กำแพงฮาดริอานุส

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
กำแพงฮาดริอานุส
Hadrian’s Wall
แผนที่แสดงแนวกำแพงฮาดริอานุสและกำแพงอันโตนินเหนือขึ้นไป
แผนที่
ข้อมูลทั่วไป
ประเภทกำแพงโรมัน
สถาปัตยกรรมสถาปัตยกรรมโรมัน
ประเทศสกอตแลนด์
เริ่มสร้างค.ศ. 122
ผู้สร้างจักรพรรดิฮาดริอานุส

กำแพงฮาดริอานุส (อังกฤษ: Hadrian’s Wall; ละติน: Vallum Aelium (the Aelian wall)) “กำแพงฮาดริอานุส” เป็นกำแพงหินบางส่วนและกำแพงหญ้าบางส่วนที่สร้างโดยจักรวรรดิโรมันขวางตลอดแนวตอนเหนือของเกาะอังกฤษใต้แนวพรมแดนอังกฤษและสกอตแลนด์ในปัจจุบัน การก่อสร้างกำแพงเริ่มขึ้นในรัชสมัยของจักรพรรดิฮาดริอานุสในปี ค.ศ. 122 “กำแพงฮาดริอานุส” เป็นหนึ่งในสามแนวป้องกันการรุกรานอาณานิคมบริเตนของโรมัน แนวแรกเป็นแนวตั้งแต่แม่น้ำไคลด์ไปจนถึงแม่น้ำฟอร์ธที่สร้างในสมัยจักรพรรดิอากริโคลา และแนวสุดท้ายคือกำแพงอันโตนิน (Antonine Wall) แนวกำแพงทั้งสามสร้างขึ้นเพื่อ

:* ป้องกันการรุกรานโรมันบริเตนจากชนพิคท์ (Pict) ผู้เป็นชนเผ่าที่ตั้งถิ่นฐานอยู่ทางเหนือของสกอตแลนด์แต่เดิม
:* เพิ่มสร้างความมั่นคงทางเศรษฐกิจและความสงบสุขในบริเตนของโรมัน
:* เป็นการกำหนดเขตแดนอย่างเป็นทางการของจักรวรรดิ

ในบรรดากำแพงสามกำแพงฮาดริอานุสเป็นกำแพงที่เป็นที่รู้จักกันมากที่สุดเพราะยังคงทิ้งร่องรอยไว้ให้เห็นกันในปัจจุบัน กำแพงฮาดริอานุสเป็น “กำแพงโรมัน” (limes) ของเขตแดนทางเหนือของบริเตนและเป็นกำแพงที่สร้างเสริมอย่างแข็งแรงที่สุดในจักรวรรดิ นอกจากจะใช้ในการป้องกันศัตรูแล้วประตูกำแพงก็ยังใช้เป็นด่านศุลกากรในการเรียกเก็บภาษีสินค้าด้วย

กำแพงบางส่วนยังคงเหลือให้เห็นกันในปัจจุบันโดยเฉพาะส่วนกลาง และตัวกำแพงสามารถเดินตามได้ตลอดแนวซึ่งทำให้เป็นสิ่งที่ดึงดูดนักท่องเที่ยวที่นิยมกันมากที่สุดแห่งหนึ่งของทางตอนเหนือของอังกฤษ กำแพงนี้บางครั้งก็เรียกกันง่ายๆ ว่า “กำแพงโรมัน” กำแพงฮาดริอานุสได้รับฐานะเป็นมรดกโลกโดยยูเนสโกในปี ค.ศ. 1987 องค์การอนุรักษ์มรดกอังกฤษ (English Heritage) ซึ่งเป็นองค์การราชการในการบริหารสิ่งแวดล้อมทางประวัติศาสตร์ของอังกฤษบรรยายกำแพงฮาดริอานุสว่าเป็น “อนุสาวรีย์ที่สำคัญที่สุดที่สร้างโดยโรมันในบริเตน”[1]

ขนาด[แก้]

