เอ็นเอชเค

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
บรรษัทกระจายเสียงและแพร่ภาพ
แห่งญี่ปุ่น
日本放送協会
ประเภทบรรษัท (Corporation)
อุตสาหกรรมสื่อสารมวลชน
ก่อตั้งพ.ศ. 2469
สำนักงานใหญ่เขตชิบุยะ, กรุงโตเกียว, ญี่ปุ่น
บุคลากรหลัก
ชิเกะโอะ ฟุกุชิ (Shigeo Fukuchi)
ประธานบรรษัท
ผลิตภัณฑ์สถานีวิทยุกระจายเสียง
สถานีวิทยุโทรทัศน์
และสื่อเทคโนโลยีสารสนเทศ
รายได้มาจากค่าธรรมเนียมเครื่องรับประจำปี
พนักงาน
10,333 (พ.ศ. 2562) Edit this on Wikidata
เว็บไซต์www.nhk.or.jp
nhkworld.nhk.or.jp

บรรษัทกระจายเสียงและแพร่ภาพแห่งญี่ปุ่น (ญี่ปุ่น: 日本放送協会โรมาจิNippon Hōsō Kyōkaiทับศัพท์: นิปปง โฮโซ เคียวไก) หรือ NHK เป็นองค์กรแพร่ภาพกระจายเสียงสาธารณะของรัฐบาลญี่ปุ่น มีสถานะเป็นรัฐวิสาหกิจที่อาศัยรายได้จากค่าธรรมเนียมใบอนุญาตรับชมโทรทัศน์จากผู้ชม

เอ็นเอชเคมีบริการโทรทัศน์ภาคพื้นดินสองช่อง (ช่องทั่วไปและช่องเพื่อการศึกษา), โทรทัศน์ดาวเทียมอีกสี่ช่อง (ช่อง BS1, BS Premium, BS4K และ BS8K) และเครือข่ายวิทยุกระจายเสียงอีก 3 สถานีในญี่ปุ่น นอกจากนี้ เอ็นเอ็ชเคยังมีโทรทัศน์ช่องสากลที่มีชื่อว่า NHK World-JAPAN ประกอบด้วย บริการโทรทัศน์จำนวน 2 ช่องรายการ และบริการวิทยุคลื่นสั้น 1 สถานี นอกจากนี้ ยังมีเว็บไซต์เอ็นเอชเค ที่ให้บริการข้อมูลข่าวสาร และรายการต่าง ๆ ซึ่งเป็นอีกบริการหนึ่งเช่นกัน

ประวัติ[แก้]

การถ่ายทอดเสียงทางวิทยุเป็นครั้งแรกในญี่ปุ่น เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 22 มีนาคม พ.ศ. 2468 บนยอดเขาอาตาโกะ (Atago Hill) ในนามของ สถานีวิทยุกระจายเสียงโตเกียว (ญี่ปุ่น: 東京放送局โรมาจิTōkyō Hōsō Kyōku; อังกฤษ: The Tokyo Broadcasting Station) เปิดสถานีด้วยการบรรเลงดนตรีคลาสสิกของลุดวิจ ฟาน เบโทเฟน และของศิลปินชาวญี่ปุ่น ต่อมา ในปีเดียวกัน ได้เพิ่มสถานีส่งที่เมืองโอซากะ และนาโงยะ

ในวันที่ 20 สิงหาคม พ.ศ. 2469 จึงมีการก่อตั้ง บริษัทการกระจายเสียงและแพร่ภาพแห่งญี่ปุ่น พร้อมการมอบเอกสิทธิ์ในการดำเนินกิจการกระจายเสียงแต่เพียงผู้เดียวในญี่ปุ่นขณะนั้น โดยมีที่มาจากการยุบรวมกิจการเครือข่ายสถานีวิทยุกระจายเสียงท้องถิ่นสามแห่งเข้าด้วยกัน และนำนโยบายของบรรษัทกระจายเสียงและแพร่ภาพแห่งบริเตน (บีบีซี) มาเป็นแนวทางดำเนินงาน ซึ่งมีจุดมุ่งหมายในการกระจายเสียงและแพร่ภาพ เพื่อบริการข้อมูลข่าวสารและสาระประโยชน์สู่ผู้ฟังอย่างเที่ยงตรง กล่าวคือไม่เบี่ยงเบนไปให้การสนับสนุนรัฐบาล หรือองค์กรเอกชนอื่นใด และยึดถือความคิดเห็นของผู้ฟังเป็นความสำคัญอันดับแรกสุด[1]

