พระพุทธมงคลธรรมศรีไทย

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
พระพุทธมงคลธรรมศรีไทย
ชื่อเต็มพระพุทธมงคลธรรมศรีไทย
ชื่อสามัญพระหยก
ประเภทพระพุทธรูป
ศิลปะศิลปะรัตนโกสินทร์
ความกว้าง1.66 เมตร
ความสูง2.20 เมตร
วัสดุหินหยกสีเขียวบริสุทธิ์
สถานที่ประดิษฐานศาลาหลวงพ่อหยก วัดธรรมมงคลเถาบุญญนนทวิหาร เขตพระโขนง กรุงเทพมหานคร
ความสำคัญพระพุทธรูปหยกเขียวที่ใหญ่ที่สุดในโลก
พระพุทธศาสนา ส่วนหนึ่งของสารานุกรมพระพุทธศาสนา

พระหยก หรือ พระพุทธมงคลธรรมศรีไทย เป็นพระพุทธรูปหยกเขียวที่ใหญ่ที่สุดในโลก[1] สร้างจากก้อนหยกเขียวบริสุทธิ์ น้ำหนัก 32 ตัน ซึ่งขุดพบที่เมืองแวนคูเวอร์ รัฐบริติชโคลัมเบีย ประเทศแคนาดา ประดิษฐานอยู่ ณ ศาลาหลวงพ่อหยก วัดธรรมมงคลเถาบุญญนนทวิหาร เขตพระโขนง จังหวัดกรุงเทพมหานคร

พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ทรงให้พระนามว่า พระพุทธมงคลธรรมศรีไทย

พุทธลักษณะ[แก้]

พระหยก เป็นพระพุทธรูปปางสมาธิ พระพุทธรูปอยู่ในพระอิริยาบถประทับ (นั่ง) ขัดสมาธิ พระหัตถ์ทั้งสองวางหงายซ้อนกันบนพระเพลา (ตัก) พระหัตถ์ขวาทับพระหัตถ์ซ้าย พระชงฆ์ (แข้ง) ขวาทับพระชงฆ์ซ้าย มีส่วนสูง 2.20 เมตร พระเพลากว้าง 1.66 เมตร[2]

ประวัติการสร้าง[แก้]

สมเด็จพระญาณวชิโรดม (วิริยังค์ สิรินฺธโร)ปรารภว่า พระธรรมคำสอนขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้านั้นเป็นของวิเศษนับว่าเป็นแก้วรัตนมงคลของโลก เมื่อประพฤติตามแล้วก็สามารถดำเนินชีวิตไปได้อย่างเป็นระเบียบและมีความสุข เมื่อถึงขั้นอริยมรรค เขาทั้งหลายก็จะพ้นจากทุกข์ถึงซึ่งพระนิพพานในที่สุด หลวงพ่อประสงค์ให้พระพุทธศาสนานี้มีความยั่งยืนให้ยาวนานที่สุด มิใช่เพียงพัน ๆ ปี แต่ขอให้เป็นแสน ล้านปี การสร้างพระพุทธรูปที่เป็นองค์แทนองค์สมเด็จพระบรมศาสดาสัมมาสัมพุทธเจ้า แม้เป็นรูปธรรมแต่ก็มีความสำคัญเพราะเป็นสิ่งที่เห็นได้ด้วยตาเปล่า จึงเป็นสื่อที่จะนำบุคคลผู้มีความเชื่อ ความเลื่อมใสให้เข้าไปถึงนามธรรม พระพุทธรูปจะต้องมีค่าสูงและน่าอัศจรรย์ยิ่งนัก เพื่อจะเป็นศูนย์รวมของคนทั่วโลกต่อไปในอนาคต โดยคิดถึงวัตถุที่มีความคงทนและมีค่าสูงให้สมกับพระธรรมคำสอนขององค์สมเด็จพระบรมศาสดาสัมมาสัมพุทธเจ้าที่เป็นของดีของวิเศษ นับว่าเป็นแก้วรัตนมงคลของโลก วัตถุเช่นทองเหลือง ทองแดง อิฐ ปูน ทราย วัตถุเหล่านี้จะเสื่อมสลายไปตามอายุของมันในเวลาอันไม่นานนัก ท่านจึงมีความคิดว่า หยกเขียว เป็นวัตถุอันหนึ่งที่มีอายุยิ่งยืนนานเท่าไหร่ยิ่งมีค่าสูงและวัตถุนั้นมีอายุนานนับแสนนับล้าน ๆ ปีไม่มีการเสื่อมสภาพ เพื่อให้เป็นสิ่งที่สูงค่ายิ่งขึ้นก็ต้องเป็นหยกเขียวบริสุทธิ์ที่มีก้อนใหญ่ที่สุดในโลก[3]