กำแพงฮาดริอานุสมีความยาวทั้งสิ้นด้วยกัน 80 โรมันไมล์ (73.5 ไมล์หรือ 117 กิโลเมตร)[2] ความหนาและความสูงของกำแพงก็ขึ้นอยู่กับวัสดุก่อสร้างที่หาได้ในบริเวณที่สร้าง กำแพงทางด้านตะวันออกของแม่น้ำเอิร์ทธิง (River Irthing) สร้างจากหินสี่เหลี่ยมหนา 3 เมตร (9.7 ฟุต) และสูง 5-6 เมตร (16-20 ฟุต) ขณะที่ทางด้านตะวันตกของแม่น้ำสร้างด้วยดิน/หญ้าที่หนา 6 เมตร (20 ฟุต) และสูง 3.5 เมตร (11.5 ฟุต) ตัวเลขนี้ไม่รวมโครงสร้างอื่นๆ นอกตัวกำแพงที่รวมทั้งคู, หอสังเกตการณ์ และป้อม ส่วนกลางของกำแพงหนา 8 โรมันฟุต (7.8 ฟุต หรือ 2.4 เมตร) บนฐานกว้าง 3.0 เมตร (10 ฟุต) บางส่วนของกำแพงที่เหลือยู่ก็สูงถึง 3.0 เมตร (10 ฟุต)

แนวกำแพง[แก้]

บางส่วนของกำแพงฮาดริอานุสที่ยังหลงเหลืออยู่ใกล้กรีนเฮด กำแพงบางส่วนก็ถูกรื้อถอนไปเพื่อไปสร้างสิ่งก่อสร้างอื่นในบริเวณใกล้เคียง
กำแพงฮาดริอานุสไม่ไกลจากเฮาเสต็ดส์

กำแพงฮาดริอานุสเริ่มจากทางตะวันออกไปตั้งแต่ป้อมเซเกดูนัม (Segedunum) ที่วอลล์เซ็นด์บนฝั่งแม่น้ำไทน์ไปจนถึงโซลเวย์เฟิร์ธ (Solway Firth) ทางตะวันตก ทางหลวงสาย A69 และ B6318 ตัดเลียบแนวกำแพงตั้งแต่นิวคาสเซิลอัพพอนไทน์ทางตะวันออกไปจนถึงคาร์ไลล์ทางตะวันตก และขึ้นไปทางฝั่งทะเลทางเหนือของคัมเบรีย กำแพงทั้งหมดอยู่ในอังกฤษใต้เขตแดนอังกฤษ-สกอตแลนด์ ตัวกำแพงห่างจากสกอตแลนด์ราว 15 กิโลเมตรทางตะวันตก และราว 110 กิโลเมตรทางตะวันออก

จักรพรรดิฮาดริอานุส[แก้]

กำแพงฮาดริอานุสสร้างขึ้นหลังจากที่จักรพรรดิฮาดริอานุส (ค.ศ. 76 - ค.ศ. 138) เสด็จมาบริเตนในปี ค.ศ. 122 จักรพรรดิฮาดริอานุสทรงประสบปัญหาทางการทหารในโรมันบริเตน และจากผู้ต่อต้านกลุ่มต่างๆ ทั่วจักรวรรดิที่รวมทั้งในอียิปต์, จูเดีย, ลิเบีย, มอเรทาเนีย และกลุ่มชนที่ทราจันจักรพรรดิโรมันองค์ก่อนหน้านั้นพิชิตมาได้ พระองค์จึงทรงต้องหาวิธีที่จะแสดงพระบรมราชนุภาพและเสริมสร้างความมั่นคงต่างๆ เพื่อจะเพิ่มความมั่นคงให้แก่จักรวรรดิ นอกจากกำแพงจะมีประโยชน์ในทางยุทธศาสตร์แล้วการสร้างโครงการขนาดใหญ่เช่นกำแพงฮาดริอานุสก็ยังเป็นสัญลักษณ์ของความเป็นมหาอำนาจของจักรวรรดิโรมัน ที่ไม่แต่จะในอาณานิคมบริเตนที่ยึดครองเท่านั้นแต่ยังรวมไปถึงกรุงโรมเองด้วย

