เตียง ศิริขันธ์

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
เตียง ศิริขันธ์
ภาพเตียง ศิริขันธ์ในชุดสมาชิกรัฐสภา
รัฐมนตรี
ดำรงตำแหน่ง
31 สิงหาคม – 17 กันยายน 2488
นายกรัฐมนตรีทวี บุณยเกตุ
ดำรงตำแหน่ง
17 กันยายน 2488 – 31 มกราคม 2489
นายกรัฐมนตรีหม่อมราชวงศ์เสนีย์ ปราโมช
ดำรงตำแหน่ง
23 สิงหาคม 2489 – 10 เมษายน 2490
นายกรัฐมนตรีพลเรือตรี ถวัลย์ ธำรงนาวาสวัสดิ์
สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจากจังหวัดสกลนคร
ดำรงตำแหน่ง
พ.ศ. 2480 – 2495
ข้อมูลส่วนบุคคล
เกิด5 ธันวาคม พ.ศ. 2452
จังหวัดสกลนคร ประเทศสยาม
เสียชีวิต13 ธันวาคม พ.ศ. 2495 (43 ปี)
จังหวัดพระนคร ประเทศไทย
สาเหตุการเสียชีวิตถูกฆ่ารัดคอ[1]
ศาสนาพุทธ
พรรคการเมืองพรรคสหชีพ
การเข้าร่วม
พรรคการเมืองอื่น
เสรีไทย
คู่สมรสนิวาศน์ ศิริขันธ์
บุตร1 คน
บุพการี
  • ขุนนิเทศพาณิชย์ (บุดดี ศิริขันธ์) (บิดา)
  • อ้ม ศิริขันธ์ (มารดา)
ศิษย์เก่าคณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
อาชีพนักการเมือง

เตียง ศิริขันธ์ (5 ธันวาคม พ.ศ. 2452 – 13 ธันวาคม พ.ศ. 2495) เป็นนักการเมืองไทยฉายา "ขุนพลภูพาน" หนึ่งใน "สี่เสืออีสาน"[a][2][3] ดำรงตำแหน่งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดสกลนคร 5 สมัย[4] ตั้งแต่อายุ 28 ปี และรัฐมนตรี 3 สมัย[5] ผู้ร่วมก่อตั้งพรรคสหชีพ[6] หัวหน้าใหญ่ขบวนการเสรีไทยภาคอีสานและสกลนคร มีแนวคิดทางการเมืองที่สำคัญคือ "ข้าพเจ้าเป็นราษฎรไทย ทั้งข้าพเจ้าต้องการให้ทุก ๆ คนบนพื้นอันเป็นสยามประเทศนี้เป็นราษฎรเสมอหน้ากันหมด ปราศจากความเหลื่อมล้ำต่ำสูง ความเป็นราษฎรจึงเป็นอุดมคติที่ข้าพเจ้าบูชา"[7]

ประวัติ[แก้]

ชาติกำเนิดและครอบครัว[แก้]

เตียงกับนิวาศน์ ภริยา

เตียง ศิริขันธ์ เกิดที่บ้านในตำบลตลาด อำเภอเมืองสกลนคร เป็นบุตรลำดับที่ 6 ในจำนวน 9 ท่าน ของขุนนิเทศพาณิชย์ (บุดดี ศิริขันธ์) กรมการพิเศษเมืองสกลนคร หรือนายฮ้อยบุดดี กับนางอ้ม ศิริขันธ์ (บุตรีท้าวมหาเสนากับนางทองศรี) สมรสกับนางนิวาศน์ ศิริขันธ์ (สกุลเดิม พิชิตรณการ) ในปี พ.ศ. 2482[8] บุตรีของ ร.อ.นาถ และนางเวศ พิชิตรณการ มีบุตรด้วยกัน 1 ท่าน คือ นายวิฑูรย์ ศิริขันธ์ ร.อ.นาถ บิดาของภริยาเป็นเพื่อนสนิทกับจอมพลผิน ชุณหะวัณ ส่วนนางวิง น้องสาวนางเวส (มารดานางนิวาศน์) เป็นภริยาของบิดา พล.ต.อ.เผ่า ศรียานนท์

บุคลิกและนิสัยส่วนตัว[แก้]

