พระยาราชาเศรษฐี (เฉิน เหลียน)

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
(เปลี่ยนทางจาก ขุนพิพิธวาที)
พระยาราชาเศรษฐี
(เฉิน เหลียน)
เจ้าเมืองบันทายมาศห่าเตียน
ดำรงตำแหน่ง
พ.ศ. 2314 - 2316
ก่อนหน้าหมัก เทียน ติ๊อ (Mạc Thiên Tứ)
ถัดไปหมัก ตื๊อ ซิญ (Mạc Tử Sinh)
เสนาบดีกรมคลัง
ดำรงตำแหน่ง
พ.ศ. 2310 - 2314
กษัตริย์สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี
ก่อนหน้าเจ้าพระยาพระคลังว่าที่สมุหนายก
ถัดไปพระยาพิชัยไอศวรรย์ (หยาง จิ้นจง)

พระยาราชาเศรษฐี นามว่า ตั้ง เลี้ยง (陳聯 แต้จิ๋ว: ting5 liêng5) หรือ เฉิน เหลียน[1] (พินอิน: Chén Lián) หรือ เจิ่น เลียน (เวียดนาม: Trần Liên[2] ตามเอกสารเวียดนาม) หรือเจ้าขรัวเหลียน[2] (昭科聯) หรือพระยาราชาเศรษฐีจีน เป็นเจ้าเมืองบันทายมาศห่าเตียน ซึ่งได้รับการแต่งตั้งจากสมเด็จพระเจ้าตากสินเมื่อปีพ.ศ. 2314 ในสงครามสยาม-เวียดนาม พ.ศ. 2314 เดิมดำรงตำแหน่งเป็นพระยาพิพิธผู้ว่าราชการที่โกษา[3]

นิธิ เอียวศรีวงศ์ เสนอว่าพระยาพิพิธคือ"ขุนพิพิธวาที"[1] ซึ่งเข้าร่วมกับกองกำลังของพระยาตากเมื่อตีฝ่าวงล้อมทัพพม่าออกจากกรุงศรีอยุธยา เมื่อขุนรามหมื่นซ่องยกกำลังเข้าโจมตีพระยาตากที่เมืองระยอง ปรากฏ"หลวงพิพิธ"เป็นหนึ่งในผู้บัญชาการทหารจีน "แลทหารจีนนั้นคือหลวงพิพิธ หลวงพิชัย ขุนจ่าเมือง เสือร้าย หมื่นท่อง หลวงพรหม..."[4]

ยูมิโอะ ซากูราอิ (Yumio Sakurai) เสนอว่า พระยาพิพิธนั้น เดิมเป็นพ่อค้าชาวจีนแต้จิ๋วชื่อว่าเฉิน ไท่ (陳太 พินอิน: Chén Tài) หรือเจิ่น ท้าย (Trần Thái) ตามเอกสารเวียดนามที่ระบุว่า เฉินไท่เป็นพ่อค้าชาวจีนแต้จิ๋ว รวบรวมกำลังพลที่เขาบัคมาเพื่อเข้าโจมตีเมืองห่าเตียน หมัก เทียน ติ๊อ (Mạc Thiên Tứ) เจ้าเมืองบันทายมาศห่าเตียนสามารถส่งทัพออกไปปราบเฉินไท่ได้สำเร็จ เป็นเหตุให้เฉินไท่หลบหนีไปยังเมืองจันทบุรีและไปสยามในที่สุด[2] เดอเฟลส์ (de Fels) สันนิษฐานว่า เฉิ่นไท่ได้เข้าสวามิภักดิ์ต่อพระยาตากที่เมืองตราดในนามว่า"จีนเจียม"[2]

ในเดือนตุลาคมพ.ศ. 2310 พระยาตากยกทัพเรือจากเมืองจันทบุรีเข้ามาที่ปากแม่น้ำเจ้าพระยา เพื่อเข้าโจมตีเมืองธนบุรีและต่อไปโจมตีค่ายโพธิ์สามต้นของพม่า โดยมีพระยาพิพิธ (ตั้ง เลี้ยง) และพระยาพิชัย (พระยาพิชัยราชา) เป็นทัพหน้า[4] สามารถเอาชนะสุกี้พระนายกอง ยึดค่ายโพธิ์สามต้นได้สำเร็จ ต่อมาเมื่อพระยาตากขึ้นครองราชสมบัติเป็นสมเด็จพระเจ้าตากสินฯ ผู้ดำรงตำแหน่งว่าที่พระคลังในช่วงปีแรกของรัชกาลคือพระยาพิพัฒโกษา หรือ พระยาพิพิธโกษา (Pia Pipit Kosa[5] ดังปรากฏในจดหมายที่ส่งไปยังทางการฮอลันดาที่เมืองบัตตาเวียในเดือนมกราคมพ.ศ. 2312)[5] สมเด็จพระเจ้าตากสินทรงแต่งตั้งให้พระยาพิพิธ (ตั้ง เลี้ยง) ให้ได้ว่าที่โกษาธิบดี เดอเฟลส์สันนิษฐานว่า พระยาพิพิธนั้นคำรงตำแหน่งเป็น"พระยาพิพิธโภคากร" เจ้าเมืองตราด เมื่อทางการจีนเมืองกวางตุ้งส่งขุนนางลงมาสืบเหตุการณ์ที่เมืองบันทายมาศในพ.ศ. 2311 ปรากฏชื่อ"เฉินเหลียน"เป็นหนึ่งในคณะผู้ติดตามของพระยาตาก[6]

