ข้ามไปเนื้อหา

สำนักงานบริหารและพัฒนาองค์ความรู้ (องค์การมหาชน)

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
สำนักงานบริหารและพัฒนาองค์ความรู้ (องค์การมหาชน)
Office of Knowledge Management and Development
ตราสัญลักษณ์ของสำนักงานบริหารและพัฒนาองค์ความรู้ (องค์การมหาชน)
ภาพรวมสำนักงาน
ก่อตั้ง4 พฤษภาคม พ.ศ. 2547; 20 ปีก่อน (2547-05-04)
ประเภทองค์การมหาชน
สำนักงานใหญ่69 อาคารวิทยาลัยการจัดการ มหาวิทยาลัยมหิดล ชั้น 18 ถนนวิภาวดีรังสิต แขวงสามเสนใน เขตพญาไท กรุงเทพมหานคร
งบประมาณต่อปี604,676,000 บาท
(พ.ศ. 2568)[1]
ฝ่ายบริหารสำนักงาน
  • ปรเมธี วิมลศิริ, ประธานกรรมการ
  • ทวารัฐ สูตะบุตร, ผู้อำนวยการ
  • ราเมศ พรหมเย็น, รองผู้อำนวยการ
  • อภิชาติ ประเสริฐ, รองผู้อำนวยการ
  • ว่าง, รองผู้อำนวยการ
ต้นสังกัดสำนักงานสำนักนายกรัฐมนตรี
เอกสารหลัก
เว็บไซต์เว็บไซต์ของสำนักงานบริหารและพัฒนาองค์ความรู้ (องค์การมหาชน)

สำนักงานบริหารและพัฒนาองค์ความรู้ (องค์การมหาชน) (ย่อว่า สบร. อังกฤษ: Office of Knowledge Management and Development (Public Organization); OKMD) จัดตั้งขึ้นโดยพระราชกฤษฎีกา "จัดตั้งสำนักงานบริหารพัฒนาองค์ความรู้ (องค์การมหาชน) พ.ศ. 2547" มีผลบังคับใช้เมื่อวันที่ 5 พฤษภาคม 2547 มีวัตถุประสงค์หลัก เพื่อส่งเสริมให้ประชาชนได้มีโอกาสแสวงหา พัฒนาความรู้ความสามารถเพื่อสร้างสรรค์ และพัฒนาคุณภาพความคิดของประชาชนและเยาวชนของประเทศ ทั้งนี้ สบร. ทำหน้าที่เป็นองค์กรในการผลักดันสังคมไทยให้เป็นสังคมแห่งการเรียนรู้ และใช้ความคิดสร้างสรรค์ในการนำเสนอผลงานในรูปแบบต่าง ๆ เพื่อยกระดับประเทศให้เป็นประเทศชั้นนำทั้งในภาคเศรษฐกิจ อุตสาหกรรม และสังคม

หน่วยงานในสังกัด

[แก้]

สำนักงานบริหารและพัฒนาองค์ความรู้ มีหน่วยงานในสังกัด 2 หน่วยงาน ประกอบด้วย

  • สถาบันอุทยานการเรียนรู้ หรือ สอร. (Thailand Knowledge Park : TK park) สำหรับเด็กในวัยเรียนที่พ่อแม่ต้องการปลูกฝังให้รักการอ่านและการเรียนรู้ แต่ไม่ต้องการการศึกษาแบบคร่ำเคร่ง และยังคงความสนุกสนานตามวัยเด็ก ส่วนเด็กวัยรุ่น และผู้ใหญ่ ผู้ซึ่งเป็นทั้งผู้บริโภค ผู้ผลิต และเป็นอนาคตสำคัญของระบบเศรษฐกิจไทย ต้องได้รับการบ่มเพาะความรู้ในรูปแบบที่ไม่ธรรมดา นอกเหนือจากระบบการศึกษาปกติ ให้กลายเป็นผู้ประกอบการรุ่นใหม่ที่ไล่ตามความคิดและความต้องการของผู้บริโภคของโลกได้ทัน
  • สถาบันพิพิธภัณฑ์การเรียนรู้แห่งชาติ หรือ สพร. (National Discovery Museum Institute : NDMI) เป็นพิพิธภัณฑ์แนวใหม่ที่มีปฏิสัมพันธ์กับผู้ชม และมีเวทีให้เด็กแสดงออกอย่างสร้างสรรค์ นอกจากนี้เรายังสามารถเรียนรู้เรื่องราวทางประวัติศาสตร์ของสังคมไทย โดยใช้การนำเสนอในรูปแบบใหม่