เตียง ศิริขันธ์ รักการอ่านหนังสือแต่วัยเยาว์เป็นชีวิตจิตใจ เรียนหนังสือเก่งและมักเป็นที่ปรึกษาแก่มิตรสหายอย่างดี มีความรู้ภาษาอังกฤษดี อ่าน พูด และเขียนคล่อง นางนิวาศน์ ศิริขันธ์ ภริยากล่าวถึงท่านว่า "...เขาเป็นคนที่มีอุดมคติสูง จงรักภักดีต่อชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์มาตลอดชีวิต เขาเป็นคนรักลูกรักเมีย…ฉันรักเขาเพราะเขาเป็นสามีที่ดีที่สุดเท่าที่สิ่งแวดล้อมจะให้โอกาสให้เขาได้...ดิฉันทราบดีว่าพี่เตียงเป็นคนเจ้าชู้ ซึ่งก็คงเป็นธรรมดาของนักการเมืองในบรรยากาศอย่างนั้น แต่พี่เตียงจะให้เกียรติดิฉันในฐานะภรรยาของเขา ไม่ว่าเขาจะไปที่ใดหรืออยู่ต่อหน้าใคร..." สมัยศึกษาที่คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เตียง ศิริขันธ์ ชอบอ่านหนังสือชุด Everyman’s classics เฉลี่ยเดือนละ 3 เล่ม ห้องสมุดที่บ้านมีหนังสือจำนวนมากโดยเฉพาะประวัติศาสตร์และการเมืองยุโรป จิตวิทยา วิชาการศึกษา วรรณคดีอังกฤษ และสารานุกรมอังกฤษ 4 ชุด ที่ใช้บ่อยคือ Britannica และ Social sciences[9]

การศึกษา[แก้]

เตียง ศิริขันธ์ เข้าศึกษาชั้นแรกที่โรงเรียนสกลราชวิทยานุกูลจนจบระดับมัธยมต้น ศึกษาจบมัธยมกลางที่โรงเรียนอุดรพิทยานุกูล แล้วศึกษาที่โรงเรียนวัดบวรนิเวศจนจบประกาศนียบัตรประโยคครูประถม (ป.ป. เทียบมัธยมปลาย) ต่อมาได้รับทุนศึกษาต่อที่คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และได้รับประกาศนียบัตรประโยคครูมัธยมรุ่นแรกของคณะ เมื่ออายุ 22 ปี (รุ่น พ.ศ. 2473) ขณะนั้นคณะดังกล่าวยังไม่มีการศึกษาระดับปริญญา ต่อมาดำรงตำแหน่งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรใน พ.ศ. 2480 จากนั้นเข้าศึกษาต่อที่มหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมือง แต่ไม่จบเนื่องจากไม่มีเวลาศึกษาและไม่มีเวลาสอบ[10][11]

รับราชการครู[แก้]

เตียง ศิริขันธ์ เข้ารับราชการครูครั้งแรกที่โรงเรียนมัธยมหอวังใน พ.ศ. 2472 จากนั้นย้ายไปสอนที่โรงเรียนฝึกหัดครูวัดบวรนิเวศ แล้วย้ายกลับมาเป็นผู้ช่วยอาจารย์ใหญ่ที่โรงเรียนอุดรพิทยานุกูล ขณะนั้นสอนวิชาประวัติศาสตร์ ภาษาอังกฤษ ภาษาไทย พร้อมปฏิบัติหน้าที่ดูแลงานบริหารทั่วไป งานธุรการ และฝ่ายปกครองแทนอาจารย์ใหญ่คือ ม.ล.มานิจ ชุมสาย ซึ่งขณะนั้นเป็นผู้ตรวจการศึกษาภาคด้วย

บทบาททางการเมือง[แก้]

ก่อนเข้าร่วมเสรีไทยสายอีสาน[แก้]

เดิม เตียง ศิริขันธ์ เป็นบุคคลสำคัญจากขบวนการต่อสู้ทางการเมืองลาวในนาม "ลาวเสรีชน" จากนั้นได้แนะให้ไทยตั้งขบวนการ "เสรีไทย" ขึ้นตามแนวทางการต่อสู้ของขบวนการลาวเสรีชน แล้วมอบหมายให้ ม.ร.ว.เสนีย์ ปราโมช เป็นผู้บัญชาการ ต่อมา พ.ศ. 2490 (ค.ศ. 1947) เขาถูกเชิญตัวเข้ากรุงเทพฯ เพื่อเจรจาเรื่องเอกราชลาวแต่ถูกสังหารก่อน การเจรจาจึงไม่สำเร็จ[12]

