ปางทรงทรมานช้างนาฬาคิรี

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
พระศิลา วัดเชียงมั่น จ.เชียงใหม่

ปางทรงทรมานช้างนาฬาคิรี ทำเป็นพระพุทธรูปลักษณะปางลีลา มีรูปพระอานนท์และรูปช้าง หรือมีแต่รูปช้างประกอบ

ประวัติ[แก้]

พระเทวทัตคิดประทุษร้ายต่อพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ๒ ครั้งแล้ว แต่ไม่ประสบผลสำเร็จ ในครั้งที่ ๓ พระเทวทัตได้ติดสินบนแก่ควาญช้างเพื่อมอมเหล้าพญาช้างนาฬาคิรีจนเกิดความคลุ้มคลั่ง แล้วปล่อยให้ไปทำร้ายพระพุทธองค์ ขณะเสด็จพุทธดำเนินบิณฑบาตโปรดสัตว์ ขณะที่พญาช้างส่งเสียงกึกก้องโกญจนาท วิ่งตรงเข้าหาพระพุทธองค์นั้น พระอานนท์วิ่งออกมาขวางหมายน้อมถวายชีวิต พระพุทธองค์จึงทรงใช้พุทธปาฏิหาริย์บันดาลให้พญาช้างวิ่งไปทางอื่น แล้วทรงแผ่เมตตาจนช้างได้สติ ทรุดกายลงยกงวงขึ้นถวายอภิวาท พระพุทธองค์ทรงยกพระหัตถ์ขวาลูบกระพองศีรษะและทรงประทานโอวาทแก่พญาช้างให้หยุดกระทำปาณาติบาต ละเลิกความโกรธ ไม่คิดเบียดเบียนอีกต่อไป

อ้างอิง[แก้]

  • สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ. ตำนานพุทธเจดีย์. ธนบุรี  : โรงพิมพ์รุ่งวัฒนา, 2513.
  • เรื่องพระพุทธรูปปางต่างๆ หลวงบริบาลบุรีรัตน์ และนายเกษมบุญศรี (พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้พิมพ์ขึ้นเพื่อพระราชทานในงานพระราชกุศลราชคฤหมงคลขึ้นพระตำหนักจิตรลดารโหฐาน เมื่อวันที่ 31 ตุลาคม พ.ศ. 2500)
  • สกุลศิลปพระพุทธรูปในประเทศไทย อาจารย์จิตร บัวบุศย์
  • ศิลปในประเทศไทย ศาสตราจารย์ หม่อมเจ้าสุภัทรดิศ ดิสกุล