ปางลอยถาด

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี

ปางลอยถาด เป็นอยู่ในพระอิริยาบถนั่งคุกเข่าทั้งสองลงกับพื้น พระหัตถ์ซ้ายวางที่พระเพลาข้างซ้ายเป็นอาการค้ำพระกายให้ตั้งมั่น ทอดพระเนตรลงต่ำ พระหัตถ์ขวาอยู่ในพระอิริยาบถยื่นถาดไปข้างหน้า ทำกิริยาวางลงในน้ำ

ประวัติ[แก้]

หลังจากที่พระโพธิสัตว์เสวยข้าวมธุปายาสแล้ว ทรงลอยถาดลงในแม่น้ำเนรัญชรา และได้อธิษฐานเสี่ยงพระบารมีว่า “ถ้าจะได้ตรัสรู้อนุตรสัมมาสัมโพธิญาณ ขอให้ถาดทองลอยทวนกระแสน้ำ หากไม่สำเร็จสมประสงค์ ขอให้ถาดลอยไปตามกระแสน้ำ” ในพระพุทธประวัติกล่าวว่า ถาดนั้นได้ลอยทวนกระแสน้ำขึ้นไป จนถึงวังน้ำวนแห่งหนึ่ง จึงจมลงสู่นาคพิภพ ไปกระทบกับถาดสามใบอดีตพุทธเจ้าสามพระองค์คือ

  1. พระกกุสันธพุทธเจ้า
  2. พระโกนาคมนพุทธเจ้า
  3. พระกัสสปพุทธเจ้า

พญานาคราชซึ่งกำลังหลับอยู่ในนาคพิภพ เมื่อได้ยินเสียงถาดกระทบกันจึงรู้ได้ทันทีว่าพระสัมมาสัมพุทธเจ้าจะบังเกิดขึ้นในโลกมนุษย์อีกพระองค์หนึ่งแล้ว และในพระพุทธประวัติตอนนี้เองที่บทบาทของ นาคได้เข้ามาร้อยเรื่องราวในพระพุทธศาสนาแล้ว ดังจะได้พบความเกี่ยวข้องกับนาคในพระพุทธประวัติตอนอื่นอีกเช่นกัน

อ้างอิง[แก้]

  • สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ. ตำนานพุทธเจดีย์. ธนบุรี  : ศิลปาบรรณาคาร โรงพิมพ์รุ่งวัฒนา, 2513.
  • เรื่องพระพุทธรูปปางต่างๆ หลวงบริบาลบุรีรัตน์ และนายเกษมบุญศรี (พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้พิมพ์ขึ้นเพื่อพระราชทานในงานพระราชกุศลราชคฤหมงคลขึ้นพระตำหนักจิตรลดารโหฐาน เมื่อวันที่ 31 ตุลาคม พ.ศ. 2500)
  • สกุลศิลปพระพุทธรูปในประเทศไทย อาจารย์จิตร บัวบุศย์
  • ศิลปในประเทศไทย ศาสตราจารย์ หม่อมเจ้าสุภัทรดิศ ดิสกุล