สมาชิกเสรีไทย[แก้]

นายเตียง ศิริขันธ์ (คนกลาง) ในเครื่องแบบเสรีไทย กับนายทหารสัมพันธมิตร

เมื่อปรีดี พนมยงค์ จัดตั้งขบวนการเสรีไทยเพื่อต่อต้านญี่ปุ่นขึ้น เตียง ศิริขันธ์ ขณะอายุ 34 ปี เข้าร่วมขบวนการเป็นรุ่นแรกพร้อมจำกัด พลางกูร โดยรับภาระจัดตั้งเสรีไทยภาคอีสานแห่งแรกที่บ้านเกิดคือจังหวัดสกลนคร ปรีดี พนมยงค์ ส่งจำกัด พลางกูร เป็นผู้แทนขบวนการไปติดต่อกับจีน ณ เมืองจุงกิง[13] เดินทางจากไทยผ่านภาคอีสาน เตียง ศิริขันธ์ อำนวยความสะดวกโดยรอรับที่จังหวัดขอนแก่นและไปส่งที่จังหวัดนครพนมเพื่อข้ามน้ำโขงไปฝั่งลาวตัดเข้าเวียดนามต่อไปจีน ก่อนแยกทางได้รวบรวมทรัพย์สิน แหวน กำไล ของภรรยามอบติดตัวเพื่อใช้ยามขาดแคลน นับว่าฐานที่มั่นเสรีไทยภาคอีสานขณะนั้นมีคนในพื้นที่เข้าร่วมจำนวนมาก วิสุทธิ์ บุษยกุล ระบุว่า "...แต่ในเรื่องการจัดตั้งหน่วยกำลังรบภาคอีสานต่อต้านญี่ปุ่นแล้ว ครูเตียงเป็นหัวหน้าใหญ่ ทุกหน่วยที่นักการเมืองเหล่านี้ จัดตั้งขึ้นล้วนแต่อยู่ภายใต้การควบคุมของคุณครูเตียง ซึ่งจะติดต่อรับทราบนโยบายใหญ่จากท่านปรีดีอีกทีหนึ่ง..."[14]

ผลงานวิชาการ[แก้]

เตียง ศิริขันธ์ มีผลงานเขียนหนังสือชุดเพื่อนครูร่วมกับสหัส กาญจนพังคะ 5 เล่ม ได้แก่ หลักการศึกษา ประวัติการศึกษา จิตวิทยา การสอนวิชาเฉพาะ และนักการศึกษา นอกจากนี้ยังแปลหนังสือ "เอมิล" (Emile, Or Treatise on Educationของ) ของฌ็อง-ฌัก รูโซ[15] และแต่งหนังสือทางการเมืองเรื่อง "หัวใจปฏิวัติในฝรั่งเศส" ร่วมกับจำรัส สุขุมวัฒนะ โดยระบุว่า "เรื่องปฏิวัติในฝรั่งเศสนี้ชาวอารยประเทศถือว่าผู้ที่ได้รับการศึกษารักชาติเอาใจใส่ในชาติควรจะได้รู้ละเอียด เพื่อจะได้ซาบซึ้งในหลักประชาธิปไตยที่แท้จริง โดยพิจารณาในปรัชญาจากเรื่องนี้จริง ๆ"

การศาสนา[แก้]