จากนั้น เอ็นเอชเค ขยายเครือข่ายวิทยุอีกหนึ่งสถานี เมื่อปี พ.ศ. 2474 ต่อมา เอ็นเอชเค เปิดบริการกระจายเสียงวิทยุคลื่นสั้น สำหรับผู้ฟังโพ้นทะเลขึ้น ในปี พ.ศ. 2478 ที่มีชื่อเสียงในชื่อ วิทยุญี่ปุ่น (อังกฤษ: Radio Japan) ช่วงคริสต์ทศวรรษที่ 1930-1940 เมื่อเดือนพฤศจิกายน พ.ศ. 2484 ระหว่างสงครามมหาเอเชียบูรพา เอ็นเอชเค ถ่ายทอดเสียงรายการพิเศษ ยุทธการกุหลาบโตเกียว (อังกฤษ: Tokyo Rose Wartime) ภายหลังสงครามสิ้นสุดลง ในปี พ.ศ. 2493 มีการบัญญัติกฎหมายว่าด้วยการกระจายเสียง (ญี่ปุ่น: 放送法โรมาจิHōsō Hō) ขึ้น โดยเอ็นเอชเค กลับมาเป็นองค์กรพิเศษ ที่ได้รับการสนับสนุนจากผู้ฟัง ภายใต้กฎหมายนี้

เอ็นเอชเค เริ่มออกอากาศโทรทัศน์ระบบขาวดำเป็นครั้งแรก โดยช่องโทรทัศน์ภาคปกติ เมื่อปี พ.ศ. 2496 และช่องโทรทัศน์เพื่อการศึกษา เมื่อปี พ.ศ. 2502 จากนั้นจึงปรับปรุงเป็นการออกอากาศด้วยระบบสี เมื่อปี พ.ศ. 2503 ต่อมา มีการขยายไปออกอากาศในช่องทางใหม่ๆ เพิ่มเติม คือ ช่องโทรทัศน์ระบบผ่านดาวเทียม ในช่วงคริสต์ทศวรรษที่ 1980, ช่องโทรทัศน์ภาคบริการโลก เมื่อปี พ.ศ. 2538 และระบบดิจิทัลผ่านดาวเทียม ในปี พ.ศ. 2543

เอ็นเอชเค เริ่มโครงการออกอากาศโทรทัศน์ระบบดิจิทัล โดยส่งสัญญาณขนานไปตามพื้นโลก เมื่อปี พ.ศ. 2546 ด้วยการเปิดสถานีส่งในบริเวณสามเมืองใหญ่ของญี่ปุ่น ทั้งนี้ เอ็นเอชเค วางแผนว่า จะดำเนินการครอบคลุมได้ทั่วประเทศ ภายในเดือนกรกฎาคม พ.ศ. 2554 แต่อย่างไรก็ตาม เอ็นเอชเค ได้ยกเลิกการออกอากาศโทรทัศน์ระบบแอนะล็อก ไฮ-วิชัน ผ่านดาวเทียม ไปเมื่อเดือนกันยายน พ.ศ. 2550

ปัจจุบัน (พ.ศ. 2563) เอ็นเอชเค มีบริการกระจายเสียง และแพร่ภาพภายในประเทศ ผ่าน 6 ช่องโทรทัศน์ โดยมีโทรทัศน์ภาคปกติ และโทรทัศน์เพื่อการศึกษา ที่แพร่ภาพภาคพื้นดินเป็นหลัก โทรทัศน์ดาวเทียม 4 ช่อง โดย 2 ช่องแรก จัดทำรายการที่มีความยืดหยุ่น ตามความสนใจของผู้ชมในวงกว้าง ส่วนอีก 2 ช่อง แพร่ภาพในระบบความคมชัดสูง 4K และ 8K ตามลำดับ และยังมีสถานีวิทยุ 3 แห่ง ให้บริการนำเสนอรายการข่าว, การศึกษา สาระและบันเทิงสำหรับครอบครัว เป็นต้น[1]

