พระรามราชนิเวศน์
พระรามราชนิเวศน์ | |
---|---|
ลานด้านหน้าพระรามราชนิเวศน์ | |
ชื่ออื่น | วังบ้านปืน |
ที่มา | พระราม |
ข้อมูลทั่วไป | |
สถานะ | เปลี่ยนสภาพ |
ประเภท | พระราชนิเวศน์ |
สถาปัตยกรรม | บาโรก, นวศิลป์ |
ที่ตั้ง | ตำบลคลองกระแชง อำเภอเมืองเพชรบุรี |
เมือง | เพชรบุรี |
ประเทศ | ไทย |
วางศิลาฤกษ์ | 19 สิงหาคม พ.ศ. 2453 |
เริ่มสร้าง | พ.ศ. 2453 |
แล้วเสร็จ | พ.ศ. 2459 |
พิธีเปิด | 13 มิถุนายน พ.ศ. 2461 |
ข้อมูลทางเทคนิค | |
โครงสร้าง | คอนกรีตเสริมเหล็ก |
การออกแบบและการก่อสร้าง | |
สถาปนิก | คาร์ล เดอริง |
ปัจจุบันอยู่ในความดูแลของค่ายรามราชนิเวศน์ |
พระรามราชนิเวศน์ หรือ วังบ้านปืน เป็นประทับแปรพระราชฐานที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรดเกล้าฯ ให้สร้างขึ้นเมื่อเสด็จประพาสจังหวัดเพชรบุรี ตั้งอยู่ที่ตำบลบ้านปืน ริมแม่น้ำเพชรบุรี จังหวัดเพชรบุรี โดยมีคาร์ล ดอห์ริง สถาปนิกชาวเยอรมนีเป็นผู้ออกแบบ ดร.ไบเยอร์ เป็นนายช่างก่อสร้าง พระเจ้าน้องยาเธอ กรมหมื่นดำรงราชานุภาพ (พระยศขณะนั้น) ทรงควบคุมการก่อสร้าง และสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้าบริพัตรสุขุมพันธุ์ กรมขุนนครสวรรค์วรพินิต (พระยศขณะนั้น) ทรงควบคุมด้านการไฟฟ้า
พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จพระราชดำเนินทรงวางศิลาฤกษ์ เมื่อวันที่ 19 สิงหาคม พ.ศ. 2453 แต่การก่อสร้างดำเนินได้ไม่นานก็เสด็จสวรรคต พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว จึ่งโปรดเกล้าฯ ให้ช่างสร้างต่อจนเสร็จใน พ.ศ. 2459 รวมเวลาสร้างเกือบ 7 ปี และโปรดเกล้าฯ ให้มีงานฉลองพระตำหนักวันที่ 13 มิถุนายน พ.ศ. 2461[1]
ประวัติ
[แก้]ด้วยเหตุที่ว่าพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวมีพระราชประสงค์ที่จะมีพระราชวังนอกพระนครเพื่อประทับค้างแรมได้โดยสะดวก จังหวัดเพชรบุรีที่พระองค์มีพระประสงค์จะให้เป็นพระราชวังที่ใช้ประทับยามหน้าฝน พระองค์จึงมีพระราชโครงการให้ซื้อที่ดินจากชาวบ้านที่เขตบ้านปืน ริมแม่น้ำเพชรบุรี โดยมีสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ และสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าบริพัตรสุขุมพันธุ์ กรมพระนครสวรรค์วรพินิต เป็นแม่งานควบคุมการก่อสร้าง และมีพระบัญชาให้ คาร์ล ซีกฟรีด เดอห์ริง (Karl Siegfried Dohring) ผู้เคยออกแบบ วังบางขุนพรหม วังวรดิศ และวังพระองค์เจ้าดิลกนพรัฐมาแล้ว เป็นสถาปนิกออกแบบ