เขตแดนในสมัยต้นๆ ของจักรวรรดิมักจะเป็นเขตแดนธรรมชาติเช่นแม่น้ำหรือภูเขา หรือการตั้งกองทหารไว้ป้องกัน ถนนที่ใช้ทางการทหารมักจะเป็นถนนที่ตัดเลียบพรมแดนที่มีป้อมและหอสัญญาณเป็นระยะๆ จนกระทั่งมาถึงสมัยของจักรพรรดิโดมิเชียนในปลายคริสต์ศตวรรษแรกเท่านั้นจึงได้มีการเริ่มสร้างเขตแดนแบบถาวรขึ้นในเจอร์มาเนียเหนือ (Germania Superior) ซึ่งเริ่มด้วยการสร้างเป็นรั้วธรรมดา ฮาดริอานุสปรับปรุงความคิดนี้โดยสร้างเป็นกำแพงระเนียด (palisade) ตลอดแนวโดยมีป้อมสนับสนุนเป็นระยะๆ แม้ว่าการสร้างกำแพงเช่นนั้นจะมิได้เป็นการป้องกันการรุกรานได้อย่างจริงจังเท่าใดนัก แต่ก็เป็นการปักหลักเขตแดนของบริเวณที่ปกครองโดยโรมันอย่างเป็นทางการ และใช้เป็นการควบคุมการเข้าออกด้วย

หลังจากการตัดสินใจก่อสร้างกำแพงแบ่งเขตแดนแบบถาวรแล้วฮาดริอานุสก็ลดจำนวนทหารประจำการในอาณาบริเวณของชนบริกานทีส (Brigantes) ผู้ที่ตั้งถิ่นฐานอยู่ระหว่างแม่น้ำไทน์และแม่น้ำฮัมเบอร์ และหันไปมุ่งมั่นกับการสร้างแนวป้องกันทางด้านเหนือของบริเวณนั้นให้มั่นคงแทนถนนสเตนเกท (Stanegate) เดิม ที่เชื่อกันว่าเป็นถนนที่ใช้เป็นเส้นแบ่งเขตแดนโรมันมาจนกระทั่งบัดนั้น

การก่อสร้าง[แก้]

ป้อมโรมันที่คอร์บริดจ์
ระบบป้องกันวาลลุมที่กำแพงฮาดริอานุสใกล้ป้อมไมล์ 42 (ตัวกำแพงอยู่บนสันเนินทางขวาของภาพ)
แผนผังการสร้างกำแพงและระบบป้องกันวาลลุม

การก่อสร้างอาจจะเริ่มราว ค.ศ. 122 กำแพงส่วนใหญ่สร้างเสร็จภายในระยะเวลาหกปีหลังจากนั้น[3] การก่อสร้างเริ่มตั้งแต่ทางตะวันตกไปทางตะวันออกโดยกองทหารโรมัน (Roman Legion) สามกองที่ประจำการอยู่ในบริเวณนั้น แนวกำแพงเดินเลียบกับแนวถนนสเตนเกทเดิมจากลูกูวาเลียม (คาร์ไลล์ปัจจุบัน) ไปยังคอเรีย (คอร์บริดจ์ปัจจุบัน) ตามป้อมที่มีอยู่แล้วเป็นระยะๆ รวมทั้งป้อมวินโดลานดา (Vindolanda) กำแพงทางตะวันออกสร้างตามแนวหินแข็งชันไดอะเบส (diabase) ที่เรียกว่าวินซิลล์ (Whin Sill) กำแพงรวมคูอากริโคลา (Agricola's Ditch) เข้าด้วย[4] ตามคำสันนิษฐานของสตีเฟน จอห์นสัน การสร้างกำแพงก็เพื่อป้องการการโจมตีโดยกลุ่มชนจำนวนน้อย หรือยับยั้งการย้ายเข้ามาตั้งถิ่นฐานจากชนจากทางเหนือของกำแพง และไม่ใช่เพื่อเป็นการป้องกันการรุกรานอย่างเป็นจริงเป็นจัง[5]