สถานีในการกำกับ[แก้]

บรรษัทฯ เป็นผู้ผลิตรายการ และบริหารผังรายการต่างๆ ของสถานีวิทยุและสถานีโทรทัศน์เหล่านี้ทั้งหมด ตลอดเวลา 24 ชั่วโมง ของการออกอากาศ

  • สถานีวิทยุระบบ AM 594 KHz (NHK R1) และ AM 693 KHz (NHK R2)
  • สถานีวิทยุระบบ FM 82.5 MHz (NHK FM)
  • สถานีโทรทัศน์ระดับชาติ ระบบยูเอชเอฟ ช่อง 27 (NHK G รีโมตหมายเลข 1 ภาคดิจิตอล[note 1])
  • สถานีโทรทัศน์เพื่อการศึกษา ระบบยูเอชเอฟ ช่อง 26 (NHK ETV รีโมตหมายเลข 2 ภาคดิจิตอล)
  • สถานีโทรทัศน์ผ่านดาวเทียม บีเอสวัน (BS 1), และ บีเอส พรีเมียม (BS Premium)
  • สถานีโทรทัศน์ผ่านดาวเทียมความละเอียดสูงยิ่ง BS4K และ BS8K
  • สถานีวิทยุและสถานีโทรทัศน์ภาคนานาชาติ เอ็นเอชเค เวิลด์-เจแปน (NHK World-JAPAN)
  • สถานีวิทยุและสถานีโทรทัศน์ในส่วนภูมิภาค ประมาณ 130 สถานี (กล่าวคือ สถานีวิทยุทั้งระบบ AM และ FM จังหวัดละ 3 สถานี และ สถานีโทรทัศน์ระบบ UHF ภาคดิจิทัล จังหวัดละ 2 สถานี)

เอ็นเอชเคเวิลด์ เจแปน[แก้]

เอ็นเอชเค เวิลด์

เอ็นเอชเคเวิลด์ เจแปน มีวัตถุประสงค์ในการส่งเสริมให้คนทั่วโลก มีความเข้าใจในประเทศญี่ปุ่นอย่างลึกซึ้งยิ่งขึ้น รวมทั้งสนับสนุนการแลกเปลี่ยนข่าวสารหรือวัฒนธรรมกับนานาชาติ โดยนำเสนอข้อมูลที่ถูกต้อง เกี่ยวกับสถานการณ์ปัจจุบัน และนโยบายสำคัญของประเทศ รวมถึงนำเสนอข้อมูลล่าสุดของประเทศ หรือที่เป็นประโยชน์กับชีวิตประจำวัน และความปลอดภัยของชาวญี่ปุ่น ที่เดินทางไปทำงาน ท่องเที่ยว หรืออาศัยอยู่ในต่างประเทศด้วย[1]