พ.ศ. 2489 ขณะดำรงตำแหน่งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดสกลนครพร้อมด้วยพระวิมลเมธี (วันดี สิริวณฺโณ) เจ้าคณะจังหวัดสกลนคร นายเติม ศิลปี ผู้ว่าราชการจังหวัดสกลนคร และพระสงฆ์ ข้าราชการ พ่อค้า ประชาชน ประชุมพร้อมกันเป็นเอกฉันท์เพื่อสร้างพระวิหารวัดพระธาตุเชิงชุมวรวิหารขึ้นใหม่เนื่องจากหลังเก่าทรุดโทรม กรมศิลปากรเขียนแบบแปลนพระวิหารสำเร็จเมื่อ พ.ศ. 2497 เบื้องต้นใช้เงินวัด 13,516 บาทจัดซื้อศิลาแลง 4,516 ก้อน ขณะเดียวกันทางการได้บอกบุญตามอำเภอต่าง ๆ ในเขตจังหวัดสกลนครได้เงินบริจาค 40,000 บาทเศษ คณะกรรมการจัดสรรเงินบริจาคให้เตียง ศิริขันธ์ จัดจ้างทำอิฐ 300,000 ก้อน สิ้นเงิน 14,421 บาท ทางวัดแบ่งอิฐไปสร้างกำแพงวัดเกือบครึ่งหนึ่งแต่ยังไม่ได้ก่อสร้างพระวิหาร ส่วนเงินบริจาคที่เหลือทางจังหวัดเก็บรักษาไว้ 27,000 บาทเศษ[16]

ขัดแย้งกับรัฐบาลและหลังสงครามโลกครั้งที่ 2[แก้]

พ.ศ. 2487 เตียง ศิริขันธ์ และคณะแสดงตนเป็นปฏิปักษ์กับจอมพลแปลก พิบูลสงคราม ในสภาผู้แทนราษฎรอย่างเปิดเผย โดยท่านและเพื่อนสมาชิกสภาในภาคอีสานร่วมออกเสียงไม่รับร่างกฎหมายรัฐบาลติดกัน 2 ฉบับในเดือนกรกฎาคม หลวงพิบูลสงครามจำใจลาออกจากนายกรัฐมนตรี ชัยชนะทางการเมืองในรัฐสภาครั้งนี้เกิดจากการอภิปรายคัดค้านรัฐบาลเกี่ยวกับร่างพระราชบัญญัติอนุมัติพระราชกำหนดระเบียบราชการบริหารนครบาลเพชรบูรณ์ พุทธศักราช 2487 และร่างพระราชบัญญัติอนุมัติพระราชกำหนดสร้างพุทธบุรีมณฑลในบริเวณรอบพระพุทธบาท พุทธศักราช 2487 ต่อมาหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ชีวิตทางการเมืองของท่านรุ่งเรืองอย่างมากเมื่อทวี บุณยเกตุ ขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรีรอ ม.ร.ว.เสนีย์ ปราโมช กลับจากสหรัฐอเมริกามาดำรงตำแหน่ง ท่านและผู้นำเสรีไทยสายอีสานเข้าร่วมรัฐบาลโดยดำรงตำแหน่งรัฐมนตรี (ลอย) ครั้งแรก แม้รัฐบาลมีอายุสั้นแต่ได้เป็นรัฐมนตรีต่อมาในรัฐบาล ม.ร.ว.เสนีย์ ปราโมช ถึง 31 มกราคม พ.ศ. 2489 เมื่อรัฐบาลควง อภัยวงศ์ ดำรงตำแหน่งแทนก็ได้รับเลือกเป็นผู้แทนราษฎรจากการลงเลือกตั้งในเดือนมกราคม พ.ศ. 2489 หลังว่างเว้นจากการเป็นรัฐมนตรีในรัฐบาลควง อภัยวงศ์ และรัฐบาลปรีดี พนมยงค์ ถึง 23 สิงหาคม พ.ศ. 2489 หลวงธำรงนาวาสวัสดิ์ขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรี ท่านจึงกลับเข้าเป็นรัฐมนตรี (ลอย) อีกครั้งจนถึง 10 เมษายน พ.ศ. 2490 แล้วลาออกไปเป็นตัวแทนการเจรจาประนีประนอมระหว่างไทย-ฝรั่งเศสเนื่องจากสามารถใช้ภาษาอังกฤษได้ดี ต่อมารัฐบาลหลวงธำรงนาวาสวัสดิ์ถูกโค่นอำนาจจากคณะรัฐประหารในขณะที่ท่านอยู่นอกรัฐบาล วิสุทธิ์ บุษยกุล ระบุว่า "...หลังจากเกิดรัฐประหารไม่กี่วัน ครูก็ออกจากบ้านราชวิทย์ บอกว่าจะไปตั้งหลักอยู่สกลนคร.....ครูออกป่าไปหลายเดือน แล้วได้กลับมา..."[17][18]

