (河图) ซึ่งต่อมาได้พัฒนากลายเป็นตัวอักษร

หลังยุคฟูซี เสินหนง (神農) ได้เป็นผู้ปกครองแทน เสินหนงได้สอนให้ผู้คนรู้จักการเพาะปลูก และใช้คันไถ และยุคต่อมาก็คือ ยุคของหวงตี้ (黃帝) หรือ จักรพรรดิเหลือง หวงตี้ได้ทำสงครามกับเหยียนตี้ที่ปั่นเฉวียน (阪泉) สุดท้ายเหยียนตี้พ่ายแพ้ หวงตี้จึงขยายอำนาจการปกครองจากทางตอนเหนือลงไปทางใต้ จนถึงลุ่มแม่น้ำแยงซีเกียงและฮั่นสุ่ย ซึ่งหวงตี้ได้รับการนับถือจากชาวจีนรุ่นต่อมาว่าเป็น ฮ่องเต้หรือจักรพรรดิองค์แรกของจีน และชื่อของพระองค์ก็กลายมาเป็นคำว่า ฮ่องเต้ หรือ จักรพรรดิ ความหมายของชื่อก็กลายมาเป็นสีประจำตัวฮ่องเต้ด้วย คือ สีเหลือง ชาวจีนเชื่อว่า ในราชวงศ์ชั้นหลัง เช่น ราชวงศ์เซี่ย, ราชวงศ์ซาง, ราชวงศ์โจว ต่อมาต่างก็สืบเชื้อสายจากหวงตี้ทั้งนั้น

หลังยุคหวงตี้ เป็นยุคของเชาเหา (少昊) และ ซวนซู (顓頊) ซึ่งในยุคนี้ได้กำเนิดดาราศาสตร์, ปฏิทิน, ความเชื่อ, ไสยศาสตร์และเรือ ต่อมาจึงเป็นยุคของ กู (帝嚳) และ เหยา (尧) ซึ่งในยุคนี้พระอาทิตย์มีมากมายพร้อมกันถึง 10 ดวง และต่างพากันเปล่งรัศมีความร้อนแรงมายังโลกมนุษย์ ทำให้เดือดร้อนกันมาก เง็กเซียนฮ่องเต้จึงมีบัญชาให้ โหวอี้ นักยิงธนูบนสวรรค์ลงไปยังโลกมนุษย์เพื่อจัดการ โหวอี้ใช้ธนูยิงดวงอาทิตย์ตกไปถึง 9 ดวง และตำนานโฮ๋วอี้ยิงดวงอาทิตย์ 9 ดวงนี้ก็ก่อให้เกิดตำนาน เทพธิดาฉางเอ๋อ เหาะไปดวงจันทร์และเป็นต้นกำเนิดเทศกาลไหว้พระจันทร์ของจีน

ต่อมาเป็นยุคของซุน (舜) และ อวี่ (禹) ในยุคของอวี่ได้เกิดอุทกภัย (大禹治水) และอวี่สามารถสร้างเขื่อนควบคุมกระแสน้ำได้สำเร็จ โดยไม่ได้กลับบ้านเป็นระยะเวลานานถึง 9 ปี และวันหนึ่งก็ได้มีเต่าศักดิ์สิทธิ์ตัวหนึ่งผุดขึ้นมาจากแม่น้ำลั่ว บนกระดองเต่ามีอักษรที่ต่อมาเรียกว่า "แผนภูมิลั่วซู" (洛书) ซึ่งกลายมาเป็นศิลปะวิทยาการต่าง ๆ สืบมาจนปัจจุบัน

ภายหลังจากอวี่เสียชีวิตลง บุตรชายของอวี่ก็สังหารอี้เพื่อแย่งชิงตำแหน่งหัวหน้า และเริ่มเข้าสู่ยุคแห่งการสืบทอดตำแหน่งหัวหน้าโดยสายเลือดในระบบวงศ์วานว่านเครือ และหลังจากนั้น ประวัติศาสตร์จีนก้าวเข้าสู่ราชวงศ์แรกที่มีการสืบทอดบัลลังก์อำนาจโดยสายเลือด นั่นคือ จุดกำเนิดของราชวงศ์เซี่ย (夏代) ราชวงศ์แรกของจีน[1]

ดูเพิ่ม

[แก้]

อ้างอิง

[แก้]
  1. หน้า 66-71. หนังสือ สนุกกับเทศกาลเฉลิมฉลอง แปลและเรียบเรียงโดย แสงจินดา กันยาทิพย์, (พ.ศ. 2541) สำนักพิมพ์ดอกหญ้า ISBN 974-604-217-3