ข้ามไปเนื้อหา

สิทธิชัย โภไคยอุดม

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
สิทธิชัย โภไคยอุดม
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร
ดำรงตำแหน่ง
9 ตุลาคม พ.ศ. 2549 – 30 กันยายน พ.ศ. 2550
นายกรัฐมนตรีพลเอกสุรยุทธ์ จุลานนท์
ก่อนหน้าสรอรรถ กลิ่นประทุม
ถัดไปมั่น พัธโนทัย
ข้อมูลส่วนบุคคล
เกิด10 พฤศจิกายน พ.ศ. 2491 (76 ปี)
จังหวัดนครราชสีมา ประเทศไทย
ศาสนาพุทธ
คู่สมรสพรพรรณ โภไคยอุดม

ศาสตราจารย์ สิทธิชัย โภไคยอุดม นักการเมืองและนักวิชาการชาวไทย อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร ในรัฐบาลพลเอกสุรยุทธ์ จุลานนท์[1] ซึ่งเข้ารับตำแหน่งโดยการแต่งตั้งของคณะรัฐประหาร ตั้งแต่วันที่ 9 ตุลาคม พ.ศ. 2549 ถึงวันที่ 30 กันยายน พ.ศ. 2550 ศ.ดร.สิทธิชัย โภไคยอุดมก่อนหน้าที่จะดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีฯ ได้รับตำแหน่งอธิการบดีของมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีมหานคร

ประวัติ

[แก้]

สิทธิชัย โภไคยอุดม เกิดเมื่อวันที่ 10 พฤศจิกายน พ.ศ. 2491 เป็นชาวนครราชสีมา [2] ศึกษาชั้นประถมศึกษาและมัธยมศึกษาตอนต้นที่โรงเรียนศิริวิทยากร จากนั้นจึงเข้าศึกษาต่อในกรุงเทพมหานครที่โรงเรียนเซนต์จอห์น ระหว่างที่ศึกษาที่โรงเรียนโรงเรียนเซนต์จอห์นได้รับทุน American Field Service Scholarship เพื่อไปศึกษาชั้นปี 12 ที่ โรงเรียนไฮสคูลเบลแอร์ ในเมืองเบลแอร์ ที่ตั้งอยู่ใน เคาน์ตีฮาร์ฟอร์ด รัฐแมริแลนด์ ในสหรัฐอเมริกา อีกทั้ง สิทธิชัย ยังเป็นสมาชิกของ National Honors Society สหรัฐอเมริกา เมื่อจบการศึกษาชั้น มศ.5 จากโรงเรียนเซนต์จอห์น ได้เข้าศึกษาที่คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย อยู่ประมาณสองเดือนก็ได้ทุนไปศึกษาต่อต่างประเทศจนสำเร็จการศึกษาในระดับปริญญาตรีทางวิศวกรรมจาก มหาวิทยาลัยนิวเซาท์เวลส์ ประเทศออสเตรเลีย โดยได้เกียรตินิยมอันดับ 1 และได้ทุนการศึกษา Colombo Plan ขณะกำลังศึกษาปริญญาตรี และจบการศึกษาในระดับปริญญาเอกเกี่ยวกับ Solid State Electronics โดยขณะศึกษาได้รับทุน Dean's Scholarship ที่มหาวิทยาลัยนิวเซาท์เวลส์

สิทธิชัย เริ่มเข้ารับราชการเป็นอาจารย์ที่สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง โดยได้ตำแหน่งรองศาสตราจารย์ในปี พ.ศ. 2521 หลังจากนั้นจึงลาออกจากตำแหน่งราชการในปี พ.ศ. 2533 และได้เข้ารับตำแหน่งเป็นอธิการบดีของมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีมหานครในปีเดียวกัน [3]

