การบูรณะจิตรกรรมฝาผนังโบสถ์น้อยซิสทีน

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี

จิตรกรรมฝาผนังภายในโบสถ์น้อยซิสทีน
"พระเจ้าสร้างอาดัม" โดยมีเกลันเจโลก่อนการปฏิสังขรณ์
"พระเจ้าสร้างอาดัม" หลังจากที่ได้รับการปฏิสังขรณ์แล้ว

การบูรณะจิตรกรรมฝาผนังโบสถ์น้อยซิสทีน (อังกฤษ: Restoration of the Sistine Chapel frescoes) เป็นโครงการบูรณะจิตรกรรมฝาผนังภายในที่สำคัญที่สุดในบรรดาโครงการบูรณะศิลปะของคริสต์ศตวรรษที่ 20

โบสถ์น้อยซิสทีนนั้นสมเด็จพระสันตะปาปาซิกส์ตุสที่ 4 ทรงให้สร้างขึ้นภายในวังพระสันตะปาปา ณ ด้านเหนือของนครรัฐวาติกัน ติดกับมหาวิหารเซนต์ปีเตอร์ โดยสร้างเสร็จใน ค.ศ. 1481 ผนังและเพดานภายในโบสถ์น้อยนั้นตกแต่งด้วยจิตรกรรมฝาผนังของจิตรกรหลายคนในยุคฟื้นฟูศิลปวิทยาของอิตาลี ซึ่งถือเป็นจิตรกรชั้นปรมาจารย์ในคริสต์ศตวรรษที่ 16 ในจำนวนนี้รวมถึงโดเมนนิโค เกอร์ลันเดา, เปียโตร เปรูจิโน และซานโดร บอตติเชลลี[1] ในระหว่าง ค.ศ. 1508 ถึง ค.ศ. 1512 โบสถ์ยังได้รับการตกแต่งเพิ่มเติมด้วยจิตรกรรมเพดานของมีเกลันเจโล ภายใต้การอุปถัมภ์ของสมเด็จพระสันตะปาปาจูเลียสที่ 2 และด้วยภาพ "การตัดสินครั้งสุดท้าย" ซึ่งสมเด็จพระสันตะปาปาคลีเมนต์ที่ 7 ทรงว่าจ้างให้มีเกลันเจโลเขียนจนแล้วเสร็จใน ค.ศ. 1541[2] นอกจากนี้ จิตรกรรมฝาผนังชั้นล่างของโบสยังตกแต่งด้วยพรมทอแขวนผนังอันเลื่องชื่อ ซึ่งราฟาเอลออกแบบขึ้นในช่วง ค.ศ. 1515 ถึง ค.ศ. 1516 เป็นอันสิ้นสุดการตกแต่งภายในโบสถ์

ภาพเขียนในโบสถ์น้อยซิสทีนถือกันว่าเป็นภาพเขียนชุดที่สำคัญที่สุดของจิตรกรรมจากยุคฟื้นฟูศิลปวิทยา ที่รวมทั้งภาพเขียนแต่ละภาพและบางภาพที่เขียนโดยมีเกลันเจโลบนเพดานที่ถือกันว่าเป็นงานชิ้นเอกของศิลปะตะวันตกตั้งแต่สร้างกันมา[a] จิตรกรรมฝาผนังภายในโบสถ์น้อยซิสทีนโดยเฉพาะบนเพดานและในโค้งพระจันทร์ครึ่งซีก (Lunette) โดยมีเกลันเจโลได้รับการบูรณะหลายครั้งมาก่อนหน้าที่จะได้รับการบูรณะครั้งล่าสุดระหว่าง ค.ศ. 1980 ถึง ค.ศ. 1994 การปฏิสังขรณ์ครั้งหลังสุดมีผลกระทบกระเทือนต่อนักประวัติศาสตร์ศิลปะและผู้รักงานศิลปะโดยทั่วไปอย่างลึกซึ้ง เพราะเป็นการบูรณะที่ทำให้เห็นสีและรายละเอียดที่ไม่ได้เห็นกันมาเป็นเวลาหลายร้อยปี และถึงกับกล่าวกันว่าการเปลี่ยนแปลงครั้งนี้เป็นผลทำให้ตำราที่เกี่ยวกับมีเกลันเจโลทุกตำราต้องได้รับการเขียนใหม่หมด[3] แต่กระนั้นก็ยังมีนักประวัติศาสตร์ศิลป์บางคนที่ไม่เห็นด้วยกับการปฏิสังขรณ์ครั้งนี้ เช่นเจมส์ เบ็ค แห่ง องค์การผู้สังเกตการณ์ศิลปะนานาชาติ ผู้วิจารณ์ต่อต้านโครงการนี้อย่างรุนแรงโดยให้ความเห็นว่าผู้ปฏิสังขรณ์ไม่เข้าใจถึงวัตถุประสงค์อันแท้จริงของจิตรกร ซึ่งเป็นประเด็นที่ยังเป็นที่ถกเถียงกันอยู่ต่อมา

การปฏิสังขรณ์เดิม[แก้]

"พระเจ้าสร้างโลกและวางพระอาทิตย์และพระจันทร์บนสวรรค์" จิตรกรรมฝาผนังบนเพดานโดยมีเกลันเจโลก่อนการปฏิสังขรณ์
"พระเจ้าสร้างโลกและวางพระอาทิตย์และพระจันทร์บนสวรรค์" หลังจากการปฏิสังขรณ์

จิตรกรรมฝาผนังภายในโบสถ์น้อยซิสทีนได้รับการบูรณะมาก่อนหน้าการบูรณะครั้งล่าสุดหลายครั้ง ที่เริ่มใน ค.ศ. 1625 ความเสื่อมโทรมของภาพเขียนบนเพดานดูเหมือนว่าจะเกิดจากน้ำที่ซึมลงมาจากเพดานเหนือภาพเขียน ราว ค.ศ. 1547 ปาโอโล โจวีโอ เขียนบรรยายว่าเพดานได้รับความเสียหายจากดินประสิวและรอยร้าว ดินประสิวทิ้งผลึกขาว (efflorescence) บนผิวภาพ จานลุยจิ โคลาลุชชิ (Gianluigi Colalucci) ผู้อำนวยการเขียนใน "ห้องทดลองเพื่อการปฏิสังขรณ์จิตรกรรมสำหรับอนุสาวรีย์, พิพิธภัณฑ์ และหอศิลป์ของพระสันตะปาปา" (Laboratory for the Restoration of Paintings for Papal Monuments, Museums and Galleries) บรรยายในบทความ "การพบสีใหม่ของมีเกลันเจโล" (Michelangelo's colours rediscovered)[4] ว่าผู้อนุรักษ์ในสมัยแรกพยายามอนุรักษ์โดยการใช้น้ำมันเมล็ดฝ้าย หรือ น้ำมันวอลนัตซึ่งยิ่งทำให้เกล็ดที่เกิดขึ้นจากสารต่าง ๆ เห็นชัดยิ่งขึ้น

ใน ค.ศ. 1625 ก็มีการปฏิสังขรณ์ที่นำโดยซิโมเน ลาจิผู้มีหน้าที่เป็น "ช่างปิดทองประจำโบสถ์น้อย" (Gilder) ผู้เช็ดเพดานด้วยผ้าลินนินก่อนที่จะทำความสะอาดโดยการเช็ดด้วยขนมปัง และบางครั้งก็ใช้ขนมปังชุบไวน์ในการทำความสะอาดสิ่งสกปรกที่สะสมนานจนติดผนังที่เอาออกยาก รายงานของลาจิกล่าวว่าหลังจากการทำความสะอาดแล้วจิตรกรรมฝาผนังก็ "กลับสู่ความสวยงามเช่นเดียวกับของเดิมโดยไม่ได้รับความเสียหาย[จากการทำความสะอาด]"[5] โคลาลุชชิกล่าวว่าลาจิ "แทบจะแน่นอน" ใช้กาวเคลือบ (glue-varnish) เพื่อที่จะดึงสีเดิมที่เป็นสีสดขึ้นมาให้ปรากฏ แต่มิได้กล่าวถึงในรายงานว่าใช้วิธีใด ซึ่งอาจจะเป็นเพราะเพื่อเป็นการปกป้องสูตรลับของศิลปะการปฏิสังขรณ์ก็เป็นได้[4]

ระหว่าง ค.ศ. 1710 ถึง ค.ศ. 1713 ก็มีการปฏิสังขรณ์กันขึ้นอีกครั้งหนึ่งที่นำโดยจิตรกรอันนิบาเล มัซซุโอลิและบุตรชาย มัซซุโอลิ ครั้งนี้ใช้ฟองน้ำจุ้มเหล้าองุ่นกรีกในการทำความสะอาดที่โคลาลุชชิเสนอว่าเป็นการช่วยกำจัดเขม่าและสิ่งสกปรกต่าง ๆ ที่หมักหมมอยู่ภายใต้สิ่งสกปรกที่เป็นมันที่เกิดจากการบูรณะก่อนหน้านั้นออก จากนั้นมัซซุโอลิก็เริ่มทำการปฏิสังขรณ์บนเพดานที่โคลาลุชชิกล่าวว่าเพื่อทำให้สีที่ตัดกันเด่นขึ้นโดยการเขียนทับ (Overpainting) และเขียนเพิ่มเติมในบางบริเวณที่สีเดิมหลุดหายไปเพราะโดนปฏิกิริยากับเกลือใหม่[b] โคลาลุชชิกล่าวว่ามัซซุโอลิหนักมือในการใช้กาวเคลือบ การปฏิสังขรณ์เน้นงานบนเพดานและมิได้ทำอะไรมากนักกับภาพเขียนในบริเวณโค้งพระจันทร์ครึ่งซีก[4]

การปฏิสังขรณ์ก่อนหน้าการปฏิสังขรณ์ครั้งหลังสุดทำโดยห้องทดลองของพิพิธภัณฑ์วาติกันระหว่าง ค.ศ. 1935 ถึง ค.ศ. 1938 จุดประสงค์ของการบูรณะครั้งนี้ก็เพื่อเอาเขม่าและสิ่งสกปรกที่สะสมมานานจากบริเวณพลาสเตอร์อินโทนาโค (Intonaco) ทางด้านตะวันออกของสิ่งก่อสร้างบางส่วนออก[4]

การปฏิสังขรณ์ครั้งล่าสุด[แก้]