นายดอห์ริงได้เลือกผู้ร่วมงานทั้งสถาปนิก วิศวกร และมัณฑนากรเป็นชาวเยอรมันทั้งสิ้น เพื่อการทำงานให้มีศิลปะเป็นแบบเดียวกันพระที่นั่งองค์นี้จึงมีรูปแบบศิลปะตะวันตกอย่างเต็มตัว ซึ่งพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวมีพระราชประสงค์ที่ต้องการพระตำหนักแบบโมเดิร์นสไตล์ สถาปนิกจึงได้ออกแบบมาในลักษณะสถาปัตยกรรมแบบเยอรมัน โดยได้แบบแผนมาจากตำหนักในพระราชวังของพระเจ้าไกเซอร์แห่งเยอรมันที่ทรงเคยประทับ
ลักษณะทางสถาปัตยกรรม
[แก้]พระที่นั่งได้ใช้ลักษณะทางสถาปัตยกรรมบาโรก (Baroque) และแบบอาร์ต นูโว (Art Nouveau) หรือที่เยอรมันเรียกว่า "จุงเกนสติล" (Jugendstil) โดยจะเน้นความทันสมัยโดยจะไม่มีลายปูนปั้นวิจิตรพิสดารเหมือนอาคารในสมัยเดียวกัน พระที่นั่งหลังนี้จะเน้นในเรื่องของความสูงของหน้าต่าง ความสูงของเพดานซึ่งกว้างเป็นพิเศษ ทำให้พระที่นั่งดูใหญ่โต โอ่อ่า สง่างาม และตระการตา
แผนผังของตัวอาคารสร้างเป็นสี่เหลี่ยมผืนผ้าล้อมสวนหย่อม มีสระน้ำพุตั้งอยู่ตรงกลาง ส่วนที่ประทับเป็นตึกสองชั้นขนาดใหญ่ หลังคาทรงสูงรูปโดม ภายในเป็นโถงสูงมีบันไดโค้งขึ้นสู่ชั้นสองซึ่งจัดเป็นจุดเด่นของอาคาร เพราะรวมสิ่งน่าชมไว้หลายหลาก ตัวอย่างเช่น เสาที่ประดับด้วยกระเบื้องเคลือบและตกแต่งด้วยโลหะ ขัดเงา เสาเหล่านี้แล่นตลอดจากพื้นจดเพดานชั้นสองและประดับด้วยกระเบื้องเขียวเข้ากันกับบริเวณโดยรอบโถงบันได ที่หัวเสาตาม ราวบันไดโค้งมีตุ๊กตากระเบื้องรูปเด็กในอิริยาบถต่าง ๆ ประดับไว้ รอบบริเวณโถงบันไดชั้นบนยังมีกรอบลูกไม้กระเบื้องเคลือบประดับตามช่องโดยรอบอีกด้วย
พระที่นั่งหลังนี้ยังมีสิ่งที่น่าชมอีกมาก กล่าวคือ การตกแต่งภายในแต่ละห้องให้มีรูปลักษณ์แตกต่าง กันไปทั้งสีสันและวัสดุที่ใช้ เช่น บริเวณโถงบันไดใช้โทนสีเขียว ห้อง เสวยใช้โทนสีเหลือง ตกแต่งช่องประตูด้วยเหล็กดัดแบบอาร์ต นูโว และประดับผนังด้วยแผ่นกระเบื้องเคลือบสีเหลืองสด ตัดกรอบด้วยกระเบื้องเขียวเป็นช่อง ๆ ตามแนวยืน โดยกระเบื้องประดับผนังมีลวด ลายนูนเป็นรูปสัตว์และพรรณพืชต่าง ๆ แทรกอยู่เป็นระยะ ๆ ห้องพระบรรทมใช้โทนสีทอง โดยตกแต่งเสาในห้องด้วยแผ่นโลหะสีทองขัดเงาดุนลาย หัวเสาเป็นภาพเขียนแจกันดอกไม้หลากสี บนพื้นครึ่งวงกลมสีทอง ดูสง่างามและมลังเมลือง
การก่อสร้างพระที่นั่งแห่งนี้ มาสำเร็จในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว เมื่อ พ.ศ. 2461 และพระราชทานนามว่า “พระที่นั่งศรเพ็ชรปราสาท” และทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานนามที่ประทับแห่งใหม่ว่า “พระรามราชนิเวศน์”[2] นอกจากนี้ พระองค์ยังโปรดเกล้าฯ ให้พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงชุมพรเขตอุดมศักดิ์ ทรงดำเนินการหล่อรูปปั้นพระนารายณ์ทรงปืนเพื่อนำมาประดิษฐานไว้ยังหน้าพระที่นั่ง (ปัจจุบัน