OKMD เป็นหน่วยงานกลางที่ทำหน้าที่ควบคุมการดำเนินงานให้เป็นไปตามนโยบายของคณะกรรมการบริหาร สบร. โดยทำหน้าที่จัดระบบบริหารงานภายใน ประสานแผนและงบประมาณ พัฒนายุทธศาสตร์และนโยบายการพัฒนาองค์ความรู้

ข้อมูลเพิ่มเติม

[แก้]
  • หน่วยงานในสังกัด ระยะเริ่มต้น

ในระยะเริ่มแรก ของการจัดตั้ง สบร. ประกอบด้วยหน่วยงานเฉพาะด้านทั้งสิ้น 7 หน่วยงาน ได้แก่ สำนักงานอุทยานการเรียนรู้ (สอร.) ศูนย์สร้างสรรค์งานออกแบบ (ศสบ.) สถาบันพิพิธภัณฑ์การเรียนรู้แห่งชาติ (สพร.) สถาบันวิทยาการการเรียนรู้ (สวร.) ศูนย์ส่งเสริมผู้มีความสามารถพิเศษแห่งชาติ (สมพช.) ศูนย์ความเป็นเลิศด้านชีววิทยาศาสตร์ของประเทศไทย (ศลชท.) ศูนย์ส่งเสริมและพัฒนาพลังแผ่นดินเชิงคุณธรรม (ศูนย์คุณธรรม) การควบรวมหน่วยงานเฉพาะด้าน ในปี 2550 มติคณะกรรมการบริหาร สบร. ให้ควบรวม 4 หน่วยงานเฉพาะด้าน เป็น 2 หน่วยงาน โดยควบรวม “ศูนย์ส่งเสริมผู้มีความสามารถพิเศษแห่งชาติ” กับ “สถาบันวิทยาการการเรียนรู้” เป็นสถาบันส่งเสริมอัจฉริยภาพและนวัตกรรมการเรียนรู้ (สสอน.) และ “สถาบันพิพิธภัณฑ์การเรียนรู้แห่งชาติ” กับ “ศูนย์สร้างสรรค์งานออกแบบ” เป็น “สถาบันการเรียนรู้และสร้างสรรค์ (สรส.)” ต่อมาในปี 2551 ยกเลิกการควบรวมศูนย์สร้างสรรค์งานออกแบบ และสถาบันพิพิธภัณฑ์การเรียนรู้แห่งชาติ เป็นหน่วยงานเฉพาะด้าน 2 หน่วยงานเช่นเดิม ตามมติคณะกรรมการฯ การปรับโครงสร้าง สบร. เป็นองค์การมหาชนแบบเดี่ยว ในปี 2553 ตามประกาศใช้พระราชกฤษฎีกาจัดตั้งสำนักงานบริหารและพัฒนาองค์ความรู้ (องค์การมหาชน) ฉบับที่ 2 พ.ศ. 2553 ปรับหน่วยงานเฉพาะด้านเป็นหน่วยงานภายใน นอกจากนี้ คณะกรรมการฯ มีมติยุบสถาบันส่งเสริมอัจฉริยภาพและนวัตกรรมการเรียนรู้ (สสอน.) และปรับโอนงานการส่งเสริมผู้มีความสามารถพิเศษรวมกับภารกิจของสำนักงานอุทยานการเรียนรู้ และงานการจัดการเรียนรู้ตามหลักการพัฒนาสมอง Brain-based learning รวมกับภารกิจของ สบร. ส่วนกลาง โครงสร้างของ สบร. ประกอบด้วย 5 หน่วยงานภายใน ได้แก่ (1) สำนักงานอุทยานการเรียนรู้ (สอร.) (2) ศูนย์สร้างสรรค์งานออกแบบ (ศสบ.) (3) สถาบันพิพิธภัณฑ์การเรียนรู้แห่งชาติ (สพร.) (4) ศูนย์ความเป็นเลิศด้านชีววิทยาศาสตร์ของประเทศไทย (ศลชท.) และ (5) ศูนย์ส่งเสริมและพัฒนาพลังแผ่นดินเชิงคุณธรรม (ศูนย์คุณธรรม) สบร. ส่วนกลาง และ หน่วยงานภายใน 3 หน่วยงาน ในปี 2554 หน่วยงานภายใน 2 หน่วยงาน ได้แก่ ศูนย์ความเป็นเลิศด้านชีววิทยาศาสตร์ของประเทศไทย (ศลชท.) และศูนย์ส่งเสริมและพัฒนาพลังแผ่นดินเชิงคุณธรรม ได้แยกออกเป็นองค์การมหาชนใหม่ ตามพระราชกฤษฎีกาจัดตั้งศูนย์ความเป็นเลิศด้านชีววิทยาศาสตร์ (องค์การมหาชน) วันที่ 28 พฤษภาคม 2554 และพระราชกฤษฎีกาจัดตั้งศูนย์คุณธรรม (องค์การมหาชน) วันที่ 9 มิถุนายน 2554