โบสถ์น้อยซิสทีนก่อนหน้าการปฏิสังขรณ์[c]ที่สึคร่ำไปด้วยเขม่าไฟและมลพิษ

การทดสอบด้วยวิธีต่าง ๆ หลายวิธีเพื่อเตรียมตัวสำหรับการปฏิสังขรณ์ครั้งล่าสุดเริ่มขึ้นใน ค.ศ. 1979 คณะผู้ทำการปฏิสังขรณ์ประกอบด้วยจานลุยจิ โคลาลุชชิ, มอริซิโอ รอซซิ, เปียจอร์โจ โบเนตติและผู้อื่น[6] คณะผู้ทำการปฏิบัติตามคู่มือ "กฎสำหรับการปฏิสังขรณ์งานศิลปะ" (Rules for restoration of works of art) ที่วางไว้ใน ค.ศ. 1978 โดยคาร์โล เปียทราเยลิผู้อำนวยการของห้องทดลองของวาติกันที่เขียนขึ้นเพื่อใช้ในการปฏิสังขรณ์งานจิตรกรรมโดยเฉพาะ "กฎสำหรับการปฏิสังขรณ์งานศิลปะ" วางระเบียบของรายละเอียดของขั้นตอนและวิธีที่ใช้ในการบูรณะงานจิตรกรรม สิ่งที่สำคัญในกระบวนการปฏิสังขรณ์ครั้งล่าสุดที่วางรากฐานไว้ในคู่มือที่ว่านี้คือการศึกษาและการวิจัยงานศิลปะ[4] นอกจากนั้นส่วนสำคัญอีกส่วนหนึ่งของโครงการคือการบันทึกงานที่เกี่ยวกับการบูรณะทุกขั้นทุกตอนอย่างละเอียดทั้งการบันทึกเป็นลายลักษณ์อักษรและการถ่ายภาพที่ทำโดยช่างภาพชาวญี่ปุ่นทะกะชิ โอะคะมุระ จากเครือบริษัทสถานีโทรทัศน์นิปปอน[7]

การปฏิสังขรณ์ขั้นแรกเริ่มขึ้นระหว่างเดือนมิถุนายนของ ค.ศ. 1980 ถึงเดือนตุลาคม ค.ศ. 1984 โดยเริ่มด้วยงานเขียนของมีเกลันเจโลในบริเวณโค้งพระจันทร์ครึ่งซีก สิ่งที่เรียนรู้จากการซ่อมงานเขียนนี้ก็ได้นำไปปรับปรุงใช้ในงานซ่อมบนเพดานที่ทำเสร็จในเดือนธันวาคม ค.ศ. 1989 หลังจากนั้นก็เป็นการบูรณะภาพ "การตัดสินครั้งสุดท้าย" บนผนังด้านหนึ่งของโบสถ์น้อย งานปฏิสังขรณ์ได้รับการเปิดอย่างเป็นทางการโดยสมเด็จพระสันตะปาปาจอห์น ปอลที่ 2 เมื่อวันที่ 8 เมษายน ค.ศ. 1994[8] ขั้นตอนสุดท้ายของโครงการคือการปฏิสังขรณ์งานที่เขียนบนผนังที่ได้รับการอนุมัติใน ค.ศ. 1994 และได้รับการเปิดอย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 11 ธันวาคม ค.ศ. 1999[9]

จุดประสงค์ของผู้บูรณะจิตรกรรม[แก้]

จุดประสงค์ของผู้บูรณะมีดังต่อไปนี้:

  • เพื่อทำการศึกษาจิตรกรรมฝาผนังเพื่อความก้าวหน้าต่อไป, เพื่อวิจัยสิ่งที่ได้พบและใช้วิธีที่เหมาะสมในการตอบโต้
  • เพื่อบันทึกขั้นตอนการปฏิบัติการบูรณะต่าง ๆ ที่ใช้ในโครงการเพื่อใช้เป็นหลักฐานทางประวัติศาสตร์ทั้งในด้านเอกสาร, ภาพถ่าย และ ภาพยนตร์
  • เพื่อใช้กระบวนการและวัสดุที่ง่ายและได้รับการทดสอบเป็นอย่างดีแล้วและไม่เป็นอันตรายต่องานศิลปะ และสามารถเปลี่ยนแปลงกลับมาเป็นของเดิมได้
  • เพื่อซ่อมรอยร้าวและความเสียหายด้านโครงสร้างที่กระทบกระเทือนต่อภาพที่เขียนบนอินโทนาโค
  • เพื่อกำจัดสิ่งสกปรกชั้นต่าง ๆ ออกที่รวมทั้งไขเทียนและเขม่าที่เกิดจากการจุดเทียนในการทำคริสต์ศาสนพิธีต่าง ๆ ในโบสถ์น้อยมาเป็นเวลากว่า 500 ปี
  • เพื่อลอกการเขียนทับของผู้ปฏิสังขรณ์เดิมที่พยายามเขียนเพื่อแก้ส่วนที่ได้รับความเสียหายจากเขม่าและสิ่งสกปรกออก
  • เพื่อลอกเอาน้ำมันหรือไขมันสัตว์ที่ใช้ในการแก้การตกผลึกของเกลือในบริเวณที่มีน้ำซึมออก
  • เพื่อลอกเอาเกล็ดเกลือที่สะสมมานานจากบริเวณที่มีน้ำซึมที่ทำให้เป็นสีขาวออก
  • เพื่ออนุรักษ์ผิวภาพที่เป็นอันตรายต่อความเสื่อมโทรมที่จะเกิดขึ้นเพราะการร่อนหรือพองตัวของพลาสเตอร์
  • เพื่อบูรณะอย่างมีวิจารณญาณในบริเวณที่เสียหายจนไม่เหลือรายละเอียดเดิมให้เห็น เช่นการอุดรอยร้าวใหญ่ ๆ และเขียนให้สีใกล้เคียงกับสีดั้งเดิมให้มากที่สุด
  • เพื่อรักษาบริเวณเล็กบางบริเวณไว้เพื่อเป็นหลักฐานทางประวัติศาสตร์ให้เห็นถึงวิธีการปฏิสังขรณ์แต่ละครั้งก่อนหน้าการปฏิสังขรณ์ครั้งล่าสุดนี้

การเตรียมงาน[แก้]

รายละเอียดจาก "ขับจากสวรรค์" แสดงให้สีที่คร่ำดำจนแทบจะเป็น
เอกรงค์, รอยร้าวของพลาสเตอร์,เข็มโลหะที่ใช้ดามต่าง ๆ,
รอยที่สีเปลี่ยนไปจากน้ำไหล, เกลือ, ความคร่ำจากดินประสิว
และการทาสีทับภาพเดิม
รายละเอียดของส่วนเดียวกันหลังจากการบูรณะที่แสดงให้เห็นถึงสีที่สดขึ้น รอยร้าวได้รับการอุดและสีที่เขียนใหม่ใกล้เคียงกับสีเดิม
ที่อยู่ข้างเคียง แต่รอยที่เกิดจากปฏิกิริยาของดินประสิว
เป็นสิ่งที่ไม่สามารถทำการแก้หรือซ่อมได้

ใน ค.ศ. 1979 โคลาลุชชิก็เริ่มทำการทดลองเพื่อหาวิธีที่เหมาะสมเพื่อการใช้ในการปฏิสังขรณ์จิตรกรรมฝาผนัง การสืบสวนเริ่มด้วยการทดสอบบริเวณตัวอย่างต่างจากภาพ "ความขัดแย้งเกี่ยวกับร่างของโมเสส" (Conflict over the Body of Moses) โดย มัทเทโอ เพเรซ ดาเลชโช (Matteo Perez d'Aleccio) ที่มีคุณสมบัติทางฟิสิกส์และเคมีที่คล้ายคลึงกับวิธีที่มีเกลันเจโลใช้ นอกจากนั้นก็ยังมีการทดลองเพื่อหาน้ำยาที่เหมาะสมจากโค้งพระจันทร์ครึ่งซีกเอเลียซาร์และมัทธาน[4]

เนื่องจากความสูงของเพดานและความที่ไม่สามารถเข้าถึงบริเวณที่ต้องการจะศึกษาเพื่อที่จะทำความเข้าใจถึงธรรมชาติของความเสียหายต่าง ๆ และปัญหาที่จะเกิดขึ้นในระหว่างการปฏิสังขรณ์ก่อนที่จะลงมือซ่อมได้ในทุกกรณี คณะผู้ปฏิสังขรณ์จึงไม่สามารถคาดการณ์ล่วงหน้าได้ไปทุกปัญหาที่เกิดขึ้นหลังที่การปฏิสังขรณ์ได้รับการอนุมัติแล้ว โคลาลุชชิกล่าวว่าการวิจัยทางวิทยาศาสตร์ก็คงยังดำเนินต่อไปตลอดโครงการบูรณะเพื่อเป็นการตอบสนองปัญหาต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นระหว่างการทำการปฏิสังขรณ์อย่างเหมาะสม แทนที่จะเป็นการตัดสินใจใช้วิธีการใดวิธีการหนึ่งโดยเฉพาะหรือวิธีเดียวในการซ่อมแซมทุกสิ่งทุกอย่างในโบสถ์น้อย[4]

ใน ค.ศ. 1980 การปฏิสังขรณ์ทั้งหมดก็ได้รับการอนุมัติ โดยเครือบริษัทสถานีโทรทัศน์นิปปอนเป็นผู้ให้ทุนในการดำเนินการจำนวน 4.2 ล้านเหรียญสหรัฐเพื่อเป็นการแลกเปลี่ยนกับลิขสิทธิ์ในการสร้างภาพยนตร์เกี่ยวกับโครงการ และผลิตผลอื่น ๆ

นั่งร้าน[แก้]

ทีมงานทำการปฏิสังขรณ์ส่วนตั้งและส่วนโค้งสแปนเดรล ที่ประกบส่วนบนของหน้าต่างก่อนจากนั่งร้านอะลูมิเนียมที่ยื่นออกมาจากใต้โค้งพระจันทร์ครึ่งซีกและใช้ช่องบนกำแพงช่องเดียวกับที่มีเกลันเจโลใช้ยึดนั่งร้านเดิม เมื่อย้ายไปทำงานบนเพดานคณะผู้ดำเนินงานก็ใช้ระบบเดียวกับที่มีเกลันเจโลใช้โดยใช้คานยื่นจากนั่งร้านในการรับฐานต่างระดับและฐานโค้ง แต่น้ำหนักของนั่งร้านในปัจจุบันเบากว่าและสามารถเลื่อนไปมาบนลูกล้อได้ ซึ่งทำให้ง่ายต่อการย้ายไปมาในช่วงยาวของห้อง แทนที่จะต้องถอดและสร้างใหม่ตามจุดที่ต้องการเช่นที่มีเกลันเจโลต้องทำใน ค.ศ. 1506[7][10]

