คดีฆ่า 4 อดีตรัฐมนตรี พ.ศ. 2492

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
คดีฆ่า 4 อดีตรัฐมนตรี พ.ศ. 2492
ส่วนหนึ่งของกบฏแบ่งแยกดินแดน
ภาพหนังสือพิมพ์ 4 อดีตรัฐมนตรี
วันที่4 มีนาคม พ.ศ. 2492 (75 ปีที่แล้ว)
เวลา03.00 น.
ที่ตั้งจังหวัดพระนคร
เสียชีวิต4 คน

คดีสังหาร 4 อดีตรัฐมนตรี พ.ศ. 2492 คือการสังหารจำลอง ดาวเรือง, ถวิล อุดล, ทองเปลว ชลภูมิ, และทองอินทร์ ภูริพัฒน์ อดีตรัฐมนตรี 4 คน[1] ในสายของนายปรีดี พนมยงค์ เกิดขึ้นในเวลาดึกสงัดบนถนนสายเปลี่ยวอย่างมีเงื่อนงำ บุคคลเหล่านี้เป็นรัฐมนตรีที่เคยร่วมงานในขบวนการเสรีไทย[2]

เกิดเหตุ[แก้]

เหตุการณ์นี้เกิดขึ้นหลังจากกบฏวังหลวงยุติลงในเวลา 18.00 น. ของวันที่ 27 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2492 ฝ่ายกบฏได้ยอมแพ้และแยกย้ายกันหลบหนี ทางรัฐบาลก็ยังได้ส่งตำรวจติดตามและสังหารอยู่อย่างต่อเนื่อง เช่น พันตรี โผน อินทรทัต ถูกกระสุนปืนยิงเสียชีวิตบริเวณหน้าผาก ศพพบที่อำเภอดุสิต ในวันที่ 27 กุมภาพันธ์, พันตำรวจเอก บรรจงศักดิ์ ชีพเป็นสุข อดีตผู้บังคับการตำรวจกองบัญชาการตำรวจสันติบาล ถูกยิงเสียชีวิตหลังจากถูกจับกุม ในวันที่ 29 กุมภาพันธ์ เป็นต้น

1 มีนาคม หนังสือพิมพ์ทุกฉบับได้ลงพาดหัวแถลงการณ์ของจอมพล แปลก พิบูลสงคราม นายกรัฐมนตรี ถึงเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นว่า ได้มีกลุ่มบุคคลก่อการหวังจะยึดอำนาจการปกครองกลับคืนหลังจากการรัฐประหาร เมื่อปี พ.ศ. 2490 โดยกลุ่มบุคคลดังกล่าวได้ทำการยึดพระบรมมหาราชวังซึ่งเป็นที่ประดิษฐานของพระแก้วมรกต อันเป็นพระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์คู่บ้านคู่เมืองเป็นการกระทำที่ไม่สมควรอย่างยิ่ง โดยเปิดเผยชื่อหัวหน้าขบวนการคือปรีดี พนมยงค์ อดีตนายกรัฐมนตรี

ทางการได้ออกประกาศตามจับและให้สินบนนำจับ โดยลดหลั่นกันลงไป เช่น ปรีดี หัวหน้าขบวนการ มีรางวัลนำจับ 50,000 บาท, พลเรือตรี สังวรณ์ สุวรรณชีพ รองหัวหน้า รางวัลนำจับ 30,000 บาท เป็นต้น

สำหรับบุคคลทั้ง 4 ที่เสียชีวิต ประกอบไปด้วย ทองอินทร์ ภูริพัฒน์ อดีตผู้แทนราษฎรจังหวัดอุบลราชธานี พรรคสหชีพ และเป็นอดีตรัฐมนตรีถึง 6 สมัย, ถวิล อุดล อดีตผู้แทนราษฎรจังหวัดร้อยเอ็ด พรรคเดียวกัน เป็นอดีตรัฐมนตรีในสมัยรัฐบาลทวี บุณยเกตุ, จำลอง ดาวเรือง อดีตผู้แทนราษฎรจังหวัดมหาสารคาม พรรคเดียวกัน ถูกจับกุมตัวพร้อมกันในวันที่ 28 กุมภาพันธ์ ในสถานที่ที่ต่างกันออกไป เช่น นายถวิลถูกจับที่สโมสรราชนาวี เป็นต้น และทองเปลว ชลภูมิ อดีตผู้แทนราษฎรจังหวัดปราจีนบุรี และเลขาธิการพรรคแนวรัฐธรรมนูญ ถูกจับในวันที่ 1 มีนาคม ที่สนามบินดอนเมือง ตำรวจส่งโทรเลขเป็นรหัสไปลวงว่า การปฏิวัติสำเร็จแล้ว ให้รีบกลับมา เพราะทองเปลวได้หลบหนีไปอยู่ที่ประเทศสิงคโปร์ บุคคลทั้ง 4 นี้ล้วนแต่เป็นนักการเมืองสายของปรีดี และพลเรือตรี ถวัลย์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ ทั้งสิ้น และไม่มีชื่อในประกาศจับของทางการ ทั้งนี้ ได้มีการเปิดเผยภายหลังว่า บุคคลเหล่านี้ไม่ได้เป็นฝ่ายริเริ่มก่อการหรือเป็นแกนนำ แต่ถูกวางตัวให้เป็นผู้ร่างกฎหมายและประกาศฉบับต่าง ๆ หากการปฏิวัติสำเร็จ

