ศูนย์วิทยาศาสตร์ฮาลาล จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี

ศูนย์วิทยาศาสตร์ฮาลาล จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เริ่มต้นโดย ดร.วินัย ดะห์ลัน ในเดือนมกราคม พ.ศ. 2538 ในรูปห้องปฏิบัติการวิทยาศาสตร์ขนาดเล็กในคณะสหเวชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โดยพัฒนางานด้านนิติวิทยาศาสตร์ฮาลาลขึ้นเพื่อคุ้มครองผู้บริโภคทั้งมุสลิมและมิใช่มุสลิม ขยายตัวเติบโตขึ้นเป็นลำดับ ได้รับการประกาศเกียรติคุณว่าเป็นหน่วยงานด้านวิทยาศาสตร์ฮาลาลแห่งแรกในโลก[ต้องการอ้างอิง]

เหตุการณ์สำคัญ[แก้]

  • พ.ศ. 2538 ดร.วินัย ดะห์ลัน จัดตั้งห้องปฏิบัติการวิทยาศาสตร์ฮาลาลขึ้นในคณะสหเวชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ดำเนินงานด้านการคุ้มครองผู้บริโภคผลิตภัณฑ์อาหารฮาลาล
  • พ.ศ. 2541 ได้รับมอบหมายจากคณะทำงานเฉพาะกิจด้านแนวทางฮาลาล องค์การอาเซียน จัดตั้งศูนย์ฝึกอบรมด้านวิทยาศาสตร์ฮาลาลอาเซียนขึ้นใน[[คณะสหเวชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
  • พ.ศ. 2546 13 สิงหาคม – ได้รับอนุมัติงบประมาณ 2547-49 จัดตั้ง “ห้องปฏิบัติการกลางวิทยาศาสตร์อาหารฮาลาล” ตามมติคณะรัฐมนตรี ผ่านคณะกรรมการพัฒนาอุตสาหกรรมอาหารฮาลาล
  • พ.ศ. 2547 ธันวาคม - จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยอนุมัติการจัดตั้ง “ศูนย์วิทยาศาสตร์ฮาลาล จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย” แยกออกจากคณะสหเวชศาสตร์
  • พ.ศ. 2549 ได้รับมอบหมายจากสำนักงานคณะกรรมการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติให้เป็นเลขานุการคณะทำงานด้านผลิตภัณฑ์และบริการฮาลาล แผนงานความร่วมมือทางเศรษฐกิจสามฝ่ายอินโดนีเซีย-มาเลเซีย-ไทย (IMT-GT)
  • พ.ศ. 2552
    • มีนาคม - จัดตั้งศูนย์วิทยาศาสตร์ฮาลาล จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย สำนักงานปัตตานี รับผิดชอบงานในพื้นที่ห้าจังหวัดชายแดนภาคใต้ และ IMT-GT
    • มิถุนายน – รับรางวัล Recognition Award for Halal Achievement จากฟิลิปปินส์
    • กันยายน - ดร.วินัย ดะห์ลัน ได้รับพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์ เหรียญดุษฎีมาลา เข็มศิลปวิทยา สาขาวิทยาศาสตร์ เป็นเกียรติยศสูงสุดจากความทุ่มเทพัฒนาวิทยาการโดยเฉพาะอย่างยิ่งสาขาวิทยาศาสตร์ฮาลาลให้กับสังคมและประเทศ
  • พ.ศ. 2554 เมษายน - รับรางวัลวิจัยชนะเลิศและรางวัลที่ 3 ในงาน World Halal Research Summit ประเทศมาเลเซีย
  • พ.ศ. 2555
    • เมษายน - รับรางวัลสุดยอดนวัตกรรมด้านโลจิสติกส์ฮาลาล ในงาน World Halal Research Summit ประเทศมาเลเซีย
    • กรกฎาคม - จัดตั้งสำนักงานเชียงใหม่ รับผิดชอบงานในพื้นที่ภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคกลางตอนบน และงานอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขง (GMS)
  • พ.ศ. 2565 - เนื่องในโอกาสครบรอบ 19 ปีศูนย์วิทยาศาสตร์ฮาลาล ดร.วินัย ดะลันห์ เปิดตัวศูนย์วิทยาศาสตร์ฮาลาล สำนักงานนครนายก “ศูนย์เรียนรู้ชุมชนด้านนวัตกรรมฮาลาล” ถ่ายทอดความรู้จากรั้วมหาวิทยาลัยสู่ชุมชม เพื่อร่วมขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทย ภายใต้เนื้อที่กว่า 4ไร่[1]

