กลยุทธ์หลี่ตายแทนถาว

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
กลยุทธ์หลี่ตายแทนถาว
ผู้วางกลศึกโจโฉ
ผู้ต้องกลศึกอองเฮา
ประเภทกลยุทธ์เผชิญศึก
หลักการยอมเสียส่วนน้อย เพื่อรักษาส่วนใหญ่
สถานที่ลำหยง
ผลลัพธ์โจโฉได้ขวัญและกำลังใจของทหารทั้งหมด

กลยุทธ์หลี่ตายแทนถาว หรือ หลี่ไต้เถาเจียง (อังกฤษ: Sacrifice the plum tree to preserve the peach tree; จีน: 李代桃僵; พินอิน: Lǐ dài táo jiāng) เป็นหนึ่งในกลศึกสามก๊ก กลยุทธ์ที่มีความหมายถึงการใช้ประโยชน์จากสถานการณ์ที่เสียเปรียบในศึกสงคราม ซึ่งไม่เป็นผลดีแก่ตนเองและกองทัพ เกิดความเสียหายอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ เพื่อที่จะแปรเปลี่ยนจากสถานการณ์ที่เป็นฝ่ายเสียเปรียบให้เป็นการได้เปรียบ จำต้องยินยอมเสีย "มืด" เพื่อที่จะได้ประโยชน์จาก "สว่าง" โดยที่มาของชื่อกลยุทธ์ มาจากกวีนิพนธ์ชื่อ “ไก่ขัน” ใน “ชุมนุมกวีนิพนธ์กู่เล่อฝู่” ที่กล่าวว่า ต้นถาวเกิดที่ปากบ่อ ต้นหลี่โตเคียงมา หนอนบ่อนไชต้นถาว หลี่ตายแทนถาว ต้นไม้ยังตายแทนกัน พี่น้องไฉนไยจึงลืม [1][2][3]

การเสืยมืดเพื่อให้ได้ประโยชน์จากสว่าง หมายความถึงการจะได้ประโยชน์จากการเสียเปรียบในสถานการณ์ขับคัน จำต้องเสียสละส่วนหนึ่งส่วนใดของกองทัพหรือของตนเอง เสียค่าตอบแทนเพียงเล็กน้อยเพื่อเป็นการแลกเปลี่ยนกับชัยชนะในทุก ๆ ด้าน ตัวอย่างการนำเอากลยุทธ์หลี่ตายแทนถาวไปใช้ได้แก่โจโฉที่ยอมเสียหัวของอองเฮานายทหารชั้นผู้น้อย เพื่อแลกกับขวัญและกำลังของทหารทั้งกองทัพ[4]

ตัวอย่างกลยุทธ์[แก้]

เมื่อคราวที่โจโฉร่วมมือกับเล่าปี่ ลิโป้และซุนเซ็กในการจัดการปราบอ้วนสุดจนพ่ายแพ้ อ้วนสุดสู้ไม่ได้จึงหลบหนีไปยังลำหยง โจโฉทราบข่าวก็เตรียมกำลังทหารนำทัพไปตีลำหยงหวังกำจัดอ้วนสุดให้สิ้นซาก และมอบหมายให้เล่าปี่ ลิโป้และซุนเซ็กนำกำลังทหารไปตีโอบล้อมลำหยงทั้งสี่ด้าน เมื่อได้รับสัญญาณจากโจโฉให้นำทัพบุกเข้าโจมตีพร้อมกัน อ้วนสุดเห็นโจโฉนำทัพมายิ่งใหญ่ล้อมเมืองไว้ก็เกิดความหวาดกลัวและไม่อาจต้านทานทัพของโจโฉได้ จึงพาครอบครัวหลบหนีไปซ่อนที่ตำบลห้วยหนำโดยที่โจโฉไม่รู้ตัว

โจโฉล้อมลำหยงอยู่นานประมาณเดือนครึ่ง เสบียงอาหารเริ่มขาดแคลนทำให้ทหารเริ่มอดอยาก เกิดความระส่ำระสายในกองทัพ โจโฉจึงวางกลอุบายให้กำลังทหารและไพร่พลของตนมีใจฮึกเฮิมในการทำศึก ด้วยการยืมหัวของอองเฮา นายทหารที่มีหน้าที่รับผิดชอบในการแจกจ่ายข้าวในกองทัพ โจโฉจำใจสั่งประหารอองเฮาทั้งที่มิได้มีความผิด และประกาศในกองทัพว่าอองเฮามีโทษฐานฉ้อฉลข้าวภายในกองทัพและสั่งให้เบิกข้าวที่เหลืออยู่แจกจ่ายให้แก่ทหารจนหมด ทำให้ขวัญและกำลังใจของทหารเกิดความฮึกเฮิม กระตือรือร้นในการทำศึกและสามารถตียึดเอาเมืองลำหยงมาเป็นของตนได้สำเร็จ