แผนการสร้างกำแพงแผนแรกประกอบด้วยคูและกำแพงพร้อมกับประตูย่อยๆ และป้อมไมล์ (milecastle) ที่มีประตูแปดสิบป้อม ป้อมไมล์แต่ละป้อมอยู่ห่างกันหนึ่งโรมันไมล์ โดยมีทหารประจำการป้อมๆ ละยี่สิบถึงสามสิบคน ระหว่างป้อมไมล์ก็เป็นหอสังเกตการณ์และส่งสัญญาณ วัสดุที่ใช้สร้างก็เป็นหินปูนที่พบในท้องถิ่นนอกจากกำแพงทางตะวันตกของเอิร์ทธิงที่ใช้ดิน/หญ้าสร้างเพราะในบริเวณนั้นไม่มีหิน ตัวป้อมไมล์ในบริเวณนี้ก็สร้างด้วยไม้และดินแทนที่จะสร้างด้วย stopione แต่หอสังเกตการณ์และส่งสัญญาณจะสร้างด้วยหิน กำแพงเมื่อเริ่มแรกสร้างด้วยดินเหนียวกับเศษวัสดุตรงกลางโดยแต่งด้านนอกด้วยหิน แต่ดูเหมือนว่าลักษณะการก่อสร้างวิธีนี้เป็นวิธีที่ไม่มั่นคง เพราะกำแพงมักจะพังทลายลงมาหลังจากการก่อสร้างไม่นานนักซึ่งทำให้ต้องซ่อมแซมกันบ่อยๆ โดยการอัดปูนตรงกลางกำแพง

ป้อมไมล์และหอสังเกตการณ์มีสามแบบที่ขึ้นอยู่กับกองทหารโรมัน (Roman legion) ที่สร้าง — จากคำจารึกของกองออกัสตาที่ 2 (Legio II Augusta), กองวิคทริกซ์ที่ 6 (Legio VI Victrix) และกองวาเลเรียเวทริกซ์ที่ 20 (Legio XX Valeria Victrix) ทำให้ทราบได้ว่ากองทหารทั้งสามกองนี้มีความรับผิดชอบในการก่อสร้างกำแพง

การก่อสร้างแบ่งเป็นช่วงๆ แต่ละช่วงก็ห่างกันราว 8 กิโลเมตร (5 ไมล์) ผู้สร้างกลุ่มแรกขุดบริเวณที่จะเป็นฐานและสร้างป้อมไมล์และหอสังเกตการณ์ พอเสร็จกลุ่มต่อมาก็ตามมาสร้างตัวกำแพง

เมื่อเริ่มการก่อสร้างหลังจากสร้างไปถึงตอนเหนือของแม่น้ำไทน์ความหนาของกำแพงก็แคบลงเหลือเพียง 2.5 เมตร (8.2 ฟุต) หรือบางครั้งก็บางยิ่งไปกว่านั้นลงไปถึง 1.8 เมตร แต่ฐานที่ขุดไว้แล้วที่ไปถึงแม่น้ำเอิร์ทธิงที่เป็นกำแพงดินหญ้าเป็นฐานที่ขุดไว้สำหรับกำแพงที่หนากว่า จึงทำให้สันนิษฐานได้ว่าการสร้างกำแพงเป็นการสร้างจากตะวันออกไปตะวันตก

ป้อมไมล์และหอสังเกตการณ์ที่สร้างไว้มีปีกกำแพงที่เตรียมไว้สำหรับการสร้างกำแพงที่มั่นคงกว่าเมื่อมีโอกาส ซึ่งทำให้กลายเป็นหลักฐานทางโบราณคดีที่แสดงให้เห็นถึงวิธีและลำดับเวลาของการก่อสร้าง

ภายในไม่กี่ปีหลังจากเริ่มสร้างก็มีการตัดสินใจว่าต้องเพิ่มป้อมขนาดมาตรฐานอีก 14 ถึง 17 ป้อมเป็นระยะๆ ตลอดแนวกำแพงรวมทั้งที่เวอร์โควิเซียม (Vercovicium) (เฮาสเตดส์) และที่บานนา (เบอร์โดส์วอลด์) แต่ละป้อมสามารถรับทหารกองเสริม (auxiliary troops) ได้ประมาณ 500 ถึง 1,000 คน (กองทหารเสริมเป็นกองทหารประจำการตามแนวกำแพง กองทหารโรมันปกติแล้วจะไม่มีหน้าที่ไม่ประจำการที่กำแพง) ทางด้านตะวันออกกำแพงขยายไปทางตะวันออกจากปอนส์ เอเลียส (นิวคาสเซิล) ไปยังเซเกดูนัม (วอลล์เซ็นด์) ที่ปากแม่น้ำไทน์ ป้อมใหญ่บางป้อมเช่นป้อมซิลูนัม (เชสเตอร์) และป้อมเวร์โควิเซียม (เฮาสเตดส์) สร้างบนที่เดิมที่เป็นป้อมไมล์และหอสังเกตการณ์มาก่อน จึงทำให้เห็นถึงความเปลี่ยนแปลงของแผนการสร้าง คำจารึกบนป้อมเป็นของข้าหลวงโรมันประจำอังกฤษยุคแรกออลัส พลาโตริอัส เนโพส (Aulus Platorius Nepos) ซึ่งเป็นการแสดงว่าการเปลี่ยนแปลงแผนการสร้างกำแพงเริ่มมาตั้งแต่ระยะแรกที่สร้าง แม้แต่ในสมัยของฮาดริอานุสเองก่อนปี ค.ศ. 138 ก็ได้มีการก่อสร้างกำแพงทางด้านตะวันตกของเอิร์ทธิงใหม่ด้วยหินทรายให้เป็นขนาดเดียวกับที่สร้างด้วยหินปูนทางตะวันออก