การเสียชีวิต[แก้]

เหตุการณ์รุนแรงก่อนถูกสังหาร[แก้]

นายทองอินทร์ ภูริพัฒน์ (คนขวา) กับนายเตียง ศิริขันธ์

หลังเหตุการณ์กบฎวังหลวงถูกจับกุมซึ่งรัฐเชื่อว่าเป็นฝ่ายสนับสนุนปรีดี พนมยงค์ เป็นเหตุให้นายทองอินทร์ ภูริพัฒน์ นายถวิล อุดล และนายจำลอง ดาวเรือง ถูกจับด้วย ส่วนเตียง ศิริขันธ์ หลบหนีได้ นายถวิลคุมขังที่สถานีตำรวจนครบาลนางเลิ้ง นายจำลองคุมขังที่สถานีตำรวจยานนาวา นายทองอินทร์คุมขังสถานีตำรวจนครบาลสามเสน 3 มีนาคม พ.ศ. 2492 มีคำสั่งให้ย้ายทั้ง 3 ท่านไปคุมขังที่สถานีตำรวจนครบาลบางเขนเพื่อความปลอดภัย เวลากลางคืนตำรวจใช้รถยนต์ 3 คันเดินทางไปรับตัวพร้อมนายทองเปลว ชลภูมิ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดปราจีนบุรี อดีตรัฐมนตรีสมัย พล.ร.ต.ถวัลย์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ เพื่อไปสถานีตำรวจนครบาลบางเขนทางถนนพหลโยธินระหว่างกิโลเมตรที่ 14-15 ประมาณ 2.00 น. ของ 4 มีนาคม พ.ศ. 2492 รถตำรวจถูกยิงและทั้ง 4 ท่านถึงแก่กรรมในที่เกิดเหตุทันที นายตำรวจในเหตุการณ์อ้างว่าโจรมลายูบุกชิงตัวทั้ง 4 ท่านจึงเกิดการต่อสู้จนรถถูกกระสุนปืนจากการปะทะ แต่โจรมลายูทั้งหมดหนีไปได้และไม่ทิ้งร่องรอยใดไว้ เตียง ศิริขันธ์ บันทึกความรู้สึกระบุถึงเหตุการณ์นี้ว่า "...การตายของพวกนายทำให้เราเศร้าใจและว้าเหว่มาก…ส่วนด้านประชาชนแล้วรู้สึกว่าจะเป็นเรื่องทำลายขวัญกันอย่างรุนแรง โดยเฉพาะประชาชนชาวอีสานการตายของพวกนายมิใช่เป็นการหลู่เกียรติกันอย่างเดียว แต่เป็นการท้าทายประชาชนชาวอีสานทั้งมวล..."[19]

วาระสุดท้าย[แก้]

หลังการสังหาร 4 รัฐมนตรีเตียง ศิริขันธ์ ได้ลงสมัครรับเลือกตั้งใน พ.ศ. 2492 กลับมาดำรงตำแหน่งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและทำงานด้วยอุดมการณ์เดียวกับ 4 รัฐมนตรี พ.ศ. 2494 พรรคสหชีพถูกยุบ วันที่ 12 ธันวาคม เขาเข้าประชุมสภาที่บ้านมนังคศิลา ระหว่างนั้น พล.ต.อ. เผ่า ศรียานนท์ ได้เชิญท่านไปพบจากนั้นก็หายสาบสูญไป คำพิพากษาคดีระบุว่าระหว่างคืนวันที่ 13 ต่อเนื่องถึงวันที่ 14 ธันวาคม เตียง ศิริขันธ์ และผู้ติดตามคือ ชาญ บุนนาค, เล็ก บุนนาค, ผ่อง เขียววิจิตร (เพื่อนร่วมงานของชาญและเล็ก) และสง่า ประจักษ์วงศ์ (คนขับรถของเตียง) ถูกสังหารแล้วนำศพไปเผาเพื่อทำลายหลักฐาน[20] โดยศพถูกนำไปเผาทิ้งที่ตำบลแก่งเสี้ยน อำเภอเมือง จังหวัดกาญจนบุรี

เกี่ยวกับญาติวงศ์[แก้]

บรรพบุรุษ[แก้]