สภาพของจิตรกรรม[แก้]

การค้นคว้าใน ค.ศ. 1979 พบว่าพื้นผิวผนังและเพดานทั้งหมดของโบสถ์น้อยเคลือบด้วยสิ่งสกปรกที่เกิดจากควันเทียนที่ประกอบด้วยขี้ผึ้งและเขม่าไฟ (Amorphous carbon) ส่วนเหนือหน้าต่างที่เป็นที่ถ่ายเทอากาศและโค้งพระจันทร์ครึ่งซีกเป็นบริเวณที่ได้รับความเสียหายจากควันและไอเสียจากการจราจรในตัวเมืองโรมที่สกปรกยิ่งไปกว่าเพดาน[7] ตัวสิ่งก่อสร้างเองก็ไม่มั่นคงและเคลื่อนตัวไปบ้างแล้วมาตั้งแต่ก่อนหน้าที่มีเกลันเจโลจะเริ่มเขียนภาพใน ค.ศ. 1508 ที่เป็นผลทำให้เกิดรอยร้าวบนเพดาน เช่นรอยร้าวในช่อง "จูดิธ" ที่กว้างจนต้องอัดด้วยอิฐและปูนก่อนที่จะเขียนภาพได้ ด้านบนของเพดานที่มีเกลันเจโลเขียนเป็นผิวที่ไม่ราบเรียบเพราะเกิดจากรอยร้าวและรอยน้ำซึม[1]

ทางเข้าของน้ำมาจากหลังคาและจากบริเวณทางเดินด้านนอกเหนือเพดานที่ไม่มีหลังคาทำให้น้ำซึมเข้ามาในตัวสิ่งก่อสร้างและชะเกลือจากปูนที่ใช้ในการก่อสร้าง เมื่อแห้งก็ทิ้งรอยไว้ น้ำที่ซึมเข้ามาบางส่วนก็ทำให้พลาสเตอร์พองและลอยตัวซึ่งเป็นปัญหาย่อยที่แก้ได้เมื่อเทียบการเปลี่ยนสีของภาพที่เกิดจากน้ำ เพราะมีเกลันเจโลใช้สีที่บางบนส่วนใหญ่ของเพดานที่ทำให้น้ำเกลือซึมทะลุได้แทนที่จะหมักหมมอยู่ภายใต้ผิวสีที่เขียน[4]

การปฏิสังขรณ์ก่อนหน้านี้ต่างก็ทิ้งร่องรอยเอาไว้บนจิตรกรรม เช่นการแก้สีที่กลายเป็นสีขาวที่เกิดจากการระเหยของเกลือโดยการใช้ไขมันสัตว์ และน้ำมันพืชช่วยที่ทำให้เกล็ดเกลือกลายเป็นสีใส แต่ทิ้งความเหนียวเป็นมันที่จับสิ่งสกปรกต่อมา อีกปัญหาหนึ่งที่เห็นได้ชัดก็คือตัวยุวเทพเล็ก ๆ ที่ถือป้ายชื่อที่ได้รับความเสียหายเพราะดินประสิวที่ซึมเข้ามาในรอยร้าวที่ทำให้เห็นเป็นวงสีคร่ำบนผิว รอยด่างจากดินประสิวต่างกับเกล็ดเกลือขาวตรงที่เป็นรอยด่างถาวรที่ไม่สามารถเอาออกได้ การใช้น้ำยาเคลือบและกาวแก้ในบางบริเวณก็ทำให้สีคร่ำลง นอกจากนั้นผู้ปฏิสังขรณ์เดิมก็ยังทาสีรายละเอียดใหม่ทับบนบริเวณที่ได้รับความเสียหายเพื่อทำให้บางส่วนของภาพที่ขาดหายไปสมบูรณ์ขึ้น โดยเฉพาะในบริเวณโค้งพระจันทร์ครึ่งซีก, โค้งสแปนเดรลและส่วนล่างของ pendentives[4]

จากการตรวจสอบอย่างใกล้ชิดก็พบว่านอกจากสิ่งสกปรกจากควันและจากน้ำซึมแล้วก็ยังมีรอยร้าวที่เกิดจากตัวโครงสร้างเอง แต่โดยทั่วไปแล้วสภาพของภาพเขียนที่ "บางเหมือนหนัง" ("pictorial skin") ของมีเกลันเจโลก็อยู่ในสภาพที่ดีมาก[4] โคลาลุชชิ กล่าวว่ามีเกลันเจโลใช้วิธีการวาดที่ดีที่สุดที่บรรยายโดยจอร์โจ วาซารี[11] สีเกือบทั้งหมดที่ใช้ยังติดอยู่กับพลาสเตอร์และต้องทำการแต่งเติมเพียงเล็กน้อย พลาสเตอร์หรือพลาสเตอร์อินโทนาโคที่พบส่วนใหญ่ที่ผู้ปฏิสังขรณ์เดิมทำไว้ก็ยังอยู่ในสภาพดีและตรึงไว้กับผนังด้วยเข็มบรอนซ์[4]

การเตรียมการ[แก้]

ภาพรวม "ปฐมบาปและขับจากสวรรค์" โดยมีเกลันเจโล แสดงความแตกต่างระหว่างส่วนที่ยังไม่ได้รับการบูรณะตอนบนซ้ายและส่วนที่ได้รับการบูรณะแล้วด้านล่างขวา

ก่อนหน้าการปฏิสังขรณ์กลุ่มผู้ดำเนินการใช้เวลาหกเดือนในการสืบสวนสภาพของจิตรกรรมโดยการสอบถามผู้ที่มีส่วนในการซ่อมแซมในคริสต์ทศวรรษ 1930 และทำการศึกษาในบริเวณต่าง ๆ อย่างละเอียด เพื่อที่จะได้เรียนรู้ถึงสูตรน้ำยาและวิธีที่ดีที่สุดที่ควรใช้ในแต่ละบริเวณ[4]

ขั้นแรกของการปฏิสังขรณ์ทางวัตถุคือการแปะพลาสเตอร์ (หนาราว 5 มิลลิเมตร) ที่เกือบจะร่อนหรือร่วงลงมาจากผนังหรือเพดานออกจากเพดานกลับไปใหม่ ซึ่งทำโดยการฉีดโพลิไวนัลอาซิเททเรซิน (Polyvinylacetate หรือ PVA) เข็มบรอนซ์ที่ใช้ยึดพลาสเตอร์ก่อนหน้านั้นก็ถูกถอดออกเพราะทำให้ผิวร้าวและรูที่ฝังเข็มก็ได้รับการอัด สีที่ไม่ค่อยติดกับผิวภาพเท่าไหร่นักก็ได้รับการผสมกับอคริลิคเรซินที่ละลายแล้ว[4]

ผู้ปฏิสังขรณ์ล้างผิวภาพด้วยน้ำยาหลายอย่าง และเมื่อใดที่สามารถใช้น้ำกลั่นในการเอาสิ่งสกปรกหรือละลายยางที่ละลายน้ำได้ก็จะใช้ การเขียนเสริม (Retouching) หรือเขียนใหม่ (Repainting) ที่ทำไว้ระหว่างการบูรณะก่อนหน้าก็ถูกลอกหรือลบออกด้วยน้ำยาเจลาตินต่อเนื่องกันหลายครั้งและล้างด้วยน้ำกลั่น ส่วนที่มีสิ่งสกปรกที่เกิดจากการตกผลึกของแคลเซียมคาร์บอเนตก็ใช้น้ำยาไดเม็ทธิลฟอร์มาร์ไมด์ (dimethylformamide) ทำความสะอาด ขั้นสุดท้ายก็คือการเคลือบด้วยน้ำยาจากอคริลิคพอลิเมอร์ (acrylic polymer) อ่อน ๆ เพื่อผสานและรักษาผิวภาพจากความเสียหายที่อาจจะเกิดขึ้นในอนาคต[4]

ในบริเวณที่จำเป็นต้องมีการซ่อมสีก็เขียนเสริมด้วยสีน้ำเพื่อให้ผสานกับสีเดิม และใช้แปรงทาโดยตรงที่มองเห็นได้ว่าเป็นงานซ่อมเมื่อมองไกล้ ๆ แต่มองไม่เห็นเมื่อมองจากระยะไกล[4]

ส่วนเล็ก ๆ บางส่วนยังคงรักษาไว้โดยไม่มีการบูรณะ เพื่อที่จะใช้เป็นหลักฐานในการเรียนรู้ถึงวิธีปฏิสังขรณ์ที่ทำกันมาก่อนหน้านั้นเช่นบริเวณที่ทาสีทับและบริเวณอื่นที่ผู้ปฏิสังขรณ์พยายามแก้ความเสียหายที่เกิดจากเกลือด้วยน้ำมัน

การรักษาภาพจากสิ่งแวดล้อม[แก้]

เมื่อกำจัดชั้นไขเทียน, น้ำยาเคลือบ และกาวสัตว์ออกแล้วผิวจิตรกรรมก็ประสบอันตรายใหม่ที่ผู้ปฏิสังขรณ์ก่อนหน้านั้นไม่ต้องคำนึงถึง

อันตรายต่อจิตรกรรมฝาผนังที่สำคัญที่สุดคืออันตรายจากไอเสีย (exhaust fumes) จากการเผาเชื้อเพลิงฟอสซิลและจากนักท่องเที่ยวที่เข้ามาชมทุกวันที่นำความร้อน, ความชื้น, ฝุ่นและแบคทีเรีย ผิวภาพที่ทำความสะอาดแล้วเป็นอันตรายจากสิ่งต่าง ๆ เหล่านี้ยิ่งไปกว่าความสกปรกที่เคลือบภาพอยู่ก่อนหน้านั้น[12]

