วัดท่าเกวียน (จังหวัดนนทบุรี)

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
วัดท่าเกวียน
แผนที่
ที่ตั้งเลขที่ 138 หมู่ที่ 6 ซอยวัดท่าเกวียน ถนนราชพฤกษ์ ตำบลคลองข่อย อำเภอปากเกร็ด จังหวัดนนทบุรี 11120
ประเภทวัดราษฎร์
นิกายมหานิกาย
พระพุทธรูปสำคัญหลวงพ่อองค์ดำ
เจ้าอาวาสพระอธิการอำนาจ ปิยธมฺโม
พระพุทธศาสนา ส่วนหนึ่งของสารานุกรมพระพุทธศาสนา

วัดท่าเกวียน เป็นวัดราษฎร์สังกัดคณะสงฆ์มหานิกาย ตั้งอยู่ในหมู่ที่ 6 บ้านคูวังแดง ตำบลคลองข่อย อำเภอปากเกร็ด จังหวัดนนทบุรี มีที่ดินตั้งวัดเนื้อที่ 30 ไร่

ประวัติ[แก้]

ในอดีต หลวงปู่เอี่ยม ปฐมนาม เจ้าอาวาสวัดสพานสูง ได้เดินทางไปโปรดญาติโยมทางบ้านระแหงและบ้านหน้าไม้ (ปัจจุบันอยู่ในอำเภอลาดหลุมแก้ว จังหวัดปทุมธานี) ระหว่างทางจะผ่านบริเวณท่าน้ำที่ซึ่งชาวบ้านนำเกวียนขนของมาขายพ่อค้าที่จอดรอซื้อริมคลองบ้านแหลม (ปัจจุบันคือคลองพระอุดม) เป็นประจำ บริเวณนั้นมีกกขนากและปรือขึ้นอยู่หนาแน่น และอยู่ห่างจากวัดสพานสูงพอสมควร ท่านได้สร้างศาลาเล็ก ๆ หลังหนึ่งเป็นที่พักและฉันเพล

ต่อมานายทอง ใจเย็น, นายบุญยักษ์และนายบุญโต้ง ปานเฟื่อง, นายบุญปลูก เรืองฉาย, นายอ่อง, นายชุ่ม, นายพุฒ, นายแสน และนางน้อย ได้ร่วมกันสร้างกุฏิถวาย จากนั้นยังได้สร้างศาลาเล็ก ๆ มุงด้วยสังกะสีขึ้นอีกหลังหนึ่งสำหรับชาวบ้านที่มาทำบุญ ที่ดินที่ปลูกสร้างเป็นที่ของนายบุญยักษ์ประมาณ 18 ไร่ อยู่ใกล้กับที่ชุมนุมเกวียนสินค้าริมน้ำ ประชาชนจึงเรียกชื่อวัดว่า "วัดท่าเกวียน" มาจนถึงปัจจุบัน เจ้าอาวาสรูปที่ 3 ได้ขออนุญาตสร้างวัดอย่างเป็นทางการ หลังจากนั้นพระครูพุฒินนทคุณได้บูรณปฏิสังขรณ์สืบต่อมา[1] วัดได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมาเมื่อ พ.ศ. 2443

อาคารเสนาสนะ[แก้]

บริเวณที่ตั้งวัดเป็นที่ราบลุ่มติดกับคลองพระอุดม ภายในวัดมีอาคารและเสนาสนะต่าง ๆ ดังนี้ อุโบสถ กว้าง 7 เมตร ยาว 18.50 เมตร ลักษณะทรงไทย หลังคาสามชั้น ก่อสร้างด้วยอิฐปูน มีช่อฟ้าใบระกา หลังคามุงกระเบื้องเคลือบ ภายในประดิษฐาน หลวงพ่อองค์ดำ เป็นพระพุทธรูปปางมารวิชัย หน้าตักกว้าง 40 นิ้ว ลักษณะศิลปะเชียงแสนตอนปลาย[2] หอสวดมนต์ ศาลาการเปรียญซึ่งมีช่อฟ้าใบระกา และกุฏิสงฆ์ จำนวน 6 หลัง เป็นอาคารคอนกรีตและไม้ ทรงไทยและมนิลา หลังคามุงกระเบื้อง[3]

รายนามเจ้าอาวาส[แก้]

  • พระอาจารย์ผล
  • พระอาจารย์สงวน
  • พระอธิการคง
  • พระอธิการเพชร
  • พระอธิการแก้ว
  • พระอธิการบุญชู
  • พระอธิการทองใบ
  • พระครูพุฒินนทคุณ (หลุย)
  • พระอธิการบุญยิ่ง สีลวิสุทโธ
  • พระครูใบฎีกา เตือน สญฺญจิตฺโต
  • พระอธิการอำนาจ ปิยธมฺโม

อ้างอิง[แก้]

  1. "วัดท่าเกวียน". ศูนย์ข้อมูลกลางทางวัฒนธรรม.[ลิงก์เสีย]
  2. ก้อง กังฟู. "หลวงพ่อดำ...พลังต้านฝนตำนานศักดิ์สิทธิ์...วัดท่าเกวียน". ไทยรัฐ.
  3. สมคิด ทองสิมา, บุญมา ศรีสุรเมธี (2526). ประวัติวัดทั่วราชอาณาจักร เล่ม 2. กรมการศาสนา กระทรวงศึกษาธิการ. p. 421–422.