ขุนนิเทศพาณิชย์ (บุดดี ศิริขันธ์) บิดาของเตียง ศิริขันธ์ เป็นบุตรลำดับที่ 4 ของพระเสนาภักดี (ขันธ์ ศิริขันธ์) กับนางพรหมมา เตียง ศิริขันธ์ เป็นหลานลุงของรองอำมาตย์โท พระบริบาลศุภกิจ (คำสาย ศิริขันธ์) อดีตผู้พิพากษาศาลบริเวณเมืองสกลนคร นายอำเภอเมืองวาริชภูมิและเมืองไชยบุรี[21] และเป็นหลานลุงของเพียเมืองขวา (คำสอน ศิริขันธ์) อดีตกรมการเมืองสกลนคร สามีนางบัว ศิริขันธ์ ธิดาพระโคษาราช (ต้นสกุล นาถโคษา) กำนันตำบลสะพานหิน ทวดของท่านคือพระศรีวรราช บรรดาศักดิ์เดิมที่เพียสีสุวงษ์ (รี) อดีตกรมการเมืองสกลนคร กับนางที[22] บิดาของทวดคือเพียสีหาเทพ (ศรี) กรมการเมืองสกลนครชั้นผู้ใหญ่ชุดแรกสมัยเริ่มตั้งเมืองสกลนคร ตระกูลศิริขันธ์เป็นเชื้อสายเจ้านายกรมการลาวเดิมและเป็นญาติเกี่ยวดองกับกลุ่มตระกูลเจ้าเมืองสกลนครคือตระกูล พรหมสาขา ณ สกลนคร มาหลายชั่วคน[23]

พี่น้องร่วมบิดามารดา[แก้]

เตียง ศิริขันธ์ มีพี่น้องร่วมบิดามารดา 9 ท่าน คือ

  1. นางเนียม นวนมณี
  2. นายเจียม ศิริขันธ์
  3. นางบุญเทียม บำเพ็ญสิทธิ
  4. นางเที่ยง อาษาเสน
  5. นางเถียง (ถนอมสิน) ศิริขันธ์
  6. นายเตียง ศิริขันธ์
  7. นางกองแก้ว ศิริขันธ์
  8. นางคำเปลว ชื่นสำราญ
  9. เรืออากาศโท พีระ ศิริขันธ์[24]

เครื่องราชอิสริยาภรณ์[แก้]

เชิงอรรถ[แก้]

  1. ประกอบด้วยนายเตียง ศิริขันธ์ ทองอินทร์ ภูริพัฒน์ ถวิล อุดล และจำลอง ดาวเรือง

อ้างอิง[แก้]