เอ็นเอชเค เวิลด์ เปิดให้บริการจำนวน 2 ช่องโทรทัศน์ แบ่งเป็น ช่องโทรทัศน์ที่ออกอากาศในต่างประเทศ ในชื่อ เอ็นเอชเค เวิลด์ ทีวี ที่มีรายการข่าว รายการสาระ และอื่นๆ เป็นภาษาอังกฤษกว่าร้อยละ 90 และ บริการจัดสรรรายการทางโทรทัศน์สำหรับชาวญี่ปุ่นในต่างประเทศ ในชื่อ เอ็นเอชเค เวิลด์ พรีเมียม ที่สามารถเลือกรับชมรายการข่าว รายการสาระ รายการบันเทิง รายการกีฬา รายการละคร รายการศิลปวัฒนธรรม และรายการสำหรับเด็ก เป็นต้น ซึ่งทั้งหมดเป็นรายการภาษาญี่ปุ่น, 1 เครือข่ายวิทยุ ในชื่อ เอ็นเอชเค เวิลด์ เรดิโอ เจแปน โดยส่งกระจายเสียงในระบบคลื่นสั้นไปทั่วโลก เป็นภาษาญี่ปุ่น และอีก 17 ภาษาต่างประเทศ เช่น ภาษาอังกฤษ และภาษาไทย เป็นต้น, และเว็บไซต์บนเครือข่ายอินเทอร์เน็ต ในชื่อ เอ็นเอชเค เวิลด์ อินเทอร์เน็ต ที่นำเนื้อหาข่าวสารและสาระ จากรายการโทรทัศน์ที่หลากหลายของ เอ็นเอชเค เวิลด์ มาเรียบเรียงใหม่ เพื่อนำเสนอบนอินเทอร์เน็ต[1]

บริการวิทยุกระจายเสียงภาคภาษาไทย[แก้]

เมื่อปี พ.ศ. 2496 เอ็นเอชเค เริ่มเปิดให้บริการกระจายเสียงในภาคภาษาไทย ด้วยระบบคลื่นสั้นจากห้องส่งในกรุงโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น นำเสนอรายการข่าว, สาระความรู้ในเรื่องต่างๆ เช่น การเมือง เศรษฐกิจ สังคม เทคโนโลยีและสารสนเทศ เป็นต้น นอกจากนั้น ยังนำเสนอบทวิเคราะห์สถานการณ์ต่างๆ จากผู้เชี่ยวชาญ หรือนักวิจารณ์ของทางสถานีฯ, รายการบันเทิง เช่น ดนตรี โดยผู้ฟังสามารถโทรศัพท์เข้าสู่รายการ เพื่อพูดคุยกับผู้จัดรายการ และร่วมสนุกตอบคำถามกับรายการได้ด้วย นอกจากนั้น ทางรายการยังรับจดหมาย ของผู้ฟังชาวไทยและชาวลาว จากทั่วโลกอีกด้วย ต่อมา เอ็นเอชเคเชื่อมสัญญาณให้สถานีวิทยุกระจายเสียงแห่งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ร่วมส่งกระจายเสียงรายการภาคภาษาไทยของ เอ็นเอชเค โดยเริ่มตั้งแต่ปี พ.ศ. 2550[2]

ทั้งนี้ ในส่วนของเวลาและเครือข่ายในการออกอากาศ แบ่งได้เป็น การกระจายเสียงภาคเช้า ระหว่างเวลา 06:00-06:20 น. ออกอากาศทางวิทยุคลื่นสั้น ความถี่ 13650 และการกระจายเสียงภาคค่ำสองรอบ คือระหว่างเวลา 18:30 น.-19:00 น. ออกอากาศทางวิทยุคลื่นสั้น ความถี่ 11740 และระหว่างเวลา 19:30 น.-20:00 น. ออกอากาศทางวิทยุคลื่นสั้น ความถี่ 9695 และทางสถานีวิทยุระบบเอเอ็ม ความถี่ 981 กิโลเฮิร์ตซ์ ของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์[3]

อัตลักษณ์[แก้]

เชิงอรรถ[แก้]

  1. หมายเลข 3 ในบางพื้นที่

อ้างอิง[แก้]

  1. 1.0 1.1 1.2 1.3 เกี่ยวกับเอ็นเอชเค เก็บถาวร 2009-02-24 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน จากเว็บไซต์เอ็นเอชเคบริการโลกภาคภาษาไทย
  2. เกี่ยวกับการกระจายเสียงภาคภาษาไทย เก็บถาวร 2009-02-23 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน จากเว็บไซต์เอ็นเอชเคบริการโลกภาคภาษาไทย
  3. ตารางรายการและความถี่วิทยุ เก็บถาวร 2009-02-23 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน จากเว็บไซต์เอ็นเอชเคบริการโลกภาคภาษาไทย

แหล่งข้อมูลอื่น[แก้]