ในพ.ศ. 2312 สมเด็จพระเจ้าตากสินมีพระราชโองการให้พระยาโกษาธิบดี (ตั้ง เลี้ยง) ยกทัพเข้าตีเมืองกัมพูชาทางปราจีนบุรี พระยาโกษาสามารถเข้ายึดเมืองพระตะบองได้[7]แต่มีเหตุให้ต้องถอยและเลิกทัพไปในที่สุด เอกสารเวียดนามระบุว่า ในพ.ศ. 2312 หมักเทียนตื๊อเจ้าเมืองห่าเตียนส่งทัพเข้ามาโจมตีเมืองจันทบุรี แม่ทัพฝ่ายสยามที่ป้องกันเมืองจันทบุรีในเวลานั้นชื่อว่าเจิ่นไล (Trần Lai) ซึ่งยูมิโอะ ซากูราอิ สันนิษฐานว่าเจิ่นไลนี้คือคนคนเดียวกับเฉินเหลียนและเฉินไท่[2]

ในพ.ศ. 2314 สมเด็จพระเจ้าตากสินมีพระราชโองการให้แต่งทัพเรือเข้าโจมตีเมืองบันทายมาศห่าเตียน สมเด็จพระเจ้าตากสินเสด็จนำทัพเรือด้วยพระองค์เองโดยมีพระยาพิพิธหรือพระยาโกษาธิบดีเป็นแม่ทัพเรือ และพระยาพิชัยไอศวรรย์ (หยาง จิ้นจง) 楊進宗 Yáng Jìnzōng) เป็นทัพหน้า[4][7] เมื่อทัพเรือหลวงเสด็จถึงจันทบุรี มีพระราชโองการให้พระยาพิพิธ (ตั้ง เลี้ยง) ยกทัพล่วงหน้าไปโจมตีเมืองกำปงโสมจนสำเร็จเสียก่อน จากนั้นจึงยกทัพเข้าโจมตีเมืองบันทายมาศ ฝ่ายสยามเข้ายึดเมืองบันทายมาศได้สำเร็จในเดือนพฤศจิกายน พ.ศ. 2314 หมักเทียนตื๊อเจ้าเมืองห่าเตียนหลบหนีไป สมเด็จพระเจ้าตากสินทรงแต่งตั้งให้พระยาพิพิธ (ตั้ง เลี้ยง) ผู้ว่าราชการที่โกษาธิบดี ขึ้นเป็นพระยาราชาเศรษฐีเจ้าเมืองบันทายมาศ[2][4][7]คนใหม่ แล้วให้พระยาพิชัยไอศวรรย์ (หยาง จิ้นจง) มาว่าราชการที่โกษาธิบดีแทนที่[1] นับจากนั้นมา พระยาราชาเศรษฐี (ตั้ง เลี้ยง) จึงได้รับสมยาว่า "พระยาราชาเศรษฐีจีน" ในขณะที่หมัก เทียน ตื๊อ อดีตเจ้าเมืองบันทายมาศ ได้รับสมญาว่า "พระยาราชาเศรษฐีญวน"

ในปีต่อมาพ.ศ. 2315 หมัก เทียน ตื๊อ อดีตเจ้าเมืองบันทายมาศ ได้ส่งหนังสือไปแจ้งราชสำนักจีนใจความว่า "ปีที่แล้วเจิ้งสิ้นยกทัพเรือมาเป็นจำนวนประมาณหมื่นคน มีเฉิน เหลียน เป็นแม่ทัพเรือ และผู้คุมเครื่องบรรณาการหยางจิ้นจงเป็นแม่ทัพหน้า"[6] เอกสารเวียดนามระบุว่า "หลังจากปราบเมืองนครได้สำเร็จแล้ว ฟี้ยาตันนำกำลังทหารจำนวนสองพันคนมารุกรานห่าเตียน โดยมีเจิ่นท้ายแห่งเขาบัคมาเป็นผู้นำทาง"[2]