เมื่อสร้างป้อมเพิ่มขึ้นแล้วก็มีการสร้างบริเวณป้องกันการรุกรานที่เรียกว่าระบบป้องกันวาลลุม (Vallum) ทางด้านใต้ของตัวกำแพงที่ประกอบด้วยคูก้นแบนกว้าง 6 เมตร (20 ฟุต) และลึก 3 เมตร (10 ฟุต) ขนาบด้วยเนินราบทั้งสองด้านที่กว้าง 10 เมตร (33 ฟุต) เลยไปจากบริเวณนี้เป็นกำแพงดินกว้าง 6 เมตร (20 ฟุต) และสูง 2 เมตร (6.5 ฟุต) ทางข้ามคอสเวย์ (Causeway) สร้างข้ามคูเป็นระยะๆ

กองทหารประจำการ[แก้]

กำแพงมีทหารกองเสริมประจำการที่ไม่ใช่หน่วยของกองทหารโรมันปกติ จำนวนทหารประจำการก็ขึ้นๆ ลงๆ ตลอดสมัยที่โรมันเข้ามายึดครองบริเตน แต่โดยประมาณแล้วก็ประมาณกันว่ามีจำนวน 9,000,000 คนรวมทั้งทหารราบและทหารม้า

ในปี ค.ศ. 180 จักรวรรดิได้รับการโจมตีอย่างหนักโดยเฉพาะระหว่างปี ค.ศ. 196 ถึงปี ค.ศ. 197 ที่ทำให้กองทหารอ่อนแอลง การสร้างเสริมกำแพงทำกันในสมัยของจักรพรรดิเซ็พติมิอัส เซเวอรัส จากนั้นมาบริเวณใกล้กำแพงก็มีความสงบสุขมาตลอดคริสต์ศตวรรษที่ 3 นอกจากนั้นมีข้อเสนอว่าทหารที่ประจำการบางคนอาจจะแต่งงานกับสตรีท้องถิ่นและกลืนไปกับชุมชนท้องถิ่นตลอดสมัยการยึดครอง

หลังสมัยฮาดริอานุส[แก้]

ส่วนหนึ่งของกำแพงฮาดริอานุสไม่ไกลจากเฮาสเตดส์
ภาพเขียนกำแพงโดย วิลเลียม เบลล์ สกอตต์
กำแพงฮาดริอานุสใกล้กับป้อมเบอร์ดอสวอลด์ที่ได้รับความเสียหายจากการใช้ยาฆ่าแมลงที่ทำลายจุลินทรีย์ที่ช่วยรักษาหิน

หลังจากจักรพรรดิฮาดริอานุสเสด็จสวรรคตในปี ค.ศ. 138 แล้ว จักรพรรดิองค์ใหม่อันโตนินัส ไพอัส (Antoninus Pius) ก็ทรงหมดความสนใจกับกำแพงและทิ้งไว้ให้เป็นกำแพงรอง ขณะเดียวกันก็ขึ้นไปสร้างกำแพงใหม่ลึกเข้าไปในสกอตแลนด์ราว 160 กิโลเมตร (100 ไมล์) เหนือกำแพงฮาดริอานุสเดิมที่เรียกว่ากำแพงอันโตนิน กำแพงนี้ยาว 40 โรมันไมล์ (ราว 60.8 กิโลเมตรหรือ 37.8 ไมล์) และมีป้อมมากกว่ากำแพงฮาดริอานุสมาก แต่กำแพงอันโตนินก็ไม่สามารถป้องการรุกรานชนเผ่าจากทางเหนือได้ เมื่อมาร์คัส ออเรลิอัส (Marcus Aurelius) ขึ้นเป็นจักรพรรดิโรมันพระองค์ก็ทรงเลิกใช้กำแพงอันโตนินและหันกลับมายึดกำแพงฮาดริอานุสเป็นหลักตามเดิมในปี ค.ศ. 164 กองทหารโรมันยังคงประจำการที่กำแพงฮาดริอานุสเรื่อยมาจนกระทั่งโรมันถอยจากบริเตน ในต้นคริสต์ศตวรรษที่ 5