ความตายของอองเฮา นายทหารชั้นผู้น้อยคนเดียวในกองทัพของโจโฉที่ถูกใช้เป็นกลอุบายในการดึงขวัญและกำลังใจของทหารกลับคืนมา เพื่อแลกกับความล่มสลายและแตกพ่ายของกองทัพ ตรงตามกลยุทธ์หลี่ตายแทนถาวที่โจโฉเลือกเสียสละส่วนหนึ่งของกองทัพเพื่อความอยู่รอดทั้งหมด และอีกครั้งที่โจโฉเลือกใช้กลยุทธ์หลี่ตายแทนถาวเพื่อเอาใจทหารในคราวนำทัพยึดเมืองลำหยงของอ้วนสุด เมื่อทราบข่าวอ้วนสุดที่หลบหนีไปห้วยหนำจึงคิดจะยกทัพตามไปตีให้สิ้นซาก แต่เมื่อโจโฉรู้ข่าวเตียวสิ้วที่คิดจะตีฮูโต๋จึงรีบนำกำลังทหารกลับฮูโต๋ทันที

ขณะนั้นอยู่ในช่วงฤดูข้าวสาลีออกรวงสุกเหลืองอร่าม โจโฉต้องการจะเอาใจราษฏรของตนจึงสั่งห้ามทหารทั้งหมดเหยียบย่ำข้าวสาลีแม้แต่ต้นเดียว หากผู้ใดฝ่าฝืนคำสั่งมีโทษประหารไม่เว้นแม้แต่แม่ทัพที่คุมกองทัพ ครั้งหนึ่งโจโฉขี่ม้าผ่านไร่สาลีของราษฏร มีนกบินตัดหน้าม้าที่โจโฉขี่ ทำให้ม้าตกใจวิ่งเตลิดเข้าไปเหยียบย่ำข้าวสาลีในไร่จนหักเสียหายเป็นจำนวนมาก โจโฉนึกถึงคำสั่งของตนเองที่กำหนดโทษประหารผู้ที่เหยียบย่ำข้าวสาลีของราษฎร ครั้นเห็นจะไม่ปฏิบัติตามคำสั่งตนก็เกรงจะไม่ได้รับการนับถือสืบต่อไป จึงวางกลอุบายชักกระบี่ออกจากฝักเพื่อเชือดคอตนเองตามคำที่ได้ลั่นวาจาไว้ แม่ทัพและทหารทั้งหลายจึงห้ามปรามไม่ให้โจโฉเชือดคอตนเอง โจโฉจึงตัดผมตนเองเป็นการลงโทษ แม่ทัพและทหารทั้งหมดจึงสรรเสริญโจโฉที่ตั้งตนเองอยู่ในสัตยธรรมตามคำที่ได้ลั่นวาจาไว้ กลยุทธ์หลี่ตายแทนถาวหรือหลี่ไต้เถาเจียงของโจโฉ ก็ประสบความสำเร็จในการที่โจโฉยอมเสียผมเพียงน้อยนิด แต่ได้ใจของแม่ทัพและทหารในกองทัพกลับคืนมาได้อย่างงดงาม

ดูเพิ่ม[แก้]

แหล่งข้อมูลอื่น[แก้]

  • "36 กลยุทธ์: กลยุทธ์เผชิญศึก", ไทยสามก๊ก, คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 19 กันยายน 2008

อ้างอิง[แก้]

  1. "กลยุทธ์ที่ 11 หลี่ตายแทนถาว", ไทยสามก๊ก, 12 ตุลาคม 2014
  2. กลยุทธ์เผชิญศึก กลยุทธ์ที่ 11 หลี่ตายแทนถาว, Dek-D
  3. สละต้นไหนเพื่อรักษาต้นหม่อน, 36 กลยุทธ์ผู้นำ, หวางซวนหมิง ผู้แต่ง, อำนวยชัย ปฏิพัทธ์เผ่าพงศ์ ผู้แปล, พ.ศ. 2537, ISBN 974-602-172-9
  4. หลี่ไต้เถาเจียง หลี่ตายแทนถาว, 36 กลยุทธ์ในสามก๊ก-อินไซด์สามก๊ก, กัญจน์ดามาศ โกพล, สำนักพิมพ์ดอกหญ้า, พ.ศ. 2550, หน้า 219, ISBN 978-974-690-595-4