ก้อนหยกเขียวถูกขนย้ายมาเพื่อตัดที่โรงงานในจังหวัดสระบุรี

หลวงพ่อได้ใช้ความพยายามแสวงหาหินหยกอย่างเต็มที่ มาในภายหลังหลวงพ่อได้ทราบข่าวว่าที่ประเทศแคนนาดามีบริษัททำเหมืองหยก ท่านจึงได้เดินทางไปยังประเทศแคนาดาในปี พ.ศ. 2530 เพื่อไปสืบหาหยกเขียวมาแกะสลักให้ได้ แต่เมื่อเดินทางไปถึงแล้วก็ยังไม่พบหยกตามต้องการ ท่านจึงเข้าพบเจ้าของบริษัททำเหมืองหยก ขอสั่งจองก้อนหยกขนาดใหญ่ไว้ หากขุดได้ท่านจะซื้อกลับมาเมืองไทย เวลาก็ผ่านไปเรื่อย ๆ ก็ยังไม่มีข่าวดีสักทีเพราะแม้ทางเหมืองจะขุดพบหยกเขียว และนำขึ้นมาได้ก็ยังไม่ได้ขนาดตามที่หลวงพ่อต้องการ

กระทั่งเวลาผ่านไปเกือบ 5 ปี ในวันที่ 16 สิงหาคม พ.ศ. 2534 ช่วงเวลา 03.00 น. ในขณะที่หลวงพ่อนั่งสมาธิก็ปรากฏเป็นนิมิตเห็นหยกสีเขียวบริสุทธิ์ขนาดใหญ่ที่สุดในโลกได้เกิดขึ้นแล้ว หลังจากท่านได้นิมิตแล้วก็เกิดความเชื่อมั่นว่าก้อนหยกที่ต้องการนั้นใกล้จะเป็นจริงแล้ว ท่านจึงเดินทางไปยังประเทศแคนาดาอีกครั้ง[4]

การค้นพบและการขนย้าย[แก้]