รูปปั้นนี้ย้ายมาไว้ยังหน้าพระที่นั่งพุทไธสวรรย์ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร) แต่คนทั่วไปจะเรียกติดปากว่า "วังบ้านปืน" ตาม ชื่อเดิมของถิ่นที่อยู่นั่นเอง แม้ว่าพระรามราชนิเวศน์จะสร้างเสร็จในรัชกาลที่ 6 แต่พระองค์ก็มิได้เสด็จประพาสมายังพระราชนิเวศน์แห่งนี้บ่อยนัก จะเสด็จมาประทับเพื่อทอดพระเนตรการซ้อมเสือป่าบ้าง แต่ก็น้อยครั้งมาก วังนี้จึงเริ่มทรุดโทรมลงเรื่อย ๆ
ครั้นมาถึงรัชกาลของพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว พระองค์โปรดฯ ให้ปรับพระราชนิเวศน์แห่งนี้เป็นสถานศึกษาของเหล่าครูในแขนงวิชาชีพต่าง ๆ มาจนกระทั่งวิชาชีพเหล่านี้แข็งแกรงขึ้นจนย้ายออกไปตั้งอยู่ที่อื่นได้ พระราชนิเวศน์แห่งนี้จึงถูกปล่อยให้ทรุดโทรมลงอีกครั้ง หลังจากนั้น พระองค์โปรดเกล้าฯ ให้ใช้พระราชนิเวศน์ฯ เป็นโรงเรียนฝึกหัดครูกสิกรรม โรงเรียนฝึกหัดครูผู้กำกับลูกเสือในพระบรมราชูปถัมภ์ และโรงเรียนประถมวิสามัญหญิง จนกระทั่ง โรงเรียนเหล่านี้ย้ายออกไป พระราชวังบ้านปืนจึงถูกทิ้งให้รกร้างอีกครั้ง
ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดล เมื่อเกิดสงครามมหาเอเชียบูรพา ฝ่ายทหารได้ใช้พระราชวังนี้เป็นที่ตั้งกองบัญชาการทหาร ปัจจุบัน โปรดเกล้าฯ พระราชทานให้เป็นที่ตั้งของจังหวัดทหารบกเพชรบุรีและต่อมาได้เป็นมณฑลทหารบกที่ 15 และได้จัดเป็นพิพิธภัณฑ์ประวัติศาสตร์และศิลปะของจังหวัดเพชรบุรี โดยพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร รัชกาลที่ 9 โปรดฯ ให้ใช้พระรามราชนิเวศน์นี้เป็นหน่วยบัญชาการของทหารบก และเป็นพิพิธภัณฑ์ประวัติศาสตร์ศิลปะของจังหวัดเพชรบุรีด้วย
ระเบียงภาพ
[แก้]-
อาคารฝั่งทิศตะวันออก บริเวณทางเข้าในปัจจุบัน
-
ภาพด้านอาคารฝั่งทิศตะวันออก บริเวณทางเข้าในปัจจุบัน
-
คอร์ทใจกลางพระที่นั่ง เดิมเป็นสนามแบตมิตตัน แต่ปัจจุบันกรมศิลปากร ได้ปรับปรุงใหม่ให้เป็นสวนยุโรปแทน
-
ภาพด้านอาคารฝั่งทิศเหนือ
ดูเพิ่ม
[แก้]อ้างอิง
[แก้]- ↑ เที่ยวชม พระราชวังรามราชนิเวศน์ ( วังบ้านปืน ), http://www.thaizest.com/ .วันที่ 04/06/2562
- ↑ ราชกิจจานุเบกษา, พระบรมราชโองการ ประกาศสถาปณาที่ประทับ และค่ายหลวงบางทลุ แขวงจังหวัดเพชรบุรี, เล่ม ๓๕, ตอน ๐ก, ๑๒ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๔๖๑, หน้า ๑๐๘
- ราชกิจจานุเบกษา, กระแสพระบรมราชโองการ เขียนบรรจุศิลาพระฤกษ์, เล่ม ๒๗, ตอน ๐ ง, ๒๘ สิงหาคม พ.ศ. ๒๔๕๓, หน้า ๑๑๐๖
แหล่งข้อมูลอื่น
[แก้]- แผนที่และภาพถ่ายทางอากาศของ พระรามราชนิเวศน์
- ภาพถ่ายดาวเทียมจากวิกิแมเปีย หรือกูเกิลแมปส์
- แผนที่จากลองดูแมป หรือเฮียวีโก
- ภาพถ่ายทางอากาศจากเทอร์ราเซิร์ฟเวอร์