ทรัพยากร[แก้]

  • อาคารสถานที่ - ศูนย์วิทยาศาสตร์ฮาลาล ตั้งอยู่ในบริเวณจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มีพื้นที่รวม 2,000 ตารางเมตร นอกจากนี้ยังมีสำนักงานปัตตานีและสำนักงานเชียงใหม่
  • บุคลากร - บุคลากร 40 คนเป็นนักวิทยาศาสตร์ระดับคุณภาพ 20 คน ร้อยละ 90 เป็นมุสลิม
  • เครื่องมือ - ศูนย์มีห้องปฏิบัติการนิติวิทยาศาสตร์ฮาลาลที่ได้รับการรับรองมาตรฐาน ISO/IEC 17025-2005 ติดตั้งครุภัณฑ์วิทยาศาสตร์ฮาลาลที่ทันสมัยมากมาย ได้แก่ LC/MS-Triple quadrupole, LC/MS-ESI, GC/MS/MS, ICP, FTIR-HTS-XT, real time-PCR, zonal-UC, HPLC-UV, GC-FID ฯลฯ

นวัตกรรม[แก้]

  • Halal Forensic Lab - พัฒนาเทคนิคใหม่ทางห้องปฏิบัติการด้านนิติวิทยาศาสตร์ฮาลาล เช่น Porcine DNA (PCR), Fatty acid (GC/MS/MS), Porcine collagen (LC/MS-ESI)ควบคู่กับกระบวนการอื่นทางด้านนิติวิทยาศาสตร์ นวัตกรรมสาขานี้ได้รับรางวัลระดับนานาชาติปี 2554
  • HAL-Q System – เป็นระบบการบริหารจัดการเพื่อการจัดเตรียมอาหารฮาลาลปลอดภัยตามมาตรฐาน HAL-Q ขึ้น โดยได้รับรางวัลระดับนานาชาติปี 2549 และ 2554
  • NPB Kitchen – ระบบการบริหารจัดการครัว NPB (Non-pork buffered) ช่วยให้การบริหารจัดการครัวฮาลาลสะดวก เกิดแนวทางที่จะขยายครัวฮาลาลได้ง่ายขึ้น
  • SILK System – ระบบการควบคุมและบริหารจัดการโลจิสติกส์ตามแนวทางชารีอะห์ (ศาสนบัญญัติอิสลาม) โดยประยุกต์ใช้เทคโนโลยีสารสนเทศ (Shariah-compliant ICT Logistics Kontrol)การดำเนินงานตลอดห่วงโซ่อุปทานส่งผลให้เกิดระบบการทวนสอบย้อนกลับ (Traceability) ขึ้นโดยอัตโนมัติ นวัตกรรมสาขานี้ได้รับรางวัลระดับนานาชาติปี 2555
  • Najis Cleansing Liquid – ผลิตภัณฑ์ดินเหลวเพื่อการชำระล้างนญิส มีคุณสมบัติในการชำระล้างไม่ต่างจากสบู่ทั่วไป ฆ่าเชื้อได้ดี ได้รับการรับรองฮาลาลจากคณะกรรมการกลางอิสลามแห่งประเทศไทย องค์กรศาสนาอิสลามประเทศอินโดนีเซีย (MUI) และสิงคโปร์ (MUIS) และคำตัดสินเชิงศาสนาจากสำนักงานคณะกรรมการอิสลามประจำกรุงเทพมหานครว่าสามารถชำระล้างนญิสได้ทุกชนิด ผลงานจดสิทธิบัตรและตีพิมพ์ในวารสารวิชาการ International Journal of Cosmetic Science ปี 2009

แหล่งข้อมูลอื่น[แก้]

  1. admin01 (2022-08-15). "19 ปีศูนย์วิทยาศาสตร์ฮาลาล นวัตกรรมไม่รู้จบ จากมหาลัยสู่รับใช้ชุมชน". M TODAY.