หลังจากที่พระยาราชาเศรษฐีจีนครองเมืองบันทายมาศได้ประมาณแปดเดีอน ฝ่ายเวียดนามเจ้าญวนใต้เหงียน ฟุก ถ่วน (Nguyễn Phúc Thuần) ส่งทัพญวนเข้ามาโจมตีเพื่อยึดเมืองบันทายมาศคืนในเดือนกรกฎาคม พ.ศ. 2315[2] ฝ่ายพระยาราชาเศรษฐีจีนไม่ทันตั้งตัวจึงเสียเมืองบันทายมาศให้แก่ญวน พระยาราชาเศรษฐี (ตั้ง เลี้ยง) ไปตั้งหลักที่เมืองกำปอดได้รับความช่วยเหลือจากพระยาปังลิมาเจ้าเมืองกำปอดจึงสามารถยกทัพมาซุ่มโจมตียึดเมืองบันทายมาศคืนจากญวนได้ในสามวัน[7] ปีต่อมาพ.ศ. 2316 สมเด็จพระเจ้าตากสินทรงตัดสินพระทัยว่า เมืองบันทายมาศนั้นรักษาไว้ได้ยาก จึงมีพระราชโองการให้พระยาราชาเศรษฐีถอยทัพออกมาจากบันทายมาศ พระยาราชาเศรษฐีจึงกวาดต้อนชาวเมืองบันทายมาศลงเรือใหญ่น้อยกลับเข้ามาที่กรุงธนบุรี[7]

หลังจากที่ถอยทัพกลับมาจากเมืองบันทายมาศห่าเตียนแล้ว พระยาราชาเศรษฐี (ตั้ง เลี้ยง) ยังคงดำรงราชทินนามเดิมต่อไปในฐานผู้บัญชาการกองทหารจีน ในสงครามบางแก้วพ.ศ. 2318 สมเด็จพระเจ้าตากสินมีพระราชโองการให้พระยาราชาเศรษฐีและพระเจ้าลูกเธอพระองค์เจ้าจุ้ยอยู่รักษาค่ายเมืองราชบุรี[7]เพื่อป้องกันการรุกรานของพม่าจากเมืองทวาย ในปีเดียวกันสงครามอะแซหวุ่นกี้ สมเด็จพระเจ้าตากสินเสด็จยกทัพขึ้นไปเมืองพิษณุโลก ทรงให้พระยาราชาเศรษฐี (ตั้ง เลี้ยง) นำกองทัพจีนอยู่รักษาเส้นทางเสบียงที่เมืองนครสวรรค์[7] ในช่วงปลายยุคสมัยกรุงธนบุรี พระยาราชาเศรษฐีจีนมีบทบาทเป็นหัวหน้าชุมชนชาวจีนแต้จิ๋ว ซึ่งอาศัยอยู่บริเวณที่ลุ่มฝั่งตะวันออกของแม่น้ำเจ้าพระยาตรงข้ามกับกรุงธนบุรี เมื่อพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกทรงสร้างเมืองกรุงเทพพระนครเป็นราชธานีในพ.ศ. 2325 ทรงให้พระยาราชาเศรษฐี (ตั้ง เลี้ยง) นำการย้ายชาวจีนไปตั้งบ้านเรือนใหม่อยู่ที่ตั้งแต่คลองวัดสามปลื้มไปจนถึงสำเพ็ง[8]

อ้างอิง[แก้]

  1. 1.0 1.1 1.2 นิธิ เอียวศรีวงศ์ (2004). การเมืองไทยสมัยพระเจ้ากรุงธนบุรี พ.11. Matichon Public Company Limited. p. 248. ISBN 9789743230561.
  2. 2.0 2.1 2.2 2.3 2.4 2.5 2.6 2.7 Breazeale, Kennon. From Japan to Arabia; Ayutthaya's Maritime Relations with Asia. Bangkok: the Foundation for the promotion of Social Sciences and Humanities Textbook Project, 1999.
  3. ประชุมพงศาวดารภาคที่ ๖๖: จดหมายเหตุรายวันทัพสมัยกรุงธนบุรี คราวปราบเมืองพุทไธมาศและเขมร และจุลยุทธการวงศ์
  4. 4.0 4.1 4.2 4.3 ประชุมพงศาวดาร ภาคที่ ๖๕: พระราชพงศาวดารกรุงธนบุรี ฉบับพันจันทนุมาศ (เจิม)
  5. 5.0 5.1 The Diplomatic Correspondence between The Kingdom of Siam and the Castle of Batavia during the 17th and 18th centuries. Jakarta; Arsip Nasional Republik Indonesia (ANRI), October 2018.
  6. 6.0 6.1 Masuda Erika. The Fall of Ayutthaya and Siam's Disrupted Order of Tribute to China (1767-1782). Taiwan Journal of Southeast Asian Studies, พ.ศ. 2550.
  7. 7.0 7.1 7.2 7.3 7.4 7.5 7.6 พระราชพงษาวดารกรุงเก่า (ฉบับหมอบรัดเล).
  8. ทิพากรวงศ์ (ขำ บุนนาค), เจ้าพระยา. พระราชพงศาวดารกรุงรัตนโกสินทร์ รัชกาลที่ ๑. พิมพ์ครั้งที่ ๖.