ปางปฐมบัญญัติ

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี

ปางปฐมบัญญัติ เป็นพระพุทธรูปอยู่ในอิริยาบถประทับนั่งขัดสมาธิ ยกฝ่าพระหัตถ์ทั้งสองข้างตะแคงยื่นออกไปข้างหน้า เชื่อว่าเป็นพระพุทธรูปประจำปีวอก

ประวัติ[แก้]

ในสมัยที่พระพุทธเจ้าทรงประทับอยู่ที่นครเวสาลี สุทินกลันทบุตรได้ฟังพระธรรมเทศนาจากพระพุทธเจ้า บังเกิดความเลื่อมใสจึงทูลขอบรรพชาอุปสมบท แต่พระพุทธองค์ไม่ทรงประทานให้เพราะจะต้องขออนุญาตจากมารดาบิดาเสียก่อน สุทินจึงกลับไปที่บ้านไปขออนุญาตจากมารดาบิดาให้บรรพชาอุปสมบทแต่มารดาบิดามิยินยอมให้เพราะสุทินเป็นบุตรชายเพียงคนเดียวที่จะต้องมาดูแลสมบัติของตระกูล แม้จะอ้อนวอน 3 ครั้งก็ไม่ยินยอมเช่นกัน สุทินจึงนอนลงกับพื้นอดอาหารเป็นเวลา 7 วัน มารดาบิดาได้อ้อนวอนให้ล้มความตั้งใจแต่กลับไม่ยอม พวกเพื่อน ๆ มาอ้อนวอนแล้วก็ไม่ยอมอีก พวกเพื่อน ๆจึงอ้อนวอนมารดาบิดาของสุทินยินยอมให้สุทินอุปสมบทโดบให้เหตุผลว่า ถ้าสุทินไม่ได้บวชก็จะต้องตายเป็นแน่แท้ แต่ถ้ายินยอมให้สุทินอุปสมบทแล้วเกิดไม่ยินดีในพรหมจรรย์ก็จะลาสิกขาบทออกมาเอง มารดาบิดาจึงยินยอมในที่สุด สุทินก็ดีใจจึงลุกขึ้นจากพื้น อาบน้ำและทานอาหาร จากนั้นก็ไปเข้าเฝ้าทูลขอบรรพชาอุปสมบทจากพระพุทธองค์ เมื่อบวชแล้วจึงประพฤติปฏิบัติอย่างเคร่งครัดอยู่ที่วัชชีคาม

ต่อมาบิดามารดาต้องการให้พระสุทินลาสิกขาออกมาเพื่อดูแลสมบัติของตระกูล พระสุทินยังยินดีในพรหมจรรย์ บิดามารดาจึงออกอุบายต่าง ๆเ พื่อให้พระสุทินลาสิกขาออกมา เช่น เอาทรัพย์สมบัติมาล่อ นำภรรยาเก่ามาแต่งตัวสวย ๆ ให้พระสุทินเกิดหลงใหลแต่ไม่สำเร็จ ต่อมามารดาพระสุทินได้รอให้ภรรยาเก่าของพระสุทินมีระดู (ประจำเดือน) ซึ่งกำหนดจะมีบุตร จึงพางนางไปหาพระสุทินที่ป่ามหาวัน นิมนต์ให้ลาสิกขาแต่พระสุทินก็ไม่ยินยอมอีก มารดาจึงขอพืชพันธุ์ไว้สืบสกุลเพราะหากไม่มีผู้สืบสกุล ทรัพย์สินทั้งหมดจะถูกยึดตามธรรมเนียมของแคว้นวัชชี พระสุทินจึงคิดว่าพอทำได้เพราะไม่มีการบทบัญญัติสิกขาห้ามเสพเมถุน จึงได้ร่วมประเวณีกับภรรยาเก่าตามคำขอร้องและได้บุตรชายคนหนึ่งเรียกว่า เจ้าพืช ภรรยาของพระสุทินจึงถูกเรียกว่า มารดาของเจ้าพืช ต่อมาในภายหลังทั้งสองมารดาลูกก็ได้ออกบวชจนบรรลุเป็นพระอรหันต์

ต่อมาพระสุทินเกิดรู้สึกไม่สบายใจจึงเล่าความจริงให้ภิกษุทั้งหลายทราบ ภิกษุทั้งหลายก็ติเตียนพระสุทินและนำความกราบทูลแก่พระพุทธองค์ เมื่อความทราบถึงพระพุทธองค์ จึงทรงเรียกประชุมสงฆ์ ทรงไต่สวนกับพระสุทิน พระสุทินก็ยอมรับ พระพุทธองค์ก็ทรงติเตียนพระสุทินเป็นอย่างมาก(ทรงเรียกพระสุทินอย่างแรงด้วยคำว่า โมฆะบุรุษ) ที่ทำกรรมที่ไม่สมควรอย่างยิ่งแก่สมณะ จึงทรงบัญญัติสิกขาบทว่า "ภิกษุเสพเมถุนต้องอาบัติปาราชิกคือขาดจากความเป็นภิกษุทันที" นับเป็นปฐมบัญญัติ คือ ข้อแรกในพระวินัยของพระภิกษุ การประพฤติของพระสุทินสมัยนั้นถือว่ายังไม่ขาดจากความเป็นภิกษุ พระพุทธองค์ไม่ทรงเอาผิด เพราะยังมิได้มีสิกขาบทห้ามไว้ แต่ทรงเอาไว้เป็นอาทิกัมมิกะซึ่งหมายถึง ผู้ก่อเป็นเหตุทำให้บัญญัติสิกขาบท เป็นตัวอย่างไว้เพื่อไม่ให้เป็นเยี่ยงอย่าง แต่ถ้าภิกษุใดทำเช่นนี้อีก ถือว่าปาราชิก ขาดจากความเป็นภิกษุทันที

อ้างอิง[แก้]

  • สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ. ตำนานพุทธเจดีย์. ธนบุรี  : โรงพิมพ์รุ่งวัฒนา, 2513.
  • เรื่องพระพุทธรูปปางต่างๆ หลวงบริบาลบุรีรัตน์ และนายเกษมบุญศรี (พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้พิมพ์ขึ้นเพื่อพระราชทานในงานพระราชกุศลราชคฤหมงคลขึ้นพระตำหนักจิตรลดารโหฐาน เมื่อวันที่ 31 ตุลาคม พ.ศ. 2500)
  • สกุลศิลปพระพุทธรูปในประเทศไทย อาจารย์จิตร บัวบุศย์
  • ศิลปในประเทศไทย ศาสตราจารย์ หม่อมเจ้าสุภัทรดิศ ดิสกุล