ช่างชาวอิตาลีทำการแกะสลักพระพุทธมงคลธรรมศรีไทย, กรุงเทพ, พ.ศ. 2536

เมื่อวันที่ 16 สิงหาคม พ.ศ. 2534 ซึ่งตรงกับวันที่หลวงพ่อท่านนั่งสมาธิมีนิมิตเห็นหยกเขียวพอดี ได้มีการขุดพบก้อนหยกสีเขียวบริสุทธิ์ น้ำหนัก 32 ตัน ซึ่งเป็นขนาดใหญ่ที่สุดเท่าที่เคยมีการขุดพบมา ขุดค้นพบที่เมืองแวนคูเวอร์ รัฐบริติชโคลัมเบีย ประเทศแคนาดา ซึ่งสถานที่พบหยกก้อนนี้ไม่ใช่ที่เหมืองหยกแต่เป็นเหมืองทองคำของ นายจอห์น สกัลเลอร์ การขุดพบหินหยกครั้งนี้เป็นการพบโดยไม่คาดฝันมาก่อน นายจอห์นเล่าว่าวันนั้นขณะกำลังคุมงานขุดหาแร่ทองคำตามปกติ จู่ ๆ ก็เกิดความต้องการให้คนงานขุดเจาะลงไปยังที่แห่งหนึ่ง โดยไม่มีเหตุผลและไม่สามารถอธิบายได้ว่าเพราอะไรจึงอยากให้ขุดบริเวณนั้นขึ้นมา ซึ่งเมื่อคนงานเริ่มขุดเจาะผิวดินและหินก็พบว่าตรงบริเวณนั้นมีสายแร่ทองคำมากพอสมควร จึงให้ขุดต่อไปอีก เมื่อขุดต่อไปสายแร่ทองคำก็หายไป นายจอห์นก็จะบอกให้หยุดขุดเพียงเท่านั้น แต่ไม่ทราบว่าเพราะอะไรจึงพูดไม่ออกและน่าแปลกที่คนงานซึ่งกำลังขุดก็ไม่ทักท้วง ทั้ง ๆ ที่ไม่ได้แร่ทองคำขึ้นมาเลย คล้ายกับมีพลังอำนาจจากอะไรบางอย่างบังคับให้ขุดต่อไป จนในที่สุดได้ขุดพบก้อนหยกสีเขียวขนาดมหึมาอยู่ภายในหลุมลึก ไร้รอยตำหนิ เพียงก้อนเดียวที่มาผุดในเหมืองทองคำ

นายจอห์นและนักธรณีวิทยาผู้ร่วมทีมขุด สันนิษฐานว่าถิ่นกำเนิดหยกก้อนนี้คือยอดเขาคิงส์เม้าท์เท่น ซึ่งไกลจากที่นั่นประมาณ 80 กิโลเมตร ใช้เวลาเคลื่อนไหลโดยประมาณ 8,000 - 10,000 ปี กว่าจะมาปรากฏ ณ ที่ขุดพบ หลังจากขุดพบก้อนหยกก็ต้องใช้เวลาถึง 7 วัน กว่าจะนำขึ้นจากดินได้โดยไม่มีส่วนใดบุบสลาย ก้อนหยกได้ถูกขนส่งทางเรือเพื่อนำมาที่ประเทศไทย เดินทางมาถึงท่าเรือคลองเตย กรุงเทพมหานคร โดยเรือชื่อ Luanhe จากนั้นได้ขนส่งต่อมาถึงวัดธรรมมงคลเถาบุญญนนทวิหาร ในวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2535[5]

การแกะสลักหยกเป็นองค์พระปฏิมากร[แก้]