ก่อนหน้าที่จะมีการซ่อมแซมครั้งนี้ระบบการระบายอากาศของโบสถ์น้อยซิสทีนก็มีเพียงจากหน้าต่างตอนบนของผนัง แต่ปัจจุบันหน้าต่างเหล่านี้ก็ถูกปิดหมดเพื่อเป็นการป้องกันไม่ให้สารจากอากาศเสียเข้ามาในห้อง และติดตั้งระบบปรับอากาศขึ้นแทนที่ ระบบปรับอากาศนี้ติดตั้งโดยผู้ติดตั้งของบริษัทยูไนเต็ทเทคโนโลยีส์ ที่เป็นระบบที่ออกแบบร่วมกับสำนักงานบริการทางเทคนิคของวาติกัน ระบบที่ใช้เป็นระบบที่สำหรับแก้ปัญหาที่เกิดขึ้นกับโบสถ์น้อยโดยเฉพาะสำหรับความเปลี่ยนแปลงของอุณหภูมิอย่างรวดเร็วและความชื้นที่เกิดขึ้นทันที่เปิดให้นักท่องเที่ยวกลุ่มแรกเข้ามาในห้องทุกเช้าและเมื่อกลุ่มสุดท้ายออกจากห้องในตอนบ่าย ระบบปรับอากาศมิได้ปรับแต่เพียงอุณหภูมิแต่ยังปรับระดับความชื้นให้คงตัวระหว่างฤดูร้อนแลฤดูหนาวเพื่อให้ความเปลี่ยนแปลงของสิ่งแวดล้อมภายในห้องเป็นไปอย่างค่อยเป็นค่อยไป อากาศบริเวณใกล้กับเพดานรักษาไว้ในระดับอุ่นแต่ส่วนล่างของห้องจะเย็นกว่าและหมุนเวียนมากกว่าที่ทำให้ผงหล่นลงไปบนพื้นแทนที่จะลอยขึ้นไป ส่วนแบคทีเรียและสารจากอากาศเสียก็ได้รับการกรองออกไป

ข้อกำหนดของสิ่งแวดล้อม:[12]

ปฏิกิริยาต่อการปฏิสังขรณ์[แก้]

การวิจารณ์และการสรรเสริญ[แก้]

เจเรไมอาห์ครุ่นคิดถึงการถูกทำลายของกรุงเยรุซาเล็ม

การประกาศการปฏิสังขรณ์โบสถ์น้อยซิสทีนทำให้เกิดคำถามที่พรั่งพรูกันขึ้นอย่างขนานใหญ่ และปฏิกิริยาการต่อต้านจากนักประวัติศาสตร์ศิลป์จากทั่วโลก ผู้ที่มีเสียงดังที่สุดในบรรดาผู้ไม่เห็นด้วยก็เห็นจะเป็นเจมส์ เบ็คแห่ง "องค์การผู้สังเกตการณ์ศิลปะนานาชาติ" (ArtWatch International) ผู้ออกประกาศเป็นระยะ ๆ เตือนถึงความเสียหายที่อาจจะเกิดขึ้นต่อภาพเขียนของมีเกลันเจโลจาก "การปฏิสังขรณ์อย่างหนัก" เหตุผลของเบ็คที่ใช้บ่อยคือการปฏิสังขรณ์ที่ทำมาทุกก่อนหน้านั้นต่างก็สร้างความเสียหายให้แก่งานไม่อย่างใดก็อย่างหนึ่ง การปฏิสังขรณ์ (Restoration) ต่างจาก "การอนุรักษ์" (Conservation) ตรงที่เป็นวิธีแรกอยู่บนพื้นฐานของปรัชญาในการพยายามซ่อมแซมให้เหมือนต้นฉบับ ซึ่งเป็นวิธีที่อาจจะทำให้เกิดอันตรายต่อภาพเขียน แต่การอนุรักษ์เป็นกระบวนการที่พยายามรักษาภาพเขียนหรือศิลปะให้คงอยู่ในสภาพที่เป็นอยู่ในขณะที่ทำการอนุรักษ์ และป้องกันจากความเสียหายที่จะเกิดขึ้นต่อไปในอนาคต เบ็คเขียนบรรยายถึงข้อวิตกนี้ในหนังสือ "การปฏิสังขรณ์ศิลปะ: วัฒนธรรม, ธุรกิจ และเรื่องน่าอัปยศ" (Art Restoration: the Culture, the Business and the Scandal)[13]

ในบทสนทนา, [คณะผู้ปฏิสังขรณ์]กล่าวว่าการปฏิสังขรณ์ที่ทำกันมาก่อนเป็นการปฏิสังขรณ์ที่ไม่ถูกต้อง — และกล่าวว่าครั้งนี้จะทำให้เป็นงานที่ดีมาก เหมือนกับทำศัลยกรรมเปลี่ยนหน้าใหม่ เราต้องฟังเหตุผลเช่นนี้กันกี่ครั้งก่อนที่หน้าเราจะปอกเปิก[จากการศัลยกรรม]?

ขณะที่เจมส์ เบ็คมัวยุ่งอยู่กับการโต้เถียงโดยทั่วไปอยู่กับจานลุยจิ โคลาลุชชิ โรนัลด์ เฟลด์แมนนักค้าขายศิลปะจากนิวยอร์กก็เริ่มรวบรวมคำร้องโดยมีผู้สนับสนุนโดยศิลปินคนสำคัญสิบห้าคนที่รวมทั้งโรเบิร์ต มาเธอร์เวลล์, คริสโต และแอนดี วอร์ฮอล และยื่นต่อสมเด็จพระสันตะปาปาจอห์น ปอลที่ 2 ร้องขอให้ระงับการปฏิสังขรณ์ พร้อมกับยับยั้งการปฏิสังขรณ์ภาพ "พระกระยาหารมื้อสุดท้าย" ที่มิลานโดยเลโอนาร์โด ดา วินชีไปด้วยในขณะเดียวกัน[15]

การดำเนินของคณะผู้ปฏิสังขรณ์ควรจะเป็นไปอย่างเปิดเผยโดยที่นักข่าว, นักประวัติศาสตร์ศิลป์ และผู้มีความสนใจอื่น ๆ และไม่ควรจะสร้างปัญหาให้แก่ผู้ต้องการข้อมูลหรือเปิดโอกาสให้สามารถเข้าชมงานระหว่างการปฏิสังขรณ์ได้ แต่เครือบริษัทสถานีโทรทัศน์นิปปอนเป็นผู้เดียวเท่านั้นที่มีลิขสิทธิ์ในการถ่ายภาพ ใน ค.ศ. 1991 ไมเคิล คิมเมิลแมนหัวหน้านักวิจารณ์ศิลปะของเดอะนิวยอร์กไทมส์เขียนวิจารณ์การปฏิสังขรณ์เพดานและโค้งพระจันทร์ครึ่งซีกที่มีสาเหตุมาจากการที่ความไม่เต็มใจของเครือบริษัทสถานีโทรทัศน์นิปปอนที่จะให้พิมพ์ภาพเป็นการสาธารณะ เพราะถือว่าเป็นผู้มีสิทธิแต่ผู้เดียวในการบันทึกกระบวนการทุกขั้นทุกตอนและถือว่าเป็นหลักฐานอย่างเดียวที่บ่งว่าการปฏิสังขรณ์ที่ทำเป็นวิธีที่เหมาะสม

ตามทัศนคติของไมเคิล คิมเมิลแมน สาเหตุของความไม่เต็มใจในการแสดงภาพรายละเอียดของกระบวนการซ่อมแซม และความหวั่นกลัวของผู้มีความสนใจในโครงการ ก็มาจากสาเหตุความประสงค์ทางการค้าของเครือบริษัทสถานีโทรทัศน์นิปปอนที่ต้องการจะพิมพ์ "หนังสือโต๊ะกาแฟ" (coffee-table book) ฉบับจำกัดขนาดยักษ์สองเล่มขาย (ที่มีขนาดเท่าโต๊ะกาแฟจริง ๆ) หนังสือนี้ถ้าพิมพ์ก็จะตกประมาณ 1,000 เหรียญสหรัฐต่อเล่ม ไมเคิล คิมเมิลแมนกล่าววิจารณ์ว่าภาพเหล่านี้มีให้เฉพาะผู้สามารถซื้อได้ไม่กี่คนเท่านั้นซึ่งเป็นการแสดงความ "ใจแคบ" และความขาด "จริยธรรม" ของเครือบริษัทสถานีโทรทัศน์นิปปอนโดยตรง[16]

"ประกาศกเอเซอคีลได้ยินเสียงพระเจ้า"

เมื่อโครงการค่อย ๆ เสร็จไปแต่ละขั้นก็มีผู้ที่พอใจกับผลงานที่รวมทั้งสมเด็จพระสันตะปาปาจอห์น ปอลที่ 2 ผู้กล่าวสรรเสริญโครงการทุกครั้งที่เปิดงานที่สำเร็จแต่ละขั้น ในเดือนธันวาคม ค.ศ. 1999 หลังจากการบูรณะพระองค์ก็กล่าวเปิดงานที่เสร็จลงว่า:

เป็นการยากที่จะหาภาพพจน์ทางจักษุของภาพจากพระคัมภีร์ที่งดงามไปกว่าภาพที่เขียนในโบสถ์น้อยซิสทีน ที่เป็นความงามอันเลอเลิศที่เรายังได้ชื่นชมกันตราบเท่าทุกวันนี้ ที่เป็นผลมาจากการปฏิสังขรณ์ที่เพิ่งทำสำเร็จ ความปิติของเราร่วมโดยผู้มีศรัทธาจากทั่วโลกผู้ไม่แต่จะชื่นชมกับสถานที่นี้ในฐานะที่เป็นที่ตั้งของภาพเขียนแต่ยังในฐานะที่มีบทบาทในการการดำรงชีวิตของสถาบันศาสนาด้วย

— พระสันตะปาปาจอห์น ปอลที่ 2, [9]

คาร์ดินัลเอ็ดมันด์ สโซคา (Edmund Szoka) ข้าหลวงของนครรัฐวาติกันกล่าวว่า: "การปฏิสังขรณ์และความเชี่ยวชาญของผู้ปฏิสังขรณ์เป็นการเปิดโอกาสให้ผู้ชมในปัจจุบันมีความรู้สึกเหมือนว่าได้กลับไปยืนชมภาพหลังจากที่เพิ่งเปิดให้ชมเป็นครั้งแรกเมื่อวาดเสร็จ"[17]

ผู้ไม่ประสงค์จะออกนามของบริษัทแคริเออร์ที่เป็นผู้ติดตั้งเครื่องปรับอากาศสรรเสริญยิ่งไปกว่านั้นว่า:

ในฐานะศิลปินมีเกลันเจโลต้องพึ่งแสงที่ประทานโดยพระเจ้าในการสร้างงานจิตรกรรม ในฐานะผู้ดูเราก็ขึ้นอยู่กับมโนทัศน์ของศิลปินผู้ยิ่งใหญ่ แต่ผู้ดูในปีปลายของคริสต์ศตวรรษที่ 20 เป็นผู้โชคดี เพราะผู้คนหลายล้านคนในสี่ร้อยห้าสิบปีที่ผ่านมาได้เห็นก็แต่เพียงจิตรกรรมฝาผนังของมีเกลันเจโลที่ต้องดูผ่านเลนส์ที่จับฝุ่น... การสะสมของสิ่งสกปรกเป็นร้อย ๆ ปีทำให้สีหม่นลงไปและลบรายละเอียดออก ที่ทำให้จิตรกรรมฝาผนังดูแบนจากความเป็นทัศนมิติที่ตั้งใจไว้ แต่เราต้องขอบคุณต่อความอุตสาหะในรอบสิบปีที่ผ่านมาของคณะผู้ปฏิสังขรณ์ของวาติกันผู้เปิดหน้ากากนั้นออก

— [12]

แต่นักเขียนอื่นไม่ได้ยกยอเท่ากับที่เขียนมา แอนดรูว์ เวิร์ดสเวิร์ธแห่งหนังสือพิมพ์ "ดิอินดีเพ็นเดนต์" ของลอนดอนแสดงความวิตก:

การเขียนเพดานของโบสถ์น้อยซิสทีนเป็นการเขียนบนปูนชื้นแต่ผู้ปฏิสังขรณ์ก็ตัดสินใจว่าการปฏิสังขรณ์เป็นสิ่งที่จำเป็นที่จะต้องทำเพราะความสกปรกที่หมักหมมกันอยู่บนผิวภาพ (โดยเฉพาะจากควันเทียน) ผลที่ออกมาก็คือเพดานที่ดูเหมือนถูกล้าง ที่เป็นสีที่ดูสวยแต่ขาดอรรถรสทางจักษุและความลึก - ที่ทำให้ผลที่ออกมาไม่เหมือนงานเขียนที่ทำโดยมีเกลันเจโลที่เต็มไปด้วยพลังเสน่ห์ของความดึงดูดทางอารมณ์อันรุนแรง (intensely sensual)

— แอนดรูว์ เวิร์ดสเวิร์ธ, [18]

ประเด็นและรายละเอียดของบทวิจารณ์เกี่ยวกับการบูรณะจิตรกรรมฝาผนังในโบสถ์น้อยซิสทีนโดยจิตรกรร่วมสมัยปีเตอร์ อาร์กิมเบาบรรยายไว้อย่างละเอียดในบทความในเว็บไซต์ชื่อ "โบสถ์น้อยซิสทีนของมีเกลันเจโลถูกทำความสะอาดด้วย "อีซีออฟ": วิทยาศาสตร์และศิลปะ---ความเสียหายที่เกิดขึ้นเก็บถาวร 2015-09-20 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน" (Michelangelo’s Sistine Chapel Cleaned With Easyoff: Science Vrs. Art --- What A Price To Pay)[19][20]

ประเด็นที่เสนอโดยผู้วิจารณ์[แก้]

ส่วนหนึ่งของการปฏิสังขรณ์ภายในโบสถ์น้อยซิสทีนที่ทำให้เกิดความวิตกกังวลกันมากที่สุดก็คือการบูรณะภาพเขียนบนเพดานที่เขียนโดยมีเกลันเจโล ความสดใสของสีสันของภาพ "บรรพบุรุษของพระเยซู" หลังจากการบูรณะจากสีที่หม่นก่อนหน้านั้นทำให้เกิดปฏิกิริยาว่าวิธีที่ใช้ในการปฏิสังขรณ์เป็นวิธีที่ออกจะหนักมือจนเกินไป แม้ว่าจะมีเสียงคัดค้านจากผู้ที่แสดงความวิตกกังวลจากนักวิจารณ์การปฏิสังขรณ์เช่นเบ็ค แต่โครงการก็ยังคงดำเนินต่อไปจนกระทั่งเสร็จ[21][19]

ปัญหาของผู้ที่ไม่เห็นด้วยกับการปฏิสังขรณ์อยู่ตรงวิธีการวิจัยและการทำความเข้าใจในวิธีการเขียนภาพของมีเกลันเจโล และ วิธีที่ใช้โดยผู้ปฏิสังขรณ์ในการทำการบูรณะภาพเหล่านั้น จากการตรวจสอบอย่างใกล้ชิดของภาพเขียนในบริเวณโค้งพระจันทร์ครึ่งซีกทำให้ผู้ปฏิสังขรณ์เชื่อว่ามีเกลันเจโลใช้วิธี "การวาดบนปูนเปียก" (buon fresco) โดยตลอด ซึ่งเป็นวิธีที่จิตรกรเขียนภาพลงบนพลาสเตอร์อินโทนาโคที่ฉาบไว้เป็นช่วง ๆ ในช่วงวันที่จะเขียนขณะที่พลาสเตอร์ที่ฉาบไว้ยังชื้นอยู่ ซึ่งเป็นวิธีที่ตรงกันข้ามกับ "การวาดบนปูนแห้ง" (A Secco) ซึ่งเป็นวิธีที่จิตรกรใช้ในการกลับมาเพิ่มเติมรายละเอียดเมื่อปูนแห้งแล้ว[22]

เมื่อสรุปว่าจิตรกรใช้วิธีเดียวในการเขียนภาพทั้งหมด คณะผู้ปฏิสังขรณ์ก็ใช้วิธีเดียวในการบูรณปฏิสังขรณ์ภาพทั้งหมดเช่นกัน ซึ่งเป็นการตัดสินใจว่าชั้นสีที่เห็นเป็นสีที่เกิดจากเงาจากไขมันสัตว์และสีดำตะเกียง, ไขจากเทียน, และสีที่เขียนทับที่เป็นสิ่งที่แปลกปลอมจากงานเขียนต้นฉบับไม่อย่างใดก็อย่างหนึ่ง ตามความเห็นของอาร์กิมเบาเมื่อตัดสินเช่นนี้แล้วผู้ปฏิสังขรณ์ก็เลือกใช้น้ำยาที่เท่ากับเป็นการลอกเพดานไปจนถึงชั้นพลาสเตอร์ที่อมสีเท่านั้น ซึ่งทำให้เหลือแต่เพียงชั้นที่เขียนโดยวิธีการวาดบนปูนเปียกเท่านั้น ซึ่งทำให้ส่วนที่เขียนเมื่อปูนแห้งถูกลอกตามไปด้วย[19]

แดเนียลก่อนและหลังการปฏิสังขรณ์

ตามความคิดเห็นของผู้เป็นปฏิปักษ์ต่อการปฏิสังขรณ์ ปัญหาใหญ่อยู่ตรงที่ความปรัชญาของผู้ปฏิสังขรณ์ที่มีความเชื่ออย่างเหนียวแน่นหรือสรุปว่ามีเกลันเจโลใช้วิธี "การวาดบนปูนเปียก" วิธีเดียวเท่านั้นในการเขียนภาพทั้งหมด ซึ่งเท่ากับเป็นการสรุปว่ามีเกลันเจโลมีความพอใจต่อผลงานของตนเองทุกวันที่ทำตลอดสี่ปีครึ่งที่เขียน โดยไม่มีการตามกลับมาเพิ่มรายละเอียด หรือ แก้ภายหลังใดใดทั้งสิ้นจากที่เขียนเสร็จ ซึ่งเป็นความเชื่อที่ไม่สมเหตุสมผลและค้านกับข้อเขียนของโคลาลุชชิเองก่อนหน้านั้น

ข้อสรุปที่เกี่ยวข้องของโคลาลุชชิ ในภาคผนวกชื่อ "การพบสีใหม่ของมีเกลันเจโล" กล่าวว่า:

ขั้นหนึ่งของการเตรียมตัว ก็มีการสัมภาษณ์ผู้ปฏิสังขรณ์ผู้สูงอายุที่ทำการปฏิสังขรณ์ในคริสต์ทศวรรษ 1930 ผู้ปฏิสังขรณ์เหล่านี้อ้างว่ามีเกลันเจโลใช้วิธี "การวาดบนปูนเปียก" โดยใช้ "velature" หรือสารเคลือบเป็นตัวเชื่อม โคลาลุชชิไม่ยอมรับข้อสันนิษฐานนี้และกล่าวว่ามีเกลันเจโลใช้วิธีการวาดบนปูนเปียกวิธีเดียวเท่านั้น แต่ต่อมาโคลาลุชชิเองก็บรรยายค้านกับข้อเขียนเดิมที่ว่ามีเกลันเจโลใช้วิธีการวาดบนปูนแห้งด้วย แต่ก็เพียงเป็นการใช้บ้างและไม่ใช้เลยในการเขียนโค้งพระจันทร์ครึ่งซีก
โคลาลุชชิต่อมากล่าวถึง "การบำรุงรักษาอย่างแข็งขัน" ของมีเกลันเจโลของงานที่เขียนไว้บนปูนเปียก และกล่าวขัดกับทฤษฎีเดิมต่อไปถึงการเขียนเพิ่มเติมบนปูนแห้งบนไหล่ของภาพเอเลซาร์และเท้าของเรโบมภายในโค้งพระจันทร์ครึ่งซีก และกล่าวว่ามีเกลันเจโลเขียนบนปูนเปียกโดยไม่มี "การแก้" (pentimenti) หรือการเปลี่ยนแปลงแต่อย่างใด[4]

การวิจารณ์ประเด็นอื่นที่ยังคงมีอยู่คือข้อที่ผู้ปฏิสังขรณ์อ้างว่ามีความเข้าใจถึงจุดประสงค์ของจิตรกรบนทุกส่วนของเพดาน และใช้วิธีปฏิสังขรณ์ที่เป็นการสนับสนุนจุดประสงค์ที่เชื่อว่ามีความเข้าใจ ข้อวิจารณ์นี้ก็ยังไม่สามารถยุติลงได้และเป็นข้อที่ไม่มีหนทางที่จะสามารถตกลงกันได้[21][19]

ปัญหาคาร์บอนแบล็ค[แก้]

