บักกุ๊ดเต๋

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
บักกุ๊ดเต๋
Bak kut teh
ภาษาจีน
ความหมายตามตัวอักษรเนื้อซี่โครง (หมู) และน้ำชา

บักกุ๊ดเต๋ (มลายู: Bak kut teh; จีน: 肉骨茶; เป่อ่วยยี: bah-kut-tê; ฮกเกี้ยน: บ้ากุ๊ดเต๋) เป็นแกงแบบจีนฮกเกี้ยนและจีนแต้จิ๋วที่นิยมรับประทานในมาเลเซีย ไต้หวัน สิงคโปร์ จีน (เช่น ฝูเจี้ยน แต้ซัว) และบางเมืองในประเทศเพื่อนบ้าน อย่างเช่น บาตัมในอินโดนีเซีย และอำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา กระบี่ และภูเก็ตในไทย ชื่อบักกุ๊ดเต๋แปลตามตัวอักษรได้ว่า "เนื้อกระดูกและน้ำชา" [1]

โดยทั่วไปจะประกอบด้วยซี่โครงหมูอ่อนตุ๋นในน้ำต้มสมุนไพรและเครื่องเทศ (ได้แก่ โป๊ยกั้ก อบเชย กานพลู ตังกุย เมล็ดยี่หร่า และกระเทียม) เป็นเวลาหลายชั่วโมง[2] อาจมีส่วนประกอบอื่นเพิ่มเติมอย่างเครื่องในสัตว์ เห็ดชนิดต่าง ๆ ผักกาด เต้าหู้แห้ง หรือเต้าหู้ทอด และอาจมีสมุนไพรจีนอื่น ๆ เช่น yu zhu (เหง้าของ Solomon's Seal) และ ju zhi (ผล buckthorn) ที่ทำให้น้ำแกงมีรสหวานมากขึ้นและเข้มข้นขึ้นเล็กน้อย ระหว่างปรุงจะเติมซีอิ๊วขาวและดำลงในน้ำแกง มีผักชีสับหรือหอมเจียวเป็นเครื่องตกแต่ง

เชื่อกันว่า บักกุ๊ดเต๋เริ่มนำเข้าไปในมลายูเมื่อศตวรรษที่ 19 โดยคนงานชาวจีนจากกวางตุ้ง เฉาชั่น หรือฝูเจี้ยน[3]

ปกติแล้ว บักกุ๊ดเต๋จะรับประทานกับข้าวหรือก๋วยเตี๋ยว (บางครั้งอาจทำเป็นน้ำก๋วยเตี๋ยว) และมักจะมีปาท่องโก๋ไว้จุ่มกับน้ำแกง ใช้ซีอิ๊ว (ปกติจะใช้ซีอิ๊วขาว แต่อาจใช้ซีอิ๊วดำในบางครั้ง) เป็นเครื่องปรุงรสพร้อมกับพริกขี้หนูและกระเทียมสับ และมีเครื่องดื่มเป็นชาจีน (ชาทีกวนยินเป็นที่นิยมมากในพื้นที่ เคลังวัลเลย์ ในมาเลเซีย) ซึ่งเชื่อกันว่าจะช่วยเจือจางหรือละลายไขมันจำนวนมากในเนื้อหมู โดยทั่วไปแล้ว บักกุ๊ดเต๋ นิยมรับประทานเป็นอาหารเช้า

ความจริงแล้ว มีรายงานว่าบักกุ๊ดเต๋เป็นอาหารที่ช่วยเสริมจากความขาดแคลนอาหารและบำรุงสุขภาพของคนงานท่าเรือ กล่าวกันว่ามีต้นกำเนิดจากเมืองเฉวียนโจวในมณฑลฝูเจี้ยน หรือจากเฉาชั่น ซึ่งยังคงมีผู้รับประทานอยู่ในปัจจุบัน แล้วนำเข้ามายังเอเชียตะวันออกเฉียงใต้พร้อมกับชาวจีนโพ้นทะเล แต่ตามเรื่องราวที่เป็นไปได้มากที่สุดนั้น บักกุ๊ดเต๋คิดขึ้นมาโดยชาวจีนชั้นสูงคนหนึ่งจากเมืองเฉวียนโจวในมณฑลฝูเจี้ยน สูตรลับถูกส่งต่อสู่เพื่อนซึ่งต่อมาเดินทางสู่เมือง เคลัง และเป็นคนแรกที่ปรุงบักกุ๊ดเต๋เพื่อจำหน่าย ซึ่งต่อมากลายเป็นอาหารที่มีชื่อเสียงแล้วถูกเลียนแบบและปรับปรุงหลายครั้ง ดังนั้นตามเรื่องราวนี้จึงถือว่าชาวฮกเกี้ยนเป็นผู้คิดค้นบักกุ๊ดเต๋ ต่อมาชาวแต้จิ๋วได้นำบักกุ๊ดเต๋ไปปรุงในแบบของตนเอง ข้อแตกต่างที่มองเห็นได้ระหว่างบักกุ๊ดเต๋แบบฮกเกี้ยนกับแบบแต้จิ๋วคือ แบบฮกเกี้ยนจะใช้ซีอิ๊วดำและน้ำแกงมีสีเข้มกว่า ซึ่งความแตกต่างนี้ขึ้นอยู่กับการรับรสของแต่ละวัฒนธรรม

รูปแบบ[แก้]

บักกุ๊ดเต๋มีหลากหลายรูปแบบตามวิธีปรงที่ได้รับอิทธิพลจากวัฒนธรรมย่อยต่าง ๆ ในจีน ในสิงคโปร์มี บักกุ๊ดเต๋ถึงสามแบบ แบบที่พบได้มากที่สุดคือแบบแต้จิ๋ว น้ำแกงมีสีอ่อนแต่ใส่พริกไทยมาก แบบฮกโหล (ฮกเกี้ยน) จะใส่ซีอิ๊วมาก ทำให้น้ำแกงมีสีเข้ม และแบบกวางตุ้ง จะใส่สมุนไพรเพื่อให้มีรสชาติเข้มข้น

ชิกกุ๊ดเต๋ เป็นบักกุ๊ดเต๋แบบหนึ่งที่ใช้เนื้อไก่แทนเนื้อหมูทำให้มีไขมันน้อยกว่า[4] ซึ่งใช้เป็นอาหารฮาลาลสำหรับชาวมุสลิมที่ไม่รับประทานเนื้อหมูได้ เมื่อ พ.ศ. 2542 เกิดการระบาดของไวรัสนิปาห์ในมาเลเซีย ผู้ประกอบการหลายรายกลัวว่าเนื้อหมูจะมีไวรัส จึงเปลี่ยนไปใช้เนื้อสัตว์ทะเล เนื้อไก่ หรือไม่ใส่เนื้อสัตว์เลย (มังสวิรัติ) ซึ่งบางแบบยังคงมีในรายการอาหารในร้านอาหารบางแห่งในปัจจุบัน

อ้างอิง[แก้]

  1. ตลาดสดสนามเป้า, รายการวาไรตี้ทางช่อง 5: อาทิตย์ที่ 29 กันยายน 2556
  2. Grêlé D, Raimbault L, Chng N. Discover Singapore on Foot. Select Publishing, 2007. page 158.
  3. [1] เก็บถาวร 2009-07-01 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน[2] เก็บถาวร 2010-07-25 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน
  4. Chinese Food in Kuala Lumpur

แหล่งข้อมูลอื่น[แก้]