  1. ธรรมวินทร, ปรีชา (5 ธันวาคม 2565). "นายเตียง ศิริขันธ์ ผู้นำขบวนการเสรีไทยสกลนคร". pridi.or.th. สืบค้นเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2024.
  2. ดูรายละเอียดใน ชาญวิทย์ เกษตรศิริ, ประวัติการเมืองไทย 2475-2500, พิมพ์ครั้งที่ 4, (กรุงเทพฯ: มูลนิธิโครงการตำราสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์, 2549), 348 หน้า. และ ดูรายละเอียดใน ประสมศักดิ์ ทวีชาติ (ป. ทวีชาติ), รัฐตำรวจยุคอัศวินผยอง, (กรุงเทพฯ: วันชนะ, 2545), 304 หน้า.
  3. ศรัญญู เทพสงเคราะห์, ราษฎรธิปไตย: การเมือง อำนาจ และทรงจำของ(คณะ)ราษฎร (ศิลปวัฒนธรรมฉบับพิเศษ), (กรุงเทพฯ: มติชน, 2562), หน้า (26). และ ดูรายละเอียดใน ชาญวิทย์ เกษตรศิริ และธำรงศักดิ์ เพชรเลิศอนันต์, ปรีดี พนมยงค์ และ 4 รัฐมนตรีอีสาน+1, (กรุงเทพฯ: มูลนิธิโครงการตำราสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์, 2544).
  4. ดำรงตำแหน่ง พ.ศ. 2480, 2481, 2489, 2492 และ 2495, ดู: กรมโคสนาการ, "รายชื่อสมาชิกสภาผู้แทนราสดรประเภทที่ 1 สิงหาคม 2487", ใน ประกาสตั้งผู้สำเหร็ดราชการแทนพระองค์ ตั้งนายกรัถมนตรี และ รัถมนตรี นโยบายของรัถบาลซึ่งได้รับความไว้วางใจจากสภาผู้แทนราสดร เมื่อ 3 สิงหาคม 2487 และคำปราสัยของพนะท่านพันตรีควง อภัยวงส์ นายกรัถมนตรี กล่าวแด่ประชาชนชาวไทย เมื่อ 4 สิงหาคม 2487, (พระนคร: พานิชสุภผล, 2487), หน้า 32.
  5. ชุด นรม., นายทวี บุณยเกตุ, ม.ร.ว. เสนีย์ ปราโมช, หลวงธำรงนาวาสวัสดิ์
  6. ประจวบ อัมพะเศวต, พลิกแผ่นดิน: ประวัติการเมืองไทย 24 มิถุนายน 2475-14 ตุลาคม 2516, (กรุงเทพฯ: สุขภาพใจ, 2543), หน้า 338.
  7. ไม่ปรากฏนาม, "เตียง ศิริขันธ์ (5 ธันวาคม 2452-12 ธันวาคม 2495)", ไทยอีนิวส์, (5 ธันวาคม 2553), อ้างใน เสรีราษฎร, (9 กรกฎาคม 2479), ไม่ปรากฏหน้า.
  8. วิชิตวงศ์ ณ ป้อมเพชร, ดร. (ราชบัณฑิต), ตำนานเสรีไทย, เริงไชย พุทธาโร, บรรณาธิการ, (กรุงเทพฯ: แสงดาว, 2546), หน้า 792.
  9. กษิดิศ อนันทนาธร, (16 มกราคม 2018 (2561)). "เตียง ศิริขันธ์ สามัญชนคนมีอุดมคติ", Politics, Thai Politics, Story, People [ออนไลน์]. แหล่งที่มา: Link [3 สิงหาคม 2563].
  10. กษิดิศ อนันทนาธร, (16 มกราคม 2018 (2561)). "เตียง ศิริขันธ์ สามัญชนคนมีอุดมคติ", Politics, Thai Politics, Story, People [ออนไลน์]. แหล่งที่มา: Link [3 สิงหาคม 2563].
  11. ดูรายละเอียดใน นิยม รักษาขันธ์, 2488 ครูอีสานกู้ชาติ, (สกลนคร: สถาบันราชัฏสกลนคร, 2543). และ ดูรายละเอียดใน วิสุทธ์ บุษยกุล, เตียง ศิริขันธ์ วีรชนนักประชาธิปไตย ขุนพลภูพาน, พิมพ์ครั้งที่ 2, (กรุงเทพฯ: แม่คำผาง, 2533).
  12. เอี่ยม ปางคำ, บันทึกครบรอบ 100 ปี แห่งการสูญเสียอีสาน 1893-1993=100 ปี: เตียง ศิริขันธ์ นักกู้ชาติลาว, พิมพ์ครั้งที่ 2, (Rochester, NY: ลาวเสรีชน, 1996 (2539)), หน้า 10.
  13. ดูรายละเอียดใน อภิสิทธิ์ กิจเจริญสิน, "แนวคิดและบทบาททางการเมืองของนายเตียง ศิริขันธ์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร จังหวัดสกลนคร พ.ศ. 2480-2495", วิทยานิพนธ์การศึกษามหาบัณฑิต, (สาขาประวัติศาสตร์: มหาวิทยาลัยมหาสาคาม, 2542).