นอกจากนี้ ยังดำรงตำแหน่งเป็น IEEE Fellow ในสาขา Circuits and Systems and Engineering Education ของสถาบันวิชาชีพวิศวกรไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ (Institute of Electrical and Electronics Engineers,IEEE) ซึ่งเป็นคนไทยคนแรก และคนเดียวที่ดำรงตำแหน่งนี้ [4]

ผลงานและตำแหน่ง

[แก้]

วาทะที่ถูกวิพากษ์วิจารณ์

[แก้]

มีการวิจารณ์การปฏิบัติหน้าที่ในตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารของ สิทธิชัย โภไคยอุดม ในสื่อสาธารณะทั้งของไทยและต่างประเทศ [5][6][7][8][9] โดยเฉพาะในประเด็น โอเพนซอร์ส OLPC และการกีดกันการเข้าถึงข่าวสารข้อมูล เขาปิดกั้นการเข้าถึงเว็บไซต์ยูทูบในประเทศไทย ในปี พ.ศ. 2550[10]

ซอฟต์แวร์โอเพนซอร์ส

[แก้]

เนื่องจากสิทธิชัย โภไคยอุดม ได้กล่าววิพากษ์วิจารณ์โอเพนซอร์สตามที่เป็นข่าวในเว็บหนังสือพิมพ์ [11]โดยวิพากษ์วิจารณ์ว่าซอฟต์แวร์โอเพนซอร์สส่วนมากมีคุณภาพต่ำ เพราะซอฟต์แวร์โอเพนซอร์สไม่มีทรัพย์สินทางปัญญา ทุกคนสามารถใช้ได้ และไอเดียทุกอย่างกลายเป็นของสาธารณะ นอกจากลินุกซ์แล้วซอฟต์แวร์โอเพนซอร์สส่วนมากถูกปล่อยปะละเลยไม่มีการพัฒนาและมีคุณภาพต่ำ ถ้าหากไม่มีใครทำรายได้จากซอฟต์แวร์นั้นได้ ซอฟต์แวร์โอเพนซอร์สจะไม่มีการพัฒนาและถูกปล่อยให้ล้าสมัยไป และได้ตั้งคำถามว่าในมุมมองของนักพัฒนาซอฟต์แวร์ ถ้าสามารถเขียนโค้ดได้ดี ทำไมจึงต้องแจกจ่ายซอร์สโค้ด ประเทศไทยสามารถเขียนโค้ดได้ดีโดยไม่ต้องเป็นโอเพนซอร์ส จนเป็นที่วิพากษ์วิจารณ์ทั้งในสื่อไทยและต่างประเทศ[ต้องการอ้างอิง]

เทพพิทักษ์ การุญบุญญานันท์ นักพัฒนาซอฟต์แวร์เสรี ได้แสดงความคิดเห็นการวิจารณ์ดังกล่าวลงในบล็อกส่วนตัว [12] โดยได้ตอบว่าซอฟต์แวร์โอเพนซอร์สนั้นมีลิขสิทธิเช่นกัน ไม่ใช่สมบัติของสาธารณะ โดยยกกรณีตัวอย่างของโปรแกรม thailatex ที่เป็นซอฟต์แวร์โอเพนซอร์ส เมื่อต้องการเปลี่ยนสัญญาอนุญาตต้องขออนุญาตเจ้าของซอฟต์แวร์นั้นก่อน นอกจากนั้นบุคคลสามารถทำรายได้จากซอฟต์แวร์โอเพนซอร์สได้โดยยกตัวอย่างของบริษัทเรดแฮต เทพพิทักษ์ การุญบุญญานันท์ยังได้ยกตัวอย่างหลายโปรแกรมที่ไม่ใช่ ลินุกซ์ แต่ก็มีคุณภาพดีเช่น Apache Squid ดรูปาล และอื่นๆ และยังให้เหตุผลถึงการแจกจ่ายซอร์สโด้ดของตนว่า การพัฒนาโปรแกรมแบบโอเพนซอร์สเป็นการพัฒนาแบบพึ่งพาอาศัยซึ่งกันและกัน ยิ่งไปกว่านั้นถ้าหากสามารถเขียนโปรแกรมออกมาได้ดีย่อมกล้านำออกมาให้คนอื่นดู บางคนได้แสดงความคิดเห็นกลับด้วยการเขียนจดหมายเปิดผนึกแสดงความไม่เห็นด้วยกับการวิจารณ์ในบล็อกของตัวเอง[13] อย่างไรก็ตามรศ.ดร.สิทธิชัยก็ได้ยอมรับว่าเข้าใจผิดและได้ขอโทษในเรื่องที่เกิดขึ้นแล้ว[14]