เนี่องจากก้อนหยกขนาดใหญ่ที่ได้มานั้นมีมูลค่ามากและเป็นสิ่งหายาก มีอยู่ก้อนเดียวเท่านั้น จำเป็นต้องหาช่างฝีมือดีมาแกะสลัก ทั้งนี้หลวงพ่อได้รับการแนะนำว่าช่างแกะสลักฝีมือเยี่ยมที่สุดในโลกมีอยู่ที่ประเทศอิตาลีเท่านั้น หลวงพ่อจึงตัดสินใจเดินทางไปเมืองคาร์รารา แคว้นทัสกานี ประเทศอิตาลี เพื่อไปติดต่อช่างแกะสลักนายหนึ่งชื่อว่า เปาโล เวี้ยกกี้ โดยไม่ได้นัดหมายไว้ล่วงหน้า ทราบแต่เพียงว่าช่างคนนี้เป็นอาจารย์สอนในมหาลัยด้วย แต่เมื่อคณะของท่านเดินทางไปถึงก็ปรากฏว่ามหาวิทยาลัยปิดและไม่สามารถติดต่อช่างเปาโลได้ ทำให้หลวงพ่อผิดหวังอย่างยิ่งจึงต้องเดินทางกลับประเทศไทย แต่แล้วสิ่งมหัศจรรย์ก็บังเกิดขึ้น เพราะก่อนที่จะเดินทางในวันรุ่งขึ้น คณะของหลวงพ่อได้พากันไปซื้อรองเท้าที่ร้านแห่งหนึ่ง ซึ่งบังเอิญอย่างเหลือเชื่อที่ช่างเปาโลก็เข้าไปซื้อรองเท้าในร้านเดียวกัน จึงได้เจรจารายละเอียดและนัดหมายในเรื่องการแกะสลักพระพุทธรูปหยกเขียว หลังจากนั้นช่างเปาโลและช่างอีกคนหนึ่งชื่อ ซีซี่ ก็เดินทางมายังประเทศไทย เพื่อทำการแกะสลักหยกเขียวเป็นองค์พระพุทธรูป ซึ่งมีการเปิดเผยภายหลังจากปากของช่างเปาโลว่า เขารู้สึกประหลาดใจมากในการมาแกะสลักพระพุทธรูปหยกครั้งนี้ เพราะขณะที่เขากำลังแกะสลักนั้น มันเหมือนกับมีแม่เหล็กมาดูดที่มือเขาตลอดเวลา และตามความรู้สึกของเขานั้นเหมือนกับพระพุทธเจ้า เสด็จมาคอยให้เห็นอยู่ตรงหน้าและเวลาฝันก็จะฝันเห็นพระพุทธเจ้าอยู่บ่อยครั้ง[6]

หยกเขียวก้อนใหญ่ได้ถูกแบ่งเป็น 2 ส่วน ส่วนที่หนึ่งนำมาแกะสลักเป็นองค์พระพุทธรูป ส่วนที่สองนำมาแกะสลักเป็นเจ้าแม่กวนอิม มูลค่าก้อนหยกและค่าใช้จ่ายรวมทั้งสิ้น 29,528,200 บาท[7] ประดิษฐานอยู่ ณ ศาลาหลวงพ่อหยก วัดธรรมมงคลเถาบุญญนนทวิหาร เขตพระขโนง จังหวัดกรุงเทพมหานคร

อ้างอิง[แก้]

  1. Multiple sources:
    • "ไหว้พระหยก กราบเจดีย์ศักดิ์สิทธิ์ วัดธรรมมงคล". Sanook. 1 August 2011. สืบค้นเมื่อ 24 August 2021.
    • วัชรประดิษฐ์, อ.ราม. "หยก กับ พระพุทธรูป". สืบค้นเมื่อ 24 August 2021.
    • "วัดธรรมมงคลเถาบุญญนนท์วิหาร (หลวงพ่อวิริยังค์) เขตพระโขนง กรุงเทพมหานคร". Tourwatthai. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2020-11-09. สืบค้นเมื่อ 24 August 2021.
  2. "เยือนวัดธรรมมงคลเถาบุญญนนท์ - วัดธรรมมงคล ถนนสุขุมวิท 101". Khaosod News. 28 December 2020. สืบค้นเมื่อ 24 August 2021.
  3. "พิธีเจริญพระพุทธมนต์(พิเศษ) ณ ศาลาพุทธมงคลธรรมศรีไทย". 26 February 2021. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2021-08-24. สืบค้นเมื่อ 24 August 2021.
  4. คณะศิษย์ 2009, p. 265.
  5. Multiple sources:
  6. "วัดธรรมมงคล หลวงพ่อวิริยังค์ พระอุปัฏฐากหลวงปู่มั่น". Faiththaistory. 22 July 2019. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 26 November 2020. สืบค้นเมื่อ 24 August 2021.
  7. Multiple sources:

เชิงถรรถ[แก้]

  • คณะศิษย์, บ.ก. (2009). อัตชีวประวัติ พระเทพเจติยาจารย์. Kyodo Nation Printing Service Co.,Ltd.

แหล่งข้อมูลอื่น[แก้]