ระหว่างที่ถูกควบคุมตัวอยู่นั้น ญาติของผู้ต้องหาไม่ระแวงว่าจะเกิดเหตุร้ายขึ้น เนื่องจากก่อนหน้านั้นบุคคลทั้ง 4 ก็ได้เข้า ๆ ออก ๆ เรือนจำเป็นประจำอยู่แล้วในข้อหาทางการเมืองต่าง ๆ โดยติดอยู่หนึ่งเดือนบ้าง 2 เดือนบ้างก็ถูกปล่อยตัวออกมาพบครอบครัว การถูกจับกุมในครั้งนี้ผู้ต้องหาไม่ได้รับการให้ประกันตัว

พันตำรวจเอก หลวงพิชิตธุระการ (หลง อัศวรักษ์) ผู้ควบคุมการขนย้าย 4 ผู้ต้องหา
พาดหัวข่าวหนังสือพิมพ์สยามนิกรในปี พ.ศ. 2500

ค่ำวันที่ 3 มีนาคม ตำรวจได้เคลื่อนย้ายผู้ต้องหาทั้งหมดไปไว้ที่สถานีตำรวจนครบาลบางเขน โดยอ้างเหตุความปลอดภัย ด้วยรถของตำรวจหมายเลขทะเบียน กท. 10371 โดยมี พันตำรวจเอก หลวงพิชิตธุระการ (หลง อัศวรักษ์) เป็นผู้ควบคุม โดยรับตัวทองเปลวที่สถานีตำรวจนครบาลปทุมวัน รับตัวจำลองที่สถานีตำรวจนครบาลยานนาวา รับตัวถวิลที่สถานีตำรวจนครบาลนางเลิ้ง และรับตัวทองอินทร์ที่สถานีตำรวจนครบาลสามเสน เมื่อวิ่งมาถึงหลักกิโลเมตรที่ 14 ถนนพหลโยธิน เวลาประมาณ 03.00 น. ของวันที่ 4 มีนาคม ใกล้กับมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ บางเขน ผู้ต้องหาทั้งหมดถูกยิงเสียชีวิตด้วยกระสุนร่างละไม่ต่ำกว่า 10 นัด ในสภาพที่ทุกคนยังสวมกุญแจมืออยู่ ได้ส่งศพไปชันสูตรที่โรงพยาบาลกลาง ต่อมาตำรวจแถลงว่า ในที่เกิดเหตุ กลุ่มโจรมลายูพร้อมอาวุธครบมือได้ดักซุ่มยิงเพื่อชิงตัวผู้ต้องหา และปะทะกับตำรวจ แต่เป็นที่น่าสังเกตว่า ตำรวจทั้งหมดราว 20 นายไม่มีใครได้รับบาดเจ็บหรือเสียชีวิตเลย

ญาติของผู้ต้องหากว่าจะทราบเรื่องการเสียชีวิต ก็เมื่อได้ไปเยี่ยมที่สถานีตำรวจเดิมที่คุมขังแล้วไม่พบตัว ต้องไปตามหาตามที่ต่าง ๆ เช่น วังปารุสกวัน ซึ่งในขณะนั้นเป็นกองบัญชาการตำรวจนครบาล และได้รับคำบอกต่อให้ไปดูที่โรงพยาบาลกลาง จึงได้ทราบเรื่อง

ศพของทั้งหมดอยู่ตั้งบำเพ็ญกุศลที่วัดมกุฏกษัตริยาราม กระนั้นในงานศพก็ยังมีตำรวจสายสืบและสันติบาลมาติดตามเฝ้าดูความเคลื่อนไหวของผู้ที่เข้าร่วมงานศพอยู่เสมอ

จากความผิดปกติในครั้งนี้ ทำให้สังคมโดยทั่วไปไม่เชื่อว่าทั้งหมดเสียชีวิตเพราะถูกกระสุนของโจรมลายูจริง แต่เชื่อว่า เป็นการกระทำของตำรวจเองภายใต้การบัญชาการของพลตำรวจเอก เผ่า ศรียานนท์ ซึ่งเป็นผู้มีบทบาทอย่างมากในการปราบกบฏและมีตำแหน่งเป็นรองอธิบดีกรมตำรวจในเวลานั้น