ในปลายคริสต์ศตวรรษที่ 4 การรุกรานของบาร์บาเรียน, สภาวะเศรษฐกิจตกต่ำ และการปฏิวัติกันในหมู่ทหารก็เป็นผลให้อำนาจของโรมันในบริเตนอ่อนแอลง เมื่อมาถึงปี ค.ศ. 410 การครอบครองของโรมันในบริเตนจึงยุติลง บริเตนถูกทิ้งไว้ให้บริหารและป้องกันตัวเอง กองทหารประจำการกำแพงฮาดริอานุสที่ขณะนั้นก็คงจะเป็นทหารท้องถิ่นที่ไม่มีหนทางไปไหนก็คงตั้งตัวอยู่ที่นั่นอีกหลายชั่วคนต่อมา หลักฐานทางโบราณคดีกล่าวว่าบางส่วนของกำแพงมีผู้ประจำการต่อมาจนถึงคริสต์ศตวรรษที่ 5 กำแพงตั้งอยู่จนมาถึงคริสต์ศตวรรษที่ 8 เมื่อถูกนำไปใช้ในการก่อสร้างสำนักสงฆ์จาร์โรว์ (Jarrow Priory) และมาจนเมื่อนักบุญบีดบรรยายถึงกำแพงในหนังสือ “ประวัติศาสตร์เกี่ยวกับศาสนาของชนอังกฤษ” แต่เข้าใจผิดว่าจักรพรรดิเซ็พติมิอัส เซเวอรัสเป็นผู้สร้างกำแพง

ในที่สุดกำแพงก็อยู่ในสภาพที่เสื่อมโทรมลงหลังจากการขาดการดูแลรักษาเป็นเวลานาน วัสดุที่ใช้ในการสร้างกำแพงบางส่วนก็ถูกขนไปใช้ในการสร้างสิ่งก่อสร้างอื่นๆ ในบริเวณใกล้เคียงจนกระทั่งถึงคริสต์ศตวรรษที่ 20

การอนุรักษ์[แก้]

กำแพงส่วนใหญ่สูญหายไปเกือบหมด แต่ผู้ที่สมควรได้รับการสรรเสริญในการอนุรักษ์กำแพงที่ยังคงหลงเหลืออยู่คือจอห์น เคลย์ตัน (John Clayton) จอห์น เคลย์ตันได้รับการศึกษาในการเป็นทนายและมาทำงานเป็นเสมียนอยู่ที่นิวคาสเซิลราวคริสต์ทศวรรษ 1830 เคลย์ตันกลายมาเป็นผู้สนใจในการอนุรักษ์กำแพงอย่างจริงจังหลังจากที่เดินทางไปเที่ยวที่เชสเตอร์ เพื่อที่จะป้องกันไม่ให้ชาวนาขนหินจากกำแพงไปใช้เคลย์ตันก็เริ่มซื้อที่ดินในบริเวณกำแพง ต่อมาในปี ค.ศ. 1834 เคลย์ตันก็เริ่มกว้านซื้อที่ดินในบริเวณสตีลริกก์ จนกระทั่งได้เป็นเจ้าของที่ดินตั้งแต่บรุนตันไปจนถึงคอว์ฟิลด์ส ที่รวมทั้งกำแพงในเชสเตอร์, คาร์รอว์บะระห์, เฮาสเตดส์ และวินโดแลนดา นอกจากนั้นแล้วเคลย์ตันก็ยังทำการขุดค้นทางโบราณคดีที่ป้อมที่ซิเลอร์นัม (Cilurnum) และที่เฮาสเต็ดส์และป้อมไมล์บางป้อม