ผู้ปฏิสังขรณ์สรุปง่าย ๆ ว่าสิ่งชั้นที่ดูเหมือนสิ่งสกปรกทุกชั้นเป็นไขหรือเขม่าที่มาจากควันเทียน ซึ่งเบ็คและศิลปินหลายคนไม่เห็นด้วยและให้ความเห็นว่าสีคร่ำที่เห็นเป็นการใช้คาร์บอนแบล็ค (Carbon black) ของมีเกลันเจโล กับกาวในบริเวณที่เป็นเงาและสีดำจัดของ "การวาดบนปูนแห้ง" ถ้าเป็นเช่นนั้นจริงส่วนนี้ก็ถูกลอกออกไปจนเกือบหมดสิ้นระหว่างการทำความสะอาด[23]

แต่บางรูปยังมีร่องรอยที่เห็นได้ชัดของการใช้คาร์บอนแบล็ค เหตุผลของการใช้การวาดวิธีนี้ก็อาจจะอธิบายได้ว่าระหว่างที่มีเกลันเจโลทำงานเขียนอยู่ ไม่ว่าจะด้วยสาเหตุใดสาเหตุหนึ่งก็อาจตัดสินใจเปลี่ยนวิธีการเขียน ที่อาจจะมาจากสิ่งที่มีผลต่อ "งานเขียนบนปูนเปียกของแต่ละวัน" (Giornata) ที่ได้แก่อุณหภูมิและ/หรือความชื้นของบรรยากาศแต่ละวัน และความยาวของแสงอาทิตย์ที่ได้รับ แต่ไม่ว่าจะเป็นเหตุผลใดก็ตามการใช้วิธีการเขียนที่แตกต่างกันในการเขียนแสงเงาของแต่ละภาพก็เห็นได้อย่างเด่นชัด

การใช้เงาที่เข้มข้นของภาพประกาศกคิวเมียน (Cumaean) ทำให้ดูราวกับเป็นภาพนูนหรือยิ่งไปกว่านั้นที่ดูราวกับเป็นภาพสามมิติซึ่งผู้รักงานศิลปะหวังว่าจะได้พบในงานของศิลปินผู้แกะสลักรูปโมเสส[21] นักวิจารณ์การปฏิสังขรณ์อ้างว่าการเขียนเช่นนั้นเป็นความตั้งใจเดิมของมีเกลันเจโล และจิตรกรรมเหล่านี้ที่เป็นสีสันสดใสที่เมื่อนำมาวางเคียงข้างกันทำให้เกิดผลเช่นที่ว่า แต่คุณสมบัติดังกล่าวนี้สูญหายไปจนเกือบหมดสิ้นกับการทำความสะอาดกันอย่างเอาจริงจังระหว่างการปฏิสังขรณ์ครั้งล่าสุดนี้[19]

สิ่งที่สูญหายไปอีกอย่างหนึ่งคือ "การวาดบนปูนแห้ง" ของรายละเอียดทางสถาปัตยกรรมที่คมชัดเช่น หอยสคาลล็อพ, ลายลูกเอคอร์น หรือลายลูกปัดตกแต่งซึ่งมีเกลันเจโลอาจจะทิ้งไว้ให้ผู้ช่วยเป็นผู้วาดเมื่อตนเองย้ายไปเขียนช่วงอื่นของผนังต่อ นอกจากนั้นคุณภาพของการซ่อมรายละเอียดก็ต่างระดับกันมาก ในบางบริเวณเช่นบริเวณช่องของภาพเอเซเคียล รายละเอียดเป็นการเขียนบนปูนเปียกและไม่มีการซ่อมแซมแต่อย่างใด

ความแตกต่างระหว่างภาพเขียนในช่องสองช่องของงานที่คล้ายคลึงกันที่ได้รับการปฏิสังขรณ์ ทางด้านซ้ายสีดำที่ใช้ในการสร้างรายละเอียดของเสื้อ, ตา และรายละเอียดทางสถาปัตยกรรมไม่ได้รับการแตะต้อง แต่ภาพขวารายละเอียดเหล่านี้หายไปหมดระหว่างการทำความสะอาด

การเปรียบเทียบระหว่างภาพในช่องสองช่องทำให้เห็นระดับความแตกต่างที่เกิดขึ้นหลังจากการปฏิสังขรณ์ ภาพทางด้านซ้ายใช้สีดำในการเน้นรายละเอียด เสื้อสีเขียวเน้นด้วยสีเหลืองและแต่งด้วยสีดำที่ทำให้เป็นเงาลึกขึ้น และในรายละเอียดทางสถาปัตยกรรมก็ทำให้เด่นขึ้นด้วยสีดำ สีตาของเด็กก็เป็นรายละเอียดของสีขาวตัดกับดำ รายละเอียดที่เห็นนี้ทำให้สันนิษฐานได้ว่าเป็นการเขียนเมื่อปูนยังเปียก ส่วนทางด้านขวาดูเหมือนภาพที่ยังเขียนไม่เสร็จ ก่อนหน้าที่จะได้รับการทำความสะอาดภาพนี้ก็มีการใช้สีดำในการสร้างเงาบนเสื้อผ้าและรายละเอียดทางสถาปัตยกรรม

ภาพแต่ละภาพตรงมุมสี่มุมเป็นหัวข้อที่มีพลังทางนาฏกรรมอันรุนแรง (violent) การลอกคาร์บอนแบล็คจากภาพเหล่านี้ออกทำให้ภาพเหล่านี้ลดความเป็นนาฏกรรมลงไปเป็นอันมาก โดยเฉพาะการสูญเสียของความลึกของภาพ "ความตายของฮามัน" ที่เดิมดูเหมือนว่าตัวแบบจะชะโงกออกมาจากฉากหลังที่มืด ที่กลายมาเพียงปรากฏอยู่หน้าภาพหลังจากการซ่อมแซม ความเป็นนาฏกรรมของภาพจึงสูญหายไปหมดสิ้นกับสีพาสเตลที่ใช้ที่ปรากฏในปัจจุบัน

สี[แก้]

ภัณฑารักษ์ฟาบริซิโอ มันชิเนลลิอ้างคำบรรยายจากบันทึกของนักดาราศาสตร์และนักท่องเที่ยวฝรั่งเศสจากคริสต์ศตวรรษที่ 18 เฌโรม ลาลองด์ที่กล่าวถึงสีของเพดานที่เมื่อมาถึงสมัยนั้นก็กลายเป็นสีเดียวที่ "ออกไปทางหม่นและเทา" ไปแล้ว มันชิเนลลิกล่าวถึงการปฏิสังขรณ์ว่าเป็นการทำให้เห็น "มีเกลันเจโลใหม่" ในฐานะผู้ใช้สี (colourist) และสีใหม่ที่เห็นทำให้ "ตัวแบบในภาพมีความหมายเพิ่มขึ้นตามตำแหน่งทางประวัติศาสตร์"[7] และกล่าวต่อไปว่าผู้ชมเพดานผู้มีความซาบซึ้งมีความสำนึกอยู่เสมอถึงสีต่าง ๆ ที่เห็นที่แตกต่างไปจากสีที่เขียนไว้แต่เดิม[7] ที่รวมทั้งสีชมพู, เขียวแอปเปิล, ส้ม, เหลือง และฟ้าอ่อนเดียวกับที่โดเมนนิโค เกอร์ลันเดาครูของมีเกลันเจโลใช้ ผู้เป็นจิตรกรผู้เชี่ยวชาญทางการเขียนจิตรกรรมฝาผนังผู้มีความสามารถที่สุดคนหนึ่งของยุคฟื้นฟูศิลปวิทยา

สีสดใสควรที่จะเป็นสิ่งที่ผู้ปฏิสังขรณ์หวังที่จะได้เห็นหลังจากการบูรณะเพราะสีต่าง ๆ ในกลุ่มสีที่ใช้ปรากฏในงานจิตรกรรมของจอตโต ดี บอนโดเน, มาซาชิโอ, มาโซลิโน ดา พานิคาเล, ฟราอันเจลิโค และเปียโร เดลลา ฟรานเชสกา และรวมทั้งโดเมนนิโค เกอร์ลันเดาเอง และจิตรกรผู้เขียนจิตรกรรมฝาผนังรุ่นต่อมาเช่นอันนิบาเล คารัคชี และ จิโอวานนิ บัตติสตา ติเอโปโล เหตุผลในการใช้กลุ่มนี้ก็เพราะรงควัตถุอื่น ๆ ใช้ในการเขียนจิตรกรรมฝาผนังไม่ได้เพราะมีปฏิกิริยาทางเคมีอย่างรุนแรงกับปูนเปียก และสีหนึ่งที่ไม่ได้ใช้เลยบนเพดาน แต่มาใช้บนผนังบนภาพ "การตัดสินครั้งสุดท้าย" บนผนังคือสีน้ำเงินเข้มสดที่ทำจากการบดหินลาพิส ลาซูไลที่เขียนเมื่อปูนแห้งแล้วพร้อมกับการปิดทองคำเปลวบนรัศมีหรือตกแต่งชายเสื้อ[e]

มือขวาและเข่าของดาเนียลบนภาพที่ยังไม่ได้บูรณะเห็นสีแดงเข้มภายใต้สีดำที่มาเขียนเมื่อปูนแห้งที่ทำให้มีความเรืองในเงา และการทำให้เห็นเข่าและขาส่วนล่างภายใต้เสื้อผ้าทำโดยการใช้สีดำ[f]

การใช้สีที่แทบจะไม่ได้คาดกันของมีเกลันเจโลในการเขียนเงา การเขียนภาพประกาศกลิเบียน (Libyan) และประกาศกดาเนียล (Daniel) ที่อยู่ข้างเคียงกันเป็นตัวอย่างที่เห็นได้ชัด สีเหลืองบนเสื้อของประกาศกลิเบียนมีเกลันเจโลใช้สีเหลืองสดและค่อย ๆ เปลี่ยนเป็นเหลืองที่เข้มขึ้นจนกลายเป็นสีส้มอ่อน, ส้มแก่และเกือบจะเป็นสีแดงในบริเวณที่มีเงา ขณะที่เงาสีแดงเป็นสิ่งที่ไม่ค่อยได้พบในงานจิตรกรรมฝาผนัง การค่อย ๆ เปลี่ยนสีเป็นการแก้ปัญหาอย่างธรรมชาติ แต่บนเสื้อของแดเนียลไม่มีการเปลี่ยนสีที่ค่อยเป็นค่อยไป สีเหลืองของเสื้อคลุมกลายเป็นสีเขียวในทันทีที่อยู่ในเงา ขณะที่สีม่วงมีเงาเป็นสีแดงเข้ม การใช้สีผสมเช่นนี้เรียกว่า "การใช้สีเหลือบ" (iridescent) ซึ่งพบหลายแห่งบนเพดานรวมทั้งบนถุงน่องของชายหนุ่มในโค้งพระจันทร์ครึ่งซีก "มาธาน" ซึ่งเป็นสีเขียวอ่อนและม่วงแดง