คอมพิวเตอร์ 100 เหรียญ

[แก้]

เคยมีข่าวว่าดร.สิทธิชัยคิดจะไม่ดำเนินเรื่องการจัดซื้อ OLPC หรือเครื่องคอมพิวเตอร์ราคา 100 ดอลลาร์สหรัฐ โดยให้เหตุผลว่าเหมือนของเด็กเล่น เพราะมีประสิทธิภาพต่ำและข้อจำกัดในการใช้งานโปรแกรม จึงควรจัดซื้อเครื่องที่มีความสามารถสูงกว่าแทน โดยไม่ได้คิดจะล้มโครงการคอมพิวเตอร์ราคาประหยัด[15] อย่างไรก็ตามหลังจากคณะทำงาน OLPC ในประเทศไทยเข้าชี้แจง มีข่าวตามมาว่าดร.สิทธิชัยจะสนับสนุนโครงการ OLPC แต่ไม่ใช่คนที่ตัดสินใจเรื่องนี้โดยตรง[16]

ปรับค่าบริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ขึ้น

[แก้]

ดร.สิทธิชัยต้องการปรับขึ้นค่าบริการโทรศัพท์มือถือ โดยอ้างว่าการแข่งขันด้านราคา ทำให้ประชาชนที่มีฐานะยากจนใช้โทรศัพท์มือถือมากขึ้น และต้องเสียค่าบริการ[17] แนวความคิดนี้ถูกสาธารณชนวิพากษ์วิจารณ์อย่างกว้างขวางทันที[18]

การลาออกจากตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงไอซีที

[แก้]

เมื่อวันที่ 20 กันยายน พ.ศ.​ 2550 คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ หรือ ปปช. ได้ระบุว่านายสิทธิชัยเป็นหนึ่งในสามรัฐมนตรีถือครองหุ้นในห้างหุ้นส่วนหรือบริษัทเกินกว่าร้อยละ 5 ของจำนวนหุ้นทั้งหมดที่จำหน่ายได้ ซึ่งถือเป็นการไม่ปฏิบัติตาม พ.ร.บ.การจัดการหุ้นส่วนและหุ้นของรัฐมนตรี พ.ศ. 2543 (อีกสองคนคือ นางอรนุช โอสถานนท์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ และนายอารีย์ วงศ์อารยะ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย) อย่างไรก็ตามยังมีข้อถกเถียงว่า พ.ร.บ. ดังกล่าวเป็นกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2540 ในขณะที่ช่วงเวลาที่แต่งตั้งคณะรัฐมนตรีนั้นใช้รัฐธรรมนูญชั่วคราว พ.ศ. 2549[19]

วันที่ 21 กันยายน พ.ศ. 2550 นายสิทธิชัยได้ประกาศลาออกจากตำแหน่ง โดยให้เหตุผลว่าไม่ต้องการถูกวิพากษ์วิจารณ์ และไม่ได้ปกปิดหุ้น เพียงแต่ไม่เข้าใจข้อกฎหมายอย่างชัดเจน โดยใบลาออกจะมีผลวันที่ 30 กันยายน พ.ศ. 2550[20]

เครื่องราชอิสริยาภรณ์

[แก้]