เคลย์ตันไม่เพียงแต่จะเป็นเจ้าของที่ดินบริเวณกำแพงเท่านั้น แต่ยังใช้ที่ดินในการทำฟาร์มและปรับปรุงวิธีการใช้ที่ดินและการเลี้ยงสัตว์และทำรายได้ดีพอที่จะนำมาใช้ในการบูรณปฏิสังขรณ์กำแพงได้ หลังจากเคลย์ตันเสียชีวิตแล้วที่ดินตกไปเป็นของญาติผู้ที่เสียที่ดินไปกับการพนัน ในที่สุดองค์การอนุรักษ์แห่งชาติ (National Trust for Places of Historic Interest or Natural Beauty) ก็เริ่มกระบวนการในการเป็นเจ้าของที่ดินที่เป็นที่ตั้งของกำแพง

ภายในคฤหาสน์วอลลิงตัน (Wallington Hall) ไม่ไกลจากมอร์เพ็ธมีภาพเขียนโดยวิลเลียม เบลล์ สกอตต์ (William Bell Scott) ที่เป็นภาพของนายทหารโรมันยืนดูแลการก่อสร้างกำแพง ที่ใบหน้าของนายทหารคือใบหน้าของเคลย์ตัน

มรดกโลก[แก้]

กำแพงฮาดริอานุสได้รับเลือกให้เป็นมรดกโลกโดยยูเนสโกในปีค.ศ. 1987 และในปี ค.ศ. 2005 ก็กลายเป็นส่วนหนี่งของมรดกโลก “เขตแดนของจักรวรรดิโรมัน” ที่รวมทั้งสถานที่อื่นๆ ในเยอรมนี[6]

ทางเดินกำแพงฮาดริอานุส[แก้]

ในปี ค.ศ. 2003 องค์การทางเดินแห่งชาติ (National Trails) ของอังกฤษก็เปิดทางเดินที่ตามแนวกำแพงตั้งแต่วอลล์สเอ็นด์ไปจนถึงโบว์เนสส์ออนซอลเวย์.[7] แต่สามารถใช้ได้เฉพาะในฤดูร้อนเพราะที่ดินในบริเวณกำแพงเป็นที่ดินที่ได้รับความเสียหายง่าย[8]

อ้างอิง[แก้]

  1. "English Heritage". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2004-07-22. สืบค้นเมื่อ 2009-06-11.
  2. BBC - History - Hadrian's Wall Gallery
  3. Wilson, 271.
  4. C.Michael Hogan (2007) Hadrian's Wall, ed. A. Burnham, The Megalithic Portal
  5. Stephen Johnson (2004) Hadrian's Wall, Sterling Publishing Company, Inc, 128 pages, ISBN 0-7134-8840-9
  6. UNESCO World Heritage Centre. "Frontiers of the Roman Empire". สืบค้นเมื่อ 2007-11-26.
  7. National Trails. "Hadrian's Wall Path". สืบค้นเมื่อ 2007-11-26.
  8. Hadrians Wall Path National Trail. "Every Footstep Counts - The Trail's Country Code". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2007-11-28. สืบค้นเมื่อ 2007-11-26.
  • Wilson, Roger J.A., A Guide to the Roman Remains in Britain. London: Constable & Company, 1980. ISBN 0-09-463260-X
  • Forde-Johnston, James L. Hadrian's Wall. London: Michael Joseph, 1978. ISBN 0-7181-1652-6.
  • de la Bédoyère, Guy. Hadrian's Wall. A History and Guide. Stroud: Tempus, 1998. ISBN 0-7524-1407-0.
  • Burton, Anthony Hadrian's Wall Path. 2004 Aurum Press Ltd. ISBN 1-85410-893-X
  • Hadrian's Wall Path (map). Harvey, 12-22 Main Street, Doune, Perthshire FK16 6BJ. harveymaps.co.uk
  • Tomlin, R.S.O., 'Inscriptions' in Britannia (2004), vol. xxxv, pp.344-5 (the Staffordshire Moorlands cup naming the Wall).
  • A set of Speed's maps were issued bound in a single volume in 1988 in association with the British Library and with an introduction by Nigel Nicolson as 'The Counties of Britain A Tudor Atlas by John Speed'.

ดูเพิ่ม[แก้]

แหล่งข้อมูลอื่น[แก้]

วิกิมีเดียคอมมอนส์มีสื่อเกี่ยวกับ กำแพงฮาดริอานุส