  14. นรนิติ เศรษฐบุตร, ศาสตราจารย์พิเศษ และนิยม รัฐอมฤต, รองศาสตราจารย์ ดร., (2016 (2559)). "เตียง ศิริขันธ์: เสรีไทยผู้ถูกฆ่าเพราะการเมือง", ฐานข้อมูลการเมืองการปกครอง สถาบันพระปกเกล้า [ออนไลน์]. แหล่งที่มา: Link[ลิงก์เสีย] [3 สิงหาคม 2563].
  15. ดูรายละเอียดใน เตียง ศิริขันธ์, เอมิลหรือการศึกษา, (พระนคร: ศุภอักษร, 2479)., ดูรายละเอียดใน Rousseau, Jean-Jacques Rousseau, Emile, or On Education, Trans. Allan Bloom, (New York: Basic Books, 1979). และ ดูรายละเอียดใน Jimack, Peter, Rousseau: Émile, (London: Grant and Cutler, Ltd., 1983).
  16. เกรียงไกร ปริญญาพล, ดร., (19 เมษายน 2014 (2557)). "บันทึกเกี่ยวกับประวัติศาสตร์พระธาตุเชิงชุม", ภาพเก่าเล่าเรื่องเมืองสกลฯ [ออนไลน์]. แหล่งที่มา: Link อ้างใน Link [4 สิงหาคม 2563].
  17. นรนิติ เศรษฐบุตร, ศาสตราจารย์พิเศษ และนิยม รัฐอมฤต, รองศาสตราจารย์ ดร., (2016 (2559)). "เตียง ศิริขันธ์: เสรีไทยผู้ถูกฆ่าเพราะการเมือง", ฐานข้อมูลการเมืองการปกครอง สถาบันพระปกเกล้า [ออนไลน์]. แหล่งที่มา: Link[ลิงก์เสีย] [3 สิงหาคม 2563].
  18. ดูรายละเอียดใน ปรีชา ธรรมวินทร, เตียง ศิริขันธ์ ขบวนการเสรีไทยสกลนคร, (กรุงเทพฯ: แม่คำผาง, 2553.).
  19. The Isaander (นามแฝง), (4 มีนาคม ม.ป.ป.). "71 ปี เหตุสังหารรัฐมนตรีอีสานกลางกรุง: จุดจบอันน่าเศร้าของผู้เป็นปฏิปักษ์เผด็จการ", The Isaander [ออนไลน์]. แหล่งที่มา: Link [7 สิงหาคม 2563].
  20. ปรามินทร์ เครือทอง (16 พฤศจิกายน 2563). "ตำนานนักสู้ "เตียง ศิริขันธ์" จากครูหนุ่มไฟแรง สู่สี่เสืออีสาน ขุนพลหนุ่มแห่งภูพาน". ศิลปวัฒนธรรม. สืบค้นเมื่อ 13 ธันวาคม 2563. {{cite web}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= (help)
  21. เกรียงไกร ปริญญาพล และคณะ, ที่ระลึกในงานฌาปนกิจศพขุนนิเทศพานิช (บุดดี ศิริขันธ์) ณ เมรุวัดป่าสุทธาวาส จังหวัดสกลนคร วันที่ 18 กุมภาพันธ์ 2494: โครงการหนังสือดีศรี ˈ"ศิริขันธ์" เล่มที่ 3 พ่อในความทรงจำของลูก..เตียง ศิริขันธ์, (สกลนคร: สกลนครการพิมพ์, 2559), หน้า 6-7.
  22. พระศรีวรราช (รี) เป็นผู้อุทิศที่ดินและสร้างวัดศีรษะเกตุ ตำบลธาตุเชิงชุม อำเภอเมืองสกลนคร ปัจจุบันเป็นวัดประจำตระกูลศิริขันธ์
  23. เกรียงไกร ปริญญาพล, (ม.ป.ป.). "ประวัติรองอำมาตย์โท พระบริบาลศุภกิจ (คำสาย ศิริขันธ์)", ไม่ปรากฏชื่อเรื่องหลัก [ออนไลน์]. แหล่งที่มา: Link [2 สิงหาคม 2563].
  24. เกรียงไกร ปริญญาพล และคณะ, ที่ระลึกในงานฌาปนกิจศพขุนนิเทศพานิช (บุดดี ศิริขันธ์) ณ เมรุวัดป่าสุทธาวาส จังหวัดสกลนคร วันที่ 18 กุมภาพันธ์ 2494: โครงการหนังสือดีศรี ˈ"ศิริขันธ์" เล่มที่ 3 พ่อในความทรงจำของลูก..เตียง ศิริขันธ์, หน้า 8.
  25. ราชกิจจานุเบกษา, แจ้งความสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง พระราชทานเหรียญช่วยราชการเขตภายใน, เล่ม ๕๘ ตอนที่ ๐ ง หน้า ๒๙๓๘, ๑๖ กันยายน ๒๔๘๔