"โจนาห์" บูรณะแล้ว การใช้โทนสีที่เป็นนาฏกรรมของภาพหายไปหลังจากการทำความสะอาดและทำให้ลดความเป็นทัศนมิติของภาพลงอย่างมาก (effect of the foreshortening)

ในบางกรณีการใช้สีผสมทำให้ดูฉูดฉาดน่าเกลียด (garish) โดยเฉพาะในกรณีของภาพประกาศกดาเนียล การเปรียบเทียบระหว่างภาพที่ยังไม่ได้บูรณะและที่บูรณะแล้วทำให้เห็นได้อย่างชัดเจนว่ามีเกลันเจโลหันมาใช้คาร์บอนแบล็คภายหลังและการใช้เป็นการคิดล่วงหน้า[24] สีแดงสดที่ใช้บนเสื้อคลุมของแดเนียลและลิเบียนไม่ทำให้เกิดแสงเงาที่มีประสิทธิภาพ ในกรณีทั้งสองนี้และกรณีอื่น ๆ ก็อาจจะเป็นเพราะสีที่เห็นเป็นสีที่ตั้งใจจะให้เป็นสีภายใต้ (underpainting) ที่ตั้งใจจะให้มองทะลุสีดำบาง ๆ และด้วยเงาลึกที่ใช้สีดำจัด ซึ่งยังคงเห็นได้จากภาพประกาศกคิวเมียน การใช้สีสดที่ตัดกันสำหรับสีภายใต้ไม่ใช่วิธีที่ใช้กันทั่วไปในการเขียนจิตรกรรมฝาผนังแต่เป็นวิธีที่นิยมกันในการเขียนทั้งจิตรกรรมสีน้ำมัน และจิตรกรรมสีฝุ่นเท็มเพอราเช่นที่เห็นบนเสื้อของภาพแดเนียลและลิเบียนที่เดิมเป็นสีที่ค่อย ๆ เปลี่ยนไปกับรอยพับของเสื้อผ้าและเงา แต่รายละเอียดเหล่านี้หายไปหลังจากการบูรณะ[d]

ก่อนหน้าที่จะมีการปฏิสังขรณ์ก็เป็นที่ทราบกันอย่างไม่มีข้อสงสัยว่าเพดานเต็มไปด้วยสิ่งสกปรกที่หมักหมมมานาน แต่เมื่อได้ชมภาพเมื่อมีคราบสิ่งสกปรกต่าง ๆ ก่อนที่จะได้รับการปฏิสังขรณ์เบ็คและอาร์กิมเบาก็บรรยายว่า[21][19] ยังเป็นภาพที่มีพลังที่แสดงให้เห็นทำให้รู้สึกถึงรูปทรงอันแน่นและเป็นรูปร่าง

จิตรกรและนักเขียนชีวประวัติจอร์โจ วาซารีในหนังสือ "ชีวิตจิตรกร, ประติมากร, และสถาปนิกผู้ดีเด่น" บรรยายภาพโจนาห์ที่เห็นในกลางคริสต์ศตวรรษที่ 16 ว่า:

"จะมีใครบ้างเล่าที่จะไม่ประทับใจกับภาพสุดท้ายอันเด่นของโจนาห์? เพดานโค้งตามปกติแล้วก็จะยื่นออกมาจากโค้งของสิ่งก่อสร้างแต่ด้วยพลังของศิลปะก็ดูเหมือนจะผลักรูปของโจนาห์ที่โค้งในทางตรงกันข้ามโดยการเขียนที่ใช้แสงและเงาที่ดูเหมือนจะทำให้เพดานจะถอยร่นออกไป"[25]

รูปใหญ่ของโจนาห์มีความสำคัญเป็นอันมากต่อองค์ประกอบของภาพทั้งหมดทั้งทางด้านจิตรกรรมและทางด้านคริสต์ศาสนปรัชญาเพราะภาพที่เป็นอุปมานิทัศน์ของการคืนชีพของพระเยซู ภาพโจนาห์เขียนภายในช่องที่แล่นขึ้นมาจากกำแพงแท่นบูชาที่รองรับเพดานโค้งและเอี้ยวตัวขณะที่ตามองไปยังพระเจ้า ลักษณะการวาดแบบลักษณะลวงตา (foreshortening) ที่บรรยายในงานเขียนของวาซารีว่ายังเป็นวิธีเขียนที่ใหม่ในขณะนั้น และมามีอิทธิพลต่อจิตรกรรุ่นต่อมาเป็นอันมาก การทำความสะอาดภาพนี้ทำให้ลบร่องรอยการใช้เงาดำที่เห็นทางด้านซ้ายสุดของภาพออกไปอย่างสิ้นเชิงที่เป็นผลทำให้ภาพขาดความมีพลังของภาพเดิม และลดคุณค่าทางความกินตาลงเป็นอันมาก การลบก็รวมไปถึงปลาด้านหลังของโจนาห์และรายละเอียดของกรอบสถาปัตยกรรมรอบภาพด้วย

ตา[แก้]

การสูญเสียความลึกของภาพมิใช่เป็นเพียงประเด็นเดียวของนักวิจารณ์ติง สิ่งที่สำคัญของงานเขียนของมีเกลันเจโลในบรรดาสิ่งที่หายไปอีกอย่างหนึ่งคือการเขียนลูกตาดำ[26]

การสูญเสีย"สิ่งเล็ก ๆ น้อย ๆ" ที่ระบุโดยผู้ต่อต้านการปฏิสังขรณ์ ช่องเจสสีก่อนและหลังการปฏิสังขรณ์ ที่ลูกตาหายไปพร้อมกับตัวประกอบย่อยอื่น ๆ โดยเฉพาะบุคคลที่เป็นบรรพบุรุษ ตาของตัวแบบหลักของภาพต่าง ๆ มักจะเขียนเมื่อปูนเปียก แต่ถ้ายังไม่ได้เขียนก็จะมาเขียนเมื่อปูนแห้ง แต่ถ้าเขียนด้วยวิธีหลังก็จะถูกลบออกไปโดยผู้ปฏิสังขรณ์[26]

ลูกตาของตัวแบบเป็นองค์ประกอบสำคัญของจิตรกรรมฝาผนังที่มีชื่อเสียง เช่นในภาพ "การสร้างอาดัม" ที่อาดัมทอดสายตาไปยังพระเจ้าและพระองค์ทอดพระเนตรตรงลงมายังอาดัม และภายในอ้อมพระกรที่ปกป้อง อีฟชายตาไปยังอาดัมผู้ที่จะมาเป็นสามีในอนาคตด้วยความชื่นชม มีเกลันเจโลเขียนการมองการชายตาที่สื่อความรู้สึกให้กับตัวแบบต่าง ๆ ที่เขียนได้อย่างมีประสิทธิภาพ และส่วนใหญ่เป็นการเขียนขณะที่ปูนยังเปียกซึ่งทำให้รอดมาได้จากการปฏิสังขรณ์ แต่ดวงตาที่สื่อความรู้สึกของบางภาพก็สูญหายไป เบ้าตาของครอบครัวโซโรบาเบล (Zorobabel) ผู้เป็นข้าหลวงของยูดาห์ในโค้งพระจันทร์ครึ่งซีกก็กลวงเช่นเดียวกับบุรุษในโค้งพระจันทร์ครึ่งซีกอมินาดับ (Aminadab) แต่การลบลูกตาที่ทำให้ผู้ต่อต้านเดือดดาลมากที่สุดคือการลบลูกตาจากตัวแบบสีเขียวและขาวผู้ที่ครั้งหนึ่งเคยมองออกมาจากโค้งพระจันทร์ครึ่งซีกเจสสี (Jesse)

อาร์กิมเบากล่าวว่า:

เคยรู้สึกกันไหมว่าบางอย่างมีความอยู่ยงคงกระพันและเป็นแรงบันดาลใจอยู่ตลอดมา? สิ่งนั้นก็คือโบสถ์น้อยซิสทีนที่ปัจจุบันถูกปอกแรงบันดาลใจอันสูงส่งออกจนหมดสิ้นด้วยสารเคมี และดูไม่เหมาะกับสถานที่... หน้าที่ของผู้ปฏิสังขรณ์คือการไม่เปลี่ยนแปลงจุดประสงค์ของศิลปิน แต่นักวิทยาศาสตร์เหล่านี้ก็ดูเหมือนจะช่วยตนเองไม่ได้ ใครเล่าจะสนใจว่าโคลาลุชชิเป็นผู้พบว่ามีเกลันเจโลคือรงคจิตรกร (colorist) และสามารถอธิบายถึงแนวโน้มการใช้สีของจาโคโป ปอนตอร์โม หน้าที่ของโคลาลุชชิคือการอนุรักษ์ให้ภาพเขียนติดอยู่บนเพดานและปล่อยทิ้งไว้โดยไม่ไปแตะต้อง ในการเปรียบเทียบระหว่างภาพของบริเวณที่บูรณะแล้วและบริเวณที่ยังไม่ได้บูรณะก็เป็นสิ่งที่พิสูจน์อย่างเห็นได้ชัดว่าโคลาลุชชิลอกส่วนที่เขียนเมื่อปูนแห้งออกและทิ้งบางบริเวณอื่นไว้อย่างบาง ๆ และเป็นการพิสูจน์ให้เห็นถึงความตั้งใจที่ทำให้เกิดความเสียหายต่อบรรดาสิ่งต่าง ๆ เป็นอันมาก

— อาร์กิมเบา[19]

ริชาร์ด เซอร์รินในบทความชื่อ "ความหลอกลวงและความผิด, โบสถ์น้อยซิสทีนของโบสถ์น้อยซิสทีนของจานลุยจิ โคลาลุชชิ อภิปรายรอบสอง" กล่าวว่า:

การปฏิสังขรณ์ที่เรียกว่าการปฏิสังขรณ์อันเลิศเลอของจิตรกรรมฝาผนังโดยมีเกลันเจโลเป็นการทำลายงานจิตรกรรมโดยสิ้นเชิง สิ่งที่เราจะกล่าวต่อไปก็ไม่สามารถนำงานนี้กลับมาได้อีก แต่สิ่งที่ทำได้คือการบันทึกถึงความผิดพลาดของคณะผู้ปฏิสังขรณ์วาติกันเพื่อที่จะให้ทราบว่าเป็นสิ่งทราบกันว่าเกิดขึ้น