อ้างอิง

[แก้]
  1. พระบรมราชโองการ ประกาศ แต่งตั้งรัฐมนตรี (คณะรัฐมนตรี ชุดที่มี พลเอก สุรยุทธ์ จุลานนท์ เป็นนายกรัฐมนตรี)
  2. เปิดใจ "รศ.ดร.สิทธิชัย โภไคยอุดม" วิศวกรนักวิจัยระดับโลกหนึ่งเดียวในไทย[ลิงก์เสีย] จากคมชัดลึก
  3. ชีวประวัติ เก็บถาวร 2007-06-04 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน จากเว็บรัฐบาลไทย
  4. "รู้จัก "สิทธิชัย โภไคยอุดม" รมต.ไอซีทีคนใหม่". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2006-11-18. สืบค้นเมื่อ 2006-11-17.
  5. Thai IT Minister Slams Open Source ข่าวจากสแลชดอต (อังกฤษ)
  6. Open-Source condemned by Thai Minister เก็บถาวร 2007-09-30 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน ข่าวจากดิกก์ (อังกฤษ)
  7. รมว. ICT คนใหม่กับวิสัยทัศน์ต่อโอเพ่นซอร์ส ข่าวจากบล็อกนัน
  8. สนช.ติง กม.คุมเว็บไซต์อาจลิดรอนสิทธิ เก็บถาวร 2012-12-24 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน ข่าวจากผู้จัดการออนไลน์
  9. วิสัยทัศน์ ยักษ์เขียวตาเดียว ข่าวจากประชาไท
  10. สำนักข่าวThe Nation สืบค้นเมื่อ 31 สิงหาคม พ.ศ. 2550
  11. U-TURN AT ICT MINISTRY[ลิงก์เสีย] ข่าวจากบางกอกโพสต์ (อังกฤษ)
  12. MICT Vision บล็อกส่วนตัวของ เทพพิทักษ์ การุญบุญญานันท์
  13. จดหมายเปิดผนึก ถึง รมว. กระทรวง ICT เก็บถาวร 2006-12-14 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน จากบล็อกนัน
  14. ข่าวจากบล็อกนันเรื่องรายงานการเข้าพบรัฐมนตรีว่าการกระทรวง ICT
  15. สิทธิชัยกดปุ่ม คอมพ์เอื้ออาทรพันธุ์ใหม่ ผู้ผลิตผู้ค้าแนะศึกษาข้อผิดพลาดในอดีตมาเป็นบทเรียน
  16. ทีม OLPC-TH เข้าพบ รมว.ไอซีที
  17. ข่าวเกี่ยวกับแนวคิดในการปรับขึ้นค่าบริการโทรศัพท์มือถือจากไทยรัฐ
  18. ข่าวแนวคิดในการปรับขึ้นค่าบริการโทรศัพท์มือถือจากบล็อกนัน
  19. โพสต์ทูเดย์ - รมต.ขิงแก่ ถือหุ้น5% ไม่ผิด [ลิงก์เสีย]
  20. โพสต์ทูเดย์ - รมว.ไอซีที แถลงลาออก[ลิงก์เสีย]
  21. ราชกิจจานุเบกษา, ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง พระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์อันเป็นที่เชิดชูยิ่งช้างเผือกและเครื่องราชอิสริยาภรณ์อันมีเกียรติยศยิ่งมงกุฎไทย เก็บถาวร 2010-10-10 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน, เล่ม ๑๒๔ ตอนที่ ๑๘ ข หน้า ๒๙, ๕ ธันวาคม ๒๕๕๐
  22. ราชกิจจานุเบกษา, ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง พระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์ เก็บถาวร 2016-03-04 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน, เล่ม ๑๐๕ ตอนที่ ๒๐๑ ง ฉบับพิเศษ หน้า ๔๐, ๓ ธันวาคม ๒๕๓๑

แหล่งข้อมูลอื่น

[แก้]
ก่อนหน้า สิทธิชัย โภไคยอุดม ถัดไป
สรอรรถ กลิ่นประทุม
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร
(9 ตุลาคม พ.ศ. 2549 - 30 กันยายน พ.ศ. 2550)
มั่น พัธโนทัย