  • เมื่อวันที่ 17 ต.ค. 2550 คุณหญิงทิพาวดี เมฆสวรรค์ รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ได้ชี้แจงถึงกรณีเข้าร่วมประชุมกับนายอภินันท์ โปษยานนท์ ประธานคณะกรรมการ สำนักงานบริหารและพัฒนาองค์ความรู้ (สบร.) และมีมติให้ ยุบศูนย์สร้างสรรค์งานออกแบบ (TCDC) ไปควบรวมกับ สถาบันพิพิธภัณฑ์การเรียนรู้แห่งชาติ (NDMI) ว่า เป็นนโยบายของตนที่ต้องการปรับการบริหารจัดการหน่วยงานที่อยู่ภายใต้ สบร.ที่มี 7 หน่วยงาน ให้มีประสิทธิภาพและใช้งบประมาณคุ้มค่ามากขึ้นจึงให้นโยบายว่าต้องควบรวมให้เหลือ 4 หน่วยงาน ซึ่งในครั้งนี้ก็ได้มีการควบรวม สถาบันวิทยาการเรียนรู้ (NBL) กับศูนย์ส่งเสริมผู้มีความสามารถพิเศษ (NGT) และต่อไปจะให้ศูนย์คุณธรรมไปสังกัดกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ อีกด้วย [2]
  • การปรับปรุงโครงสร้างภายในเหลือ 5 หน่วยงานภายในนั้น ได้ประกาศใช้เมื่อวันที่ 1 ตุลาคม พ.ศ. 2552
  • ต่อมาในปี พ.ศ. 2554 ได้มีการยกฐานะศูนย์ความเป็นเลิศด้านชีววิทยาศาสตร์ของประเทศไทย จัดตั้งขึ้นเป็นองค์การมหาชนภายใต้การกำกับดูแลของกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มีชื่อว่า "ศูนย์ความเป็นเลิศด้านชีววิทยาศาสตร์ (องค์การมหาชน)"[3] และยกฐานะศูนย์ส่งเสริมและพัฒนาพลังแผ่นดินเชิงคุณธรรม จัดตั้งขึ้นเป็นองค์การมหาชน ภายใต้การกำกับดูแลของกระทรวงวัฒนธรรม มีชื่อว่า "ศูนย์คุณธรรม (องค์การมหาชน)[4]

อ้างอิง

[แก้]

แหล่งข้อมูลอื่น

[แก้]