— ริชาร์ด เซอร์ริน[26]

สรุป[แก้]

คาร์โล เพียตราเจลิอดีตผู้อำนวยการของพิพิธภัณฑ์วาติกันกล่าวถึงการปฏิสังขรณ์ว่า: "เหมือนกับเป็นการเปิดหน้าต่างในห้องที่มืด และเห็นห้องสว่างขึ้นเพราะแสงที่สาดเข้ามา"[6] คำบรรยายของคาร์โล เพียตราเจลิพ้องกับคบรรยายของวาซาริในคริสต์ศตวรรษที่ 16 ที่บรรยายเพดานของโบสถ์น้อยซิสทีนว่า:

ไม่มีงานชิ้นใดที่สามารถเปรียบเทียบได้กับงานชิ้นนี้ในความเป็นเลิศ ...เพดานเป็นคบเพลิงแห่งศิลปะและเป็นประโยชน์อันประเมินค่ามิได้สำหรับจิตรกรทุกคน [จิตรกรรมในโบสถ์น้อยซิสทีน]บูรณะแสงให้แก่โลกที่จมอยู่ในความมืดมาเป็นเวลาหลายร้อยปี[25]

เพียตราเจลิเขียนในคำนำในหนังสือ "โบสถ์น้อยซิสทีน" ที่เขียนหลังจากการปฏิสังขรณ์ของโค้งพระจันทร์ครึ่งซีกแต่ก่อนหน้าการปฏิสังขรณ์บนเพดานสรรเสริญผู้มีความกล้าหาญในการดำเนินการปฏิสังขรณ์และไม่เพียงแต่จะกล่าวขอบคุณผู้มาเยี่ยมชมการปฏิสังขรณ์แต่ยังกับผู้ที่เป็นปฏิปักษ์ต่อโครงการด้วย เพียตราเจลิกล่าวว่าผู้ที่เป็นปฏิปักษ์มีส่วนในการทำให้ผู้ดำเนินการปฏิสังขรณ์ต้องบันทึกงานที่ทำอย่างละเอียดละออเพื่อให้เป็นหลักฐานสำหรับผู้มีความสนใจในโครงการทั้งปัจจุบันและในอนาคต[6]

ระเบียงภาพ[แก้]

พระเจ้าสร้างโลกบนเพดานหลังจากการบูรณะ[แก้]

การตัดสินครั้งสุดท้ายก่อนและหลังจากการบูรณะ[แก้]

เชิงอรรถ[แก้]

a. ^ โดยเฉพาะพระเจ้าสร้างอาดัม และขับจากสวรรค์
b. ^ การใช้สีใหม่ในบริเวณที่ได้รับความเสียหายหนักตรงกับวิธีการปฏิสังขรณ์สมัยใหม่
c. ^ ภาพดูคร่ำกว่าเพดานที่เป็นจริงเล็กน้อย
d. ^ การใช้สีแดงและน้ำตาลดำ (sepia) ในการเขียนจิตรกรรมฝาผนังเป็นวิธีที่ใช้กันบ้างแล้ว ที่มักจะใช้เมื่อเสื้อคลุมของพระเยซู หรือพระแม่มารีวาดบนปูนแห้งที่ใช้ หินลาพิส ลาซูไล (lapis lazuli) ในการทำให้เป็นสีน้ำเงินสด เช่นในงานจิตรกรรมฝาผนัง "กำเนิดพระเยซู" ของจอตโต ดี บอนโดเน และงาน "ชุบชีวิตนักบุญลาซารัส" ภายในโบสถ์น้อยสโครเวนยี
e. ^ ตามคำกล่าวของวาซาริ มีเกลันเจโลตั้งใจจะเขียนภาพบนเพดานด้วยสีอุลตรามารีนที่ทำจากหินลาพิส ลาซูไลและทองแต่ก็ไม่มีโอกาสได้กลับมาสร้างนั่งร้านขึ้นไปเขียนอีก เมื่อพระสันตะปาปาถามถึงว่าทำไมยังไม่ทำ มีเกลันเจโลก็โต้ว่าผู้ที่เป็นภาพวาดบนเพดานเป็นคนที่ไม่ร่ำรวย[25]
f. ^ "การแก้ภาพเขียน" (Pentimento) สองจุดที่สำคัญที่ทำบนเสื้อคลุมของแดเนียลมองเห็นได้ชัดก่อนที่จะมีการซ่อมแซม ที่เป็นรอบพับทางขวางบนขอบของเสื้อคลุมสีเขียวที่เขียนบนปูนแห้ง และขอบตรงใหม่ที่ค่อย ๆ เขียนด้วยสีอ่อนกว่าเพื่อให้เส้นติดต่อกัน แถบสีม่วงแคบก็เป็นงานแก้ด้วยปูนแห้งให้เป็นเสื้อที่หรูขึ้น รายละเอียดเล็ก ๆ น้อย ๆ เหล่านี้หายไปหลังจากการปฏิสังขรณ์ ซึ่งเป็นรายละเอียดที่ผู้เป็นปฏิปักษ์ต่อการปฏิสังขรณ์เช่นเบ็คตั้งข้อสังเกต

อ้างอิง[แก้]

ภาพอมินาดาบจากโค้งพระจันทร์ครึ่งซีก
  1. 1.0 1.1 John Shearman, essay The Chapel of Sixtus IV in The Sistine Chapel, ed. Massimo Giacometti, (1986) Harmony Books, ISBN 0-517-56274-X
  2. Massimo Giacometti, editor,The Sistine Chapel, (1986) Harmony Books, ISBN 051756274X
  3. University of Victoria art scholar, in the Queen's Quarterly, as quoted in: Osborne, John (11 February 1998). Robert Fulford's column about art restoration in Italy "Address of the Holy Father John Paul II at the inauguration of the restored 15th century fresco cycle in the Sistine Chapel". The Globe and Mail. สืบค้นเมื่อ 2007-09-28. {{cite news}}: ตรวจสอบค่า |url= (help)
  4. 4.00 4.01 4.02 4.03 4.04 4.05 4.06 4.07 4.08 4.09 4.10 4.11 4.12 4.13 4.14 4.15 Gianluigi Colalucci's essay, Michelangelo's Colours Rediscovered in The Sistine Chapel, ed. Massimo Giacometti. (1986) Harmony Books, ISBN 0-517-56274-X
  5. Vatican Library, Vat. Capponiano 231, f 238 and Chigiano G. III 66. f 108. as cited by Colalucci
  6. 6.0 6.1 6.2 Carlo Pietrangeli, Foreword to The Sistine Chapel, ed. Massimo Giacometti. (1986) Harmony Books, ISBN 0-517-56274-X
  7. 7.0 7.1 7.2 7.3 7.4 Fabrizio Mancinelli's essay, Michelangelo at Work in The Sistine Chapel, ed. Massimo Giacometti, (1986) Harmony Books, ISBN 0-517-56274-X
  8. "Homily preached by the Holy Father John Paul II at the mass of to celebrate the unveiling of the restorations of Michelangelo's frescoes in the Sistine Chapel". Vatican Publishing House. 8 April 1994. สืบค้นเมื่อ 2007-09-28.
  9. 9.0 9.1 "Address of the Holy Father John Paul II at the inauguration of the restored 15th century fresco cycle in the Sistine Chapel". Vatican Publishing House. 11 December 1999. สืบค้นเมื่อ 2007-09-28.
  10. Pietrangeli, Hirst and Colalucci, eds. The Sistine Chapel: A Glorious Restoration, (1994) Harry N Abrams, ISBN 0-810-98176-9
  11. Milanesi ed. Vasari, Vite... Book I, Chapter V, p.182, ed. Milanesi, Florence (1906), as cited by Colalucci.
  12. 12.0 12.1 12.2 Carrier, United Technologies, Sistine Chapel, [1] เก็บถาวร 2009-02-22 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน Retrieved on 2007-09-28. NOTE: This page is no longer available.
  13. James Beck and Michael Daley, Art Restoration, the Culture, the Business and the Scandal, W.W. Norton, 1995. ISBN 0393312976
  14. Ohlson, Kristin (Fall 2002). "Conservation Wars". Oberlin Alumni Magazine. 98 (2). สืบค้นเมื่อ 2007-09-28.
  15. Grace Glueck, Halt Urged in Work on Sistine and "Last Supper", New York Times, 1987-03-06 [2] accessed 2007-10-06
  16. Kimmelman, Michael (8 December 1991). "Finding God in a Double Foldout". The New York Times. สืบค้นเมื่อ 2007-09-28.
  17. BBC News, Sistine Chapel Restored 1999-12-11, [3] accessed 2007-10-06
  18. Andrew, Wordsworth (20 June 2000). "Have Italy's art restorers cleaned up their act?". The Independent. สืบค้นเมื่อ 2007-09-28.
  19. 19.0 19.1 19.2 19.3 19.4 19.5 19.6 Arguimbau, Peter Layne (5 October 2006). "Michelangelo's Cleaned off Sistine Chapel". Arguimbau. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2013-07-22. สืบค้นเมื่อ 2007-09-28.
  20. "อีซีออฟ" คือตราสารเคมีแรงที่ใช้ในการทำความสะอาดเตาอบ
  21. 21.0 21.1 21.2 21.3 "James Beck". ArtWatch. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2007-08-08. สืบค้นเมื่อ 2007-09-28.
  22. See reference to Colalucci's conflicting report.
  23. Colalucci refers to this opinion in his Appendix quoted above
  24. as detailed in Arguimbau's article
  25. 25.0 25.1 25.2 Giorgio Vasari, Michelangelo from Lives of the Artists,(1568) translated by George Bull, Penguin Classics, (1965) ISBN 0-14-044164-6
  26. 26.0 26.1 26.2 Serrin, Richard. "Lies and Misdemeanors, Gianluigi Colalucci's Sistine Chapel Revisted" (PDF). คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (PDF)เมื่อ 2012-07-03.

ดูเพิ่ม[แก้]

แหล่งข้อมูลอื่น[แก้]

วิกิมีเดียคอมมอนส์มีสื่อเกี่ยวกับ โบสถ์น้อยซิสทีนก่อนการปฏิสังขรณ์ วิกิมีเดียคอมมอนส์มีสื่อเกี่ยวกับ โบสถ์น้อยซิสทีนหลังการปฏิสังขรณ์