หลังจากนั้นไม่นาน มีการฆาตกรรมนักการเมืองและบุคคลฝ่ายที่รัฐบาลเห็นว่าเป็นผู้ที่อยู่ตรงข้ามอย่างต่อเนื่องเป็นเวลาหลายปี เช่น เตียง ศิริขันธ์, หะยีสุหรง อับดุลกาเดร์, อารีย์ ลีวีระ เป็นต้น

การดำเนินคดี[แก้]

คดีนี้ได้ถูกรื้อฟื้นและตัดสินอย่างจริงจังหลังจอมพล สฤษดิ์ ธนะรัชต์ ก่อรัฐประหารในปี พ.ศ. 2500 ศาลดำเนินคดีในปี พ.ศ. 2502 พบผู้ต้องหา 5 ราย ได้แก่ พลตำรวจจัตวา ผาด ตุงคะสมิต, พลตำรวจจัตวา ทม จิตรวิมล, ร้อยตำรวจโท จำรัส ยิ้มละมัย, ร้อยตำรวจโท ธนู พุกใจดี และสิบตำรวจเอก แนบ นิ่มรัตน์ ศาลพิพากษาในปี พ.ศ. 2504 จำคุกผู้ต้องหา 3 รายตลอดชีวิต คือ พลตำรวจจัตวา ผาด, พลตำรวจจัตวา ทม, และสิบตำรวจเอก แนบ ส่วนร้อยตำรวจโท จำรัส และร้อยตำรวจโท ธนู ศาลได้ยกฟ้อง แต่กระนั้น ก็ยังมีความเชื่อว่า ผู้ต้องหาเหล่านี้ไม่ได้เป็นผู้ต้องหาตัวจริง อีกทั้งยังมีการช่วยเหลือและไม่จริงใจในการดำเนินคดีอีกด้วย ทั้งนี้ เพราะมีผู้ต้องหาหลายคนที่เคยเป็นทหารและตำรวจในสังกัดของจอมพล แปลก มาก่อน ซึ่งจอมพลสฤษดิ์ก็ต้องการให้ทหารและตำรวจเหล่านี้ค้ำจุนอำนาจไว้

ในหนังสือ 13 ปี กับบุรุษเหล็กแห่งเอเซีย ของ พันตำรวจเอก พุฒ บูรณสมภพ นายตำรวจคนสนิทของพลตำรวจเอก เผ่า ซึ่งอยู่ในที่เกิดเหตุ แต่ไม่ทราบว่าจะเกิดเหตุขึ้น ตอนหนึ่งได้บันทึกถึงคดีนี้ว่า ผู้ต้องหาทั้งหมดไม่ได้เป็นผู้กระทำผิด ยิ่งโดยเฉพาะ สิบตำรวจเอก แนบ เป็นเพียงนายตำรวจชั้นผู้น้อยที่ไม่ได้อยู่ในที่เกิดเหตุและไม่รู้จักกับผู้ต้องหาคนอื่น ๆ ด้วยซ้ำ ซึ่งตน (พันตำรวจเอก พุฒ) ทราบว่า ผู้ลงมือสังหารจริง ๆ คือใคร แต่ไม่ขอเปิดเผย แต่การกระทำแบบนี้ต้องใช้การประชุมในขั้นสูง และที่ประชุมต้องตัดสินร่วมกันว่าต้องใช้วิธีเด็ดขาด นั่นคือใช้วิธีการที่เรียกว่า Eliminate คือการลบให้หายจากบัญชีพลเมืองของโลกไปเลย

อ้างอิง[แก้]

  1. การสังหาร 4 รัฐมนตรี: คดีการเมืองสะเทือนขวัญของไทย
  2. สถาบันพระปกเกล้า. นักการเมืองถิ่นจังหวัดแพร่ กรุงเทพ : สำนักวิจัยและพัฒนา สถาบันพระปกเกล้า. 2555

ดูเพิ่ม[แก้]

แหล่งข้อมูลอื่น[แก้]

  • รายการย้อนรอย ตอน คดีสังหาร 4 รัฐมนตรี - VDO
  • วินทร์ เลียววาริณประชาธิปไตยบนเส้นขนาน. กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์ดอกหญ้า, พ.ศ. 2537. หน้า หน้าที่. ISBN 974-8585-47-6
  • เพลิง ภูผา. ย้อนรอยขบวนการยึดอำนาจ ปฏิวัติเมืองไทย. กรุงเทพ : สำนักพิมพ์เครือเถา, พ.ศ. 2550. 232 หน้า. หน้า หน้าที่. ISBN 978-974-8337-16-6
  • ประสมศักดิ์ ทวีชาติ (ป.ทวีชาติ). รัฐตำรวจยุคอัศวินผยอง. กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์วันชนะ, พ.ศ. 2545. 304 หน้า. หน้า หน้าที่. ISBN 974-90614-5-4